- Details
- Category: เกษตร
- Published: Thursday, 16 July 2015 23:21
- Hits: 9715
ก.เกษตรฯ เผย ภัยแล้งทุบศก.การเกษตรครึ่งปีแรกหดตัว 4.2% คาด ทั้งปียังหดตัวอยู่ในช่วง -4.3% - ติดลบ 3.3%
ก.เกษตรฯ ประเมินภาวะเศรษฐกิจการเกษตรครึ่งแรกปี 2558 หดตัวร้อยละ 4.2 สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ระบุชัด เหตุจาก ภัยแล้งยาวต่อเนื่อง แจง สาขาพืชและสาขาบริการทางการเกษตรหดตัว ขณะที่ สาขาปศุสัตว์ ประมง และป่าไม้ ยังขยายตัว ได้ดี คาด ทั้งปีจะหดตัวอยู่ในช่วงร้อยละ -4.3 ถึง -3.3 ย้ำ ต้องประเมินสถานการณ์ภัยแล้งและฝนทิ้งช่วงอย่างใกล้ชิดเพื่อหามาตรการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าช่วยเหลือเกษตรกร
นายเลอศักดิ์ ริ้วตระกูลไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงภาวะเศรษฐกิจการเกษตรในช่วงครึ่งแรกของปี 2558 ซึ่งพบว่า หดตัวร้อยละ 4.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2557 ซึ่งแม้ว่าในช่วงครึ่งแรกของปี 2558 ที่ผ่านมา เศรษฐกิจโลกเริ่มที่จะฟื้นตัว ประกอบกับอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐที่อ่อนค่าลงเล็กน้อย รวมถึงราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกโดยเฉพาะตลาดดูไบที่ลดลงประมาณร้อยละ 50 โดยปัจจัยเหล่านี้ในภาพรวมแล้วน่าจะเป็นตัวกระตุ้นให้การส่งออกสินค้าเกษตรของไทยขยายตัวเพิ่มขึ้น แต่อย่างไรก็ตามในช่วง 5 เดือนแรกที่ผ่านมาของปี 2558 พบว่า มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์กลับชะลอตัวลงถึง ร้อยละ 9.4 เนื่องมาจากมาจากประเทศคู่ค้าภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันดิบที่ลดลงทำให้ชะลอการนำเข้าสินค้าเกษตรจากไทย นอกจากนี้ ปัจจัยจากสภาพดินฟ้าอากาศที่เปลี่ยนแปลงส่งผลให้ไทยเผชิญกับปัญหาภัยแล้งมาตั้งแต่ปลายปี 2557 ต่อเนื่องถึงปัจจุบัน ทำให้ภาครัฐต้องขอความร่วมมือให้ชาวนางดการทำนาปรังและทำนาปีในช่วง 2 เดือนของฤดูกาล ส่งผลให้ภาวะเศรษฐกิจการเกษตรของไทยครึ่งแรกของปี 2558 หดตัว จากสาขาพืชและสาขาบริการทางการเกษตร ขณะที่ สาขาปศุสัตว์ สาขาประมง และสาขาป่าไม้ ยังขยายตัวได้ดี ซึ่งเมื่อจำแนกแต่ละสาขา พบว่า
สาขาพืช ในช่วงครึ่งแรกของปี 2558 หดตัวร้อยละ 7.3 จากการลดลงของผลผลิตพืชสำคัญ ได้แก่ ข้าวนาปรัง ในเขตพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาและแม่กลองที่มีเนื้อที่เพาะปลูกและผลผลิตที่ลดลงจากปัญหาภัยแล้ง ส่วนสับปะรดโรงงานลดลงจากสภาพอากาศที่แห้งแล้งทำให้ต้นไม่สมบูรณ์จึงไม่ให้ผลผลิต ยางพาราลดลงจากน้ำยางในภาคอีสานที่ลดลงจากภัยแล้งและการตัดโค่นพื้นที่สวนยางพาราเก่า ปาล์มน้ำมันลดลงจากจำนวนทะลายที่ลดลงเพราะอากาศร้อนและขนาดทะลายเล็กเพราะจั่นมีเกสรตัวผู้มากกว่าตัวเมีย และผลไม้ที่ลดลง ได้แก่ ทุเรียน มังคุด และเงาะ เนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนจึงไม่ติดดอกออกผลเท่าที่ควร พืชที่ผลผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวนาปีภาคใต้ มันสำปะหลังอ้อยโรงงานและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากพื้นที่เพาะปลูกที่เพิ่มขึ้นลำไยนอกฤดูเพิ่มขึ้นจากผลผลิตในภาคกลางทยอยออกสู่ตลาด
พืชที่ราคาเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้า ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง สับปะรดโรงงาน ปาล์มน้ำมัน ทุเรียน มังคุด และเงาะ ส่วนพืชที่มีราคาลดลง ได้แก่ ยางพารา อ้อยโรงงาน และลำไย ทั้งนี้ การส่งออกในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา พบว่า มันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์ ลำไยและผลิตภัณฑ์ มีปริมาณและมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้น ขณะที่การส่งออกข้าวรวม ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ยางพารา น้ำมันปาล์ม ทุเรียนและผลิตภัณฑ์ มีปริมาณและมูลค่าส่งออกลดลง ส่วนการส่งออกน้ำตาลและผลิตภัณฑ์มีปริมาณส่งออกเพิ่มขึ้นแต่มีมูลค่าส่งออกลดลง และการส่งออกสับปะรดและผลิตภัณฑ์มีปริมาณส่งออกลดลงแต่มีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้น
สาขาปศุสัตว์ในช่วงครึ่งแรกของปี 2558 ขยายตัวร้อยละ 2.1 จากสินค้าปศุสัตว์สำคัญทั้งไก่เนื้อ สุกร ไข่ไก่ และน้ำนมดิบที่ขยายการเลี้ยง โดยราคาในปีที่ผ่านมาอยู่ในเกณฑ์ดีจากความต้องการของตลาดต่างประเทศ และมีความเชื่อมั่นในระบบการจัดการฟาร์มที่ได้มาตรฐานและมีการเฝ้าระวังและควบคุมโรคได้ดี ส่งผลให้ราคาไก่เนื้อ สุกร และไข่ไก่ ในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมาลดลงเล็กน้อยตามผลผลิตที่ออกสู่ตลาดมากขึ้น สำหรับการส่งออกเนื้อไก่และผลิตภัณฑ์มีปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้นทั้งไก่สดแช่เย็นแช่แข็งและเนื้อไก่ปรุงแต่ง ขณะที่ปริมาณและมูลค่าการส่งออกเนื้อสุกรและผลิตภัณฑ์ลดลง
สาขาประมงในช่วงครึ่งแรกของปี 2558 ขยายตัวร้อยละ 2.2 จากผลผลิตกุ้งทะเลเพาะเลี้ยงที่เพิ่มขึ้นหลังการฟื้นตัวจากปัญหาโรค EMS ส่วนสัตว์ทะเลขึ้นท่าเทียบเรือในภาคใต้ลดลงจากการยกเลิกสัมปทานประมงในน่านน้ำประเทศอินโดนีเซีย และผลผลิตประมงน้ำจืด เช่น ปลานิล และปลาดุก เพิ่มขึ้นจากการเร่งจับปลาเพื่อเลี่ยงปัญหาภัยแล้ง สำหรับราคากุ้งขาว แวนนาไมขนาด 70 ตัวต่อกิโลกรัม ลดลงร้อยละ 20.9 จากผลผลิตที่เพิ่มขึ้น ขณะที่การส่งออกปลาและผลิตภัณฑ์ ปลาหมึกและผลิตภัณฑ์มีปริมาณและมูลค่าส่งออกลดลง ส่วนกุ้งและผลิตภัณฑ์มีปริมาณส่งออกเพิ่มขึ้นแต่มีมูลค่าลดลง
สาขาบริการทางการเกษตรในช่วงครึ่งแรกของปี 2558 หดตัวร้อยละ 6.6 จากการจ้างบริการเตรียมดิน ไถพรวนดิน และการให้บริการเกี่ยวนวดข้าวที่ลดลงตามพื้นที่เพาะปลูกและเก็บเกี่ยวข้าวนาปรังที่ลดลง รวมทั้งการงดทำนาปีในพื้นที่เขตลุ่มน้ำเจ้าพระยา 22 จังหวัดในช่วงเดือนพฤษภาคม – มิถุนายน 2558
สาขาป่าไม้ในช่วงครึ่งแรกของปี 2558 ขยายตัวร้อยละ 3.5 จากผลผลิตป่าไม้ที่สำคัญ ได้แก่ ไม้ยางพาราที่เพิ่มขึ้นตามพื้นที่ตัดโค่นสวนยางพาราเก่าของสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) ขณะที่ไม้ยูคาลิปตัสเพิ่มขึ้นตามความต้องการใช้กระดาษทั้งในและต่างประเทศ ส่วนน้ำผึ้งขยายตัวเพิ่มขึ้นจากสภาพอากาศที่ค่อนข้างเอื้ออำนวยและการเร่งผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดต่างประเทศ และถ่านไม้มีขยายตัวเล็กน้อยตามธุรกิจภัตตาคารและร้านอาหารจากการขยายตัวของการท่องเที่ยวและวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้นจากกิ่งก้านของไม้ยางพาราและไม้ยูคาลิปตัสที่ตัดโค่น
สำหรับ แนวโน้มภาวะเศรษฐกิจการเกษตรปี 2558 สศก. คาดว่าจะหดตัวอยู่ในช่วงร้อยละ -4.3 ถึง -3.3 โดยสาขาพืชและสาขาบริการทางการเกษตรเป็น 2 สาขาการผลิตที่หดตัว ขณะที่สาขาปศุสัตว์ สาขาประมง และสาขา ป่าไม้ ยังคงมีการขยายตัวได้ดี โดยผลผลิตพืชสำคัญที่ลดลง ได้แก่ ข้าว สับปะรดโรงงาน ยางพารา ลำไย ทุเรียน มังคุด และเงาะ ทั้งนี้ การลดลงของพื้นที่ปลูกข้าวทั้งนาปีและนาปรังทำให้การใช้บริการทางการเกษตรลดลงตามไปด้วย รวมทั้งมาตรการตัดโค่นสวนยางเพื่อปลูกทดแทน ส่งผลให้มีไม้ยางพาราท่อนและแปรรูปออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม ผลผลิตมันสำปะหลัง อ้อยโรงงาน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และปาล์มน้ำมัน คาดว่าจะให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น ในทำนองเดียวกัน ผลผลิตปศุสัตว์สำคัญทั้งไก่เนื้อ สุกร ไข่ไก่ และน้ำนมดิบ ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ ขณะที่ผลผลิตกุ้งทะเลเพาะเลี้ยงคาดว่าจะเพิ่มขึ้นหลังจากที่เกษตรกรสามารถปรับการเลี้ยงให้พ้นจากปัญหาโรค EMS ส่วนผลผลิตประมงทะเลมีแนวโน้มลดลงเล็กน้อยจากการแก้ไขปัญหาประมงผิดกฎ IUU
ทั้งนี้ ในช่วงครึ่งปีหลัง ยังคงต้องเฝ้าติดตามและประเมินสถานการณ์ภัยแล้งและฝนทิ้งช่วงอย่างใกล้ชิดเพื่อหามาตรการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าในการการบรรเทาความเดือดร้อนแก่เกษตรกร และภาวะเสี่ยงฟองสบู่แตกของเศรษฐกิจจีนหลังดัชนีตลาดหลักทรัพย์จีนหดตัวลดลงกะทันหันและสัญญาณความซบเซาของตลาดอสังหาริมทรัพย์จากการหดตัวของการบริโภคภายในประเทศจีน
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย
ตารางอัตราการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมภาคเกษตรครึ่งแรกของปี 2558 และปี 2558
หน่วย: ร้อยละ
สาขา ครึ่งแรกของปี 58 ปี 2558
ภาคเกษตร -4.2 (-4.3) - (-3.3)
สาขาพืช -7.3 (-7.0) – (-6.0)
สาขาปศุสัตว์ 2.1 1.3 – 2.3
สาขาประมง 2.2 2.0 - 3.0
สาขาบริการทางการเกษตร -6.6 (-5.2) – (-4.2)
สาขาป่าไม้ 3.5 3.0 – 4.0
ข่าว : ฝ่ายประชาสัมพันธ์ / ข้อมูล : กองนโยบายและแผนพัฒนาการเกษตร