WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

Kung


'กุ้งหอยปูปลา'พุ่งพรวดโลละ 30-100 บ. 
ประมงพื้นบ้านไม่หยุด ยัน'ซีฟู้ด'ไม่ขาดตลาด

      เรือประมงหยุด กระทบแล้วราคาอาหารทะเลที่ตลาดทะเลไทยขึ้น 30-100 บาท ตลาดคลองเตยก็ขึ้น โรงน้ำแข็ง-ห้องเย็นโอดรายได้วูบ 'ประวิตร' ย้ำไม่ห้ามประมงชายฝั่ง ยังไม่คิดใช้มาตรการปิดอ่าว ม.หอการค้าเชื่อไม่กระทบส่งออก รมว.เกษตรฯ จี้เร่งขึ้นทะเบียนเรือ แฉมีถูกต้องแค่ 6 พันกว่าลำ เผย 3 ขั้นตอนแก้เรือผิดกฎหมาย สงขลาแนะพบกันครึ่งทาง หอการค้ากลุ่มภาคกลางตอนล่าง 2 เสนอผ่อนผัน 2 เดือน กลุ่มรักษ์บ่อนอกชี้เป็นผลดี ทะเลได้ฟื้นฟู ประมงพื้นบ้านเชื่อปลาไม่ขาดตลาด

 

วันที่ 03 กรกฎาคม พ.ศ. 2558 ปีที่ 25 ฉบับที่ 8983 ข่าวสดรายวัน

 

แพงขึ้น - บรรยากาศซื้อขายอาหารทะเลที่ตลาดทะเลไทย มหาชัย แหล่งค้าปลีกและส่งขนาดใหญ่ พบมีการปรับราคาขึ้น ตั้งแต่ก.ก.ละ 30 บาท ไปจนถึง 100 บาท เป็นผลกระทบจากเรือประมงหยุดประกอบกิจการ 

      ภายหลังรัฐบาล มีมาตรการเอาจริง จับกุมเรือประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและขาดการควบคุม (ไอยูยู) เพื่อแก้ปัญหากลุ่ม 'อียู'ให้ใบเหลืองประเทศไทย ทำให้ต้องเร่งแก้ปัญหาภายใน 180 วัน มิเช่นนั้นจะถูกใบแดง มีผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าทางทะเลไปยังยุโรป โดยเริ่มตรวจจับในวันที่ 1 ก.ค.ที่ผ่านมาเป็นวันแรก และไม่มีการผ่อนผันอีก ทำให้บรรดาเรือประมงทั่วประเทศ ต่างทยอยนำเรือเข้าจอดเทียบท่าหยุดออกหาปลา เนื่องจากส่วนใหญ่มีปัญหาไม่มีอาชญาบัตร และอุปกรณ์ไม่ครบ ตรงตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนด จนส่อลุกลามเป็นวิกฤตใหญ่ กระทบกระเทือนไปถึงธุรกิจต่อเนื่อง ทั้งแพปลา ธุรกิจแปรรูปอาหารทะเล จนถึงร้านอาหารซีฟู้ด ต่างออกมาโอดครวญ กันถ้วนหน้า วอนรัฐบาลเร่งหาทางแก้ไข ทั้งเรียกร้องให้รัฐบาลผ่อนผันเวลาออกไปอีก อีกทั้งยังนัดหยุดพร้อมกัน ทั้งเรือประมงและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ในวันที่ 4 ก.ค.นี้ ตามที่เป็นข่าวไปแล้ว

 

'คน.'ชี้ราคาอาหารทะเลยังนิ่ง

       เมื่อวันที่ 2 ก.ค. นายอิทธิพงศ์ คุณากรบดินทร์ รองอธิบดีกรมการค้าภายใน (คน.) กล่าวว่า การที่เรือประมงงดออกเรือ ขณะนี้ยังไม่มีผลชัดเจนต่อราคาอาหารทะเล เพราะส่วนใหญ่อาหารทะเลที่ประชาชนทั่วไปนิยมซื้อมาบริโภค เป็นอาหารทะเลที่เลี้ยงเองหรือเป็นสัตว์น้ำกร่อยที่ไม่ได้ออกไปจับด้วยเรือประมง แต่เป็นห่วงในส่วนของอุตสาหกรรมสินค้าอาหารทะเล ที่จะมีผลกระทบในอนาคต เพราะเท่าที่หารือกับทางผู้ประกอบการพบว่า มีการเก็บสต๊อกสินค้าไว้ 1 เดือน หากนานไปอาจมีปัญหาต่อการส่งออกอาหารทะเล รวมทั้งอาจส่งผลต่อปริมาณปลาป่นที่นำมาเป็นอาหารสัตว์ อาจจะต้องนำเข้าจากต่างประเทศ

โดยกลุ่มอาหารสัตว์น้ำเค็ม มีน้ำหนักในการคำนวณดัชนีเงินเฟ้ออยู่ที่ 0.41% เมื่อราคาอาหารทะเลปรับสูงขึ้น ก็น่าจะมีผลให้ประชาชนหันไปบริโภคสินค้าอื่นๆ เป็นการทดแทน โดยกลุ่มเนื้อสัตว์ เป็ด และไก่ อย่างไรก็ตามกรมได้ออกสำรวจราคาสินค้าอาหารในภาพรวมอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งอาหารทะเลก็พบว่ายังไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก เพราะยังมีบางส่วนยังออกทำประมงได้ตามปกติ อย่างไรก็ตามหากประชาชนพบเห็นการเอาเปรียบผู้บริโภคให้โทร.สายด่วน 1569

 

ม.หอการค้าเชื่อไม่กระทบส่งออก

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ปัญหาดังกล่าวจะไม่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อภาพรวมเศรษฐกิจไทย เพราะการหยุดเดินเรือที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่ เป็นเรือขนาดเล็กและเรือขนาดกลาง แต่เรือลำใหญ่และเรือที่ไปหาปลาในระยะไกลๆไม่ได้เป็นการหยุดเดินเรือทั้งหมด ดังนั้นเชื่อว่าจะไม่กระทบต่อราคาอาหารทะเลมากนัก แม้ว่าราคาจะปรับตัวเพิ่มขึ้นบ้างในบางพื้นที่ก็ตาม เนื่องจากยังมีอาหารทะเลจากการเลี้ยงและบางส่วนก็นำเข้ามาจากประเทศเพื่อนบ้าน 

 

รมว.เกษตรฯจี้เร่งขึ้นทะเบียนเรือ

นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า มาตรการหลักขณะนี้มีความคืบหน้าในหลายๆ ส่วน ทั้งเรื่องการออกกฎหมายเพื่อแก้ไขปัญหาไอยูยู และแผนการจัดทำแผนแก้ไขปัญหาประมงไอยูยูระดับชาติ ขณะนี้ก็จัดทำเสร็จเรียบร้อยแล้ว ซึ่งขั้นตอนต่อไปก็ต้องเจรจาร่วมกับทางอียู ว่ายังมีส่วนใดที่ต้องปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติม หรือมีเงื่อนไขใดที่ทำได้หรือไม่ได้อย่างไร แต่ขณะนี้มาตรการเร่งด่วนที่ไทยต้องเร่งรัดดำเนินการให้เคร่งครัดและเข้มงวด คือ การควบคุมการทำประมงผิดกฎหมาย เพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่าไทยมีความจริงใจในการแก้ไขปัญหาไอยูยู ดังนั้น จึงขอความร่วมมือชาวประมง ผู้ประกอบการประมงให้มาแจ้งขึ้นทะเบียนเรือ ขออนุญาตการทำประมงโดยใช้เครื่องมือทำประมงที่ถูกต้องตามกฎหมาย รวมถึงมีคนเรือที่มีใบอนุญาตแรงงานอย่างถูกต้อง ซึ่งหากมีครบทั้งสามส่วนนี้แล้ว ก็สามารถออกไปทำการประมงได้ตามปกติ ส่วนผู้ที่ยังไม่มาขึ้นทะเบียน ก็สามารถไปยังให้บริการแบบ one stop service ได้ถึงวันที่ 15 ก.ค.นี้ หลังจากนี้ก็ยังสามารถติดต่อกับกรมเจ้าท่าและกรมประมงได้ถึงวันที่ 31 ก.ค.นี้

"รัฐบาลไม่มีความตั้งใจจะทำร้ายใคร ก็อยากให้ขายของให้ได้ แต่ขอใช้โอกาสนี้ปรับระบบการทำประมงของประเทศ ให้สัดส่วนการจับและทรัพยากรสัตว์น้ำเกิดความสมดุล วันนี้เราต้องมาดูต้องทำอย่างไรต่อไป ดูว่าเรือที่ถูกกฎหมายมีเท่าไหร่และไม่ถูกกฎหมายมีอยู่เท่าไหร่ ให้เกิดความชัดเจนให้ได้ เพื่อนำไปใช้เป็นข้อมูลในการเจรจาแก้ไขปัญหา รวมถึงวางมาตรการให้ความช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบได้" นายปีติพงศ์กล่าว

 

เรืออีก 16,900 ลำเรือต้องแก้ไข

นายปีติพงศ์กล่าวต่อว่า ในส่วนของผล กระทบ เบื้องต้นส่วนของอาหารทะเลหรือสัตว์น้ำในการบริโภคบางประเภท เช่น กุ้ง ปู ปลากะพง จะไม่กระทบมากนัก เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นการเพาะเลี้ยง แต่ส่วนที่จะส่งผลกระทบจริงๆ มี 3 ส่วน คือ 1.แพปลา 2. โรงน้ำแข็ง และ 3.โรงงานอาหารสัตว์ ซึ่งวัตถุดิบจะเป็นปลาตัวเล็ก แต่ขณะนี้ทาง ผู้ประกอบการก็พยายามปรับตัวหันไปนำเข้าปลาจากแหล่งอื่นทดแทน

นายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า สหภาพยุโรป (อียู) ท้วงติงไทยมาตลอดว่ามีจำนวนเรือมากกว่าจำนวนสัตว์น้ำในท้องทะเลจะรับไหว ส่งผลต่อทรัพยากรหรือสัตว์ทะเลในอนาคต จึงเร่งดำเนินการขึ้นทะเบียนเรือ โดยต้องให้อาชญาบัตรเพื่อการใช้เครืองมือประมงที่ถูกต้องตามกฎหมายกำหนด ทั้งนี้ กรมเจ้าท่ามีการขึ้นทะเบียนเรือประมงไว้ทั้งสิ้น 42,051 ลำ แต่เมื่อมีการลงพื้นที่จริงๆ มีจำนวนเรือที่ตรงตามทะเบียน 28,000 ลำ แต่เรือที่ไม่มีทะเบียนอีก 16,900 ลำ เรือเหล่านี้ต้องแก้ไข หากทำไม่ตรงตามกฎหมายก็จะถูกจับ ในจำนวนนี้เจ้าหน้าที่พร้อมดูแล หากขาดใบอนุญาตอะไร ก็สามารถแก้ไขไปเป็นส่วนๆ ได้ ผ่านหน่วยเคลื่อนที่แบบเบ็ดเสร็จ(One Stop Service) ตั้งแต่วันนี้-15 ก.ค. 2558 เมื่อเรียบร้อยแล้วก็ออกหาปลาได้เช่นเดิม

 

3 ขั้นตอนแก้เรือผิดกฎหมาย

สำหรับมาตรการในการแก้ไขปัญหาเรือที่มีเครื่องมือประมงที่ผิดกฎหมาย ประกอบด้วย 3 มาตรการ คือ 1.มาตรการชดเชยค่าเรือ กรณีที่นำเรือออกจากระบบ จำนวน 1,269 ลำ ซึ่งจะคัดเลือกเรือสภาพดี 50 ลำ ปรับปรุงเป็นเรือสำรวจทำแผนที่แหล่งประมง ทำการประมูลขายเรือ และนำเรือมาทำปะการังเทียม 2.สำหรับเรือที่ไม่ต้องการออกจากระบบคาดว่ามีทั้งหมด 1,803 ลำ เรือประมงจะต้องปรับเครื่องมือและติดตั้งอุปกรณ์ตามที่กรมประมงกำหนด และภายในปี 2559 จะต้องลดวันทำการประมง เหลือ 180 วัน ภายในปี 2560 ลดเหลือ 120 วัน ภายในปี 2561 ลดวันทำประมงเหลือ 60 วัน และภายในปี 2561 เรือเหล่านั้นจะต้องออกระบบ และมาตรการที่ 3 แบ่งเรือเป็น 2 ชุด ให้สลับวันทำการประมง โดนมีคณะกรรมการดูแล

 

สงขลาแนะพบกันครึ่งทาง 

นายเดช ทองคำ ธุรกิจซื้อขายปลาท่าเรือประมงสงขลา กล่าวว่า สัตว์น้ำในตลาดสดยังมีพอจำหน่าย หากหลังวันที่ 4 ก.ค. อาจจะขาด แคลนและราคาเพิ่มสูง เนื่องจากเรือประมงหยุดทำการประมงหลายวันต่อกัน จำเป็นต้องสั่งซื้อสัตว์น้ำจาก จ.สตูล จ.ตรัง เข้ามาเสริม ราคาจำหน่ายจะสูงจากต้นทุนขนส่งบ้าง

นายนิพนธ์ บุญญามณี นายก อบจ.สงขลา เสนอทางออกว่า ควรพบกันครึ่งทางหาทาง ออกร่วมกัน หันหน้ามาพูดคุยกัน มาตรการ 15 ข้อ ข้อใดที่ประมงปฏิบัติไม่ได้ บอกให้ชัดเจนว่าควรจะทำอย่างไร ความผิดที่ผ่านมาทั้งเจ้าหน้าที่กรมประมงและเรือประมง ก็ให้นิรโทษกรรม กำหนดวันเวลาชัดเจน หากประมงไม่ปฏิบัติตามข้อตกลง เจ้าหน้าที่จับกุมโดยไม่เลือกปฏิบัติ

 

โรงน้ำแข็ง-ห้องเย็นโอดรายได้วูบ 

ด้านนายศุภชัย ชัยวัฒน์ ผู้ประกอบการโรงน้ำแข็งสหะ ในตำบลบางจะเกร็ง อำเภอเมืองสมุทรสงคราม กล่าวว่าปัญหาเรือประมงไม่ออกหาปลาทำให้โรงน้ำแข็งได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง จากปกติจะมีชาวประมงมาซื้อน้ำแข็งแช่ปลาวันละประมาณ 1,000 ถัง เฉลี่ยวันละ 90,000 บาท แต่ขณะนี้มีเรือมาบรรทุกน้ำแข็งเหลือเพียงวันละ 200 ถัง หรือ 8,000 บาทเท่านั้น ซึ่งหากรัฐบาลไม่ผ่อนผันเรือประมงหยุดทั้งหมด ตนก็คงขายน้ำแข็งไม่ได้ ส่งผลต่อต้นทุนที่ส่วนใหญ่เป็นค่าไฟฟ้าเฉลี่ยเดือนละ 800,000-1,000,000 บาท ซึ่งแม้จะไม่ได้ผลิตน้ำแข็งแต่ก็ต้องทำความเย็นหล่อเลี้ยงน้ำแข็งไว้ และป้องกันเครื่องพัง ขณะที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดสมุทรสงคราม จะคิดค่าไฟฟ้าแบบเฉลี่ย 3 เดือน นอกจากนี้ยังต้องจ่ายเงินเดือนพนักงานอีกกว่า 10 คน คนละ 9,000 บาท จึงวอนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งหาทางออกโดยเร็ว

ด้านนายมนตรี ซิ้มสกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัทโชคนาวีห้องเย็น จำกัด บริเวณตลาดปลาแม่กลอง ตำบลแหลมใหญ่ กล่าวว่าในส่วนของห้องเย็นประสบปัญหา จากปกติจะรับแช่อาหารทะเลเดือนละ 6,000 ตัน ขณะนี้เหลือเพียง 1,000 ตันเท่านั้น คาดว่าพอออกสู่ตลาดได้ประมาณ 2 สัปดาห์เท่านั้น อย่างไรก็ตามหากไม่มีลูกค้านำอาหารทะเลมาแช่ จะส่งผลกระทบต่อต้นทุนของห้องเย็นที่ส่วนใหญ่เป็นค่าไฟฟ้าเช่นกัน เฉลี่ยเดือนละ 800,000-1,000,000 บาท แม้จะไม่ได้ผลิต 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ก็ต้องทำความเย็นหล่อน้ำแข็งไว้ นอกจากนี้ยังต้องจ่ายเงินเดือนพนักงาน อีกกว่า 40 คน

 

โรงน้ำแข็งสมุทรสาครก็วูบ

นางสาวกนกวรรณ มณีโรจน์ ผู้จัดการฝ่ายการเงิน บริษัทโรงน้ำแข็งบางหญ้า ซึ่งเป็น 1 ใน 3 ของโรงน้ำแข็งรายใหญ่ในสมุทรสาคร เปิดเผยว่าที่บริษัทจะมีเรือประมงเข้ามารับน้ำแข็งวันละประมาณ 10 ลำ และจะมีเข้ามาตลอดทุกวันสับเปลี่ยนกันไป เรือหนึ่งลำก็จะใช้น้ำแข็งอยู่ที่ 7.5-37.5 ตัน หรือลำละ 4,250-21,250 บาท ซึ่งในสมุทรสาครนั้นตอนนี้มีโรงน้ำแข็งที่จำหน่ายน้ำแข็งให้กับเรือประมงอยู่ 3 ราย คือที่โรงน้ำแข็งบางหญ้า โรงน้ำแข็งจันทร์เพ็ญ และโรงน้ำแข็งเกล็ดวรพันธ์ ล้วนได้รับผลกระทบเหมือนๆ กัน

ทั้งนี้ก็อยากให้ทุกฝ่ายลองหันมาพูดคุยกันอีกครั้ง เพื่อหาทางออกร่วมกัน ประมงจะทำอย่างไรเพื่อให้รัฐบาลสามารถแก้ไขปัญหาที่อียูวางมาตรการไว้ได้ และรัฐบาลจะมีแนวทางอย่างไรเพื่อให้ชาวประมงออกไปทำมาหากินได้ดังเดิม และทั้งสองฝ่ายจะมีแนวทางร่วมกันอย่างไร เพื่อการดูแลและอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลให้คงอยู่อย่างยั่งยืน

 

ตลาดทะเลไทยขึ้นราคาแล้ว 

นายสุวพรรณ มนิลา พาณิชย์จังหวัดสมุทรสาคร ลงพื้นที่ตรวจราคาสินค้าที่ตลาดทะเลไทย แหล่งจำหน่ายอาหารทะเลทั้งปลีกและส่ง ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ พบบรรดาพ่อค้าแม่ค้าบอกว่า วันนี้ราคาสินค้าอาหารทะเลที่ซื้อมาจากแพปลามีการปรับขึ้นบ้างแล้ว ทำให้ต้องปรับขึ้นราคาตามไปด้วย กิโลกรัมละ 20-30 บาท ส่วนบางร้านยังคงราคาเดิม แต่ไม่สามารถลดราคาหน้าร้านให้กับผู้ซื้อได้เหมือนเมื่อก่อน ซึ่งพ่อค้าแม่ค้าบอกว่าสินค้าที่ต้องปรับราคาอย่างแน่นอนคือ ปลาทะเลทั้งปลากะพงทะเล ปลาเก๋า ปลาเต๋าเต้ย ปลาอินทรีย์ และกุ้งทะเล แต่ในภาพรวมของสินค้ายังไม่ขาดตลาด

ขณะที่น.ส.ณัฎฐกานต์ วาดวารี ผู้ขายปลีกรายหนึ่งเปิดเผยว่า ราคาปลาที่ซื้อมามีต้นทุนเพิ่มขึ้นจากเดิมถึงกิโลกรัมละ 30-100 บาท โดยเฉพาะปลาทะเลขนาดใหญ่ ขึ้นราคากิโลกรัมละ 50 บาทแล้ว ส่วนกุ้งยังไม่ขึ้นราคามากนักเพราะมีการเลี้ยงได้ แต่ก็คาดว่าราคาจะปรับขึ้นเกือบทุกประเภท ซึ่งก็คงต้องรอดูสถานการณ์ในอีก 1-2 วัน เพราะถ้าตลาดขายส่งปรับราคา ตลาดขายปลีกก็ต้องปรับราคาตามไปด้วย

 

ตราดตลาดสดเงียบเหงา

ที่ อ.คลองใหญ่ จ.ตราด วันที่ 2 ของการหยุดทำประมง ที่ท่าเรือประมงกัลปังหา ท่าเรือชลาลัย และท่าเรือบ้านคลองมะขาม ต.หาดเล็ก อ.คลองใหญ่ จ.ตราด เต็มไปด้วยเรือประมงขนาดใหญ่และขนาดเล็ก จอดอยู่ที่ท่าเรือทั้ง 3 แห่ง มากกว่า 800 ลำ และเป็นที่น่าสังเกตว่าเรือประมงสัญชาติกัมพูชาที่เดินทางมาขายปลาที่ท่าเรือทั้งสามแห่ง ไม่กล้านำปลาทะเลมาขายยังฝั่งไทย ทั้งที่ทุกวันจะมีมากว่า 10 ลำ ทั้งนี้เนื่องจากเกรงจะถูกทางการไทยจับกุมดำเนินคดี เพราะเรือประมงยังไม่ถูกต้องตามกฎหมายไทย

นอกจากนี้ที่ท่าเรือหาดเล็ก เรือประมงพื้นบ้านกัมพูชา จาก จ.เกาะกง นำปลามาขึ้นท่าและขายให้กับพ่อค้าไทย วันละกว่า 20 ลำ ปรากฏว่า 2-3 วันที่ผ่านมาไม่มีเรือประมงของ จ.เกาะกง เดินทางเข้ามา ส่งผลกระทบต่อพ่อค้าที่รับซื้อที่ไม่สามารถหาปลาไปให้ลูกค้าได้ตามที่ต้องการ ขณะที่ตลาดสดเทศบาลคลองใหญ่ แผงปลามีปลาเพียงไม่กี่ชนิด และมีจำนวนไม่มาก มีเพียงปลาทะเล กุ้ง ปลาหมึก ที่ชาวประมงพื้นบ้านนำมาจำหน่ายเท่านั้น 

ส่วนร้านอาหารที่ขายอาหารซีฟู้ด ยังไม่ได้รับผลกระทบมากนักเนื่องจาก 1-2 วันที่ผ่านมา ยังมีปลาที่ยังเพียงพอต่อการปรุงอาหาร แต่หากไม่สามารถออกทำประมงได้ในเร็วๆ นี้ อาจจะต้องปิดร้าน ด้านแม่ค้าตลาดสดเทศบาลเมืองตราดกล่าวว่า ยังไม่ได้รับผลกระทบ เพราะปลาที่ขายอยู่เป็นปลาเก่า ยังไม่มีการสั่งเพิ่ม ดังนั้นราคายังขายปกติ นอกจากนี้ ปลาที่ขายยังเป็นปลาเลี้ยงในกระชัง อย่างปลากะพง

 

ประมงท่าใหม่ร้องผ่อนผัน

ที่หน้าศาลากลางจังหวัดจันทบุรี กลุ่มชาวประมงจำนวน 200 คน มาจากพื้นที่ ต.ตะกาดเง้า อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี นำโดยนายบุญธรรม เจริญกล้า นายกสมาคมชาวประมงอำเภอท่าใหม่ มายื่นหนังสือถึง นายสามารถ ลอยฟ้า ผวจ.จันทบุรี เพื่อให้ช่วยเหลือกรณีเรือประมงที่มีใบอาชญาบัตรไม่ตรงกับเครื่องมือประมง โดยนายสมหมาย วิเชียรฉันท์ รอง ผวจ.จันทบุรี มาพบพร้อมให้ส่งตัวแทน 10 คน เข้าพบภายในห้องประชุม 4 บนศาลากลาง พร้อมสอบถามความเดือดร้อน เนื่องจากผวจ.จันทบุรี ยังติดราชการในพื้นที่

นายบุญธรรมเปิดเผยว่า พวกตนเดือดร้อนจากพ.ร.บ.ประมง ตามข้อ 6 และข้อ 8 ที่ให้ตรวจสอบความถูกต้องเอกสารอาชญาบัตร เกี่ยวกับการประมง เนื่องจากส่วนใหญ่มีใบอนุญาตผิดประเภท ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง เกี่ยวกับการทำการประมง จึงมายื่นร้องขอความเป็นธรรม ให้รัฐบาลผ่อนผันให้ทำกิน ให้อนุโลมให้เรือเล็กหากินตามชายฝั่งในระยะ 1,000 เมตร ซึ่งระยะนี้แมงกะพรุนเข้ามาจำนวนมาก จนถึงสิ้นเดือนสิงหาคม 

 

'ประวิตร'ย้ำไม่ห้ามประมงชายฝั่ง

ที่สโมสรทหารบก ถ.วิภาวดีรังสิต พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงและรมว.กลาโหม กล่าวถึงกรณีเรือประมงที่ไม่ขึ้นทะเบียนให้ถูกต้องถามกฎหมายเริ่มหยุดทำการประมงว่า เราต้องทำตามกฎหมาย เพราะขณะนี้กฎหมายออกมาเรียบร้อยแล้ว เรือประมงที่ผิดกฎหมายก็ออกไปทำการประมงไม่ได้ ส่วนปัญหาที่ว่าขึ้นทะเบียนไม่ทันนั้น ที่ผ่านมาทางกองทัพเรือก็จัดเรือทำศูนย์วันสต๊อปเซอร์วิสให้บริการจดทะเบียนในทะเล ซึ่งช่วยเหลือทุกอย่าง แต่ทุกอย่างต้องทำตามกฎหมาย ไม่เช่นนั้นจะเกิดความเสียหายมากกว่านี้ ที่ผ่านมาเราปล่อยให้เรือประมงทำผิดกฎหมายมาเป็นเวลานานตั้งแต่ปี 2534 ดังนั้นต้องทำให้ถูกต้องตามหลักสากล เพื่อให้ทุกอย่างเดินหน้าต่อไปได้ และเราก็ค่อยๆ แก้ไขปัญหาต่อไป สำหรับการทำประมงชายฝั่งนั้นไม่ได้มีการห้ามทำและยังสามารถทำได้ตามปกติ 

 

ยังไม่คิดใช้มาตรการปิดอ่าว

เมื่อถามว่าจะมีมาตรการปิดอ่าว เพื่อฟื้นฟูและรักษาทรัพยากรทางทะเลหรือไม่ พล.อ. ประวิตรกล่าวว่า ยังไม่มี ถ้าเรือออกไปตามกำหนดของจำนวนเรือที่จดทะเบียน โดยทางพล.ร.อ.ไกรสร จันทร์สุวานิชย์ ผบ.ทร. ได้คำนวณแล้วว่าจำนวนเรือที่ขึ้นทะเบียนเหล่านั้นไม่มีปัญหา สามารถทำการประมงได้ และเชื่อว่าสัตว์น้ำก็จะเพิ่มขึ้นตามลำดับ เพราะขณะนี้ปริมาณปลาในทะเลมีจำนวนลดลง เหลืออยู่เพียง 20% ดังนั้นต้องเพิ่มปลาให้ได้ 

เมื่อถามว่าการที่ออกกฎหมายจริงจังแบบนี้เกรงว่าจะเสียแนวร่วมที่เป็นชาวประมงหรือไม่ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ตนคิดว่าไม่เสีย เพราะถ้าคนเข้าใจในกฎหมายและเข้าใจว่าในอนาคตจะเกิดอะไรขึ้น ไม่มีทางเสียแนวร่วมแน่นอน อีกทั้งคนส่วนใหญ่เห็นด้วยกับที่รัฐบาลและผบ.ทร.ดำเนินการ ตนเชื่อว่าทุกอย่างไม่มีปัญหา ที่ผ่านมารัฐบาลให้เวลาเรือประมงที่ยังไม่ขึ้นทะเบียนมาหลายเดือน แต่เมื่อเขาไม่สนใจก็ต้องได้รับผลกระทบแบบนี้

เมื่อถามถึงกรณีที่ชาวประมงประกาศจะหยุดทำการประมงในวันที่ 4 ก.ค.นี้ พล.อ. ประวิตรกล่าวว่า ต้องเห็นใจประเทศชาติและประชาชนกว่า 60 ล้านคน ตอนนี้ทุกคนต้องทำตามกฎหมาย ส่วนจะคลี่คลายอย่างไรค่อยมาว่ากัน อนาคตตอนนี้ก็ยังไม่ทราบว่าจะปลดใบเหลือง หรือจะโดนใบแดงหรือไม่ ขอให้เห็นแก่ภาพรวมของประเทศด้วย

 

หอการค้าฯเสนอผ่อนผัน 2 ด.

ที่กนกรัตน์รีสอร์ท จ.สมุทรสงคราม หอการค้าจังหวัดกลุ่มภาคกลางตอนล่าง 2 ประกอบด้วย สมุทรสาคร สมุทรสงคราม เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ ร่วมประชุม เรื่องผลกระทบจากวิกฤตเรือประมงหยุดออกทำการประมงจะทำให้มีผลกระทบต่อธุรกิจการค้าอย่างไร จากนั้นนายปรีชา ศิริแสงอลัมพี ประธานหอการค้าสมุทรสาคร เป็นประธานแถลงข่าว โดยระบุว่าหากเรือประมงไม่ออกหาปลา ผลกระทบจะเป็นลูกโซ่ในระบบธุรกิจการค้า อุตสาหกรรมทั้งภาคประมงและประมงต่อเนื่อง โดยชาวประมงส่วนใหญ่มีหนี้สินมากมายจากการนำเงินมาลงทุน จะได้รับผลกระทบไม่มีเงินชำระหนี้, ร้านค้าต่างๆ ก็จะได้รับผลกระทบไปจนถึงโรงงานที่เกี่ยวกับภาคประมง เช่น ห้องเย็น โรงน้ำแข็ง ตลอดจนโรงงานผลิตและแปรรูปสินค้าที่ต้องใช้วัตถุดิบจากตลาดปลา สิ่งที่ตามมาและจะเป็นปัญหาสังคม คือทำให้คนตกงานจำนวนมาก ครอบครัวขาดรายได้ ส่วนผู้บริโภคก็จะขาดแคลนอาหารทะเล ต่อเนื่องไปถึงร้านอาหาร, โรงแรม, ที่พัก รีสอร์ต ที่ต้องใช้อาหารทะเลมาให้บริการนักท่องเที่ยว ซึ่งในระยะยาวเชื่อว่าจะกระทบต่อการท่องเที่ยวของจังหวัดเพชรบุรี ประจวบ คีรีขันธ์ และสมุทรสงคราม ส่วนสมุทรสาครจะกระทบอย่างหนักเพราะมีโรงงานกว่า 5,700 แห่ง หากไม่มีวัตถุดิบป้อนก็คงเดือดร้อนหนักแน่

ส่วนแนวทางการแก้ไขปัญหา เห็นตรงกันว่า รัฐบาลควรผ่อนผันการกวดขันจับกุมเรือออกไปอีก 2 เดือน ซึ่งในเวลาดังกล่าว ก็ขอให้ภาครัฐกำหนดโซนนิ่งของการทำประมงแต่ละประเภทให้เหมือนกับต่างประเทศ โดยจะแบ่งเป็นกี่โซนกี่ประเภทก็แล้วแต่ข้อตกลง เพื่อแก้ปัญหาชาวประมงทะเลาะกัน นอกจากนี้ยังให้กำหนดขนาดของตาอวนที่ใช้จับปลา โดยแต่ละประเภทให้กำหนดขนาดให้ชัดเจนด้วย ซึ่งมติดังกล่าวจะเสนอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

 

คลอยเตยกุ้ง-ปลาหมึกขึ้นราคา

ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่สำรวจตลาดคลองเตย กทม. พบมีแผงขายอาหารทะเล 8-9 แผง มีอาหารทะเลประเภทกุ้ง ปลาหมึก ปูม้า และปลาบางชนิดขาย จากการสอบถาม น.ส.มนต์ อายุ 30 ปี ลูกจ้างชาวพม่าของแผงขายอาหารทะเลแห่งหนึ่งเปิดเผยว่า ที่แผงรับอาหารทะเลมาจากพ่อค้าส่งที่ตลาดมหาชัย เป็นกุ้งและปลาหมึกที่จับตามธรรมชาติ จึงมีราคาแพงและแต่ละวันราคาจะไม่เท่ากัน ถูกบ้าง แพงบ้างต่างกันทำให้ต้องปรับราคาขายหน้าแผงสูงขึ้นไปด้วย ลูกค้าก็ลดลงอย่างมาก เมื่อก่อนเคยได้กำไรกิโลกรัมละ 30 บาท เดี๋ยวนี้ได้กำไรเพียง 5-10 บาท ขายกุ้งได้วันละประมาณ 70 ก.ก. ส่วนปลาหมึกขายได้มากหน่อย ประมาณ 150 ก.ก. 

นายแป๋ง อายุ 30 ปี ลูกจ้างชาวพม่าร้าน เจ้จิตต์ เปิดเผยว่าร้านรับแต่ปลาหมึกที่จับตามธรรมชาติเท่านั้น ส่วนกุ้งเป็นกุ้งทะเลเลี้ยง มีขนาดตัวใหญ่แต่ก็ราคาแพง เมื่อก่อนเคยรับกุ้งที่ชาวประมงจับมา แต่เนื่องจากขนาดเล็กลงและราคาไม่คงที่ จึงเปลี่ยนมาขายกุ้งเลี้ยงแทน กำไรก็ได้กิโลกรัมละ 10-15 บาท 

ด้านน.ส.จิตฤดี ทวีเกียรติรัตนา ลูกค้าที่มาซื้ออาหารทะเล เปิดเผยว่าตนมาซื้ออาหารทะเลจากตลาดแห่งนี้เป็นประจำ ช่วงหลังพบว่าราคาสูงขึ้น สอบถามแม่ค้าก็บอกว่ากุ้งหายาก เดี๋ยวนี้สินค้าในตลาดก็แพงขึ้นทุกอย่าง อยากให้รัฐบาลช่วยเร่งแก้ปัญหา 

 

กลุ่มรักษ์บ่อนอกชี้เป็นผลดี

นางกรณ์อุมา พงษ์น้อย ประธานกลุ่มรักษ์ท้องถิ่นบ่อนอก จ.ประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาทราบว่ากลุ่มเรือประมงพื้นบ้านคัดค้านเรือใหญ่ที่ผิดกฎหมายมาตลอด เพราะใช้เครื่องมือแบบทำลายล้าง เช่น อวนลาก อวนรุน ถ้าเรือผิดกฎหมายหยุดได้จะเป็นผลดีต่อทรัพยากรทางทะเล เพราะการใช้เครื่องมือเหล่านั้นเป็นการตัดวงจรของสัตว์น้ำจนเกิดความเสียหายทางระบบนิเวศและทำให้มูลค่าลดน้อยลง แทนที่จะสามารถขายปลาตัวใหญ่ได้ในมูลค่าที่มากกว่าปลาตัวเล็ก นอกจากนี้ ยังทำให้สัตว์น้ำชนิดอื่นสูญหายไปหรือพบได้ยากอย่างเต่าทะเล เนื่องจากถูกอวนลาก 

นางกรณ์อุมากล่าวต่อว่า ถ้าวันนี้พวกเขาเปลี่ยนเครื่องมือทำมาหากิน ทะเลไทยคงสามารถฟื้นฟูกลับมาอุดมสมบูรณ์ดังเดิมได้ และทำให้การประมงยั่งยืนในระยะยาว รายได้ก็กระจายสู่ชุมชนที่สามารถจับสัตว์น้ำได้มากขึ้น เราไม่ได้ปิดกั้นการทำมาหากินของเรือใหญ่ แต่ขอให้ทำแบบถูกกฎหมาย ส่วนสถานการณ์ตอนนี้ที่บอกว่าปริมาณอาหารทะเลในตลาดน้อยลงมากจนทำให้ราคาสูงขึ้น ตนคิดว่าไม่น่าเป็นไปได้ เพราะหากเรือใหญ่หยุด เรือประมงพื้นบ้านก็สามารถจับสัตว์น้ำได้มากขึ้น

 

ประมงพื้นบ้านเชื่อปลาไม่ขาด

นายปิยะ เทศแย้ม นายกสมาคมประมงพื้นบ้านทุ่งน้อย จ.ประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า เรื่องนี้ทำให้ชาวประมงพื้นบ้านดีใจ เพราะพวกเราต่อสู้กันมานาน เรื่องเครื่องมือ 4 ประเภทที่รัฐไม่สามารถออกใบอาชญาบัตรให้ได้ ได้แก่ อวนลาก อวนรุน อวนล้อมจับปลากะตักประกอบแสงไฟล่อ และอวนล้อมจับปลากะตักตอนกลางวัน ตอนนี้มีปัจจัยภายนอกคือการกดดันของอียู ส่วนภายในคือทรัพยากรสัตว์น้ำมีปริมาณลดลง ในช่วงการจัดระเบียบนับเป็นโอกาสดี เพราะหากเรือผิดกฎหมายหยุดทำประมงภายใน 2-3 เดือน สัตว์น้ำคงสามารถเจริญเติบโตได้มากขึ้น เพราะ 35 ปีที่ผ่านมามีการปล่อยปละละเลยเรื่องการขอใบอนุญาต ทั้งที่ครั้งล่าสุดคือปี 2539 บอกว่าจะไม่นิรโทษกรรมหรือผ่อนผันให้เรือผิดกฎหมายแล้ว แต่กลับปล่อยเวลามาจนถึงตอนนี้ ส่วนเรื่องที่ว่าปริมาณปลาในตลาดลดลงหรือขาดตลาดคงเป็นไปไม่ได้ เพราะประมงพื้นบ้านมีแหล่งกระจายสินค้าอยู่แล้วทั้งในกทม. แม่กลอง มหาชัย และเพชรบุรี 

นายปิยะกล่าวอีกว่า จากข้อมูลทางวิชาการของกรมประมงระบุว่า จำนวนเรือพาณิชย์ที่มีอยู่ร้อยละ 15 สามารถจับปลาคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 89 ส่วนประมงพื้นบ้านที่มีจำนวนร้อยละ 85 กลับจับปลาได้แค่ร้อยละ 11 แสดงว่าเรือประมงพื้นบ้านไม่ได้จับปลาเกินผลผลิตของทะเล แต่เรือส่วนน้อยกลับจับปลาได้มาก ซึ่งมูลค่าที่ได้ก็ไม่แตกต่างกันมาก โดยเรือประมงพื้นบ้านสามารถสร้างรายได้ประมาณ 1 ใน 3 ของเรือพาณิชย์ เพราะสัตว์น้ำที่เรือพาณิชย์จับได้นั้นเป็นขนาดเล็กที่มีมูลค่าน้อยกว่า แต่เรือประมงพื้นบ้านจับสัตว์น้ำขนาดใหญ่ที่มีมูลค่ามากกว่า

"ผมอยากให้บังคับใช้กฎหมายแบบนี้มานานแล้ว เพราะจะนำไปสู่ความยั่งยืนของทรัพยากรทางธรรมชาติและการประกอบอาชีพของประชาชน โดยทุกคนสามารถเข้าถึงทรัพยากรได้อย่างเท่าเทียม" นายปิยะกล่าว

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!