WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

AGเลอศกดก.เกษตรฯ บุก 58 จังหวัด เกาะติดโครงการสร้างรายได้ หลังสิ้นสุดโครงการแจงผลประเมินในพื้นที่

   สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ลงพื้นที่โครงการสร้างรายได้และพัฒนาการเกษตรแก่ชุมชนเพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้งหลังสิ้นสุดการดำเนินโครงการ เจาะพื้นที่โครงการของชุมชน 516 โครงการ ทั้ง 58 จังหวัด เผย ช่วยเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรได้เป็นอย่างดี ตั้งแต่รายละ 300 บาท ไปจนถึงหลักหมื่นบาท

          นายเลอศักดิ์ ริ้วตระกูลไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากการที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ดำเนินงานโครงการสร้างรายได้และพัฒนาการเกษตรแก่ชุมชนเพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้ง ซึ่ง สศก. รับผิดชอบประเมินผลโครงการดังกล่าวในช่วงระหว่างการดำเนินงานโครงการ โดยได้ลงสำรวจข้อมูลในพื้นที่โครงการของชุมชน 516 โครงการ จากทั้งหมด 6,598 โครงการ รวม 58 จังหวัด พบว่า แต่ละโครงการ ชุมชนได้มีการจัดจ้างแรงงาน ตั้งแต่ 5 คนถึงกว่า 900 คนต่อโครงการ ขึ้นอยู่กับลักษณะโครงการที่ชุมชนเสนอ แรงงานได้ค่าจ้างทั่วไป 200-400 บาทต่อวัน โดยแรงงานฝีมือจะได้ถึง 500 บาทต่อวัน หรือมีการจ้างเหมาจ่ายเป็นชิ้นงาน เป็นการเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรโดยตรง ตั้งแต่รายละ 300 บาท ไปจนถึงหลักหมื่นบาท ในบางราย

   ทั้งนี้ การดำเนินงานโครงการของชุมชนได้สิ้นสุดเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งขณะนี้ กลุ่มเกษตรกรและศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรประจำตำบล (ศบกต.) ที่เป็นผู้รับผิดชอบโครงการชุมชนอยู่ระหว่างการจัดทำเอกสารรายงานต่างๆ เพื่อสรุปผลหลังสิ้นสุดกิจกรรมโครงการ  ดังนั้น สศก. จึงได้จัดเจ้าหน้าที่ทั้งในส่วนกลางและสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 1 - 12 และส่วนแยก ลงพื้นที่โครงการครอบคลุมใน 58 จังหวัด ระหว่างวันที่  13 กรกฎาคม - 16 สิงหาคม 2558 เพื่อประเมินผลลัพธ์ และผลกระทบจากโครงการ

   ด้านนายสุรศักดิ์ พันธ์นพ รองเลขาธิการและโฆษก สศก. กล่าวเสริมว่า ในเบื้องต้น จากการลงพื้นที่จังหวัดสระแก้ว ช่วงระหว่างวันที่ 21 - 24 กรกฎาคม 2558 ได้สำรวจโครงการชุมชนต่างๆ จำนวน 6 โครงการ จากทุกลักษณะโครงการที่เสนอ เช่น โครงการกำจัดวัชพืชในแหล่งน้ำอุปโภคบริโภค ในพื้นที่ตำบล ศาลาลำดวน อำเภอเมือง จังหวัดสระแก้ว พบว่า เกษตรกรกว่า 100 ครัวเรือน มีแหล่งน้ำประปาหมู่บ้านที่น้ำใสสะอาดขึ้น และปริมาณน้ำในอ่างเพิ่มมากขึ้น เกษตรกรสามารถเก็บไหลบัวและฝักบัวขาย สร้างรายได้นอกเหนือจากอาชีพประจำ และแรงงาน 25 ราย ที่ช่วยกันทำงานในโครงการได้ค่าจ้างคนละ 2,000 บาท ในการทำงาน 10 วัน 

   ด้านโครงการผลิตปุ๋ยอัดเม็ด ในพื้นที่ตำบลไทรทอง อำเภอคลองหาด ซึ่งมีครัวเรือนเกษตรกร 101 ครัวเรือน ได้รับประโยชน์จากโครงการ ซึ่งได้ผลิตปุ๋ยอินทรีย์จากมูลวัว นำมาอัดเม็ดได้ประมาณ 570 กระสอบ จำหน่ายกระสอบละ 200 บาท ถูกกว่าราคาท้องตลาดที่จำหน่ายในราคา 300 บาท โดยมีผู้ใช้แรงงานในโครงการประมาณ 20 ราย ได้รับค่าจ้างในการจัดทำปุ๋ย วันละ 300 บาทต่อคน ได้ค่าจ้างคนละ 5,100 บาท ในการทำงานประมาณ 20 วัน ซึ่งเกษตรกรส่วนใหญ่รู้สึกพึงพอใจมาก 

   อย่างไรก็ตาม หากการสำรวจข้อมูลในทุกพื้นที่แล้วเสร็จ สศก. จะนำเสนอผลการประเมินต่อคณะกรรมการบริหารโครงการฯ ระดับกระทรวง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาเสนอคณะรัฐมนตรีใช้ประกอบแนวทางแก้ไขปัญหาในปีต่อๆ ไปด้วย

สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!