- Details
- Category: เกษตร
- Published: Sunday, 19 July 2015 14:33
- Hits: 2708
รมว.เกษตรฯ จัดงบเกือบ 1.7 พันลบ.พร้อมช่วยเกษตรกรหากฝนแล้งถึง ส.ค.
นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า รัฐบาลเตรียมมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรหากฝนไม่ตกจนถึงเดือนส.ค.ว่า ทางรัฐบาลจะจัดให้มีการจ้างงานในเขตการชลประทาน โดยมีงบประมาณอยู่แล้วราว 160 ล้านบาท เช่น การขุดคลองและซ่อมแซมในส่วนของคลองต่างๆ จากที่น้ำท่วมครั้งที่แล้ว และหากยังไม่พอก็ยังมีก๊อก 2 อีกประมาณ 1,600 ล้านบาท
หลังจากนั้นหากสถานการณ์ยังคงวิกฤติก็จะมีมาตรการอื่นออกมาช่วยเหลือต่อไป โดยเฉพาะชาวนาที่ไม่สามารถปลูกข้าวได้ คงจะต้องมีมาตรการออกมาช่วยเหลือ แต่ยังไม่สามารถระบุได้ว่าจะใช้มาตรการเดิมที่มีการจ่ายเงินช่วยเหลือไร่ละ 1,000 บาทหรือไม่
นอกจากนี้ ในสัปดาห์หน้าจะเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาการปรับโครงสร้างลุ่มเจ้าพระยาทั้งหมด ปรับเปลี่ยนชนิดพืช โดยจะส่งเสริมการปลูกข้าวโพดมากขึ้น
ส่วนกรณีคณะรัฐมนตรีวานนี้มีมติสั่งโยกย้ายนายปราณีต ร้อยบาง อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ไปเป็นผู้ตรวจราชการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมนั้น นายปีติพงศ์ กล่าวเพียงว่า เรื่องนี้คงต้องไปถามจากพล.อ.ดาว์พงศ์ รัตนสุวรรณ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเอง
นายปีติพงษ์ ยอมรับว่า จำเป็นต้องเข้าไปทำความเข้าใจกับเกษตรกรในพื้นที่ถึงกรณีที่รัฐบาลจำเป็นต้องขอความร่วมมือไม่ให้นำน้ำไปใช้เพื่อการเกษตร เนื่องจากสัดส่วนของน้ำที่จะนำไปใช้เพื่อการเกษตรหมดแล้ว จึงจำเป็นต้องสงวนน้ำไว้ใช้สำหรับการอุปโภคบริโภค และการผลักดันน้ำเค็ม ซึ่งในส่วนนี้ไม่ใช่ว่ารัฐบาลจะให้ความสำคัญกับความเดือดร้อนของประชาชนในกรุงเทพฯ มากกว่าความเดือดร้อนของเกษตรกรในต่างจังหวัด
"เราต้องทำความเข้าใจทุกฝ่าย ผมเห็นว่าน้ำกินน้ำใช้ กับน้ำสิ่งแวดล้อม เป็นน้ำก้อนเดียวกัน ในแง่น้ำสิ่งแวดล้อม(การผลักดันน้ำทะเล) ต้องการน้ำที่จะส่งลงมาจากตอนบน เพราะถ้าปล่อยให้ความเค็มมากไป เรือกสวน ไร่นา ไม้ยืนต้นทั้งหลายก็มีผลกระทบเช่นกัน ทั้งสวนทุเรียน กล้วยไม้ และน้ำจะเค็มมีผลต่อการอุปโภคบริโภค ดังนั้นมันเป็นเรื่องสิ่งแวดล้อม และน้ำที่ทุกคนต้องกิน ไม่ใช่แค่คนกรุงเทพฯ ที่จะได้รับผลกระทบ แต่ในจังหวัดที่น้ำเดินทางผ่านมาทั้งหมด การประปาจังหวัดต่างๆ ก็ใช้น้ำจากต้นทุนเดียวกัน ตั้งแต่สุโขทัยเป็นต้นมา" รมว.เกษตรฯ กล่าว
ทั้งนี้ การขอความร่วมมือดังกล่าว เป็นการมองไปถึงหน้าแล้งในเดือนเม.ย.59 เพราะหากน้ำกินน้ำใช้ น้ำเพื่อการเกษตรหมดแล้วก็จะยิ่งได้รับผลกระทบกันหนักมากกว่านี้
"ดังนั้น ต้องมีสักวันที่หยุด และให้ธรรมชาติฟื้นตัวเอง ถ้าปล่อยไปเรื่อยๆ จะเจ็บกันมากกว่านี้ นอกเสียจากว่าจะมีฝนตกลงตกมาก" นายปีติพงศ์ ระบุ
รมว.เกษตรฯเผยปริมาณน้ำเจ้าพระยาเพิ่มหลังเกษตรกรหยุดสูบน้ำ,หาทางเยียวยา
นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้น 12 เซนติเมตร หลังจากที่เกษตรกรหยุดการสูบน้ำเพื่อการเกษตร ทำให้กรมชลประทานสามารถระบายน้ำไปยังพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาตอนล่างได้เพิ่มมากขึ้น โดยจะรอประเมินปริมาณน้ำที่คงเหลืออยู่จริง เพื่อนำมาจัดสรรให้แก่พื้นที่เกษตรตามลำดับความสำคัญ โดยไม่ส่งผลกระทบกับปริมาณน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค พร้อมเร่งหามาตรการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบต่อไป โดยเบื้องต้นพบพื้นที่ข้าวเสี่ยงได้รับความเสียหายประมาณ 1.4 ล้านไร่
"สถานการณ์น้ำในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา 22 จังหวัดหลังจากขอความร่วมมือเกษตรกรในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 22 จังหวัด หยุดการสูบน้ำเพื่อการเกษตรเป็นการชั่วคราวมาตั้งแต่วันที่ 16 กรกฎาคมที่ผ่านมา พบว่าทำให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้น 12 เซนติเมตร ทำให้กรมชลประทานสามารถระบายน้ำไปยังพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาตอนล่างได้เพิ่มมากขึ้นสำหรับภาคการเกษตร แต่อย่างไรก็ตาม ยังต้องขอความร่วมมือเกษตรกรหยุดสูบน้ำอีก 2 วัน เพื่อประเมินปริมาณน้ำที่คงเหลืออยู่จริง เพื่อนำมาจัดสรรให้แก่พื้นที่เกษตรตามลำดับความสำคัญ โดยไม่ส่งผลกระทบกับปริมาณน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและผลักดันน้ำเค็มที่ปล่อยน้ำลงมาจาก 4 เขื่อนหลัก"นายปีติพงศ์ กล่าว
อนึ่ง วันนี้รมว.เกษตรฯ พร้อมด้วยนายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ อธิบดีกรมชลประทาน ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค และเพื่อการเกษตรในพื้นที่ จังหวัดปทุมธานี ณ สระเก็บน้ำพระราม 9 อันเนื่องมาจากพระราชดำริ มูลนิธิชัยพัฒนา และลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์พื้นที่สุ่มเสี่ยงที่อาจจะขาดแคลนน้ำเพื่อพบปะเกษตรกรในพื้นที่ ต.หนองหมู อ.วิหารแดง จ.สระบุรี. จากนั้นได้รับฟังบรรยายสรุปการบริหารจัดการน้ำลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง ณ ประตูระบายน้ำพระศรีเสาวภาค โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาป่าสักใต้ (ปากคลองระพีพัฒน์แยกใต้)
รมว.เกษตรฯ กล่าวว่า สถานการณ์น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคในพื้นที่จังหวัดปทุมธานีที่ได้รับการแก้ไขเรียบร้อยแล้ว และคาดว่าหลังจากนี้ไม่น่าจะมีปัญหา ซึ่งจากการติดตามปริมาณน้ำในสระน้ำพระราม 9 ที่มีความจุน้ำทั้งหมด 32 ล้านลูกบาศก์เมตร ขณะนี้มีปริมาณน้ำอยู่ที่ 24 ล้านลูกบาศก์เมตร และสามารถระบายน้ำออกไปใช้ได้อีก 12 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งเพียงพอกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่และโดยรอบสระเก็บน้ำ โดยมีพื้นที่ทางการเกษตร 2 หมื่นไร่ 700 ครัวเรือน
สำหรับ แนวทางการแก้ปัญหาภัยแล้ง โดยการดึงน้ำฝั่งตะวันตก จากเขื่อนศรีนครินทร์-วชิราลงกรณ์ โดยระบายผ่านคลองจรเข้สามพัน ลงแม่น้ำท่าจีนแล้วผันเข้าคลองผ่านประตูน้ำผักไห่-เจ้าเจ็ด ลงแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณบางไทรนั้นแม้ว่าสามารถทำได้ แต่ไม่อยากทำ เพราะทราบดีว่าพื้นที่ดังกล่าวมีความจำเป็นต้องใช้น้ำเช่นกัน
ส่วนมาตรการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบนั้น จากข้อมูลภาพถ่ายทางอากาศคาดว่าจะมีพื้นที่ข้าวเสี่ยงได้รับความเสียหายประมาณ 1.4 ล้านไร่ โดยในวันจันทร์ที่ 20 กรกฎาคมนี้ กระทรวงเกษตรฯได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ เพื่อสำรวจว่าพื้นที่ใดบ้างสุ่มเสี่ยงที่อาจจะขาดแคลนน้ำที่ชัดเจน เช่น พื้นที่ที่ปลูกข้าวและอยู่ระหว่างต้นข้าวตั้งท้อง พื้นที่ที่ยังสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ และพื้นที่ที่ปลูกข้าวหลังเดือนพฤษภาคม ทั้งนี้เพื่อนำข้อมูลทั้งหมดก่อนจะประมวลผลเพื่อหาแนวทางช่วยเหลือให้เหมาะสมแต่ละพื้นที่ต่อไป อย่างไรก็ตาม มาตรการช่วยเหลือตอนนี้ ประกอบด้วย 1. การจ้างงานเพื่อปรับปรุงระบบชลประทาน 2.สนับสนุนเกษตรกรหันมาปลูกพืชใช้น้ำน้อย เช่น ถั่วเขียว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ แทนการปลูกข้าว 3.ส่งเสริมการหารายได้เสริมในชุมชน ทั้งเพื่อการบริโภคในชุมชนและเหลือจำหน่าย
อินโฟเควสท์