WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

Kung

กุ้งไทยปลอดภัยใส่ใจมาตรฐานโลก

    3 ปีมาแล้ว ที่อุตสาหกรรมกุ้งไทยประสบปัญหากุ้งเกิดอาการตายด่วน (Early Mortality Syndrome) หรือ EMS ส่งผลให้การผลิตกุ้งของประเทศลดลงกว่าครึ่งจากผลผลิตเฉลี่ย 500,000 ตัน เหลือประมาณ 200,000 ตันต่อปี รายได้จากการส่งออกก็ลดลงเป็นเงาตามตัว ที่ร้ายไปกว่านั้นเกษตรกรหลายรายประสบปัญหาขาดทุนจนต้องเลิกกิจการ ส่วนที่เหลือก็ขาดความมั่นใจต้องชะลอการลงทุนท่ามกลางความเสี่ยง แต่สิ่งที่ผู้ประกอบการทั้งเกษตรกรและผู้ส่งออกไทยยังคงมุ่งเน้นคือการผลิตอาหารปลอดภัยและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพื่อคนทั้งโลก

    ทั้งภาคเอกชนและเกษตรกรต่างร่วมมือกันเดินหน้าเพื่อแก้ปัญหา EMS อย่างไม่หยุดยั้ง ความพยายามหาทางออกด้วยการเยียวยาและการปรับเทคโนโลยีการเลี้ยงตั้งแต่คัดเลือกพันธุ์ การอนุบาลลูกกุ้งเพื่อให้ลูกกุ้งแข็งแรงมีความต้านทานโรค การทำความสะอาดบ่อเลี้ยง และเทคนิคอื่นๆ ส่งผลในทางบวกมากขึ้น ทำให้เกษตรกรบางพื้นที่สามารถกลับมาเลี้ยงกุ้งได้บ้างแต่การผลิตก็ยังไม่สามารถกลับคืนมา 100% เหมือนเดิม แต่ก็ทำให้ประเทศไทยมีความหวังที่จะมีผลผลิตเพิ่มขึ้น

    นายสมศักดิ์ ปณีตัธยาศัย นายกสมาคมกุ้งไทย เปิดเผยว่า หลักการสำคัญของกุ้งไทยคือ “การผลิตอาหารปลอดภัย ใส่ใจสิ่งแวดล้อม” โดยเฉพาะอย่างยิ่งการควบคุมคุณภาพการผลิตตั้งแต่ต้นทาง คือ ฟาร์ม การบริหารจัดการฟาร์ม ต้องเป็นไปตามมาตรฐานสากล และมาตรฐานการผลิตสินค้าที่ดี (Good Aquacultural Practice) การใช้อาหารต้องควบคุมอย่างละเอียด แม้แต่การนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศต้องเป็นไปตามกฎเกณฑ์ที่ลูกค้าต้องการ เช่น ไม่ใช้แรงงานทาส ไม่ทำประมงผิดกฎหมาย ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม และเงื่อนไขอื่นๆ รวมไปถึงระบบป้องกันโรค เพื่อสร้างมั่นใจให้ผู้บริโภค

   ในส่วนของสิ่งแวดล้อม ประเทศไทยยังส่งเสริมให้เกษตรกรเลิกการใช้สารเคมีและยา antibiotic มาเป็นการเลี้ยงแบบ probiotic คือ การเลี้ยงโดยใช้จุลินทรีย์ เพื่อปรับปรุงคุณภาพชีวิตกุ้งในฟาร์ม และสิ่งแวดล้อมรอบตัวสัตว์ ซึ่งเป็นการเลี้ยงแบบพัฒนาและเน้นเรื่องความสะอาดเป็นหลัก นอกจากนี้ ฟาร์มกุ้งต้องไม่บุกรุกพื้นที่ป่าชายเลนเพื่อรักษาสมดุลทางธรรมชาติสู่ความยั่งยืน ทำให้กุ้งไทยเป็นที่ยอมรับจากผู้นำเข้าว่าเป็นสินค้าคุณภาพสูงปราศจากสารตกค้างและการใช้ยาปฏิชีวนะ อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่มีการนำเข้ากุ้งจากต่างประเทศต้องมีการตรวจสอบอย่างเข้มงวดว่าปราศจากสารตกค้าง เพื่อไม่ให้กระทบต่อมาตรฐานส่งออกของประเทศไทย

   “ปัจจุบันการเลี้ยงกุ้งในประเทศไทย เราทำเกินกว่าที่มาตรฐานโลกกำหนดไว้แน่นอน เพราะนอกจากจะต้องปฏิบัติตามระเบียบการนำเข้าของประเทศต่างๆ แล้ว ยังต้องดำเนินการตามเงื่อนไขที่แตกต่างกันของคู่ค้าที่เป็นผู้ค้าปลีกรายใหญ่อย่างเคร่งครัด เพื่อให้กุ้งไทยสามารถเจาะตลาดเป้าหมายได้” นายสมศักดิ์ กล่าว

    นายสมศักดิ์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับผู้ส่งออกกุ้งรายใหญ่ของไทยจะมีการควบคุมห่วงโซ่การผลิตอย่างเข้มงวดเพื่อให้มั่นใจคุณภาพอาหารปลอดภัย เช่น การคัดเลือกพันธุ์กุ้ง พ่อแม่พันธุ์ต้องแข็งแรงเพื่อให้ได้ลูกกุ้งที่สมบูรณ์แข็งแรง ส่งผลต่ออัตราการรอดสูง นอกจากนี้ บริษัทยังควบคุมคุณภาพการผลิตวัตถุดิบต่างๆ จากคู่ค้า เพื่อลดความเสี่ยงของตราสินค้า (brand risk)

     ในส่วนของผู้ซื้อและผู้นำเข้าจะมีการส่งผู้ตรวจสอบชั้นนำเข้ามาตรวจสอบคุณภาพสินค้าทั้งกระบวนการผลิต    เช่นเดียวกันตั้งแต่ อาหารสัตว์ ฟาร์ม ตลอดจนขบวนการผลิตอาหาร ซึ่งผู้ส่งออกไทยต้องผ่านการตรวจสอบเพื่อให้ได้ใบรับรองมาตรฐานส่งออก โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัจจุบันบริษัทผู้ตรวจสอบจะมุ่งเน้นปัจจัยทางสังคม เช่น ปัญหาแรงงานทาส หากผิดเงื่อนไขข้อใดข้อหนึ่ง ผู้ซื้อจะไม่นำเข้ากุ้งไทย โดยเฉพาะกรณีการที่สหภาพยุโรปให้'ใบเหลือง'ประเทศไทย เพราะมีการทำประมงผิดกฎหมาย (Illegal Unreported and Unregulated Fishing) หรือ IUU และการที่สหรัฐประกาศลดชั้นประเทศไทยไปอยู่ Tier 3 เนื่องมีการใช้แรงงานผิดกฎหมาย ก็ยังคงเป็นประเด็นที่กดดันประเทศไทยให้ใส่ใจเรื่องเหล่านี้อย่างเข้มงวด

    “สำหรับกรณี 'ใบเหลือง' นั้น อุตสาหกรรมกุ้งไทยไม่ได้เป็นคู่กรณีโดยตรงกับปัญหา IUU แต่เนื่องจากส่วนผสมในอาหารกุ้ง อาจมาจากการประมงที่ผิดกฎหมาย จึงอาจถูกเพ่งเล็งทางอ้อมได้” นายสมศักดิ์ กล่าว

    นายสมศักดิ์ ย้ำว่า กฎเกณฑ์ของประเทศลูกค้าและผู้ค้าปลีกรายใหญ่ในต่างประเทศเพิ่มขึ้นตลอดเวลา และมีรายละเอียดของมาตรฐานแตกต่างกัน ส่งผลให้ผู้ส่งออกกุ้งไทยจำเป็นต้องตรวจสอบห่วงโซ่การผลิต โดยเฉพาะคู่ค้า (supplier) อย่างเข้มงวด ไม่ต่างกับแบรนด์สินค้าระดับโลก เช่น เนสท์เล่ หรือ โตโยต้า ที่ต้องตรวจสอบและควบคุมคุณภาพของคู่ค้าในลักษณะเดียวกัน

    อย่างไรก็ตาม แม้ว่าราคากุ้งตลาดในประเทศขณะนี้จะปรับตัวสูงขึ้น โดยกุ้งขนาด 100 ตัว ต่อ 1 กิโลกรัม ราคาอยู่ที่ 130-135 บาท และ 70 ตัว ต่อ 1 กิโลกรัม ราคา 160 บาท แล้วก็ตาม แต่เกษตรกรยังไม่มั่นใจว่าการเพิ่มผลผลิตเพราะจะมีผลกระทบต่อราคากุ้ง ทำให้ผลผลิตกุ้งไทยยังไม่เพิ่มมากนัก โดยคาดว่าผลผลิตกุ้งโดยรวมของไทยในปีนี้จะอยู่ที่ 210,000 ตัน และมีการประเมินว่าประเทศไทยอาจต้องใช้เวลาอย่างน้อย 3 ปี สถานการณ์การเลี้ยงกุ้งจึงจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ./

      ดร. สมศักดิ์  ปณีตัธยาศัย  นายกสมาคมกุ้งไทย  โทร.  081-8302448

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!