- Details
- Category: เกษตร
- Published: Tuesday, 21 July 2015 16:04
- Hits: 1850
ธ.ก.ส.ชงบอร์ดเพิ่มวงเงินช่วยเกษตรแก้หนี้ หลังพบปัญหาหนักกว่าคาด-ใกล้ถูกยึดที่ดิน
แนวหน้า : นายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ธ.ก.ส. เตรียมนำเรื่องเข้าที่ประชุมคณะกรรมการธนาคาร ที่มีนายสมหมาย ภาษี รมว.คลัง เป็นประธานในวันที่ 27 ก.ค. นี้ เพื่อขยายเวลาโครงการแก้หนี้นอกระบบที่จะปิดโครงการในเดือน ก.ย. 2558 นี้ ขยายเวลาดำเนินการไปอีก 1 ปี สิ้นสุดเดือน ก.ย. 2559 และขอขยายวงเงินช่วยเหลือเกษตรกร จากที่ปล่อยกู้ไม่เกิน 1 แสนบาทต่อราย จะให้เพิ่มเป็น 1.5 แสนบาทต่อราย (กรณีที่มีหลักประกัน) เพื่อรองรับกลุ่มลูกหนี้เกษตรกรตามนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ต้องการให้ช่วยเหลือเกษตรกรกลุ่มที่มีปัญหาเอาที่ดินไปจำนองนายทุนนอกระบบ
ทั้งนี้ จากการสำรวจข้อมูลล่าสุดพบว่า จากจำนวนเกษตรกร 1.6 ล้านราย มีเกษตรกรเป็นหนี้นอกระบบ 1.49 แสนราย คิดเป็นมูลหนี้ 2.1 หมื่นล้านบาท หรือเฉลี่ยเป็นหนี้ 1.4 แสนบาทต่อราย นอกจากนี้ยังพบว่าในจำนวนดังกล่าวมีเกษตรกรกว่า 9 หมื่นราย ที่มีปัญหาหนี้สินจนต้องเอาที่ดินไปจำนอง ขายฝาก และกำลังจะถูกยึดที่ดินทำกิน คิดเป็นมูลหนี้รวมกันกว่า 1.3 หมื่นล้านบาท
เบื้องต้นจากการหารือระหว่างกระทรวงการคลัง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย เห็นชอบให้ใช้แนวทางที่มีอยู่คือ คณะอนุกรรมการช่วยเหลือเกษตรกรและผู้ยากจน (อชก.) ส่วนอำเภอและจังหวัด เข้าทำการไกล่เกลี่ยประนอมหนี้ในแต่ละพื้นที่ หากสามารถตกลงในชั้นนี้ได้ ก็จะดึงเข้าโครงการกองทุนหมุนเวียนเพื่อการกู้ยืมแก่เกษตรกรและผู้ยากจน ซึ่งปัจจุบันมีเงินที่เหลือสำหรับปล่อยกู้อยู่อีก 642 ล้านบาท สามารถกู้ได้สูงสุด 2.5 ล้านบาทต่อราย ดอกเบี้ย 5%
สำหรับ กรณีที่ อชก. คัดกรองหนี้ลูกหนี้ แล้วส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อ เช่น ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) ในฐานะเลขาฯ อชก. ก็จะใช้โครงการแก้หนี้นอกระบบไปปล่อยกู้เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรได้ โดยล่าสุดได้ปล่อยกู้ไปแล้ว 3.34 หมื่นราย คิดเป็นวงเงินกว่า 3,000 ล้านบาท จากเป้าหมายทั้งโครงการที่จะปล่อยกู้ 1 หมื่นล้านบาท โดยจะเสนอคณะกรรมการขยายวงเงินปล่อยกู้ให้ลูกหนี้ที่มีหลักประกันจาก 1 แสนบาท เพิ่มเป็น 1.5 แสนบาทต่อราย คิดดอกเบี้ย 12% กำหนดระยะเวลาชำระหนี้คืนไม่เกิน 10 ปี กรณีพิเศษไม่เกิน 12 ปี
นอกจากนี้ ธ.ก.ส. ยังออกมาตรการบรรเทาปัญหาภัยแล้ง วงเงิน 6 หมื่นล้านบาท โดยมี 3 มาตรการ คือ 1.มาตรการขยายเวลาชำระหนี้เดิมไปอีก 9-12 เดือน, 2.สินเชื่อระยะสั้นบรรเทาความเดือดร้อนวงเงิน 3 หมื่นล้านบาท ปล่อยกู้ในช่วง 15 ก.ค.-15 ต.ค. 2558 และ 3.การให้สินเชื่อระยะยาวเพื่อปรับปรุงระบบผลิต วงเงิน 3 หมื่นล้านบาท มีเป้าหมายการปล่อยสินเชื่อ 3 ปีตั้งแต่ 15 ก.ค. 2558-31 ก.ค. 2561 วงเงินปล่อยกู้ปีละ 1 หมื่นล้านบาท