- Details
- Category: เกษตร
- Published: Saturday, 08 August 2015 13:31
- Hits: 2918
เครือข่ายสหกรณ์ชวนสวนกาแฟจับมือเหนียวแน่นบุกตลาดโมเดิร์นเทรด-ร้านสะดวกซื้อกระจายสินค้าเข้าถึงผู้บริโภค
บ้านเมือง : จากการที่กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้จัดทำโครงการปรับโครงสร้างสินค้ากาแฟแบบครบวงจรขึ้นในปี 2552 โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมให้เกษตรกร ที่ปลูกกาแฟมีการรวมตัวกันเป็นเครือข่ายในรูปแบบของสหกรณ์ เพื่อสร้างอำนาจต่อรองในการจำหน่ายผลผลิตและแก้ไขปัญหาเสถียรภาพด้านราคาผลผลิตกาแฟของเกษตรกร โดยแรกเริ่มมีสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 3 แห่ง ได้แก่ สหกรณ์ผู้ปลูกกาแฟจังหวัดชุมพร จำกัด กลุ่มเกษตรกรทำสวนเขาทะลุ จังหวัดชุมพร และกลุ่มเกษตรกรทำสวน จปร. จังหวัดระนอง
ตลอดระยะเวลา 6 ปีที่ผ่านมา เครือข่ายสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟ ได้ขยายตัวเพิ่มมากขึ้น และมีความเชื่อมโยงในด้านต่างๆ กันอย่าง เหนียวแน่น จนถึงปัจจุบันมีสถาบันเกษตรกรเข้าร่วมเป็นเครือข่าย 19 แห่ง ในพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดชุมพร 9 แห่ง จังหวัดระนอง 5 แห่ง จังหวัดเชียงใหม่ 4 แห่ง และจังหวัดเชียงราย 2 แห่ง
โดยมีสมาชิกสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟรวม 9,205 คน ปริมาณผลผลิตในพื้นที่ประมาณ 6,160 ตัน หรือคิดเป็นร้อยละ 16 ของปริมาณผลผลิตกาแฟทั้งประเทศ ซึ่งสหกรณ์ในภาคใต้จะรวบรวมกาแฟโรบัสต้า และสหกรณ์ในภาคเหนือจะรวบรวมกาแฟอาราบิกา เมื่อฤดูกาลผลิต 2556/57 สามารถรวบรวมผลผลิตได้ทั้งสิ้น 3,423.45 ตัน หรือคิดเป็นมูลค่า 243.44 ล้านบาท และยังมีสหกรณ์ 4 แห่ง ได้แก่ สหกรณ์ผู้ปลูกกาแฟจังหวัดชุมพร จำกัด กลุ่มเกษตรกรทำสวนเขาทะลุ จังหวัดชุมพร กลุ่มเกษตรกรทำสวน จปร. จังหวัดระนอง และสหกรณ์ดอยสะเก็ด จำกัด จังหวัดเชียงใหม่ ได้ดำเนินธุรกิจแปรรูปกาแฟ เป็นสินค้าในรูปต่างๆ ทั้งกาแฟคั่ว กาแฟคั่วบด และกาแฟ 3 in 1 สร้างมูลค่าธุรกิจกว่า 17.522 ล้านบาท
กองพัฒนาสหกรณ์ภาคการเกษตรและกลุ่มเกษตรกร กรมส่งเสริมสหกรณ์ ในฐานะผู้รับผิดชอบในการพัฒนาธุรกิจกาแฟของเครือข่ายสถาบันเกษตรกร ได้จัดโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อเสริมสร้างศักยภาพเครือข่ายและการประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์กาแฟของสถาบันเกษตรกร เมื่อต้นเดือนกรกฎาคม ที่ผ่านมา ณ จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีตัวแทนสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรในเครือข่ายผู้ปลูกกาแฟเข้าร่วมประชุม กว่า 80 คน เพื่อส่งเสริมและพัฒนาองค์ความรู้ด้านการผลิตกาแฟที่มีคุณภาพตามมาตรฐาน GAP
และยกระดับการดำเนินธุรกิจกาแฟของสถาบันเกษตรกรให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น รวมถึงเชื่อมโยงเครือข่ายระหว่างสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรที่มีการดำเนินธุรกิจกาแฟในพื้นที่ภาคใต้และภาคเหนือได้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการดำเนินธุรกิจร่วมกัน โดยได้นำตัวแทนสถาบันเกษตรกรชาวสวนกาแฟไปดูแปลงผลิตกาแฟที่มีคุณภาพและการบริหารจัดการกาแฟในพื้นที่โครงการหลวงตีนตก เยี่ยมชมธุรกิจกาแฟของสหกรณ์การเกษตรดอยสะเก็ดพัฒนา จำกัด และรับฟังการบรรยายทิศทางและโอกาสในการสร้างความเข้มแข็งของธุรกิจกาแฟไทย จากนายกสมาคมกาแฟและชาไทย รวมถึงเปิดเวทีประชาสัมพันธ์และเจรจาธุรกิจกาแฟระหว่างสถาบันเกษตรกรกับผู้ประกอบการด้วย
นายเชิดชัย พรหมแก้ว ผู้อำนวยการกองพัฒนาสหกรณ์ภาคการเกษตรและกลุ่มเกษตรกร กล่าวว่า เครือข่ายธุรกิจกาแฟของสถาบันเกษตรกรได้มีการพัฒนาขึ้นไปสู่ระดับแถวหน้าจนเป็นที่ยอมรับและเกิดความเข้มแข็งอย่างต่อเนื่อง โดยแนวทางในการพัฒนาจากนี้ไป กรมฯ จะเน้นเรื่องการแปรรูปและพัฒนาผลิตภัณฑ์ ควบคุมคุณภาพผลผลิตตั้งแต่การปลูก การเก็บเกี่ยว รวบรวมผลผลิตส่งสหกรณ์ เพื่อเข้า โรงอบ โรงคั่ว ก่อนจะนำวัตถุดิบไปแปรรูปเพื่อเป็นสินค้าระดับอุตสาหกรรม ควบคู่ไปกับการขยายธุรกิจการรวบรวมผลผลิตกาแฟในปริมาณที่เพิ่มขึ้นกว่าเดิม โดยต้องสร้างแรงจูงใจและสร้างการมีส่วนร่วมของสมาชิกให้รวบรวมกาแฟส่งขายให้สหกรณ์มากยิ่งขึ้น ชี้ให้เห็นโอกาสที่ยังมีความต้องการและเปิดกว้างพร้อมรองรับผลิตภัณฑ์กาแฟจากสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร เนื่องจากกระแสการบริโภคกาแฟภายในประเทศยังได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง พฤติกรรมการบริโภคกาแฟยังชื่นชอบรสชาติกาแฟที่สหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรผลิต
"สิ่งที่จะขับเคลื่อนต่อไป คือ การผลักดันให้กาแฟของสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร สามารถนำไปวางจำหน่ายในห้างโมเดิร์นเทรดและร้านสะดวกซื้อ เพื่อให้ ผู้บริโภคได้มีทางเลือกในการบริโภคกาแฟได้มากขึ้น และจะกระจายสินค้ากาแฟไปสู่ศูนย์กระจายสินค้าสหกรณ์ที่มีอยู่ทุกจังหวัดทั่วประเทศด้วย" นายเชิดชัย กล่าว
ดังนั้น เครือข่ายกาแฟของสถาบันเกษตรกรจึงต้องร่วมกันวางแผนกลยุทธ์ในการรักษาจุดแข็งนี้ไว้ และแก้ไขในเรื่องจุดอ่อนที่ยังเป็นปัญหาต่อการดำเนินธุรกิจกาแฟของสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร ซึ่งการเชื่อมโยงเครือข่ายสหกรณ์กาแฟต้องมีความเข้มแข็ง มีการช่วยเหลือแบ่งปันกันในด้านต่างๆ และพร้อมสำหรับการขยายตลาดจำหน่ายกาแฟสำเร็จรูปของสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรไปสู่ศูนย์กระจายสินค้าสหกรณ์ทั่วประเทศ และห้างโมเดิร์นเทรด เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์กาแฟของสถาบันเกษตรกรให้เป็นที่รู้จักและการยอมรับจากผู้บริโภคต่อไป