- Details
- Category: เกษตร
- Published: Monday, 29 June 2015 22:24
- Hits: 1868
รมว.เกษตรฯ เผยเตรียมเสนอแผนเยียวยาภัยแล้งเข้าครม.สัปดาห์หน้า สั่งกรมชลฯ จัดทำแผนบริหารเพาะปลูกให้สัมพันธ์กับปริมาณน้ำ
นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า คาดว่าการเสนอแนวทางมาตรการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรที่ต้องชะลอการปลูกข้าวนาปีในลุ่มเจ้าพระยาจะมีความขัดเจนและเสนอคณะรัฐมนตรีได้ภายในสัปดาห์หน้า สำหรับ พื้นที่อื่นๆ ก็ได้สั่งการให้เริ่มสำรวจโดยร่วมกับมหาดไทย จุดที่เป็นปัญหาจริงๆ ทั้งที่ไม่ได้อยู่ในเขตชลประทาน ไม่เป็นลุ่มน้ำใหญ่ๆ เหมือนเจ้าพระยา ซึ่งพื้นที่ที่เหลือทั้งหมดต้องดูว่าสภาพฝนเป็นอย่างไร ก็จะนำข้อมูลที่สำรวจได้มาพิจารณาหามาตรการเยียวยาอีกครั้ง
สำหรับ การประชุมร่วมกับนายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ อธิบดีกรมชลประทาน นานไพรัช หวังดี รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร พร้อมด้วยสำนักชลประทานเขตลุ่มเจ้าพระยา และเกษตรจังหวัดลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง 15 จังหวัด อาทิ ชัยนาท อ่างทอง สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา ในวันนี้ เพื่อเร่งสรุปมาตรการแนวทางแก้ไขปัญหาสถานการณ์ภัยแล้งในพื้นลุ่มเจ้าพระยา
รมว.เกษตรฯ กล่าวว่า ได้สั่งการให้กรมชลประทานและกรมส่งเสริมการเกษตร ประชุมหารือร่วมกันเพื่อเร่งจัดทำแผนบริหารจัดการเพาะปลูกและสำรวจพื้นที่เพาะปลูกให้ชัดเจนและสอดคล้องกับปริมาณน้ำที่มีอยู่ในปัจจุบัน ทั้งพื้นที่ที่มีการปลูกข้าวแล้วแต่มีความเสี่ยง และพื้นที่ที่ชะลอการปลูกคงเหลือเท่าไหร่ เพื่อพิจารณาแนวทางให้การช่วยเหลือเป็นรายพื้นที่ให้แล้วเสร็จภายในวันนี้ (29 มิ.ย.58)
เบื้องต้นมี 2 แนวทาง คือ 1.การจ้างแรงงานและสร้างรายได้ให้ประชาชน โดยการปรับปรุงอาคารชลประทาน ทั้งช่วงก่อนฝนจะมาในช่วงเดือนสิงหาคมนี้ และช่วงฝนสิ้นสุดในช่วงหลังเดือนพฤศจิกายน โดยกรมชลประทานจะรับผิดชอบดำเนินการ 2.กิจกรรมด้านการเกษตร เพื่อสร้างรายได้ทดแทนในช่วงที่ต้องชะลอการทำนา แม้ว่าผลสำรวจในเบื้องต้นเกษตรกรส่วนใหญ่ในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาจะรอฝนเพื่อการทำนาปี โดยมีประมาณ 3 แสนไร่ที่จะปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชชนิดอื่น ๆ ดังนั้น แผนงานที่กรมส่งเสริมการเกษตรได้สำรวจความต้องการของเกษตรกรไว้เรียบร้อยแล้ว ก็ต้องมาหารือร่วมกับกรมชลประทานว่าสามารถจัดสรรน้ำให้เพียงพอได้หรือไม่อย่างไรก่อนที่ฝนจะมาถึง และหลังจากฝนตกมาแล้ว จะทำการเกษตรเพิ่มสร้างรายได้ได้อย่างไร
สำหรับ มาตรการแก้ไขปัญหาเรื่องการบริหารจัดการน้ำในระยะสั้นและระยะยาว ที่กระทรวงเกษตรฯ ได้สั่งการอยู่ระหว่างเร่งรัดดำเนินการ คือ 1.การปลี่ยนอุปสงค์ด้านการใช้น้ำทางการเกษตร เน้นการสร้างแหล่งน้ำขนาดเล็ก หรือแหล่งน้ำในฟาร์ม หรือการกำหนดเขตกรรมใช้น้ำน้อย การประกอบอาชีพอื่น ปศุสัตว์ และประมง เป็นต้น 2. อาคารชลประทานบางประเภทที่ถ่ายโอนให้องค์กรปกครองท้องถิ่น แต่ท้องถิ่นไม่สามารถดำเนินการได้ ซึ่งอยู่ประมาณ 3,000 โครงการ ก็จะขอเข้าไปช่วยดูแล โดยเฉพาะการเพิ่มระบบส่งน้ำให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น 3 การดึงน้ำจากแม่น้ำสาละวิน และแม่โขง ในช่วงที่มีระดับน้ำเกินเก็บกัก ก็จะให้กรมชลประทานเข้าไปศึกษาแนวทางว่าจะสามารถดึงน้ำส่วนเกินมาเป็นประโยชน์อย่างไรได้บ้าง รวมถึงแผนงานโครงการในระยะยาวที่มีการศึกษามาแล้วก็จะต้องกลับมาพิจารณากัน 4. การเพิ่มประสิทธิภาพเรื่องการส่งน้ำใน 4 เขื่อนหลักของลุ่มเจ้าพระยาเอง ที่ยังขาดในเรื่องงบประมาณดำเนินการก็จะเร่งเสนอรัฐบาลพิจารณาโดยเร็วต่อไป
ทั้งนี้ หลังการประชุม นายปีติพงศ์ได้ขึ้นเฮลิคอปเตอร์สำรวจสถานการณ์ภัยแล้งบริเวณลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง นายปีติพงศ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการขึ้นบินสำรวจพื้นที่เพาะปลูกบริเวณตอนล่างลุ่มน้ำเจ้าพระยา โดยบินไปทางด้านตะวันออก พบว่า พื้นที่ที่น่าจะมีปัญหาหนักหน่อย ก็คือแถวฝั่งซ้ายของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ติดต่อกับลุ่มน้ำป่าสัก ซึ่งมีปริมาณน้ำน้อยและพื้นทื่สูงมีอยู่บางส่วนน้ำจะส่งไม่ถึง แต่เกษตรกรก็ปรับตัวไม่ได้ลงพืชมือเพาะปลูก ส่วนฝั่งขวาแม่น้ำเจ้าพระยาใกล้ๆ แม่น้ำน้อยยังมีพื้นที่บางส่วนยังส่งน้ำไม่ได้ แต่ว่าส่วนนี้จะเป็นจุดๆ ยังเป็นปัญหา ดังนั้น หลังจากวันนี้ที่กรมชลประทานและกรมส่งเสริมการเกษตรที่ทำแผนที่การเพาะปลูกและปรับข้อมูลได้ตรงกันเรียบร้อยแล้ว ก็จะสั่งให้เจ้าหน้าที่ระดับพื้นที่ ซึ่งได้สั่งการให้มีการตั้งศูนย์ช่วยเหลือระดับตำบล อำเภอ ในพื้นที่เสี่ยง เพื่อเอ็กซเรย์ความต้องการของประชาชนอีกครั้งทั้งระยะก่อนฝนตกซึ่งอีกไม่กี่วันตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ กับหลังฝนตกแล้วจะทำกิจกรรมการเกษตรชนิดใด
ด้านนายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า จากการประชุมหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เกี่ยวกับสถานการณ์น้ำและปริมาณฝนที่จะตกลงมา กรมชลประทานจะยังคงการระบายน้ำจาก 4 เขื่อนหลัก ได้แก่ เขื่อนภูมิพล สิริกิตติ์ แควน้อยบำรุงแดน และป่าสักชลสิทธิ์เฉลี่ยวันละ 28 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยจะคงเหลือน้ำต้นทุนสิ้นสุดฤดูฝน ณ วันที่ 1 พ.ย.58 ประมาณน้ำจะมีอยู่ที่ประมาณ 3,200 - 3,900 ล้านลูกบาศก์เมตร
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย