WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

Na22

 

ชาวนาไทยพึ่งพระพิรุณ หลากสูตรขอฝน-สู้แล้ง

มติชนออนไลน์ : วันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2558

      สถานการณ์ภัยแล้งปีนี้รุนแรง น้ำกินน้ำใช้ขาดแคลน ทำให้รัฐบาลต้องประกาศห้ามชาวนาทำนาเพิ่มเติมเพื่อป้องกันความเสียหายของผลผลิต

     ชาวไร่ชาวนาชีวิตผูกพันกับกระแสน้ำ ไม่มีน้ำเหมือนไม่มีชีวิต ไม่ให้ชาวนาทำนาแล้วจะให้พวกเขาไปทำอาชีพอะไร เมื่อภาครัฐไม่สามารถช่วยเหลือเยียวยาได้เต็มที่ ระบบชลประทาน เขื่อน ฝาย คูคลองส่งน้ำที่ลงทุนก่อสร้างใช้งบประมาณมหาศาล แห้งผาก ไร้น้ำ

     ปี 2558 ที่โลกรุดหน้าด้วยวิทยาการสมัยใหม่ พิชิตธรรมชาติด้วยเทคโนโลยี พลเมืองไทยหลายพื้นที่ต้องหันเข้าพึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เคารพนับถือ โดยจัดพิธีขอฝนในรูปแบบต่างๆ ตามประเพณีท้องถิ่น

    ที่ จ.พระนครศรีอยุธยา นายรุ่ง วุฒิลาภ ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 2 ต.ไผ่พระ อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา นำชาวบ้านอัญเชิญหลวงพ่อเกษร หรือหลวงพ่อผอม ออกจากศาลาการเปรียญวัดนาคสโมสร แห่ไปรอบหมู่บ้านแล้วนำมาตั้งไว้กลางสนามให้ชาวบ้านกราบไหว้เพื่อให้ขอฝนได้ตกลงมา เพื่อช่วยชาวบ้านและชาวนาที่ทำนากว่า 10,000 ไร่ ซึ่งกำลังขาดน้ำทำนำ ต้นข้าวกำลังยืนต้นตาย

      สำหรับ หลวงพ่อเกษร หรือหลวงพ่อผอม เป็นพระศักดิ์สิทธิ์ มีเรื่องเล่าสืบทอดกันมาว่า หลวงพ่อผอมเป็นพระอยู่บนแพ ลอยมาตามคลองไผ่พระมาติดหน้าวัด มีชาวบ้านไปดันแพให้ออกไป ปรากฏว่าบริเวณนั้นเป็นน้ำวน แพได้ไหลวนกลับมาหน้าวัดหลายครั้ง พระและชาวบ้านจึงอัญเชิญขึ้นมาอยู่บนศาลาจนถึงวันนี้กว่า 300 ปี เป็นปางทรมานกายรูปร่างผอม ชาวบ้านมีความเชื่อว่าหากฝนฟ้าไม่ตกต้องตามฤดูกาล ชาวบ้านจะทำพิธีแห่และกราบไหว้หลวงพ่อที่กลางสนาม บอกเล่าขอฝน จากนั้นจะเกิดฝนตกทุกครั้ง

      ที่ จ.สุพรรณบุรี ซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นจังหวัดที่มีน้ำท่าดี ปีนี้มีกิจกรรมขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้บันดาลให้ฝนตก โดยพิธีจัดขึ้นตั้งแต่ช่วงเช้า หน้าพระบรมราชานุสรณ์ดอนเจดีย์ จ.สุพรรณบุรี นายประภัตร โพธสุธน อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นำชาวบ้านผู้นำท้องถิ่นกว่า 100 คน ร่วมพิธีบวงสรวงต่อหน้าพระบรมราชานุสรณ์ดอนเจดีย์ และร่วมกันแห่นางแมวเพื่อขอให้ฝนตกช่วยเหลือชาวนาที่กำลังประสบปัญหาฝนแล้ง

     ในพื้นที่ภาคเหนือมีความเชื่อเรื่องการนับถือผี โดยเฉพาะผีขุนน้ำ คือผีหรือเทวดาอารักษ์ผู้เป็นหัวหน้าของผีอารักษ์ทั้งหลายที่ทำหน้าที่ปกปักษ์รักษาป่าไม้อันเป็นต้นน้ำลำธาร ที่ ต.บ้านต๊ำ อ.เมือง จ.พะเยา ชาวบ้านร่วมกับเทศบาลตำบลบ้านต๊ำ ร่วมกันทำพิธีเลี้ยงผีขุนน้ำ ที่ห้วยน้ำขุ่นและลำน้ำแม่ต๊ำ เพื่อขอบคุณผีขุนน้ำ และขอให้มีน้ำฝนตกต้องตามฤดูกาล ให้เพียงพอต่อการทำการเกษตร โดยทำพิธีช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน ก่อนฤดูทำนาของทุกปี อีกทั้งเป็นการสืบสานประเพณีวัฒนธรรมที่เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นในการอนุรักษ์ป่าต้นน้ำและป่าไม้

                ชาวบ้านเชื่อว่าผีขุนน้ำเป็นอารักษ์ประจำต้นน้ำแต่ละสาย สิงสถิตอยู่บนดอยสูงอันเป็นต้นแม่น้ำทั้งหลาย มักอยู่ตามใต้ต้นไม้ใหญ่ๆ เช่น ไม้ไฮ (ไทร) ไม้มะค่า หรือไม้ยาง ซึ่งชาวบ้านจะอัญเชิญมาสถิตในหอผีที่ปลูกขึ้นใต้ต้นไม้ โดยมีหัวหน้าในพิธีคือผู้ดูแลเหมืองฝาย ทำหน้าที่ควบคุมหรือจัดสรรการใช้น้ำแก่เกษตรกร ในพิธีจะมีเครื่องสังเวยดอกไม้ ธูปเทียน หมากพลู กล้วย อ้อย มะพร้าว อาหาร ไก่ต้ม สำหรับชาวแม่ต๊ำ จะนำกวางคำ 2 ตัว มาเลี้ยงผีขุนน้ำทุกปี

    ที่ จ.พิษณุโลก ชาวบ้านหลายหมู่บ้านใน อ.พรหมพิราม อ.วังทอง ทำพิธีแห่นางแมวเพื่อขอให้ฝนตกลงมา หลังจากเริ่มปลูกข้าวไปแล้วประมาณ 1 เดือน จึงร่วมกันทำพิธีแห่นางแมว ที่บริเวณเขตรอยต่อระหว่าง หมู่ 6 ต.บ้านใหม่สุขเกษม อ.กงไกรลาศ จ.สุโขทัย และหมู่ 12 ต.ท่าช้าง อ.พรหมพิราม จ.พิษณุโลก นับเป็นการทำพิธีครั้งแรกในรอบ 10 กว่าปี หลังจากเว้นว่างการทำพิธีมานาน ครั้งล่าสุดตั้งแต่เมื่อปี 2545 โดยตั้งขบวนในหมู่บ้าน นำแมวสองตัวใส่ในกรง โดยชาวบ้านต่างแต่งตัวสวยงามหลากหลาย ตกแต่งด้วยปลัดขิก มีผู้ใหญ่ในหมู่บ้านทำพิธีประพรมน้ำมนต์ให้ชาวบ้านที่ร่วมขบวน จากนั้นเคลื่อนขบวนแห่โดยร้องรำทำเพลงขอฝนอย่างสนุกสนาน แห่แมวไปตามบ้านต่างๆ ในหมู่บ้าน เมื่อผ่านบ้านใด ชาวบ้านจะนำน้ำมาสาดใส่ผู้ร่วมขบวนและตัวแมว บรรยากาศเป็นไปด้วยความสนุกสนาน

    ขณะเดียวกัน ชาวบ้านหมู่ 7 บ้านหนองกัญญา ต.พันชาลี อ.วังทอง จ.พิษณุโลก พื้นที่ส่วนใหญ่ทำนาปี รวมตัวกันทำพิธีขอฝนด้วยการแห่ปลัดขิกขนาดใหญ่ซึ่งทำขึ้นจากต้นมะพร้าว พร้อมเขียนป้ายกำกับว่า "พระพิรุณนำโชค" นำขึ้นรถอีต๊อกออกแห่โดยร้องรำทำเพลงขอฝนไปรอบหมู่บ้าน ท่ามกลางบรรยากาศที่เต็มไปด้วยความสนุกสนาน

    ที่ จ.เพชรบูรณ์ ชาวบ้านบ้านป่าแดง ต.ป่าเลา อ.เมืองเพชรบูรณ์ ร่วมกันอัญเชิญหลวงพ่อห้ามญาติ พระพุทธรูปปางห้ามญาติ จากวัดโพธิ์กลาง หมู่ 5 บ้านป่าแดง เข้าขบวนแห่ไปรอบหมู่บ้าน เพื่อให้ประชาชนกราบไหว้สักการะบูชาและร่วมกันสรงน้ำ จากนั้นช่วยกันแบกหามองค์พระไปทำพิธีหามพระดำน้ำ ที่อ่างเก็บน้ำป่าแดง ซึ่งเดิมเป็นวังศาลพ่อปู่ เป็นต้นน้ำที่จะไหลลงลำคลองไปสู่หมู่บ้าน

    นอกจากนี้ ที่ อ.ศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ ผู้นำหมู่บ้านเข้าไปปรึกษาหารือกับพระครูปลัดสุขเกษม สุขเขโม เจ้าคณะตำบลศรีเทพ และเจ้าอาวาสวัดโพธิ์ทอง บ้านนาตะกรุด ต.ศรีเทพ อ.ศรีเทพ เพื่อให้ช่วยทำพิธีขอฝน โดยการสวดคาถาปลาช่อนตามพิธีโบราณ เนื่องจากฝนทิ้งช่วงและระดับน้ำในแม่น้ำป่าสักเหือดแห้ง นาข้าวและพืชไร่ขาดแคลนน้ำจนยืนต้นตายแล้ว พระครูปลัดสุขเกษมเล่าว่า การสวดคาถาปลาช่อนให้ได้ผลต้องทำตามพิธีดั้งเดิมที่ครูบาอาจารย์ถ่ายทอดไว้

    การสวดคาถาปลาช่อนยังพบในพื้นที่ อ.สูงเนิน จ.นครราชสีมา พิธีดังกล่าวมีพระสงฆ์ 9 รูป สวดเจริญพระพุทธมนต์เบื้องหน้าองค์พระพุทธไสยาสน์ (พระนอน) พระนอนที่มีความศักดิ์สิทธิ์ ชาวบ้านเลื่อมใสศรัทธา พร้อมโยงสายสินกับอ่างปลาช่อน 9 ตัว และสวดคาถาปลาช่อน ตามความเชื่อท้องถิ่นเชื่อว่า ระหว่างทำพิธี หากปลาช่อนดิ้นกระโดดขึ้นมา เป็นการส่งสัญญาณว่าฝนจะตกลงมาในเร็ววันนี้ เพื่อให้มีน้ำเพียงพอต่อการปลูกข้าวนาปี และสร้างขวัญกำลังใจในการดำรงชีพของชาวบ้าน

    ที่ จ.นครพนม ชาวบ้านโพนจาน ต.โพนจาน อ.โพนสวรรค์ จ.นครพนม ซึ่งส่วนใหญ่ชนเผ่าไทยโซ่จะจัดประเพณีแซงสนาม หรือเลี้ยงหมอเหยา ผีหมอ ถือเป็นประเพณีความเชื่อที่สืบทอดมาแต่โบราณ โดยจะทำก่อนฤดูทำไร่ทำนา ซึ่งแม่หมอเหยาหรือแม่แก้ว บุคคลที่นับถือผีและสามารถประกอบพิธีสื่อสารกับผีบรรพบุรุษ ผีสางเทวดา ผีบ้าน ผีเรือนที่ปกปักษ์รักษาหมู่บ้าน โดยชาวบ้านจะนำเครื่องเซ่นไหว้ ดอกไม้ ธูป เทียน เหล้า ข้าวปลาอาหาร มาถวายต่อผีบรรพบุรุษ หรือเรียกว่าเลี้ยงผี ก่อนมีกิจกรรมรื่นเริง ร้องรำทำเพลงด้วยดนตรีอีสานพื้นบ้านพิณแคน จะส่งผลให้คนในหมู่บ้านมีความร่มเย็น มีความอุดมสมบูรณ์ ฝนตกต้องตามฤดูกาล ไม่เกิดภัยพิบัติแห้งแล้ง ทำนาได้ผลผลิตงอกงาม

      ถือเป็นพิธีการและความเชื่อ ที่พึ่งสุดท้ายของเกษตรกรในยามต้องฝ่าวิกฤตภัยแล้งในปีนี้ ....

 

ก.เกษตร เตรียมหารือคลัง ดึง ธ.ก.ส.ปล่อยสินเชื่อปรับโครงสร้างการผลิต เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร

      นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รมว.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ในช่วงสัปดาห์หน้าตนจะหารือกับนายสมหมาย ภาษี รมว.คลัง เพื่อหาแนวทางช่วยเหลือเกษตรกร โดยเบื้องต้นต้องการให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. ปล่อยสินเชื่อให้กับพี่น้องเกษตรที่ต้องการปรับโครงสร้างการผลิต หรือมีความต้องการเปลี่ยนพืชผลในการปลูกเพื่อรอฝนที่จะเข้ามาในช่วง ก.ค.-ส.ค.นี้

   ทั้งนี้ ก่อนหารือกับรมว.คลัง ได้สั่งให้เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่เพื่อสำรวจความต้องการของเกษตรกรอีกครั้ง ก่อนหาแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ถูกต้อง

สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!