- Details
- Category: เกษตร
- Published: Sunday, 28 June 2015 21:21
- Hits: 3283
ประเทศไทยเป็นผู้ผลิตยางพารามากเป็นอันดับ 1 ของโลกกว่า 4 ล้านตันต่อปี รองลงมาคืออินโดนีเซียกว่า 3 ล้านตัน อันดับ 3 เวียดนามเกือบ 1 ล้านตัน ส่วนจีน อินเดีย และมาเลเซีย ผลิตได้กว่า 8 แสนตันต่อปี ทำให้ปริมาณยางพารามีมากกว่าความต้องการใช้ยางพารา ส่งผลให้ราคาตกต่ำ ซึ่งวิธีแก้ไขปัญหามีหลายแนวทางที่ต้องทำควบคู่กันไปคือ รัฐบาลต้องปรับยุทธศาสตร์สนับสนุนให้นำยางพารามาใช้ภายในประเทศเพื่อแปรรูป จากนั้นต้องกำหนดนโยบายใช้ยางพาราให้ชัดเจน เช่น ใช้ทำถนน หรือทำถุงมือยาง ซึ่งมาเลเซียใช้นโยบายนี้ประสบผลสำเร็จมาแล้ว
ส่วนต้นยางที่มีอายุเกิน 25 ปี จะต้องโค่นทิ้งแล้วปลูกทดแทนใหม่ซึ่งจะให้ผลผลิตในอีก 7 ปีถัดไป โดยต้นยางที่ถูกโค่นทิ้งสามารถนำไปขายได้ ขณะนี้ประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกยางทั้งหมด 22 ล้านไร่ จะต้องโค่นทิ้งปีละ 8 แสนไร่ เพื่อให้ผลผลิตน้ำยางมีคุณภาพ ลดต้นทุนของเกษตรกร และตัดอุปสงค์ (Supply) ยางพาราลง ที่สำคัญชาวสวนยางจะต้องพัฒนาคุณภาพการผลิตตั้งแต่เพาะปลูก ไปจนถึงการกรีดยาง โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย เพื่อเป้าหมายลดต้นทุนและเพิ่มรายได้ จากนั้นภาครัฐและเอกชนจะต้องเข้ามาสนับสนุน จึงจะทำให้ปัญหายางพาราได้รับการแก้ไขอย่างยั่งยืน
สำหรับ การนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยชาวสวนยาง ถือเป็นแนวทางการทำ “เกษตรสมัยใหม่” ที่ไม่เน้นพึ่งพาแรงงาน มุ่งเน้นคุณภาพมากกว่าปริมาณ จะช่วยเพิ่มรายได้และกระจายความเสี่ยงให้เกษตรกร ซึ่ง “เกษตรสมัยใหม่” สอดคล้องกับแนวคิด “ทฤษฏีสองสูง”คือ ต้องใช้เงินลงทุนเรื่องเทคโนโลยีก่อน เพื่อให้เทคโนโลยีช่วยเพิ่มผลผลิต เมื่อสินค้ามีคุณภาพก็จะขายได้ราคา และทำให้ชาวสวนยางมีรายได้สูงตามมา แต่เรื่องนี้จะประสบผลสำเร็จได้ ต้องมีภาครัฐและภาคเอกชนเข้ามาสนับสนุนด้านการจัดการ การตลาด และนำเทคโนโลยีมาช่วยเกษตรกร
โครงการ “4 ประสานว่าด้วยความร่วมมือด้านการพัฒนาการผลิตและการตลาดยางก้อนถ้วยคุณภาพของเกษตรกรใน จ.เลย อย่างยั่งยืน” หรือ “Loei Model” ที่บริษัท เจริญโภคภัณฑ์การเกษตร จำกัด หนึ่งในเครือเจริญโภคภัณฑ์ ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ถือเป็นโครงการที่จะช่วยตอบโจทย์ในการแก้ไขปัญหาราคายางตกต่ำได้อย่างยั่งยืน เพราะเครือเจริญโภคภัณฑ์ เข้าไปตั้งโรงงานแปรรูปยางแท่งบนพื้นที่ 134 ไร่ ใน อ.วังสะพุง จ.เลย เพื่อรับซื้อยางก้อนถ้วยจากเกษตรกรในรัศมี 30 กิโลเมตร และนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้าไปช่วยชาวสวนยาง ตั้งแต่วิเคราะห์ดิน เลือกพันธุ์ยาง แนะนำใช้ปุ๋ย และวิธีดูแลสวนยางอย่างถูกหลักวิชาการ จากนั้นจะแนะนำวิธีการกรีดยาง และใช้ภาชนะฝาครอบถ้วยแทนกะลา เพื่อไม่ให้สกปรก ทำให้น้ำยางมีคุณภาพ ขายได้ราคาสูง สุดท้ายประโยชน์จะตกอยู่ที่เกษตรกร และทำให้อุตสาหกรรมยางพาราของไทยมีศักยภาพแข่งขันได้ในตลาดโลก
โดย CP Group / วันที่โพสต์ 2 ก.พ. 2558 โดย ขุนศรี ทองย้อย รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส กลุ่มธุรกิจพืชครบวงจร เครือเจริญโภคภัณฑ์