WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

Kaset


ม็อบฮือร้อง รมต.ดูเขื่อน 
ตามข้ามอำเภอ จนท.สกัดวุ่น!

       รมว.เกษตรฯลงพื้นที่ภาคกลางดูปัญหาจัดสรรน้ำของเขื่อนเจ้าพระยา เจอกลุ่มชาวนาจากสิงห์บุรี-อ่างทอง บุกยื่นหนังสือขอให้เพิ่มระบายน้ำเข้านา ช่วยข้าวที่ตั้งท้องนับพันไร่ไม่ต้องยืนต้นตาย สั่งเตรียมจ้างงานชาวนา 1 ส.ค. เพื่อให้มีรายได้ พร้อมให้กรมชลประทานดูวิธีผันน้ำแม่น้ำโขงมาใช้ เพราะยอมรับการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ในประเทศไม่ง่าย ด้านดร.รอยล ระบุ การผันน้ำจากน้ำโขงมาใช้ไม่ง่าย แถมสิ้นเปลือง ชี้หาแหล่งเก็บน้ำเพิ่ม ในพื้นที่ดีกว่า เพราะปริมาณฝนไม่น้อย แต่ไหลทิ้งลงแม่น้ำโขงหมด รองนายกฯวิษณุรับทราบแล้ว กรมชลประทานขอนายกฯใช้ม.44 สร้างเขื่อนแม่วงก์ ระบุม.44 ไม่ใช่แก้วสารพัดนึก ควรพูดคุยทำความเข้าใจมากกว่า

 

วันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2558 ปีที่ 25 ฉบับที่ 9007 ข่าวสดรายวัน

 

     เมื่อวันที่ 26 ก.ค. นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รมว.เกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วย นายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายโอฬาร พิทักษ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ อธิบดีกรมชลประทาน เดินทางไปตรวจติดตามสถานการณ์น้ำลุ่มเจ้าพระยา ที่เขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท โดยเข้ารับฟังบรรยายสรุปสถานการณ์น้ำลุ่มเจ้าพระยา จากกรมชลประทานที่สำนักงานชลประทานที่ 12 อ.สรรพยา จ.ชัยนาท 

      โดยระหว่างที่นายปีติพงศ์ฟังบรรยายสรุปอยู่ในห้องประชุมชั้น 2 ที่สำนักงานชลประทานที่ 12 นั้น นายโสพล งามขำ ชาวนาจากจังหวัดสิงห์บุรี พยายามขอเข้าพบกับรัฐมนตรี เพื่อยื่นหนังสือร้องขอความช่วยเหลือให้ส่งน้ำเข้าคลองชลประทาน ช่วยเหลือนาข้าวในพื้นที่ที่กำลังตั้งท้องหลายพันไร่ที่กำลังยืนต้นตาย แต่กลับถูกเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจกันไม่ให้เข้าพบรัฐมนตรี และพยายามจะไม่ให้นายโสพลให้สัมภาษณ์กับ ผู้สื่อข่าว โดยนำตัวนายโสพลขึ้นรถพาออกไปจากสำนักชลประทานที่ 12 ทันที โดยเจ้าหน้าที่ทหารบอกว่า ต้องการให้ชาวนาไปยื่นหนังสือที่ศูนย์ช่วยเหลือเกษตรกรประจำตำบลดงคอน ที่รัฐมนตรีจะเดินทางไปตรวจพื้นที่มากกว่า

ต่อมา นายปีติพงศ์ พร้อมคณะเดินทางไปตรวจพื้นที่ที่ศูนย์ช่วยเหลือเกษตรกรประจำตำบล หมู่ 12 ต.ดงคอน อ.สรรคบุรี จ.ชัยนาท โดยมีชาวนาในจังหวัดชัยนาท สิงห์บุรี สุพรรณบุรี ประมาณ 200 คน เข้ารับฟังการชี้แจงสถานการณ์น้ำและแนวทางการให้ความช่วยเหลือของรัฐบาล โดยนายปีติพงศ์พบปะพูดคุยกับเกษตรกรเพียงช่วงเวลาสั้นๆ และระหว่างที่นายปีติพงศ์กำลังจะกลับไปขึ้นรถเพื่อเดินทางไปตรวจพื้นที่ที่จังหวัดสิงห์บุรี นายโสพลก็นำหนังสือไปยื่นให้กับนายปีติพงศ์ได้สำเร็จ อย่างไรก็ตามในวันที่ 27 ก.ค. ชลประทานจะเริ่มปล่อยน้ำเข้าคลองชลประ ทาน 1 ขวาบรมธาตุ ส่งน้ำให้กับชาวนาชัยนาท สิงห์บุรี สุพรรณบุรี ได้ใช้น้ำ

        นายปีติพงศ์ กล่าวว่า ต้องการทราบสถานการณ์เฉพาะจุดว่าเป็นอย่างไร แม้ว่าสถานการณ์ภาพรวมจะดีขึ้น จึงต้องมาปรึกษาหารือกับผู้ว่าราชการจังหวัด และฝ่ายทหาร เพื่อต้องการแก้ไขตามประกาศของกระทรวงเกษตรฯ ที่ว่าจุดที่มีข้าวตั้งท้อง ต้องแก้ไขปัญหาก่อน มีบางแห่งที่น้ำไปไม่ถึงต้องหาวิธีแก้ไขต่อไป ทั้งนี้ในพื้นที่มีอยู่ 2-3 แห่งที่ยังมีปัญหาอยู่ ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัด และฝ่ายทหารต้องประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรู้ว่ารอบเวรของการส่งน้ำจะทำอย่างไรเพื่อให้ประชาชนเพาะปลูกพืชทราบชัดเจนว่าตนเองจะได้รับน้ำเมื่อไร ซึ่งจะส่งน้ำตามลักษณะของพืช 

       ส่วนมาตรการระยะยาว เรื่องหนี้สิน ทางธ.ก.ส.ดำเนินการแล้ว ส่วนการจ้างแรงงานเกษตรกรจะเริ่มทำงานในวันที่ 1 ส.ค.นี้ ในระยะต่อไปจะไม่เพียงดูใน 22 จังหวัด ลุ่มน้ำเจ้าพระยาเท่านั้น ทั่วประเทศที่มีความแห้งแล้ง ชลประทานมีงบประมาณส่วนหนึ่งในการปรับปรุงอาคารชลประทานทั้งหมด ในแง่การเกษตรมี 3 โครงการ คือ ส่งเสริมปลูกข้าวโพด ถั่วเขียว พืชผักที่ประชาชนสนใจจะดำเนินการ พร้อมดำเนินการด้านตลาดให้ด้วย การขุดบ่อน้ำในไร่นาการปรับเปลี่ยนทำเกษตรกรรมผสมผสานจะช่วยให้เกษตรกรมีความมั่นคงด้านอาชีพมากขึ้น อีกส่วนหนึ่งคือพระราชเสาวนีย์ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ คือการสร้างแหล่งอาหารในชุมชน โดยดำเนินการขยายโครงการผลิตอาหาร โดยใช้แรงงานเกษตรกรที่ไม่มีไร่นาเป็นของตนเอง มาผลิตอาหารในชุมชน เหลือจากบริโภคแล้วนำมาจำหน่าย 

     ทั้งนี้ มาตรการของกระทรวงเกษตรฯ มี 5 มาตรการที่ต้องดำเนินการ ประกอบด้วย 1.ธ.ก.ส.ดูแลหนี้สินเกษตรกร 2.การส่งเสริมปลูกพืชฤดูแล้ง 3.ปรับโครงสร้างการผลิต 4.การขุดบ่อน้ำในไร่นา 5.โครงการฟาร์มชุมชนเพื่อหารายได้

นายปีติพงศ์กล่าวอีกว่า ตามยุทธศาสตร์บริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เป็นสิ่งที่ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องนำไปปฏิบัติและใช้น้ำที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด การดำเนินการจะแบ่งออกเป็น 2 ด้าน คือ การลดผลกระทบ และด้านการปรับตัว ซึ่งต้องสอดคล้องกัน ภายใต้โจทย์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันคือ เมื่อโลกเปลี่ยนแปลงไป เกิดภาวะโลกร้อนที่ส่งผลให้ฤดูกาลเปลี่ยนตาม มีปัญหาน้ำท่วม ภัยแล้งอย่างรุนแรง ทั้งหมดนี้เป็นผลกระทบที่การบริหารจัดการน้ำทั้งสิ้นที่ต้องหาทางออก นั่นคือพื้นที่ภาคการเกษตรต่างๆ จะต้องมีแหล่งชลประทานขนาดเล็กเอาไว้รองรับ โดยการปรับปรุงระบบชลประทานที่มีอยู่เดิมและสร้างระบบบริหารจัดการใหม่ให้เกิดความยั่งยืนในพื้นที่นั้นๆ โดยในแต่ละฟาร์มควรจะสร้างระบบชลประทานขนาดจิ๋ว เพื่อเป็นความมั่นคงในฟาร์ม ร่วมมือกับฟาร์มอื่นๆ ที่ใกล้เคียงเพื่อนำน้ำมาใช้ใหม่ หรือรีไซเคิลภายในแปลง

       "การสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ คงไม่สามารถทำได้ เพราะมีปัญหาหลายด้านทำให้การตัดสินใจลำบาก ปรับปรุงแหล่งน้ำที่มีอยู่เดิมจะดำเนินการได้เร็วกว่า อีกทั้งเมื่อมีน้ำเข้านาไปแล้วก็ควรจะใช้ให้เกิดประโยชน์หลายครั้งด้วยวิธีการใดก็ได้ตามความเหมาะสม ไม่ใช่เข้านาแล้วทิ้งไป อันนี้ทุกคนทุกฝ่ายจะต้องช่วยกันคิดและทำให้เป็นผลทางปฏิบัติ เป็นเรื่องสำคัญในการสร้างความมั่นคงทางด้านน้ำเพราะต้นทุนน้ำของไทยมีน้อย อาศัยน้ำฝนเพียงด้านเดียวเท่านั้น หากไม่รู้จักเก็บและบริหารจัดการ ปัญหาการแย่งน้ำก็จะเกิดขึ้นอย่างที่เห็นกันอยู่"

      สำหรับ การจัดหาแหล่งน้ำต้นทุนเพิ่มขึ้นนอกเหนือจากน้ำฝน นายกรัฐมนตรีสั่งให้ศึกษาเรื่องแนวทางการผันน้ำจากแม่น้ำโขงและแม่น้ำสาละวิน เบื้องต้นกรมชลประทานเห็นว่าสามารถดำเนินการได้ทันทีไม่ต้องเจรจาขอความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยแม่น้ำโขงนั้นสามารถทำได้ใน จ.หนอง คาย ซึ่งจะเพิ่มพื้นที่ชลประทานในภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้มากขึ้น ในขณะที่แม่น้ำสาละวินนั้น สามารถผันได้ใน จ.ตาก แต่จะได้ปริมาณมากน้อยแค่ไหนนั้นต้องพิจารณาอีกครั้ง

      นอกจากนี้ การบริหารจัดการน้ำในเขื่อนที่ใช้ประโยชน์ คือการอุปโภคบริโภค การผลักดันน้ำเค็มเพื่อระบบนิเวศ และการเกษตร นั้นจะต้องแยกวิธีการจัดส่งน้ำแต่ละส่วนที่แตกต่างกันเพื่อให้น้ำถึงจุดเป้าหมาย โดยน้ำเพื่ออุปโภคบริโภคนั้นควรจัดส่งโดยระบบปิด เพื่อแก้ปัญหาการแอบสูบน้ำอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน วิธีการจะทำให้ง่ายต่อการดันน้ำเค็มในช่วงน้ำทะเลหนุนสูง

     ขณะที่ภาคการเกษตรนั้นจะต้องปรับแผนการเพาะปลูกใหม่ การทำนา 5 ครั้งใน 2 ปีนั้นไม่ควรจะเกิดขึ้นอีก การทำนาจะต้องปลุกสลับกับพืชชนิดอื่นที่ใช้น้ำน้อย แต่มีมูลค่าทางการตลาด วิธีการนี้จะทำให้ดินมีสภาพดีขึ้น ตัดวงจรของโรคแมลง และยังเป็นการสร้างเสถียรภาพให้กับราคาข้าวได้ 

      "การปลูกข้าวมากไปจะมีผลต่อราคาตกต่ำ ซึ่งการปรับระบบการผลิตในลุ่มเจ้าพระยาใหม่ทั้งหมดนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายต้องใช้เวลา ในขณะที่ปลูกข้าวให้สอดคล้องกับน้ำที่มีอยู่นั้นจะส่งผลให้ การแก้ปัญหาทุกด้านไปได้ดีกว่านี้ เมื่อเทียบกับปัจจุบันที่การปลูกข้าวจะปลูกเมื่อถึงเวลา โดยไม่คำนึงถึงปัจจัยอื่นทั้งน้ำ ความต้องการของตลาด ซึ่งเรื่องนี้เกษตรกรต้องเรียนรู้ ปรับตัว ที่ต้องเร็วขึ้นเพราะภาวะโลกที่เปลี่ยนแปลง ระบบการค้าของโลกที่เข้มงวดขึ้นนั้นจะเป็นตัวบีบบังคับให้ต้องใช้ระยะเวลาที่สั้นลง"

นายเลิศวิโรจน์ กล่าวว่า ระดับน้ำที่เขื่อนเจ้าพระยาขณะนี้ ระดับน้ำเหนือเขื่อน +14.19 ม.รทก. สามารถระบายน้ำเข้าสู่คลองต่างๆ ทั้งสองฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยาได้มากยิ่งขึ้น สามารถนำน้ำเข้าพื้นที่เกษตรได้ไม่น้อยกว่า 6 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน 

ต่อมาเมื่อเวลา 12.00 น. นายปีติพงศ์ ตรวจราชการที่โครงการฟาร์มตัวอย่างตามพระราชดำริ บ้านยางกลาง หมู่ที่ 3 ตำบลสีบัวทอง อำเภอแสวงหา จังหวัดอ่างทอง เพื่อฟังการบรรยายสรุปโครงการฟาร์มตัวอย่างตามพระราชดำริ 

       ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในขณะที่นายนายปีติพงศ์ พร้อมคณะได้เดินทางมาฟังการสรุป นายธวัช ทองโอภาส นายกอบต.ตลาดใหม่ นายสาธร แจ่มฟ้า นายก อบต.หลักแก้ว นำชาวบ้านมาจำนวนหนึ่งยื่นหนังสือขอให้ทางรัฐบาลผันน้ำเข้าพื้นที่อ.วิเศษชัยชาญ อย่างเร่งด่วนเนื่องจากชาวนาจำนวนมากกำลังเดือนร้อนอย่างหนัก

       โดยนายธวัชกล่าวว่า ตอนนี้ทราบว่าในทุ่งผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา ได้มีการเก็บเกี่ยวข้าวกันแล้ว ก็อยากขอความอนุเคราะห์ผันน้ำเข้ามาช่วยในทุ่งวิเศษชัยชาญบ้าง ตอนนี้น้ำไม่ได้ผ่านมาในทุ่งวิเศษชัยชาญกว่า 2 เดือนแล้วที่ไม่ได้น้ำ ซึ่งก็ทราบว่าในวงรอบการให้น้ำที่จะส่งมายังพื้นที่ใน อ.วิเศษชัยชาญ อยากจะได้ขอเพิ่มเป็น 6-7 วันจาก 3 เดิมวัน เพราะถ้าให้ดูดน้ำเพียง 3 วันคงไม่พอแน่ ทั้งนี้เกษตรกรจาก 6 ตำบล ในอ.วิเศษชัยชาญ กว่า 1.5 หมื่นราย เป็นพื้นที่นา 7 พันไร่ ถ้าสูญเสียข้าวตรงนี้คิดเป็นมูลค่าประมาณ 49 ล้านบาท ซึ่งทางนายปีติพงศ์ รับหนังสือและรับปากจะหาทางช่วยเหลือ

ที่ซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติเยาวราช นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงข้อเสนอของกรมชลประทาน ที่ให้ใช้มาตรา 44 สร้างเขื่อนแม่วงก์แก้ไขปัญหาภัยแล้ง ว่า รับทราบข้อเสนอดังกล่าวแล้ว แต่การใช้อำนาจจะต้องไม่ทำให้เกิดความยุ่งยากและต้องเข้าหลักเกณฑ์เหมือนที่เคยใช้มากว่า 20 ครั้ง แต่ทั้งนี้จะต้องดูด้วยว่าการใช้มาตรา 44 จะสามารถแก้ไขปัญหาได้จบหรือไม่ เพราะมาตรา 44 ไม่ใช่แก้วสารพัดนึก ไม่เช่นนั้นคนจะสงสัยถึงความศักดิ์สิทธิ์ของมาตรา 44 ซึ่งอาจจะมีคนมา ต่อต้าน และถ้ามีการต่อต้านแสดงว่าการใช้อำนาจตามมาตรา 44 นั้นไม่ได้ผล อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าขณะนี้ผู้ที่เกี่ยวข้องกำลังศึกษาเรื่องดังกล่าวอยู่ว่าถ้าใช้มาตรา 44 ปัญหาทุกอย่างจะจบหรือไม่ โดยส่วนตัวเห็นว่าหากมองถึงความปรองดองควรใช้วิธีการพูดคุย สร้างความรับรู้ ความเข้าใจเพื่อแก้ไขปัญหามากกว่า 

      นายรอยล จิตรดอน ผอ.สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือสสนก. เปิดเผยว่า สสนก.ประสานกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อลงพื้นที่ทำงานร่วมกับองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น (อบต.) สำรวจแหล่งน้ำในภาคอีสาน เพื่อเพิ่มพื้นที่เก็บกักน้ำ เพราะภาคอีสานที่ผ่านมาประสบปัญหาไม่มีน้ำใช้เพียงพอในการทำการเกษตร ส่งผลให้ผลผลิตด้านการเกษตรโดยเฉพาะข้าวเสียหายประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่เพาะปลูก หากเร่งหาแหล่งเก็บกักน้ำให้ภาคอีสานจะสามารถมีรายได้จากผลผลิตที่เสียหายคืนมา และหากทำสำเร็จจะมีรายได้เพิ่มประมาณ 3 เท่าของรายได้ในปัจจุบัน 

       "ภายใน 1 ปีจากนี้น่าจะสามารถดำเนินโครงการจัดหาแหล่งน้ำให้ภาคอีสานได้ เบื้องต้นพบว่าภาคอีสานมีแหล่งน้ำขนาดใหญ่ที่เก็บน้ำประมาณ 7,000 ล้านลบ.ม. แต่รองรับพื้นที่การทำเกษตรได้เพียง 6 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้น อีก 94 เปอร์เซ็นต์ จำเป็นต้องเร่งสร้างระบบ เพราะในแต่ละปีภาคอีสานถือเป็นภาคที่มีน้ำฝนในประมาณสูงถึง 2.5 แสนล้านลบ.ม. ในจำนวนนี้ไหลทิ้งลงแม่น้ำโขง 6.5 หมื่นล้านลบ.ม. น้ำฝนที่ตกลงมาในภาคอีสานแต่ละปี ถือว่ามีปริมาณที่สูงมาก แต่ไหลทิ้งโดยไม่มีระบบเก็บกักน้ำจำนวนมหาศาล จึงต้องเร่งดำเนินการเพื่อสร้างให้อีสานมีแหล่งเก็บน้ำไว้ให้ได้มากที่สุด หากสามารถดำเนินการได้ภายใน 1 ปีจากนี้ จะไม่จำเป็นต้องไปผันน้ำโขง หรือน้ำจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาใช้ เพราะน้ำโขงคือน้ำนานาชาติ หากไทยต้องการใช้ แล้วลาวหรือประเทศอื่นเขาไม่ต้องการใช้หรือไร ไทยต้องคิดให้ มากในเรื่องนี้ ที่สำคัญโครงการผันน้ำโขง เป็นโครงการใช้งบประมาณสูงไม่คุ้มค่ากับผลลัพธ์ที่ได้" นายรอยล กล่าว

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!