- Details
- Category: เกษตร
- Published: Wednesday, 29 July 2015 08:43
- Hits: 5648
สศก.หวั่นอนาคตปริมาณน้ำมันปาล์มล้นตลาด แนะปล่อยราคาตามกลไก ไม่ควรบิดเบือน
นายเลอศักดิ์ ริ้วตระกูลไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า หากมองถึงอนาคตน้ำมันปาล์มของไทย ต้นทุนการผลิตผลปาล์มสดของเกษตรกรไทย อยู่ที่ 3.38 บาท ต่อกิโลกรัม ซึ่งรัฐบาลได้มีมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร โดยการให้โรงงานสกัดน้ำมันปาล์มรับซื้อผลผลิตปาล์มผลสด 4.20 บาทต่อกิโลกรัม และให้โรงกลั่นน้ำมันปาล์ม โรงงานผลิตไบโอดีเซล และผู้รับซื้อน้ำมันปาล์มดิบทั่วไปรับซื้อน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) จากโรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม ในราคาไม่ต่ำกว่า กิโลกรัมละ 26.20 บาท
อีกด้านหนึ่ง ก็ถือว่าเป็นการช่วยผู้บริโภคด้วย เพราะราคาน้ำมันปาล์มดิบดังกล่าวสามารถผลิตน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์บรรจุขวด ได้ไม่เกินราคาควบคุมที่กระทรวงพาณิชย์กำหนดไว้ 42 บาท/ขวด(ลิตร) ซึ่งนโยบายดังกล่าวนับว่าเป็นเรื่องที่ดี แต่การดำเนินนโยบายดังกล่าว ถือได้ว่าเป็นการบิดเบือนกลไกตลาดและส่งผลให้ราคาปาล์มในประเทศสูงกว่าราคาในตลาดโลก โดยเฉพาะมาเลเซีย ซึ่งเป็นผู้นำตลาด และเมื่อพิจารณาราคาน้ำมันปาล์มดิบ พบว่า เดือนมิถุนายน ราคาน้ำมันปาล์มดิบของไทยอยู่ที่ 27.43 บาทต่อกิโลกรัม
ในขณะที่มาเลเซียประเทศผู้ส่งออกน้ำมันปาล์ม อยู่ที่ 20.86 บาทต่อกิโลกรัม จะเห็นได้ว่าราคาของไทยสูงกว่าถึง 6.57 บาทต่อกิโลกรัม ส่งผลทำให้ในปีนี้ ไทยสูญเสียความสามารถในการแข่งขันส่งออกไปยังตลาดโลก ไม่สามารถส่งออกได้ รวมถึงมีผลทำให้ความต้องการใช้น้ำมันปาล์มภายประเทศมีแนวโน้มลดลงด้วย เนื่องจากภาคอุตสาหกรรมในประเทศที่ใช้น้ำมันปาล์มดิบเป็นวัตถุดิบเริ่มหันไปนำเข้าวัตถุดิบกึ่งสำเร็จรูปมาจากต่างประเทศทดแทน และมีภาคอุตสาหกรรมบางส่วนเริ่มส่งสัญญาณที่จะย้ายฐานการผลิตเพื่อลดต้นทุนการผลิต เนื่องจากราคาน้ำมันปาล์มดิบในประเทศสูงกว่าราคาในตลาดโลกค่อนข้างมาก
ประกอบกับปี 2558 ผลผลิตถั่วเหลืองในตลาดโลกเพิ่มขึ้นมากส่งผลทำให้ราคาถั่วเหลืองในตลาดโลกลดลง ซึ่งส่งผลให้ราคาน้ำมันถั่วเหลืองลดลงและกระแสไขมันทรานส์ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ทำให้ผู้บริโภคอาจหันไปบริโภคน้ำมันถั่วเหลืองทดแทนน้ำมันปาล์มเพิ่มขึ้นได้ ส่วนการผลิตไบโอดีเซลนั้น ขณะนี้ได้ใช้สัดส่วนผสมในน้ำมันดีเซลในอัตราที่สูงสุดแล้ว (B7) จึงคาดว่าปริมาณความต้องการใช้ปาล์มน้ำมันยังไม่เพิ่มขึ้นมากนัก
ทั้งนี้ จากปัจจัยทั้งทางด้านการผลิต ต้นทุน ราคา ที่สูงขึ้น สวนทางกับปริมาณการบริโภค การส่งออก จึงมีความเป็นไปได้สูงที่ปริมาณน้ำมันปาล์มจะล้นตลาดในอนาคต จะเห็นว่าโดยรวมแล้ว อุปสงค์หรือความต้องการบริโภคทั้งในและนอกประเทศมีแนวโน้มลดต่ำลง แต่อุปทานหรือปริมาณการผลิตนั้นยังมีอยู่มาก หากยังมีการดำเนินการแทรกแซงราคา ไม่ปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด ซึ่งในมุมมองทางด้านเศรษฐศาสตร์ การแทรกแซงราคาตลาด ทำให้เกิดการบิดเบือนราคา และไม่เกิดจุดดุลยภาพที่แท้จริง หากยังเป็นอย่างนี้ต่อไป ในอนาคตอาจทำลายอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันของไทยได้ ซึ่งอย่างน้อยที่สุด การกำหนดราคารับซื้อผลปาล์มคุณภาพตามเปอร์เซ็นน้ำมันที่กำหนดขึ้นจะต้องเป็นราคาที่สะท้อนถึงราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกด้วย เช่น ถ้าราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น ราคาผลปาล์มคุณภาพ (17%) ก็ต้องปรับเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ในทางตรงข้าม ถ้าหากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับตัวลดลง ราคาผลปาล์มคุณภาพ (17%) ก็ต้องปรับลดลงตามไปด้วย
ดังนั้น กล่าวได้ว่าปัจจุบันปาล์มน้ำมันไทย เปรียบเสมือนคนที่เดินอยู่บนสายเส้นลวด หากทรงตัวไม่ดีพอ อาจร่วงหล่นลงมาได้ และเพื่อให้อุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มของไทยตลอดจนเกษตรกร สามารถเดินต่อไปได้ การปล่อยให้กลไกราคาดำเนินไปตามธรรมชาติอาจเป็นทางออกที่ดีกว่า เมื่อถึงช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดมาก ราคาย่อมถูกลงตามกลไกตลาด จนกระทั่งเมื่อผลผลิตเริ่มน้อยลง ราคาจะปรับตัวสูงขึ้น โดยเกษตรกรเองนั้น หากต้องการราคาขายที่ดีก็ต้องพยายามผลิตปาล์มให้ได้คุณภาพที่ดี ซึ่งภาครัฐจะเข้าไปช่วยเหลือในการปลูกปาล์มให้ได้คุณภาพที่ดีควบคู่ไปด้วย ตั้งแต่การปลูก การสกัด การแปรรูป การวางแผนการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด และสำหรับผู้ประกอบการโรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม และผลิตน้ำมันปาล์ม ก็จำเป็นต้องมีการคาดการณ์ว่าช่วงเวลาใดที่ผลผลิตปาล์มจะขาดแคลน เพื่อปรับตัววางแผนการซื้อวัตถุดิบไว้เพื่อป้องกันการขาดแคลนวัตถุดิบป้อนโรงงาน และที่สำคัญคือการสนับสนุนให้เกษตรกรรวมกลุ่มเพื่อใช้ปัจจัยการผลิตร่วมกัน ซึ่งช่วยให้ต้นทุนการผลิตลดลงได้ ทั้งนี้ ความสำเร็จอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มอยู่ที่ฝ่ายโรงงานและเกษตรกรจะหาจุดสมดุลเพื่อความอยู่รอดของอุตสาหกรรม อย่าหวังให้รัฐสนับสนุนเพียงฝ่ายเดียว เพราะนั่นคือการเดินเข้าไปสู่ความเสี่ยงของอุตสาหกรรมดังกล่าว
สำหรับ สถานการณ์พื้นที่ให้ผลผลิตปาล์มของประเทศไทยขณะนี้ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมาโดยตลอด โดยในปี 2558 มีพื้นที่ให้ผลผลิตปาล์มน้ำมัน 4,400,589 ไร่ เพิ่มขึ้นจากปี 2557 ที่จำนวน 4,148,168 ไร่ (ร้อยละ 6.09) เช่นเดียวกับปริมาณผลผลิตที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตลอด
ในปี 2558 ผลผลิตมีจำนวน 12,205,776 ตัน ลดลงจากปี 2557 ที่จำนวน 12,503,447 ตัน หรือลดลง ร้อยละ 2.38 (เนื่องจากอิทธิพลภัยแล้งอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ 2556/2557 และ 2558) เมื่อคำนวณอยู่ในรูปน้ำมันปาล์มดิบ ปี 2558 ไทยจะมีน้ำมันปาล์มดิบออกสู่ตลาดประมาณ 2,074,982 ตัน (อัตราน้ำมันร้อยละ 17) เมื่อบวกกับสต็อกต้นปี 168,000 ตัน คาดว่าทั้งปีจะมีน้ำมันปาล์มดิบทั้งหมด 2,242,982 ตัน
ในขณะที่ความต้องการใช้น้ำมันปาล์มดิบในปี 2558 คาดว่ามีประมาณ 1,854,000 ตัน โดยแบ่งเป็น ความต้องการใช้เพื่อการบริโภค-อุปโภค 929,000 ตัน เพื่อผลิตไบโอดีเซล 854,000 ตัน และเพื่อการส่งออก 71,000 ตัน หากความต้องการใช้น้ำมันปาล์มดิบเป็นเช่นนี้ คาดปลายปี 2558 จะมีสต็อกประมาณ 388,982 ตัน ซึ่งที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2534 ประเทศไทยสามารถผลิตปาล์มน้ำมันดิบได้มากกว่าความต้องการใช้ภายในประเทศมาโดยตลอด ยกเว้นบางปีที่จะต้องมีการนำเข้าน้ำมันปาล์มดิบจากต่างประเทศ โดยเฉพาะช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย เพื่อน้ำมาใช้ผลิตเป็นน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์บรรจุขวด และช่วงต้นปี 2558 รัฐบาลได้มีการนำเข้าน้ำมันปาล์มเข้ามาเพิ่มในสต็อกอีก 50,000 ตัน ซึ่งแม้ว่าน้ำมันปาล์มจำนวนดังกล่าวได้นำไปผลิตและจำหน่ายเป็นปาล์มบริสุทธิ์บรรจุขวดเรียบร้อยแล้ว แต่ในภาพรวม ส่งผลทำให้สต็อกน้ำมันปาล์มดิบปลายปีมีประมาณเพิ่มขึ้น
อินโฟเควสท์
เล็งอนาคตปาล์มไทย เมื่อต้องไต่บนเส้นลวด สศก. เจาะหลากมุมมอง ร่วมหาทางออกอุตสาหกรรมปาล์ม
สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เจาะมุมมองวิเคราะห์เส้นทางปาล์มน้ำมันไทย เปรียบ ไม่ต่างกับการต้องเดินบนเส้นลวด บวกกับกระแสบริโภคน้ำมันถั่วเหลืองที่เพิ่มขึ้นทดแทน หวั่นแนวโน้มล้นตลาด แนะการปล่อยให้กลไกราคาไปตามธรรมชาติอาจเป็นทางออกที่ดี โดยภาครัฐร่วมกันทุกฝ่ายในการเดินหน้าการผลิตให้ได้คุณภาพและช่วยเกษตรกรลดต้นทุน เพื่อรักษาศักยภาพอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันของไทยร่วมกัน
นายเลอศักดิ์ ริ้วตระกูลไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า สถานการณ์พื้นที่ให้ผลผลิตปาล์มของประเทศไทยขณะนี้ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมาโดยตลอด โดยในปี 2558 มีพื้นที่ให้ผลผลิตปาล์มน้ำมัน 4,400,589 ไร่ เพิ่มขึ้นจากปี 2557 ที่จำนวน 4,148,168 ไร่ (ร้อยละ 6.09) เช่นเดียวกับปริมาณผลผลิตที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตลอด
ในปี 2558 ผลผลิตมีจำนวน 12,205,776 ตัน ลดลงจากปี 2557 ที่จำนวน 12,503,447 ตัน หรือลดลง ร้อยละ 2.38 (เนื่องจากอิทธิพลภัยแล้งอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ 2556/2557 และ 2558) เมื่อคำนวณอยู่ในรูปน้ำมันปาล์มดิบ ปี 2558 ไทยจะมีน้ำมันปาล์มดิบออกสู่ตลาดประมาณ 2,074,982 ตัน (อัตราน้ำมันร้อยละ 17) เมื่อบวกกับสต็อกต้นปี 168,000 ตัน คาดว่าทั้งปีจะมีน้ำมันปาล์มดิบทั้งหมด 2,242,982 ตัน ในขณะที่ความต้องการใช้น้ำมันปาล์มดิบในปี 2558 คาดว่ามีประมาณ 1,854,000 ตัน โดยแบ่งเป็น ความต้องการใช้เพื่อการบริโภค-อุปโภค 929,000 ตัน เพื่อผลิตไบโอดีเซล 854,000 ตัน และเพื่อการส่งออก 71,000 ตัน หากความต้องการใช้น้ำมันปาล์มดิบเป็นเช่นนี้ คาดปลายปี 2558 จะมีสต็อกประมาณ 388,982 ตัน ซึ่งที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2534 ประเทศไทยสามารถผลิตปาล์มน้ำมันดิบได้มากกว่าความต้องการใช้ภายในประเทศมาโดยตลอด ยกเว้นบางปีที่จะต้องมีการนำเข้าน้ำมันปาล์มดิบจากต่างประเทศ โดยเฉพาะช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย เพื่อน้ำมาใช้ผลิตเป็นน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์บรรจุขวด และช่วงต้นปี 2558 รัฐบาลได้มีการนำเข้าน้ำมันปาล์มเข้ามาเพิ่มในสต็อกอีก 50,000 ตัน ซึ่งแม้ว่าน้ำมันปาล์มจำนวนดังกล่าวได้นำไปผลิตและจำหน่ายเป็นปาล์มบริสุทธิ์บรรจุขวดเรียบร้อยแล้ว แต่ในภาพรวม ส่งผลทำให้สต็อกน้ำมันปาล์มดิบปลายปีมีประมาณเพิ่มขึ้น
เลขาธิการ สศก. กล่าวต่อไปว่า หากมองถึงอนาคตน้ำมันปาล์มของไทย ต้นทุนการผลิตผลปาล์มสดของเกษตรกรไทย อยู่ที่ 3.38 บาท ต่อกิโลกรัม ซึ่งรัฐบาลได้มีมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร โดยการให้โรงงานสกัดน้ำมันปาล์มรับซื้อผลผลิตปาล์มผลสด 4.20 บาทต่อกิโลกรัม และให้โรงกลั่นน้ำมันปาล์ม โรงงานผลิตไบโอดีเซล และผู้รับซื้อน้ำมันปาล์มดิบทั่วไปรับซื้อน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) จากโรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม ในราคาไม่ต่ำกว่า กิโลกรัมละ 26.20 บาท อีกด้านหนึ่งก็ถือว่าเป็นการช่วยผู้บริโภคด้วย เพราะราคาน้ำมันปาล์มดิบดังกล่าวสามารถผลิตน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์บรรจุขวด ได้ไม่เกินราคาควบคุมที่กระทรวงพาณิชย์กำหนดไว้ 42 บาท/ขวด(ลิตร) ซึ่งนโยบายดังกล่าวนับว่าเป็นเรื่องที่ดี แต่การดำเนินนโยบายดังกล่าว ถือได้ว่าเป็นการบิดเบือนกลไกลตลาด และส่งผลให้ราคาปาล์มในประเทศสูงกว่าราคาในตลาดโลก โดยเฉพาะมาเลเซีย ซึ่งเป็นผู้นำตลาด และเมือพิจารณาราคาน้ำมันปาล์มดิบ พบว่า เดือนมิถุนายน ราคาน้ำมันปาล์มดิบของไทยอยู่ที่ 27.43 บาทต่อกิโลกรัม ในขณะที่มาเลเซียประเทศผู้ส่งออกน้ำมันปาล์ม อยู่ที่ 20.86 บาทต่อกิโลกรัม จะเห็นได้ว่าราคาของไทยสูงกว่าถึง 6.57 บาทต่อกิโลกรัม ส่งผลทำให้ในปีนี้ ไทยสูญเสียความสามารถในการแข่งขันส่งออกไปยังตลาดโลก ไม่สามารถส่งออกได้ รวมถึงมีผลทำให้ความต้องการใช้น้ำมันปาล์มภายประเทศมีแนวโน้มลดลงด้วย เนื่องจากภาคอุตสาหกรรมในประเทศที่ใช้น้ำมันปาล์มดิบเป็นวัตถุดิบเริ่มหันไปนำเข้าวัตถุดิบกึ่งสำเร็จรูปมาจากต่างประเทศทดแทน และมีภาคอุตสาหกรรมบางส่วนเริ่มส่งสัญญาณที่จะย้ายฐานการผลิตเพื่อลดต้นทุนการผลิต เนื่องจากราคาน้ำมันปาล์มดิบในประเทศสูงกว่าราคาในตลาดโลกค่อนข้างมาก
ราคาปาล์มน้ำมันดิบ
เดือน-ปี/ประเทศ ตลาดกรุงเทพฯ (บาท/กก.) มาเลเซีย (บาท/กก.) รอตเตอร์ดัม (บาท/กก.)
ณ มิ.ย. 57 26.68 25.12 28.03
ณ พ.ค. 58 26.17 20.52 21.97
ณ มิ.ย. 58 27.43 20.86 22.48
%เทียบกับ มี.ค.57 2.81 -16.68 -19.80
%เทียบกับ ก.พ.58 4.81 2.00 2.32
ที่มา : ราคาน้ำมันปาล์มดิบไทย จากกรมการค้าภายใน,ราคา มาเลเซียและรอตเตอร์ดัม จากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร
ประกอบกับปี 2558 ผลผลิตถั่วเหลืองในตลาดโลกเพิ่มขึ้นมากส่งผลทำให้ราคาถั่วเหลืองในตลาดโลกลดลง ซึ่งส่งผลให้ราคาน้ำมันถัวเหลืองลดลงและกระแสไขมันทรานส์ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ทำให้ผู้บริโภคอาจหันไปบริโภคน้ำมันถั่วเหลืองทดแทนน้ำมันปาล์มเพิ่มขึ้นได้ ส่วนการผลิตไบโอดีเซลนั้นขณะนี้ได้ใช้สัดส่วนผสมในน้ำมันดีเซลในอัตราที่สูงสุดแล้ว (B7) จึงคาดว่าปริมาณความต้องการใช้ปาล์มน้ำมันยังไม่เพิ่มขึ้นมากนัก ทั้งนี้ จากปัจจัยทั้งทางด้านการผลิต ต้นทุน ราคา ที่สูงขึ้น สวนทางกับปริมาณการบริโภค การส่งออก จึงมีความเป็นไปได้สูงที่ปริมาณน้ำมันปาล์มจะล้นตลาดในอนาคต
จะเห็นว่าโดยรวมแล้ว อุปสงค์หรือความต้องการบริโภคทั้งในและนอกประเทศมีแนวโน้มลดต่ำลง แต่อุปทานหรือปริมาณการผลิตนั้นยังมีอยู่มาก หากยังมีการดำเนินการแทรกแซงราคา ไม่ปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด ซึ่งในมุมมองทางด้านเศรษฐศาสตร์ การแทรกแซงราคาตลาด ทำให้เกิดการบิดเบือนราคา และไม่เกิดจุดดุลยภาพที่แท้จริง หากยังเป็นอย่างนี้ต่อไป ในอนาคตอาจทำลายอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันของไทยได้ ซึ่งอย่างน้อยที่สุด การกำหนดราคารับซื้อผลปาล์มคุณภาพตามเปอร์เซ็นน้ำมันที่กำหนดขึ้นจะต้องเป็นราคาที่สะท้อนถึงราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกด้วย เช่น ถ้าราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น ราคาผลปาล์มคุณภาพ (17%) ก็ต้องปรับเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ในทางตรงข้าม ถ้าหากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับตัวลดลง ราคาผลปาล์มคุณภาพ (17%) ก็ต้องปรับลดลงตามไปด้วย
ดังนั้น กล่าวได้ว่า ปัจจุบันปาล์มน้ำมันไทย เปรียบเสมือนคนที่เดินอยู่บนสายเส้นลวด หากทรงตัวไม่ดีพอ อาจร่วงหล่นลงมาได้ และเพื่อให้อุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มของไทยตลอดจนเกษตรกร สามารถเดินต่อไปได้ การปล่อยให้กลไกราคาดำเนินไปตามธรรมชาติอาจเป็นทางออกที่ดีกว่า เมื่อถึงช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดมาก ราคาย่อมถูกลงตามกลไกตลาด จนกระทั่งเมื่อผลผลิตเริ่มน้อยลง ราคาจะปรับตัวสูงขึ้น โดยเกษตรกรเองนั้น หากต้องการราคาขายที่ดี ก็ต้องพยายามผลิตปาล์มให้ได้คุณภาพที่ดี ซึ่งภาครัฐจะเข้าไปช่วยเหลือในการปลูกปาล์มให้ได้คุณภาพที่ดีควบคู่ไปด้วย ตั้งแต่การปลูก การสกัด การแปรรูป การวางแผนการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด และสำหรับผู้ประกอบการโรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม และผลิตน้ำมันปาล์ม ก็จำเป็นต้องมีการคาดการณ์ว่าช่วงเวลาใดที่ผลผลิตปาล์มจะขาดแคลน เพื่อปรับตัววางแผนการซื้อวัตถุดิบไว้เพื่อป้องกันการขาดแคลนวัตถุดิบป้อนโรงงาน และที่สำคัญคือการสนับสนุนให้เกษตรกรรวมกลุ่มเพื่อใช้ปัจจัยการผลิตร่วมกัน ซึ่งช่วยให้ต้นทุนการผลิตลดลงได้ ทั้งนี้ ความสำเร็จอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มอยู่ที่ฝ่ายโรงงานและเกษตรกรจะหาจุดสมดุลเพื่อความอยู่รอดของอุตสาหกรรม อย่าหวังให้รัฐสนับสนุนเพียงฝ่ายเดียว เพราะนั่นคือการเดินเข้าไปสู่ความเสี่ยงของอุตสาหกรรมดังกล่าว
สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร