- Details
- Category: เกษตร
- Published: Wednesday, 08 July 2015 09:08
- Hits: 3485
มาสเตอร์โพลล์ เผยแกนนำชุมชนหนุนรัฐปราบเรือประมงผิดกม. เชื่อปลดล็อกใบเหลืองได้
มาสเตอร์โพลล์ (Master Poll) ชมรมนักวิจัยไทยเพื่อความสุขชุมชน เสนอผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง แกนนำชุมชนคิดอย่างไรต่อการปลดใบเหลืองอียู กับ ความวิตกกังวลในการขาดแคลนอาหารทะเล
คณะผู้วิจัยได้สอบถามแกนนำชุมชนถึงการรับรู้รับทราบเกี่ยวกับการบังค้บใช้ พ.ร.บ.การประมงเพื่อ แก้ไขปัญหาใบเหลืองจากสหภาพยุโรปเรื่องการทำประมงผิดกฎหมาย ทำให้เรือประมงบางส่วนต้องหยุดออกเรือหาปลานั้นพบว่า แกนนำชุมชนส่วนใหญ่คือร้อยละ 83.5 ระบุทราบข่าวมาก่อน ในขณะที่ร้อยละ 16.5 ระบุยังไม่ทราบข่าว/เพิ่งทราบ
ทั้งนี้ แกนนำชุมชนประมาณ 2 ใน 3 หรือร้อยละ ทราบมาก่อนแล้วว่ารัฐบาลได้มีการผ่อนปรนให้เวลาเรือประมงได้ปรับปรุงเรือของตนให้ถูกกฎหมาย ในขณะที่ร้อยละ 26.3 ระบุยังไม่ทราบ/เพิ่งจะทราบ
เมื่อคณะผู้วิจัยได้สอบถามความคิดเห็นของแกนนำชุมชนถึงการมีผลดีผลเสียจากการดำเนินการปราบปรามจับกุมเรือประมงที่มีเครื่องมือประมงผิดกฎหมายอย่างเคร่งครัด จนทำให้เรือประมงบางส่วนหยุดการออกเรือหาปลานั้น ผลสำรวจพบว่า แกนนำชุมชนส่วนใหญ่กว่าร้อยละเก้าสิบ (ร้อยละ 91.2) เห็นว่ามีผลดีมากกว่า โดยระบุว่ามีผลดีคือ จะได้ปลดใบเหลืองจากสหภาพยุโรปได้ /ทำให้ภาพลักษณ์ของประเทศดีขึ้น สิ่งแวดล้อมและธรรมชาติจะปลอดภัยมากขึ้น รวมถึงการที่จะสามารถแก้ไขปัญหาหลายปัญหาในคราวเดียวกัน ทั้งการทำประมงเถื่อน การค้ามนุษย์ แรงงานเถื่อน และการปราบปรามผู้มีอิทธิพล เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม แกนนำชุมชนร้อยละ 8.8 ระบุเห็นว่ามีผลเสียมากกว่า เนื่องจากการทำให้อาหารทะเลมีราคาแพงขึ้น หรือเกิดการขาดแคลนอาหารทะเล การขาดรายได้ของชาวประมง และการนำไปสู่ความขัดแย้งได้ในที่สุด สำหรับความวิตกกังวลเกี่ยวกับราคาของอาหารทะเลที่อาจมีราคาแพงขึ้น รวมถึงอาจจะมีการขาดแคลนอาหารทะเลนั้น ผลสำรวจพบว่า แกนนำชุมชนร้อยละ 61.1 รู้สึกวิตกกังวลในเรื่องดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ประมาณ 1 ใน 3 หรือร้อยละ 38.9 ระบุว่าไม่รู้สึกวิตกกังวลใดๆ โดยให้เหตุผลว่า เห็นว่าเป็นเพียงผลกระทบในระยะสั้น อีกไม่นานก็จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ /มีอาหารทะเลจากแหล่งอื่นทดแทนอยู่แล้ว/เชื่อมั่นว่ารัฐบาลจะสามารถควบคุมราคา และไม่ได้เกิดภาวะขาดแคลนได้/ปกติก็ไม่ได้บริโภคอาหารทะเลอยู่แล้ว/ราคาของอาหารทะเลมีขึ้นลงเป็นปกติอยู่แล้ว/อยู่อย่างพอเพียงมีเท่าไหร่ก็กินเท่านั้น
ประเด็นสำคัญคือเมื่อสอบถามความคิดเห็นกรณีที่มีกลุ่มเรือประมงในบางพื้นที่ที่มีเครื่องมือประมงผิดกฏหมาย ออกมาเรียกร้องรัฐบาลให้มีมาตรการผ่อนปรน เพื่อให้สามารถออกเรือหาปลาได้ตามปกตินั้น พบว่าตัวอย่างมากกว่า 2 ใน 3 หรือร้อยละ 74.7 ระบุไม่เห็นด้วยกับเรื่องดังกล่าว เนื่องจากเกรงว่าจะกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศ และอาจสร้างความเสียหายให้ประเทศชาติมากกว่าที่เป็นอยู่ รวมถึงเห็นว่ารัฐบาลได้ให้เวลาในการปรับปรุงมาระยะหนึ่งแล้ว ไม่มีความจำเป็นที่ต้องมีการผ่อนปรนต่อไปอีก ในขณะที่แกนนำชุมชนร้อยละ 25.3 ระบุเห็นด้วยกับเรื่องดังกล่าว เพราะเป็นอาชีพหลักของชาวประมงที่ต้องทำมาหากิน/ชาวบ้านอาจเดือดร้อนจากการขาดรายได้/กลัวเกิดภาวะขาดแคลนอาหารทะเล/ขยายเวลาออกไปอีกบ้าง คงไม่ส่งผลกระทบมากนัก/อยากให้รับฟังปัญหาของชาวประมงมากกว่านี้ เพื่อให้การแก้ไขปัญหามีความยุติธรรม
อย่างไรก็ตาม ที่น่าพิจารณาอย่างยิ่งคือ เมื่อคณะผู้วิจัยได้สอบถามถึงความต้องการต่อรัฐบาลเกี่ยวกับแนวทางการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ที่เป็นประเด็นอยู่ในสังคมขณะนี้นั้น ผลการสำรวจพบว่า แกนนำชุมชนมากกว่า 2 ใน 3 คือร้อยละ 76.0 ระบุต้องการให้เดินหน้าปราบปรามเรือประมงที่ผิดกฎหมายต่อไป เพื่อแก้ไขปัญหาใบเหลืองสินค้าประมงของไทยจากสหภาพยุโรปให้ได้ ในขณะที่ร้อยละ 24.0 ระบุต้องการให้ผ่อนปรนให้เรือประมงที่ผิดกฎหมายสามารถออกเรือหาปลาได้ตามปกติก่อน เพื่อป้องกันปัญหาการขาดแคลนอาหารทะเล
ทั้งนี้ ผลสำรวจพบว่าแกนนำชุมชนกว่าครึ่ง หรือร้อยละ 59.1 ระบุยังคงเชื่อมั่นว่ารัฐบาลจะสามารถปลดใบเหลืองจากสหภาพยุโรปได้ภายในเวลา 6 เดือนตามที่กำหนด โดยให้เหตุผลที่ยังคงเชื่อมั่นว่า เป็นเพราะ เห็นความพยายามของรัฐบาลมาอย่างต่อเนื่องในการแก้ไขปัญหานี้ /รัฐบาลดำเนินการอย่างเป็นระบบมีขั้นตอนชัดเจน/เชื่อมั่นในศักยภาพของรัฐบาล/นายกรัฐมนตรีมีเหตุผลและเด็ดขาด จะต้องจัดการปัญหานี้ได้ในที่สุด/รัฐบาลพูดจริง ทำจริง แก้ไขปัญหาได้รวดเร็ว อย่างไรก็ตามแกนนำชุมชนร้อยละ 12.1 ระบุว่าไม่เชื่อมั่นแล้ว เนื่องจากปัญหามีความยุ่งยากซับซ้อน ต้องใช้เวลาในการสะสางมากกว่านี้/คิดว่าเวลาในการแก้ไขปัญหาน้อยเกินไป รัฐบาลต้องทำหลายเรื่อง อาจจะไม่ทัน/ยังไม่เห็นความคืบหน้าที่ชัดเจนในเรื่องนี้ และร้อยละ 28.8 ระบุยังไม่แน่ใจว่าจะสามารถทำได้หรือไม่
ประเด็นสำคัญสุดท้ายคือ เมื่อคณะผู้วิจัยได้สอบถามถึงผลดี-ผลเสียต่อภาพลักษณ์ของรัฐบาลของข่าวเกี่ยวกับการหยุดเดินเรือออกหาปลาของกลุ่มเรือประมงที่มีเครื่องมือประมงผิดกฎหมาย ที่เกิดขึ้นในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น ผลการสำรวจพบว่า แกนนำชุมชนร้อยละ 50.4 ระบุส่งผลดีต่อภาพลักษณ์ของรัฐบาล อย่างไรก็ตามแกนนำชุมชนร้อยละ 40.2 ระบุส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์ของรัฐบาล และพบว่าแกนนำชุมชนร้อยละ 9.4 ระบุว่าไม่ได้สนใจติดตามข่าวนี้
มาสเตอร์โพลล์ สำรวจความคิดเห็นดังกล่าวจากกรณีศึกษาตัวอย่างแกนนำชุมชนทั่วประเทศจำนวนทั้งสิ้น 1,079 ตัวอย่าง โดยวิธีการสุ่มตัวอย่างแบบใช้ความน่าจะเป็นทางสถิติจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลแกนนำชุมชนทั่วประเทศ รวบรวมโดย ชมรมนักวิจัยไทยเพื่อความสุขชุมชน ดำเนินโครงการในวันที่ 3-5 กรกฎาคม 2558
อินโฟเควสท์
กกร.หนุนคิดค่าแรงขั้นต่ำตามพื้นที่-เสนอ กรอ.หาทางช่วยกลุ่มประมง
คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ร่วมหารือกนในวันนี้ โดย กกร.ได้หารือผลการสำรวจทัศนะจากหอการค้าจังหวัดและสภาอุตสาหกรรมจังหวัดเกี่ยวกับการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำประจำปี 2559 และเห็นว่าไม่ควรกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำอัตราเดียวทั่วประเทศ และควรให้"คณะอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัด"พิจารณากำหนดการเพิ่มอัตราค่าจ้างตามสภาพข้อเท็จจริงของเศรษฐกิจและสังคมและความจำเป็นของแต่ละจังหวัด โดยไม่ต่ำกว่า 300 บาท/วัน
สำหรับ ข้อร้องเรียนจากจังหวัดชายทะเล 22 จังหวัดเรื่องผลกระทบตามประกาศกำหนดข้อปฏิบัติ 15 ข้อ และหารือแนวทางการผ่อนคลายตามข้อปฏิบัติดังกล่าวเพื่อลดผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม โดย กกร. จะนำเสนอเป็นเรื่องเร่งด่วนต่อที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน(กรอ.)ในวันที่ 8 ก.ค.58
นอกจากนั้น กกร.ให้ความสำคัญเรื่องการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เพื่อนำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (กพข.) ครั้งที่ 2/2558 ในวันที่ 24 ก.ค.58 โดยเน้นใน 2 ประเด็น คือ (1) "Ease of Doing Business" โดยจัดลำดับความเร่งด่วนของ 5 กระบวนงานหลัก ได้แก่ การจัดตั้งธุรกิจ การขออนุญาตก่อสร้าง การชำระภาษี กระบวนการนำเข้า-ส่งออก และ การทำ Visa & Work Permit// และ (2) การพัฒนา คลัสเตอร์ (ตาม value chain)โดยได้คัดเลือก 7 คลัสเตอร์ เพื่อดำเนินการในระยะแรก ได้แก่ ข้าว อ้อย กุ้ง ยางพาราและไม้ยางพารา ยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิสก์ และ ภาคการเงิน โดยผลรวมของมูลค่าทั้ง7 คลัสเตอร์ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 21.8 ต่อ GDPและมีอัตราการขยายตัวเฉลี่ย 5 ปีที่ร้อยละ 9.7 อย่างไรก็ตาม กกร.อยู่ระหว่างการพิจารณาหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้องในรายคลัสเตอร์ เพื่อจัดแผนงานที่เป็น quick-win ในระยะ 1 ปี
อินโฟเควสท์