- Details
- Category: เกษตร
- Published: Monday, 20 July 2015 12:48
- Hits: 4896
จี้ชดใช้ชาวนา รัฐห้ามสูบน้ำ ปราจีนวุ่นซ้ำ น้ำเค็มทะลัก!
ชาวปราจีนฯ อ่วมหนัก น้ำทะเลหนุนสูงจนไร้น้ำดิบผลิตประปา จะสูบเข้านาก็เค็มเกินไปต้องทนยืนดูต้นข้าวแห้งตาย อ่างทองถนนเริ่มทรุดแล้ว ส่วนคลอง 13 ที่ปทุมฯ รถบดถนนที่ไปซ่อมทางตกร่วงลงคลอง เพราะไหล่ทางรับน้ำหนักไม่ไหว โคราชก็ยังหนักต้นกล้าที่หว่านไว้รอวันแห้งตาย หาก 2 สัปดาห์ยังไร้ฝนชาวนาแย่แน่ๆ พิจิตรจี้ขอเงินชดเชยหลังถูกสั่งห้ามสูบน้ำ พร้อมขอพันธุ์ข้าวด้วย เพราะไร้สิ้นเงินทุน นครพนม-สกลฯ-อุดรฯ ชาวนาต่างแห่ทำนากันคึกคักหลังฝนกระหน่ำ รมว.เกษตรฯ สั่งสำรวจความเดือดร้อนของชาวนา พร้อมจ่อชง ครม.ใช้ระบบชลประทานแบบปิดป้องกันศึกชิงน้ำ
วันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2558 ปีที่ 25 ฉบับที่ 9000 ข่าวสดรายวัน
ทรุดซ้ำ - ถนนเลียบคลอง 13 อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี ทรุดตัวซ้ำอีกรอบ ขณะเจ้าหน้าที่กำลังเข้าซ่อมแซม เป็นเหตุให้รถบดถนนจำนวน 2 คัน ตกลงไปเสียหาย ต้องสั่งปิดการจราจรเส้นทางดังกล่าวโดยเด็ดขาด เมื่อวันที่ 19 ก.ค.
'ปีติพงศ์'สั่งเร่งช่วยชาวนา
เมื่อวันที่ 19 ก.ค. นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังประชุมการขับเคลื่อนกลยุทธ์การ บูรณาการช่วยเหลือเกษตรกรวิกฤตภัยแล้ง ที่โรงแรมกรุงศรีริเวอร์ จ.พระนครศรีอยุธยา ว่า ในพื้นที่เกษตรกรรมที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง โดยเฉพาะในเขต 22 จังหวัดลุ่มเจ้าพระยา จำเป็นต้องดูแลเกษตรกรอย่างใกล้ชิด จึงได้สั่งให้ระดมทีมเจ้าหน้าที่ทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวง ออกเยี่ยมเกษตรกรอย่างครอบคลุมและทั่วถึง ตามระบบช่วยเหลือและเยี่ยมเยียนเกษตรกร และรายงานผลการแก้ไขปัญหามายัง กระทรวงเกษตรฯ ให้รับทราบทุกวัน
โดยต้องบูรณาการการทำงานร่วมกับฝ่ายปกครองและฝ่ายมั่นคงให้ได้ผล ซึ่งจะเริ่มดำเนินการในวันที่ 20 ก.ค.เป็นต้นไป ถึง วันที่ 20 ส.ค.นี้ ตามที่คาดการณ์ว่าสถานการณ์ฝนจะตกมากขึ้นไปจนถึงเดือนต.ค. โดยมีเป้าหมายสำคัญ คือ 1.วิเคราะห์พื้นที่เสี่ยง เพื่อจัดลำดับความสำคัญในการเข้าไปแก้ไขปัญหา แบ่งเป็นพื้นที่ข้าวตั้งท้องปลูกตั้งแต่เดือนเม.ย.-พ.ค. พื้นที่ที่มีปัญหาเฉพาะจุด เช่น สวนกล้วยไม้ สวนผลไม้ และพื้นที่ที่ยังไม่เริ่มเพาะปลูก อยู่จุดใดบ้างต้องมีข้อมูลทั้งหมดให้ชัดเจน
2.การนำเทคโนโลยีการเกษตรเข้าไปแนะนำและส่งเสริมเกษตรกรทั้งเรื่องน้ำ ดิน การส่งเสริมอาชีพด้านประมง ปศุสัตว์ 3.การสร้างความร่วมมือกับภาคเอกชนในจังหวัด เพื่อแก้ไขปัญหา เช่น หารือร่วมกับสหกรณ์ต่างๆ ในการขยายระยะเวลาการชำระหนี้ให้แก่สมาชิกสหกรณ์ เป็นต้น
นายปีติพงศ์ กล่าวว่า ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯ มอบหมายให้กรมส่งเสริมการเกษตรออกแบบระบบศูนย์ช่วยเกษตรกร เพื่อบริหารจัดการข้อมูลช่วยเหลือ รวมถึงการปรับโครงสร้างการผลิตสินค้าเกษตร การสร้างเกษตรกรรมทางเลือกให้กับเกษตรกรเพื่อเตรียมฤดูกาลผลิตต่อไปด้วย ซึ่งกลไกการขับเคลื่อนทั้งหมดถือเป็นปัจจัยสำคัญในการผลักดันนโยบายเพื่อให้เกิดผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมนำไปสู่การยกระดับศักยภาพการแข่งขันในการผลิตภาคเกษตรของประเทศ
ใช้โซเชี่ยลมีเดียแจ้งข่าว
"ระบบช่วยเหลือและเยี่ยมเยียนเกษตรกรจะดำเนินการภายใต้ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเกษตรกร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ศชก.) โดยเกษตรอำเภอทั้ง 273 อำเภอใน 22 จังหวัดลุ่มเจ้าพระยา จะมีการรายงานผ่านโซเชี่ยลมีเดีย ซึ่งทั้งเกษตรกรและเจ้าหน้าที่สามารถส่งข้อมูลที่พบปัญหาผ่านทางแอพพลิเคชั่น เว็บไซต์ และเฟซบุ๊ก เพื่อ ขอความช่วยเหลือ สนับสนุน ซึ่งเกษตรกรสามารถแจ้งเรื่องราวปัญหาต่างๆ ได้ด้วยตนเอง หรือผ่านเจ้าหน้าที่เกษตร ซึ่งเมื่อได้รับแจ้งแล้วเจ้าหน้าที่จะเข้าไปช่วยเหลือทันที
หากยังไม่สามารถแก้ไขได้ทันทีจะส่งเรื่องผ่านระบบรายงาน จากนั้นส่วนราชการ กระทรวงเกษตรฯ ทั้งระดับกรม ระดับจังหวัดไปจนถึงระดับพื้นที่ จะเร่งดำเนินการให้การช่วยเหลือและแก้ปัญหาต่อไป" รมว.เกษตรฯ กล่าว
นายปีติพงศ์ กล่าวอีกว่า สำหรับมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ต้องเลื่อนการปลูกข้าวนาปี ซึ่งอยู่ในระหว่างการดำเนินการของกรมส่งเสริมการเกษตร ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมด้านการเกษตรเพื่อสร้างรายได้ทดแทนระหว่างชะลอการเพาะปลูกข้าวนาปี โดยการปรับเปลี่ยนการเพาะปลูกของเกษตรกรทดแทนการปลูกข้าวนาปี การส่งเสริมการปลูกพืชใช้น้ำน้อย การทำไร่นาสวนผสม โดยให้เป็นไปตามความต้องการของเกษตรกร และสนับสนุนการสร้างแหล่งน้ำในไร่นาของเกษตรกร
ซึ่งเมื่อช่วงต้นเดือนก.ค.ที่ผ่านมากรมส่งเสริมการเกษตรได้ระดมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ เอกชน สินเชื่อ และเกษตรกร ร่วมบูรณาการจัดเสวนาปรับโครงสร้างการผลิต สู่การใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า หาแนวทางบรรเทาปัญหาช่วยเหลือเกษตรกร ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมการปลูกพืชใช้น้ำน้อยหมุนเวียนในระบบการปลูกข้าว เช่น ถั่วเขียว ถั่วเหลือง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ฯลฯ และการทำเกษตรกรรมทางเลือก โดยได้วางแผนและแนวทางระยะยาวการปรับโครงสร้างการผลิตในเขตลุ่มเจ้าพระยาอย่างยั่งยืน มีประสิทธิภาพ สอดคล้องตามความต้องการของเกษตรกรในพื้นที่และตามศักยภาพของตลาดรับซื้อต่อไป
ชงครม.ใช้ชลประทานแบบปิด
นอกจากนั้น นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รมว.เกษตรและสหกรณ์ ยังให้สัมภาษณ์ว่า ในการประชุม ครม.เศรษฐกิจครั้งถัดไป จะเสนอแนวคิดการปรับปรุงระบบชลประทานแบบใหม่ ต่อคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำ ที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. เป็นประธาน พิจารณาบรรจุการปรับปรุงระบบชลประทานเป็นแบบปิด
แล้งจัด - สระน้ำที่ขุดลอกไว้เพื่อเป็นแหล่งน้ำดิบสำหรับผลิตประปาหมู่บ้าน ต.บางยาง อ.บ้านสร้าง จ.ปราจีนบุรี แห้งจนไม่สามารถผลิตน้ำประปาได้ ขณะที่แม่น้ำปราจีนก็ถูกน้ำทะเลหนุน ไม่สามารถทำประปาและทำการเกษตรได้เช่นกัน เมื่อวันที่ 19 ก.ค. |
นายปีติพงศ์ กล่าวว่า ปัจจุบันระบบชลประทานของไทยเป็นระบบเปิด ซึ่งมีปัญหากับการบริหารจัดการทุกครั้งที่เกิดปัญหาน้ำน้อย ซึ่งปัจจุบันระบบชลประทานไทยเป็นการส่งน้ำตามระบบคลองชลประทาน เพื่อใช้อุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศ และการเกษตร เมื่อน้ำถูกส่งไปรวมๆ กันในระบบเปิดจึงแย่งน้ำด้วย การแอบสูบน้ำกักไว้ใช้ เพื่อตุนไว้ใช้ในการเกษตรและกิจกรรมส่วนตัวของกลุ่มที่อยู่ต้นน้ำ แม้กรมชลประทานจะมีกฎหมายที่เอาผิดกับคนลักลอบสูบน้ำแต่ยังไม่เข้มงวด เพราะส่วนใหญ่ที่แอบสูบเป็นเกษตรกรทั้งนั้น
"ดังนั้น วิธีที่จะแก้ปัญหาคือทำระบบคลองปิด ที่สามารถระบุน้ำที่กรมชล ประทานส่งไปจะใช้สนับสนุนกิจกรรมใด อนาคตเราต้องปรับระบบการส่งน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาซึ่งเป็นลุ่มน้ำไม่ใช่อ่างเดียว ปรับปรุงทั้งในแง่โครงสร้างพื้นฐานเพื่อทำให้สามารถส่งน้ำไปที่กลุ่มเป้าหมายชัดเจน ไม่ใช่ส่งน้ำเป็นระบบเปิด (open channel) อย่างทุกวันนี้ อาจจะต้องวางเป็นท่อหรือเป็นอะไรที่มีการคุ้มครองทางน้ำเป็นพิเศษ ไม่เช่นนั้นจะไม่สามารถบริหารจัดการน้ำได้" รมว.เกษตรฯ กล่าว
'ไก่อู'ย้ำรัฐเตรียมเยียวยาชาวนา
ด้านพล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จากการติดตามสถานการณ์น้ำฝน น้ำในเขื่อน และน้ำใช้ พบว่าสถานการณ์ยังไม่อยู่ในภาวะที่ไว้วางใจได้ รัฐบาลเตรียมมาตรการจัดการปัญหาโดยให้ความสำคัญกับน้ำบริโภคเป็นลำดับแรก เพราะถือเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิตของมนุษย์
"คณะรัฐมนตรีจะบรรจุวาระเร่งด่วนเรื่องการดูแลน้ำกินน้ำใช้ให้กับประชาชนในพื้นที่ประสบภัยแห้ง โดยน่าจะทำในรูปแบบเปิดรับบริจาคน้ำดื่มจากประชาชนส่วนกลางส่งไปช่วยสมทบในจุดที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงโปรดให้ตั้งจุดบริการน้ำทั่วประเทศในโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ และจุดที่ยังต้องการการช่วยเหลือเป็นพิเศษ โดยมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยเป็นเจ้าภาพหลักในการระดมน้ำใจไทยช่วยคนไทยสู้ภัยแล้งในครั้งนี้" รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าว
พล.ต.สรรเสริญกล่าวว่า ลำดับต่อไปคือการให้ความสำคัญกับพื้นที่การเกษตร โดยเฉพาะพื้นที่นาที่ข้าวใกล้จะให้ผลผลิตเก็บเกี่ยวได้ ต้องรักษาไว้ รวมถึงพืชสวนที่หากปล่อยให้ยืนต้นตายจะต้องใช้เวลาเพาะปลูกฟื้นฟูหลายปีกว่าจะได้รับผลผลิตอีกครั้ง ส่วนพื้นที่การเกษตรเช่นพื้นที่นา ซึ่งยังไม่ได้อยู่ในช่วงเก็บเกี่ยว หากสถานการณ์น้ำยังไม่ดีขึ้นคงต้องยอมรับว่าจะเกิดผลกระทบค่อนข้างแน่ชัด รัฐบาลจะได้กำหนดแนวทางการเยียวยาช่วยเหลือต่อไป จึงอยากขอให้ทุกภาคส่วนเข้าใจถึงความจำเป็นของประเทศในขณะนี้
พิจิตรจี้ชดเชย-ห้ามสูบน้ำ
วันเดียวกัน นายบรรจง ตั้งจิตรพิไลเลิศ ประธานกลุ่มเกษตรกรทำนาจังหวัดพิจิตร เผยว่า ขณะนี้ชาวนาในพื้นที่กำลังลำบากมาก หลังรัฐบาลห้ามสูบน้ำไปหล่อเลี้ยงต้นข้าว กระทั่งมีบางกลุ่มเตรียมไปสมทบกับชาวนาอีกหลายจังหวัด เพื่อขอเข้าพบนายกฯ แต่ได้ร้องขอกันไว้แล้วจนเลิกความเคลื่อนไหวดังกล่าวไป เบื้องต้นกลุ่มชาวนาในพื้นที่ฝากเรื่องถึงรัฐบาลว่า อยากให้ช่วยเหลือเรื่องของค่าชดเชย และขอให้จ่ายค่าชดเชยเร็วขึ้น เนื่องจากชาวนาขณะนี้กำลังแย่ นอกจากนั้นยังขอให้รัฐบาลช่วยในเรื่องของเมล็ดพันธุ์ข้าวปลูกที่จะทำนารอบใหม่ เพราะขณะนี้ไม่มีเงินทุนจะไปซื้อข้าวปลูกใหม่อีกแล้ว
ด้านนายสมยศ แสงมณี ชลประทานจังหวัดพิจิตร เปิดเผยว่า หลังจากที่รัฐบาลขอความร่วมมือกับชาวนางดสูบน้ำใส่นาข้าวในช่วงนี้ เนื่องจากน้ำในเขื่อนเหลือน้อย ซึ่งการงดสูบน้ำของชาวนานั้นยังไม่มีกำหนดว่าจะให้สูบน้ำเมื่อไหร่ ต้องดูจนกว่าน้ำในเขื่อนทั้ง 4 เขื่อนจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร ดังนั้น ขณะนี้ยืนยันว่าชาวนายังสูบน้ำใส่นาข้าวไม่ได้ เพราะต้องสงวนน้ำไว้ผลักดันน้ำทะเลที่หนุนสูง มิฉะนั้นอาจกระทบต่อระบบการจัดทำน้ำประปาทั้งหมด
ขณะที่นายฤทธี ธรรมยศ อายุ 46 ปี รองประธานกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาในกระชังจังหวัดพิจิตร กล่าวว่า กลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาในกระชังกว่า 400 กระชัง ในลุ่มแม่น้ำน่านที่ไหลผ่านพื้นที่ ต.ย่านยาว อ.เมืองพิจิตร ต้องหมั่นตรวจเช็กระดับน้ำในแม่น้ำน่านตลอดเวลา เพื่อคอยปรับระดับกระชังปลาทับทิมที่เลี้ยงไว้ในกระชัง กระชังละกว่า 2 พันตัว เพื่อป้องกันไม่ให้ปลาที่เลี้ยงไว้ตายจากสาเหตุของการขาดออกซิเจนในน้ำที่ลดระดับลง หลังจากเขื่อนสิริกิติ์ปรับลดการระบายน้ำอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับในระยะนี้มีฝนตกลงมาในพื้นที่ท้ายเขื่อนทั้งใน เขต จ.อุตรดิตถ์ และ จ.พิษณุโลก ทำให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำน่านเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทุกวัน
โคราชยังอ่วมกล้าข้าวแห้งตาย
ส่วนที่ จ.นครราชสีมา นายพศิษฐ์ ขอนพุดซาสิริโชค ผู้ใหญ่บ้าน บ้านโคกแขวน ม.2 ต.พันดุง อ.ขามทะเลสอ กล่าวว่า ในแต่ละปีชาวบ้านในหมู่บ้านประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทั้งทำไร่ และปลูกข้าว โดยมีที่นาทั้งหมดประมาณ 900 ไร่ เมื่อถึงช่วงเดือนพ.ค.ของทุกปีชาวนาจะเริ่มหว่านเมล็ดพันธุ์ข้าวไว้ในแปลงนา หรือที่เรียกหว่านนาแห้ง เพื่อให้ต้นกล้าเริ่มเจริญเติบโตในช่วงเดือนก.ค. ซึ่งจะเป็นช่วงที่เริ่มมีฝนตก แต่ ปีนี้ชาวนากำลังประสบกับปัญหาฝนทิ้งช่วง ส่งผลให้ต้นกล้าที่กำลังเจริญเติบโตเริ่มแห้งตาย เนื่องจากไม่มีน้ำไปหล่อเลี้ยง หากภายใน 2 สัปดาห์ยังไม่มีฝนตกลงมาคาดว่าต้นกล้าของชาวบ้านทั้งหมดจะแห้งตายแน่นอน
น้ำท่วม - พายุฝนตกหนักใน จ.นครพนม ติดต่อกัน 3 วัน 3 คืน เป็นเหตุให้เกิด น้ำท่วมพื้นที่เทศบาลเมืองสูงกว่าครึ่งเมตร เจ้าหน้าที่ต้องติดตั้งเครื่องสูบน้ำทั่วเมือง พร้อมประกาศเตือนประชาชนระมัดระวังการเดินทาง เมื่อวันที่ 19 ก.ค. |
สำหรับ สถานการณ์น้ำในลำน้ำมูนที่ไหลผ่านพื้นที่ อ.สตึก จ.บุรีรัมย์ ขณะนี้ยังมีสภาพตื้นเขินในรอบหลายปี ถึงแม้จะมีฝนตกต่อเนื่องในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่ไม่สามารถเพิ่มปริมาณน้ำในลำน้ำมูน ทำให้ปีนี้สถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าเพื่อการเกษตรทั้ง 5 แห่ง ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ ต.ท่าม่วง มีนาข้าวในเขตบริการมากกว่า 10,000 ไร่ ไม่สามารถสูบน้ำขึ้นมาหล่อเลี้ยงต้นข้าวช่วยเหลือเกษตรกรได้ จนกว่าจะมีฝนตกลงมาเพิ่มปริมาณน้ำในลำน้ำมูนให้สูงขึ้นพ้นจากภาวะวิกฤต จึงจะสูบน้ำมาใส่นาข้าวพร้อมกันได้
วันเดียวกันในพื้นที่ ต.บางยาง อ.บ้าน สร้าง จ.ปราจีนบุรี ได้รับผลกระทบจากภาวะน้ำเค็มหนุนแม่น้ำปราจีนบุรี ในช่วงฤดูแล้งที่นานเกินปกติ ประกอบกับฝนทิ้งช่วงน้ำที่กักเก็บในคลองและแหล่งน้ำขาดแคลน โดยเฉพาะประปาหมู่บ้านขาดแคลนไม่มีน้ำดิบผลิตให้กับชาวบ้านต้องปิดการผลิต และนาข้าวที่ชาวนาหว่านกล้าข้าวขาดแคลนน้ำยืนต้นตาย เพราะน้ำในแม่น้ำปราจีนบุรีค่าความเค็มสูง ไม่สามารถใช้ประโยชน์ทางการเกษตร-ผลิตประปาได้
ขอนแก่นประกาศพ้นภัยแล้ง
นายกำธร ถาวรสถิตย์ ผวจ.ขอนแก่น กล่าวว่า ขณะนี้ออกประกาศยกเลิกสถานการณ์ภัยแล้งทั้ง 26 อำเภอ โดย อ.บ้านฝาง เป็นแห่งสุดท้ายในการยกเลิกภัยแล้ง เพราะจังหวัดช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้งที่ผ่านมาด้วยการแจกจ่ายน้ำ 50 ล้านลิตร ขุดเจาะบ่อบาดาล ช่วยแก้ปัญหาสถานการณ์ภัยแล้งให้กับเกษตรกรทั้ง 26 อำเภอ และน้ำในเขื่อนอุบลรัตน์ปัจจุบันมีน้ำอยู่มากถึงร้อยละ 28 จากปริมาณน้ำความจุ 675 ล้านลบ.ม. น้ำใช้การได้ 94 ล้านลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 5 ปริมาณน้ำไหลลงอ่าง 0.16 ล้านลบ.ม. ระบายออก 2.5 ล้านลบ.ม.
นายกำธร กล่าวว่า ทำให้ตอนนี้มีน้ำไหลเข้าสู่เขื่อนอุบลรัตน์บ้างแล้ว และชาวนาในเขตชลประทานกว่า 2 แสนไร่ก็ได้น้ำทำนาแล้ว เนื่องจากมีฝนธรรมชาติตกลงมาในพื้นที่กว่าร้อยละ 60 นอกจากนั้นเมื่อวันที่ 17 ก.ค.ที่ผ่านมามีพิธีเปิดศูนย์บริการน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคพระราชทานที่โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 50 บ้านโนนสมบูรณ์ อ.บ้านแฮด เพื่อบรรเทาทุกข์แก่ราษฎร ที่ประสบภาวะภัยแล้งในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น
นอกจากนั้น ยังมีจุดบริการน้ำเพื่ออุปโภคบริโภคอีก 3 แห่ง คือศูนย์การศึกษาพิเศษเขตการศึกษา 9 ถนนหน้าเทศบาลเมืองศิลา, โรงเรียนศรีสังวาลย์ ต.ศิลา และโรงเรียนโสตศึกษาจังหวัดขอนแก่น ถนนเหล่านาดี ต.ในเมือง อ.เมืองขอนแก่น หากประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาภัยแล้งขาดน้ำอุปโภคบริโภค สามารถนำภาชนะมารองรับน้ำได้ในวันเวลาราชการ
นครพนม-อุดรฯฝนถล่มจนท่วม
ขณะเดียวกัน จากสภาพฝนตกหนักในพื้นที่ จ.นครพนม ติดต่อกัน 3 วัน 3 คืน ส่งผลให้มีน้ำท่วมขังในเขตเทศบาลเมืองนครพนม โดยเฉพาะหน้าตลาดสด ถนนอภิบาลบัญชา ถนนราชทัณฑ์ ระดับน้ำสูงเฉลี่ย 50 ซ.ม. ขณะที่นายนิวัต เจียวิริยบุญญา นายกเทศมนตรีเมืองนครพนม ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำทั่วเมือง 3-4 จุด เร่งระบายน้ำลงสู่น้ำโขงอย่างเร่งด่วนแล้ว
ส่วนที่บริเวณถนนสี่เลนทางหลวงหมายเลข 22 สายนครพนม-สกลนคร ฝั่งขาเข้าตัวเมือง เยื้องหมวดทางหลวงนครพนม ช่วง บ.โคกทรายคำ ต.หนองญาติ น้ำได้ไหลทะลักจากคลองท่วมผิวจราจร 2 เลน ระดับน้ำสูง 70 ซ.ม. ระยะทางยาว 70 เมตร รถที่จะวิ่งเข้าตัวเมืองต้องลดความเร็ว เจ้าหน้าที่นำกรวยมาปิดกั้นช่องจราจร 1 เลน หวั่น ผู้ใช้เส้นทางได้รับอันตราย
เช่นเดียวกับ จ.อุดรธานี ที่เกิดน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมถนนสายอุดรธานี-สกลนคร ระหว่างหลักกิโลเมตรที่ 12-13 บ้านหนองกุง ม.8 ต.ผักตบ อ.หนองหาน สูงประมาณหัวเข่าทำให้ผู้ใช้รถใช้ถนนไปมาลำบาก ถนนใช้ได้เพียงเลนเดียว เป็นเหตุให้รถยนต์นิสสัน สีขาว ทะเบียน กพ 995 อุดรธานี ซึ่งขับฝ่าสภาพถนนที่ถูกน้ำท่วมจนพลัดตกลงไปในคลองข้างถนน แต่โชคดีที่น.ส.เนตรมณี พรมเสาร์ คนขับได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย
แม่ฮ่องสอนดินสไลด์ปิดถนน
ขณะที่ชาวนาในพื้นที่ จ.สกลนคร ต่างพากันออกทำนาด้วยความคึกคัก หลังเกิดฝนตกหนักในพื้นที่รวม 3 วัน จนข้าวกล้าที่กำลังแห้งเฉาตายฟื้นเขียวทันที นอกจากนั้นยังทำให้ลำน้ำสงครามที่ไหลผ่านจังหวัดอุดรธานี บึงกาฬ สกลนคร และนครพนมลงสู่แม่น้ำโขง มีปริมาณสูงขึ้น ส่งผลให้ชาวนามีน้ำทำนาอย่างทั่วถึง รวมถึงน้ำในหนองหาร อ.เมืองสกลนคร ซึ่งก่อนหน้านี้แห้งขอดเพราะประสบภัยแล้งนานกว่า 2 เดือน ได้น้ำจากลำห้วยสาขากว่า 30 สายไหลลงบรรจบ ทำให้มีปลาขึ้นมาตามลำน้ำจำนวนมาก ชาวบ้านจึงออกหาปลาตามลำห้วยกันคึกคักเช่นเดียวกัน
วันเดียวกัน พ.อ.กิติชาติ นิลขำ ผบ.หน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 36 สำนักงานพัฒนาภาค 3 หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา กองบัญชาการกองทัพไทย รับรายงานจากชาวบ้านว่าในพื้นที่ อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน เกิดฝนตกลงมาอย่างหนักติดต่อกันนานหลายชั่วโมงและมีลมกระโชกแรง ทำให้ต้นไม้ที่อยู่ริมไหล่เขาหักโค่นลงมาและมีดินภูเขาสไลด์ปิดทับเส้นทางเข้าหมู่บ้านห้วยม่วง ม.2 ต.แม่สวด ชาวบ้านและยานพาหนะ ไม่สามารถเดินทางเข้าออกหมู่บ้านได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก จึงจัดส่งเครื่อง จักรกล รถขุดตัก และกำลังพลชุดบรรเทาสาธารณภัยเข้าช่วยเหลือ
พบว่ามีดินภูเขาได้สไลด์ลงมาปิดทับเส้นทางเข้าหมู่บ้านเป็นระยะถึง 4 จุด บางจุดมีต้นไม้และกิ่งไม้หักโค่นลงมาทับเส้นทางด้วย เจ้าหน้าที่หน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 36 จึงได้ใช้รถขุดตักและกำลังพลช่วยกันเก็บตัดกิ่งไม้ต้นไม้ที่หักลงมา ใช้เวลาถึง 1 ชั่วโมงจึงสามารถเปิดเส้นทางให้ชาวบ้านสัญจรไปมาได้ตามปกติ พร้อมแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่การใช้ยานพาหนะเข้าออกหมู่บ้าน หรือผ่านเส้นทางให้ใช้ความระมัดระวังให้มาก หากพบเห็นดินภูเขาสไลด์หรือน้ำป่าไหลหลากท่วมพื้นที่ ให้แจ้งหน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 36 บ้านคอนผึ้ง อ.สบเมย ที่โทรศัพท์หลายเลข 0-5368-7201 24 ชั่วโมง ไม่เว้นวันหยุดราชการ
ราชบุรีโจรชุม-ลักเครื่องสูบ
นายจรูญ พัฒนสิน เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง แห่งบ้านตาลเตี้ย ม.3 ต.ดอนใหญ่ อ.บางแพ จ.ราชบุรี เผยว่า ขณะนี้มีโจรขโมยหางนาคอาละวาดหนัก สร้างความเดือดร้อนแก่เกษตรกรเป็นอย่างมาก โดยหางนาคสำหรับดูดน้ำเข้าบ่อกุ้งของนายจรูญหายไป 1 ตัว คาดว่ากลุ่มคนร้ายน่าจะเป็นคนนอกพื้นที่ โดยขี่รถจักรยานยนต์ออกลาดตระเวนหาเครื่องหางนาคของเกษตรกรในช่วงกลางวัน ด้วยการสวมหมวก ใส่แว่นดำ และโพกผ้าปิดบังใบหน้าและร่างกายมิดชิดเหมือนคนหาปลาทั่วไป เมื่อพบหางนาคที่ต้องการจะพาพรรคพวกมาขโมยไปในช่วงกลางดึก
นายจรูญ กล่าวว่า หางนาคของตนหายไปแล้วกว่า 1 สัปดาห์ เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ยังไม่สามารถจับกุมกลุ่มคนร้ายได้ แต่หางนาคของเกษตรกรยังคงหายอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับกล่าวตัดพ้อว่า ปัจจุบันเกษตรกรในพื้นที่ต่างต้องประสบกับปัญหาภัยแล้ง ราคากุ้งตกต่ำอยู่แล้ว ยังมีกลุ่มคนร้ายมาขโมยเครื่องมือหากินซ้ำเติมกันอีก จนตนและเกษตรกรท้อใจไปตามๆ กัน
อ่างทองถนนก็ทรุดแล้ว
สถานการณ์ภัยแล้งยังส่งผลกระทบอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดในพื้นที่ จ.อ่างทอง ถนนเลียบคลองชลประทานเริ่มเกิดการทรุดพังลงหลายจุด ทางท้องถิ่นได้รีบเร่งซ่อมแซม โดยเฉพาะถนนเลียบคลองชลประทาน ม.1 ต.ไผ่วง อ.วิเศษชัยชาญ ทั้งถนนลูกรังและถนนลาดยางที่ทรุดพังลงเป็นช่วงๆ กว่า 2 ก.ม. บางจุดเกิดพังทลายลงเป็นบริเวณกว้างทำให้ทางท้องถิ่นต้องนำป้ายมาตั้งป้องกันอุบัติเหตุ
นายเสน่ห์ แก้วจินดา นายก อบต.ไผ่วง กล่าวว่า สถานการณ์ภัยแล้งตอนนี้พื้นที่ ต.ไผ่วง ประสบปัญหาหนัก ตนเกิดมาอายุกว่า 70 เพิ่งจะเจอกับการไม่มีน้ำต้องซื้อน้ำกินน้ำใช้ นอกจากพื้นนาจะแห้งแล้ว ตอนนี้ถนนเลียบคลองชลประทานยังเกิดการทรุดตัวหลายจุดเนื่องจากน้ำในคลองไม่มีเลย อย่างไรก็ตาม ตนได้นำรถแบ๊กโฮนำดินมาถมบางส่วนเท่าที่ทำได้ แต่ที่เป็นห่วงคือถนนลาดยางที่เป็นถนนที่ชาวบ้านใช้สัญจรไปมาเกิดทรุดตัวและแตกร้าวเป็นจำนวนมาก ตอนนี้ได้รายงานให้ทางนายอำเภอทราบแล้ว
ปทุมฯ ก็ทรุดอีก-รถบดถนนตกน้ำ
วันเดียวกัน เกิดเหตุถนนทรุดตัวบริเวณหลักก.ม.ที่ 0+300 ปท.หมายเลข 3055 คลอง 13 ฝั่งตะวันออก ม.5 ต.บึงน้ำรักษ์ อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี ขณะเจ้าหน้าที่กรมทางหลวงเข้าซ่อมแซมถนนทรุด ทำให้รถ เกรดเดอร์และรถบดอัดถนน 2 คัน หล่นถนนพลิกตะแคง โดยจุดดังกล่าวเกิดถนนทรุดตัวเมื่อวันที่ 16 ก.ค.ที่ผ่านมาเป็นระยะทางยาวประมาณ 50 เมตร มีความลึกถึง 3 เมตร เจ้าหน้าที่ได้นำรถแบ๊กโฮตักหน้าดินที่เกิดการสไลด์ตัวออก เพื่อปรับสภาพหน้า พื้นถนน และเตรียมรถเกรดเดอร์ รถบดอัด เพื่อซ่อมแซมพื้นถนนให้พอสามารถใช้งานได้ชั่วคราว เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ได้ใช้เส้นทาง
แต่ในเวลากลางคืนเจ้าหน้าที่หยุดพักเครื่องจักรและได้จอดรถตักไว้อีกเลน ส่วนรถเกรดเดอร์และรถบดอัดจอดไว้เลนริมฝั่งคลอง คาดว่าน้ำหนักรถทำให้เกิดรอยแยกที่พื้นผิวถนนใกล้จุดทรุดเดิม จึงทำให้ถนนทรุดตัวและรถทั้งสองคันจึงเสียหลักพลิกตะแคงได้รับความเสียหาย โชคดีที่ไม่มีใครได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตแต่อย่างใด เบื้องต้นทางเจ้าหน้าที่กรมทางหลวงอยู่ระหว่างประสานหารถยกมายกรถทั้ง 2 คันขึ้นจากที่เกิดเหตุ และปิดถนนเส้นทางดังกล่าวไม่ให้รถยนต์และรถบรรทุกหนักวิ่งผ่านเพื่อป้องกันการทรุดตัวเพิ่ม และป้องกันการเกิดอุบัติเหตุซ้ำรอย