WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

 

Fon


3 เขื่อนวิกฤต มีนํ้าใช้ 20 วัน 
ฝนไม่ตกเจ๊งแน่ ชี้แล้งยันปีหน้า

        3 เขื่อนยักษ์น้ำแห้งขอดอ่าง ลุ้นระทึกหากใน 20 วันฝน ยังไม่เทลงมาชาวนาเจ๊งแน่ๆ อดีตรมต.ประภัตรทำพิธีขอฝนที่พระบรมราชานุสรณ์ดอนเจดีย์แค่ไม่กี่ชั่วโมง ฝนก็โปรยปรายทั่วทั้งสุพรรณฯ รมว.เกษตรฯ ชง 5 ทางเลือกแก้ปัญหาไม่มีน้ำ ทำนา กรมชลฯ รับปีนี้ฝนน้อยอาจแล้งยาวถึงปีหน้า นักวิชาการระบุต้องปรับโครงสร้างระบบชลประทานใหม่ ยันปัญหาที่เกิดเพราะชาวบ้านไม่มีแหล่งกักเก็บน้ำส่วนตัว เช่น โอ่งหรือบ่อน้ำ มุ่งพึ่งแต่น้ำจากเขื่อนอย่างเดียว ส่วนแม่น้ำมูนช่วงบุรีรัมย์แห้งสนิทจนเดินข้ามฝั่งได้

 

 

วันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2558 ปีที่ 25 ฉบับที่ 8976 ข่าวสดรายวัน

 

พิธีขอฝน - นายประภัตร โพธสุธน อดีตรมว.เกษตรฯ พร้อมชาวบ้านกว่า 100 คน ทำพิธีบวงสรวงและแห่นางแมว เนื่องจากประสบปัญหาภัยแล้ง ที่พระบรมราชานุสรณ์ดอนเจดีย์ จ.สุพรรณบุรี เมื่อ 25 มิ.ย.

เกษตรฯชง 5 ทางเลือก

      เมื่อวันที่ 25 มิ.ย. นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงสถานการณ์ภัยแล้งว่า พื้นที่ลุ่มเจ้าพระยายังมีพื้นที่ที่ยังไม่สามารถทำนาได้ ประมาณ 3.45 ล้านไร่ และอยู่ระหว่างการรับฟังเกษตรกรในพื้นที่ว่าจะดำเนินการตามมาตรการของกระทรวงเกษตรฯ หรือไม่ โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวบรวมให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 26 มิ.ย.นี้ เพื่อสรุปและเตรียมเสนอต่อครม. โดยมีทางเลือก 5 มาตรการประกอบด้วย 1.รอต่อไปจนกว่าฝนจะตกเพื่อปลูกข้าว 2.ตัดสินใจปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ตลาดรองรับได้ขณะนี้ 1 แสนตัน 3.เปลี่ยนปลูกพืชตระกูลถั่ว และพืชผักอื่นๆ 4.หันมาปลูกพันธุ์ข้าว และ5.ปรับโครงสร้างจากการทำนาเป็นเกษตรผสมผสาน

นายปีติพงศ์กล่าวว่า มาตรการดังกล่าวมีเพียงการปรับโครงสร้างเท่านั้นที่ต้องใช้เงินลงทุน เนื่องจากต้องสร้างระบบน้ำเข้ามา ในพื้นที่ ต้องหารือกับแหล่งเงินทุนที่สำคัญ คือธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพื่อปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำ รวมทั้งสนับสนุนเกษตรกรด้านอื่นๆ ตามความเหมาะสม ส่วนการผลิตพันธุ์ข้าวนั้น ให้กรมการข้าวจัดทำแผนส่งเสริมควบคุมระบบการผลิตใหม่ให้ได้พันธุ์ข้าวคุณภาพดี ซึ่งจะสอดรับกับนโยบายการเพิ่มศักยภาพเมล็ดพันธุ์ของรัฐบาลในขณะที่ยังเป็นการเพิ่มมูลค่าด้วย

 

'ปีติพงศ์'เชื่อฝนตกแน่

      นายปีติพงศ์กล่าวอีกว่า ส่วนในระยะยาว กรมชลประทานต้องทำแผนการจัดระบบน้ำในเขตลุ่มเจ้าพระยาใหม่ ทั้งระบบการผลักดันน้ำเค็ม การใช้น้ำเพื่อการเกษตร และการใช้น้ำเพื่ออุปโภคบริโภค รวมทั้งใช้โอกาสที่ ฝนยังไม่ตกนั้นสำรวจคลองที่รกและตื้นเขิน ให้ปรับปรุงเพื่อรองรับปริมาณน้ำที่จะเพิ่มขึ้นในอีก 2 เดือนข้างหน้าด้วย ขณะที่แผนการบริหารจัดการน้ำในเขตชลประทาน เบื้องต้นกำหนดให้น้ำที่มีอยู่และจะเกิดขึ้นในอีก 2 เดือนข้างหน้า ซึ่งจะมีฝนตกแม้จะน้อยกว่าที่คาดการณ์จะต้องเพียงพอสำหรับการใช้ เพื่ออุปโภค บริโภค ระบบนิเวศ จนถึงวันที่ 30 เม.ย. 2559 หรือสิ้นฤดูแล้ง ปี 2558/59

"ผมไม่เชื่อว่าฝนจะไม่ตก เพราะสถิติไม่เคยมี แต่การตกอาจจะน้อยกว่าค่าเฉลี่ย ซึ่งทุกหน่วยงานคาดว่ามีแนวโน้มเป็นแบบนั้น ที่สำคัญแผนการใช้น้ำที่มีอยู่ทุกคนต้องปฏิบัติร่วมกันอย่างเข้มงวด เพื่อให้เพียงพอผ่านช่วงนี้ไปก่อน กรมชลประทานก็ประคองอย่างถึงที่สุดแล้ว เรื่องนี้คงไม่สามารถโทษใครได้ ทั้งในอดีต และปัจจุบัน เพราะเชื่อว่าทุกคนตั้งใจทำงานอย่างบริสุทธิ์ใจ แต่อยู่บนความเชื่อที่ต่างกัน หลังปี"54 ผู้บริหารขณะนั้นกลัวการเกิดน้ำท่วม ปัจจุบันผู้บริหารกลัวภัยแล้ง ดังนั้นไม่มีใครผิด ขอให้มาช่วยแก้ปัญหาที่มีอยู่ในขณะนี้จะดีกว่า" รมว.เกษตรฯ กล่าว 

 

กรมชลฯ คาดแล้งถึงปีหน้า


น้ำมูนแห้ง - สภาพแม่น้ำมูนช่วง อ.สตึก จ.บุรีรัมย์ แห้งขอดหนักสุดในรอบ 30 ปี ส่วนสถานการณ์น้ำในเขื่อนภูมิพลและเขื่อน สิริกิติ์ปริมาณเหลือน้อยมาก จนท.ระบุหากฝนไม่ตกใน 20 วันน้ำจะแห้งหมดเขื่อน

 

      วันเดียวกัน นายทองเปลว กองจันทร์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา กรมชลประทาน เปิดเผยถึงสถานการณ์ภัยแล้งว่า ยอมรับค่าเฉลี่ยของฝนปีนี้น้อย และน้ำต้นทุนที่กรมชลฯ มีน้อย ส่งผลให้ปีนี้ต้องบริหารจัดการน้ำที่เข้มข้นและจับตาสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยประเมินไว้ว่าหากเดือน ส.ค.-ต.ค. ที่กรมอุตุนิยมคาดว่าจะมีฝน แต่เมื่อถึงวันนั้นฝนตกไม่มากและไม่ลงเขื่อนคงต้องปรับการบริหารจัดการน้ำใหม่กันอีกครั้ง โดยกรมชลฯ มองว่าหากสถานการณ์เลวร้ายสุดปีหน้าคงแล้ง อีกปี ซึ่งต้องดูกันไปก่อนที่จะสรุปว่าแล้ง จะยาวนานแค่ไหน เพราะหากฟ้าฝนเป็นใจ ฝนตกลงในอ่างไม่กี่วันก็เต็มเขื่อน

     ด้านนายภานุวัฒน์ ปิ่นทอง หัวหน้าศูนย์วิจัยวิศวกรรมน้ำและโครงสร้างพื้นฐาน สำนักวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ว่า ปัจจุบันโครงสร้างของประเทศเมื่อเติบโต ชุมชนเมืองเติบโต การบุกรุกธรรมชาติก็เกิดขึ้น ระบบคลองถูกบุกรุก รัฐบาลต้องเร่งฟื้นฟูคลองธรรมชาติควบคู่มาตรการเร่งด่วนระยะสั้น เพื่อเชื่อมแหล่งน้ำธรรมชาติให้สามารถเข้าถึงครัวเรือน ต้องรื้อระบบชลประทานแบบเก่ามาใช้การบริหารจัดการน้ำในเขื่อนของกรมชลฯ และหน่วยงานรัฐในอนาคตต้องมองมากกว่า 1-2 ปี เพราะที่ผ่านมาไทยเจอกับวิกฤตแล้งติดต่อกันแล้ว 2 ปี รัฐบาลต้องสร้างแบบจำลองให้ประชาชนมีส่วนรับรู้จะได้ตื่นตัว เตรียมรับมือสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น เพราะขณะนี้เครื่องมือสำหรับวิเคราะห์สถานการณ์ทำได้มากกว่า 1-2 ปีแล้ว ไม่ใช่ 1-2 เดือนอย่างที่เป็นอยู่ เมื่อเกิดสถานการณ์แล้ง หรือท่วมขึ้นก็จะได้แก้ปัญหาได้เร็วขึ้น

 

แนะฟื้นใช้ตุ่มเก็บน้ำ

       นายภานุวัฒน์ กล่าวว่า การบริหารจัดการน้ำของภาครัฐโดยการขุดบ่อ 1,000 แห่ง เป็นเรื่องเร่งด่วนที่รัฐบาลทำได้ในขณะนี้ แต่ไม่ได้มีความยั่งยืน ที่ผ่านมาต้องพึ่งพากรมชลฯ เพียงอย่างเดียว เมื่อไหร่ที่ไม่มีน้ำก็หันไปมองที่กรมชลฯ เป็นการพึ่งน้ำเขื่อนอย่างเดียว ทั้งที่ไทยมีน้ำมากในธรรมชาติแต่ละปีฝนตกมาก หากชุมชนหรือหมู่บ้านช่วยเหลือตัวเองเหมือนในอดีต มีตุ่มหรือสระน้ำใช้กักเก็บน้ำเพื่อช่วยเหลือตัวเองก่อน ที่ผ่านมาชาวบ้านพึ่งพารัฐบาลมากเกินไป กระทั่งลืมช่วยเหลือตัวเองปัญหาจึงเกิดอย่างทุกวันนี้

      "ฝนมากหรือน้อยยังไม่ใช่เรื่องต้องมาว่ากัน แต่หน่วยงานรัฐต้องเปิดใจ ใช้ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เช่น กรมอุตุฯเชี่ยวชาญพยากรณ์ ฝนต้องให้เขาเสนอคาดการณ์ 6-12 เดือนมา กรมชลฯ รู้เรื่องการบริหารน้ำปริมาณน้ำฝนและน้ำธรรมชาติมาคำนวณ หากทำงานร่วมกันแล้วเกิดผิดพลาดต้องร่วมแก้ไข ไม่ใช่ต่างกันต่างโบ้ยเช่นปัจจุบันจะทำให้คนไม่อยากทำงาน เพราะทำแล้วผิดก็ไม่ทำดีกว่าไม่ต้อง ถูกด่า ประเทศจะเสียหาย" อาจารย์ มจพ. กล่าว

      นายภานุวัฒน์กล่าวอีกว่า ต้องยอมรับว่าไทยยังขาดแบบจำลองที่ให้เห็นภาพชัดเจนเกี่ยวกับปริมาณน้ำตามที่ต่างๆ และแผนการบริหารจัดการ อาทิ แม่น้ำเจ้าพระยาไหลผ่าน 22 จังหวัด กรมชลฯต้องรับรู้ถึงผลการศึกษาและแบบจำลอง สามารถใส่ปริมาณฝนที่เปลี่ยนแปลงผ่านระบบจังหวัด ต้องมีการปกครองส่วนท้องถิ่น และส่วนอื่นๆ ทั้งภาครัฐและประชาชนร่วมรับผิดชอบด้วย เรื่องนี้กรมชลฯฝ่ายเดียวรับไม่ไหวถ้าเกิดปัญหาขึ้น

 

โคราชแล้งแล้ว 24 อำเภอ

 


แห้งขอด - ปริมาณน้ำในประตูระบายน้ำเจ็ดซ้าย อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี แห้งขอด เนื่องจากระดับน้ำในคลองระพีพัฒน์ต่ำกว่าประตูระบายน้ำ หน่วยงานในพื้นที่ต้องใช้เครื่องสูบน้ำเข้าคลอง เพื่อให้เกษตรกรใช้ทำการเกษตรได้ เมื่อวันที่ 25 มิ.ย.


      วันเดียวกัน เจ้าหน้าที่โรงผลิตน้ำประปาบ้านใหม่หนองบอน ต.ด่านเกวียน อ.โชคชัย จ.นครราชสีมา เดินเครื่องสูบน้ำเพื่อดึงน้ำดิบจากอ่างเก็บน้ำลำแชะ อ.ครบุรี โดยผ่าน ทางท่อที่เทศบาลนครนครราชสีมาติดตั้งไว้ เข้ามากักเก็บไว้ในอ่างเก็บน้ำของโรงผลิตน้ำประปาบ้านใหม่หนองบอน วันละ 35,000 ลบ.ม. หลังจากที่ทางชลประทานกำหนดโควตาในการใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำลำแชะ ตั้งแต่วันที่ 25 มิ.ย.ถึง ธ.ค. ทั้งสิ้น 6 ล้านลบ.ม.

      นายสมบัติ ไตรศักดิ์ หัวหน้า ปภ.นครราช สีมา เผยว่า ขณะนี้ประกาศพื้นที่ประสบภัยพิบัติแล้งรวม 24 อำเภอ 160 ตำบล 1,760 หมู่บ้าน ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 278,866 ครัวเรือน วิธีการแก้ไขปัญหาแล้งที่มีประสิทธิภาพ คือการเป่าล้างทำความสะอาดบ่อน้ำบาดาล ให้สามารถนำน้ำมาใช้อุปโภค บริโภค ได้เหมือนเดิม สำหรับภารกิจในวันนี้จะดำเนินการปรับปรุงบ่อบาดาล ในพื้นที่ อ.สูงเนิน ที่มี 30 บ่อ ส่วนภาพรวมทั้งจังหวัด ปภ.นครราชสีมา ดำเนินการไปแล้ว 103 บ่อ

 

น้ำมูนแห้งเดินข้ามได้

      ด้านนายโอภาส ชนะดี เจ้าหน้าที่สำนัก งานชลประทานที่ 8 อ.สตึก จ.บุรีรัมย์ ระบุว่า ปีนี้น้ำในลำน้ำมูนมีปริมาณลดต่ำที่สุดในรอบ 30 ปี โดยจุดที่ลึกที่สุดบริเวณศาลเจ้าพ่อ วังกรูด มีปริมาณเหลือประมาณ 3 เมตรเท่านั้น จากระดับความสูงริมฝั่งสูงกว่า 9 เมตร และเหลือเพียงอีก 18 เซนติเมตร จะมีระดับต่ำกว่าเกณฑ์ของจุดวัดระดับน้ำที่กำหนดไว้ ขณะที่บางช่วงน้ำมูนมีสภาพแห้งขอดจนสามารถเดินข้ามฝั่งไปมาได้แล้ว

      นายโอภาสกล่าวว่า สาเหตุที่น้ำลดต่ำลงเนื่องจากฝนตกน้อย แม้จะเข้าสู่ฤดูฝนแล้วก็ตาม และหากยังไม่มีฝนตกลงมาอีกก็จะถึงขั้นวิกฤต ส่งผลกระทบต่อชาวประมงและเกษตรกรที่อาศัยน้ำจากลำน้ำมูนในการประกอบอาชีพอย่างแน่นอน ขณะที่นาข้าวหลายพื้นที่ในเขตอำเภอสตึก ที่ไถหว่านไปแล้วก็เริ่มประสบปัญหาขาดน้ำหล่อเลี้ยงยืนต้นตายเสียหายแล้ว ทั้งนี้คาดว่าหากภายใน 1-2 สัปดาห์ยังไม่มีฝนตกลงมานาข้าวที่ไถหว่านไว้จะแห้งตายเสียหายเป็นวงกว้าง

 

3 เขื่อนยักษ์ขอดอ่าง

      วันเดียวกัน ม.ล.อนุมาศ ทองแถม ผอ. สำนักงานชลประทานที่ 3 จ.พิษณุโลก เปิดเผยว่า สถานการณ์ภัยแล้งขณะนี้ทวีความรุนแรงขึ้นต่อเนื่อง เนื่องจากฝนไม่ตกตามฤดูกาล ทำให้น้ำในเขื่อนใหญ่ทั้ง 3 เขื่อน ประกอบด้วย เขื่อนภูมิพล อ.สามเงา จ.ตาก เหลือน้ำใช้ได้เพียงร้อยละ 3 เท่านั้น เขื่อน สิริกิติ์ อ.ท่าปลา จ.อุตรดิตถ์ เหลือน้ำที่ใช้ได้ร้อยละ 8 ส่วนเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน อ.วัดโบสถ์ จ.พิษณุโลก เหลือน้ำเพียงร้อยละ 10 เท่านั้น

     ม.ล.อนุมาศ กล่าวว่า ที่ผ่านมาชลประทานวางแผนการใช้น้ำปี"58 ไว้แล้ว โดยแบ่งออกเป็น 3 กรณี คือ น้ำอุปโภคบริโภค น้ำทำนาปรัง และน้ำสำหรับนาปี แต่ปรากฏว่า ชาวนาทำนาในช่วงนาปรังถึง 2 ล้านกว่าไร่ ทำให้ชลประทานต้องช่วยระบายน้ำเลี้ยงต้นข้าว โดนใช้น้ำในส่วนที่กักไว้สำหรับทำนาปีไปใช้ก่อน ส่งผลให้ไม่เหลือน้ำเพียงพอสำหรับการทำนาปี เนื่องจากที่ผ่านมาคาดว่าฝนจะตกลงมา แต่กลับไม่เป็นไปตามที่ คาดการณ์ซึ่งคาดว่าหากฝนไม่ตกลงมาภายใน 20 วัน น้ำในเขื่อนจะแห้งหมด 

     "สิ่งที่ทำได้ขณะนี้ชาวนาที่ยังไม่ได้ทำนา ต้องเลื่อนการทำนาปีออกไปจนกว่าฝน จะตกลงมามากๆ ส่วนชาวนาที่ทำนาปีไปแล้ว ทางชลประทานก็พยายามส่งน้ำช่วยอยู่ นอกจากนี้ทางชลประทานได้รับแจ้งจาก กรมอุตุนิยมวิทยาว่า ภายใน 2 เดือนนี้ฝนจะตกลงมาน้อยเฉลี่ยร้อยละ 16 เท่านั้น ซึ่งถือว่าเป็นข่าวร้ายของชาวนา" ผอ.สำนักงานชลประทานที่ 3 กล่าว

 

สองแควแห่ปลัดขิกขอฝน

      ขณะเดียวกัน ชาวบ้านบริเวณเขตรอยต่อ จ.พิษณุโลก และจ.สุโขทัย ประกอบด้วย ม.6 ต.บ้านใหม่สุขเกษม อ.กงไกรลาศ จ.สุโขทัย และ ม.12 ต.ท่าช้าง อ.พรหมพิราม จ.พิษณุ โลก ร่วมกันทำพิธีแห่นางแมวขอให้ฝนตก ลงมา หลังจากในพื้นที่ได้เริ่มปลูกข้าวไปแล้วประมาณ 1 เดือน แต่ปรากฏว่ามีฝนตกลงมาเพียง 1-2 ครั้งเท่านั้น เช่นเดียวกับชาวบ้าน ม.7 บ้านหนองกัญญา ต.พันชาลี อ.วังทอง ซึ่งรวมตัวกันทำพิธีขอฝนด้วยการแห่ปลัดขิกขนาดใหญ่โดยใช้ต้นมะพร้าวทำขึ้น เขียน ป้ายกำกับว่า'พระพิรุณนำโชค'แห่ไปรอบหมู่บ้านโดยใช้รถทางการเกษตร แห่มีการร้องรำทำเพลง บรรยากาศเต็มไปด้วยความสนุกสนาน

      วันเดียวกันเจ้าหน้าที่สำนักทรัพยากร น้ำบาดาลเขต 11 จังหวัดอุบลราชธานี ขุดเจาะบ่อบาดาลเพื่อสำรองน้ำไว้ใช้ในการบริโภคและทางการเกษตร จำนวน 8 จุด ได้แก่ ต.ท่าช้าง ต.วังวน ต.หนองแขม และ ต.พรหมพิราม ตำบลละ 2 จุด ซึ่งขุดเจาะมาแล้ว 3 วัน เบื้องต้นมี 2 จุดที่สามารถขุดเจาะกระทั่งมีน้ำขึ้นมาและสามารถใช้ทางการเกษตรที่ความลึก 42 เมตร คาดว่าหากขุดสำเร็จทั้ง 8 จุด จะบรรเทาความเดือดร้อนและช่วยเหลือเกษตรกรไม่ต่ำกว่า 1,000 ไร่

 

'ประภัตร'ขอฝนที่สุพรรณฯ

      ที่พระบรมราชานุสรณ์ดอนเจดีย์ อ.ดอน เจดีย์ จ.สุพรรณบุรี นายประภัตร โพธสุธน อดีต รมว.เกษตรฯ พร้อมชาวบ้านและผู้นำท้องถิ่นกว่า 100 คน ร่วมทำพิธีบวงสรวงต่อหน้าพระบรมราชานุสรณ์ดอนเจดีย์ และแห่นางแมวขอให้ฝนตกต้องตามฤดูกาลและช่วยเหลือชาวนาที่กำลังประสบปัญหาฝนแล้ง และช่วงบ่ายฝนได้ตกลงมาโปรยปรายในพื้นที่อำเภอต่างๆ ของ จ.สุพรรณบุรี จนมีชาวบ้านเชื่อว่าเป็นเพราะบารมีสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ที่ช่วยให้ฝนโปรยปรายลงมา แม้จะมีปริมาณน้อยแต่ก็ให้ความชุ่มฉ่ำกับชาวบ้านเป็นอย่างมาก

      นายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี รองผวจ.สุพรรณบุรี กล่าวถึงแนวคิดนำน้ำจากบึงฉวากเฉลิมพระเกียรติ อ.เดิมบางนางบวช ที่มีพื้นที่ติดต่อกับ จ.ชัยนาท ใช้ช่วยเหลือแก้ปัญหาภัยแล้งว่า ถ้ามีการสั่งการลงมาจากรัฐบาลยินดีที่สนองนโยบาย แต่ขอสะท้อนปัญหาให้ทราบเพื่อความเข้าใจที่ตรงกันว่าสำหรับบึงฉวากรับน้ำมาจากแม่น้ำท่าจีน ควรใช้น้ำจากแม่น้ำท่าจีนตรงๆ จะดีกว่า เพราะบึงฉวากปริมาณน้ำไม่มากนักและในปัจจุบันน้ำก็ลดลงอย่างต่อเนื่องและยังเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์น้ำต่างๆ ที่เป็นอาหารให้กับคนทั้งในและนอกพื้นที่ นอกจากนั้นน้ำบางส่วนยังเป็นแหล่งน้ำดิบเพื่อผลิตน้ำประปาให้กับประชาชนด้วย

       ส่วนที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษา รังสิตเหนือ ต.พยอม อ.วังน้อย จ.พระนคร ศรีอยุธยา ระดับน้ำในคลองระพีพัฒน์ ที่คั่นพื้นที่ระหว่าง จ.ปทุมธานี และจ.พระนคร ศรีอยุธยา สูงแค่ 40 เซนติเมตร ทำให้น้ำในคลองต่ำกว่าประตูระบายน้ำทุกประตู ระดับ 30 ซ.ม.ถึง 50 ซ.ม. เช่นประตูระบายน้ำปากคลองส่งน้ำ 8 ซ้าย คลองระพีพัฒน์แยกตก ก.ม.32+285 คลองดังกล่าวจะไม่มีน้ำทำให้นาข้าวหลายร้อยไร่ในพื้นที่ ม.16 ต.คลองสอง อ.คลองหลวง ซึ่งชาวนาได้หว่านเมล็ดพันธุ์ข้าวไปแล้วต้องกลายเป็นอาหารของนกไป จนสิ้น ส่วนประตูระบายน้ำ 7 ซ้าย ก.ม.29+800 ภายในคลองไม่มีน้ำแห้งจนเดินลงไปในคลองได้

 

พิษแล้ง-นาล่ม แห่จำนำ'รถไถ' ต่อชีวิต

มติชนออนไลน์ : วันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2558

 

 
 

  


     สถานการณ์ภัยแล้งสุดสุดในรอบหลายปี สภาพน้ำในเขื่อนหลักใกล้แห้งขอด กำลังเป็นภัยคุกคามพี่น้องเกษตรกรไปทั่ว โดยเฉพาะชาวนาภาคกลางลุ่มน้ำเจ้าพระยา

พื้นที่ปลูกข้าว 7.4 ล้านไร่ ลงมือปลูกไปร่วม 4 ล้านไร่ ที่ลุ้นกันอยู่ว่านาจะล่มกี่มากน้อยจากการขาดน้ำหล่อเลี้ยง ขณะที่ต้องชะลอลงกล้าอีกกว่า 3 ล้านไร่

      ทั้งนาข้าวที่เสียหายและต้องชะลอออกไป หมายถึงเม็ดเงินเพื่อการครองชีพขาดมือ 

ทางเลือกเฉพาะหน้าของชาวนาคือ นำทรัพย์สินที่มีอยู่ไปตึ๊งเถ้าแก่ แลกเงินมาหมุนเวียนพอประทังไปพลาง 

      อุปกรณ์และเครื่องยนต์การเกษตร เครื่องมือทำกินประเภทรถไถ เครื่องสูบน้ำ ถูกใช้เป็นหลักทรัพย์มาค้ำประกันเพิ่มมากขึ้น 

     ภูวะนาศ สวนสวัสดิ์ ผจก.สถานธนานุบาลเทศบาลนครพิษณุโลก ให้ภาพสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นว่า จัดเตรียมเงินไว้ 120 ล้านบาท ให้ประชาชนใช้บริการ นำของ

มีค่ามาจำนำเปลี่ยนเป็นเงิน 

      กลุ่มเกษตรกรที่ช่วงนี้ไม่สามารถทำการเกษตรได้ เนื่องจากประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ ได้นำเครื่องมือการเกษตร เครื่องยนต์คูโบต้า กบไฟฟ้า สว่านไฟฟ้า รวมถึงจักรเย็บผ้า มาจำนำเพิ่มมากขึ้น ต่างจากในอดีตสิ่งของที่มาจำนำจะเป็นกลุ่มทองคำ ทองรูปพรรณ 

เมื่อก่อนมีน้อยมาก พวกเครื่องมือการเกษตรจะถูกจำนำ แสดงให้เห็นถึงภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน 

      ภูวะนาศ กล่าวเพิ่มเติมว่า หลายรายที่นำของมาจำนำยังคงส่งดอกทุก 4 เดือน แทบไม่มีขาด สถานธนานุบาลเทศบาลนครพิษณุโลกคิดอัตราดอกเบี้ยถูกกว่าที่อื่น โดยวงเงินต้นไม่เกิน 5,000 บาท คิดดอกเบี้ยร้อยละ 50 สต./เดือน ยอดวงเงินเกิน 5,001 บาทแต่ไม่เกิน 30,000 บาท จะคิดอัตราดอกเบี้ยที่ร้อยละ 1 บาท/เดือน และถ้ายอดใช้บริการเกิน 30,000-100,000 บาท จะคิดอัตราดอกเบี้ยที่ร้อยละ 1.25 บาท/เดือน

     ไปที่ จ.พิจิตร จีรศักดิ์ อินมา ผู้จัดการโรงรับจำนำแห่งหนึ่ง บอกว่า ชาวนาไม่มีน้ำปลูกข้าวทำให้เดือดร้อนมาก ต้องนำเครื่องมือการเกษตร เครื่องไถนา เครื่องสูบน้ำ หรือเครื่องใช้ไฟฟ้า รวมทั้งทองรูปพรรณมาจำนำมากขึ้น 

       อย่างเครื่องไถนาทางโรงรับจำนำให้ราคาเครื่องละ 16,000-15,000 แล้วแต่สภาพใหม่เก่า แต่ก็รับจำนำได้จำกัดเพียง 20 กว่าเครื่องเท่านั้น เนื่องจากไม่มีที่เก็บรักษา ชาวนาก็จะนำไปขายให้กับร้านค้าอื่น

       จีรศักดิ์บอกว่า ไม่เพียงชาวนาเท่านั้นที่เดือดร้อน พ่อค้าปุ๋ย พ่อค้ายาปราบศัตรูพืช ก็นำทองรูปพรรณมาจำนำด้วย เพราะไม่มีเงินหมุนเวียนในร้านค้า เนื่องจากชาวนายังไม่จ่ายเงินที่ซื้อเชื่อปุ๋ยและยาปราบศัตรูพืชเช่นกัน 

      หากโรงจำนำไม่รับจำนำ ชาวนาจะนำเครื่องมือการเกษตรไปขายให้กับร้านค้า 

      ณรงค์ คล้ามกลาง เจ้าของร้านเจริญรุ่งเรือง จ.พิจิตร ซื้อขายอุปกรณ์การเกษตร กล่าวว่า พื้นที่การเพาะปลูกในพิจิตรประสบปัญหาภัยแล้งฝนทิ้งช่วงมานานกว่า 7 เดือนแล้ว ตั้งแต่รัฐบาลประกาศขอความร่วมมือเกษตรกรงดการทำนาปรัง และมาจนถึงช่วงนี้

     รัฐบาลประกาศให้ชะลอการทำนาปีออกไปอีกอย่างน้อย 1-2 เดือน เมื่อเกษตรกรชาวนาทำการเพาะปลูกข้าวซึ่งเป็นอาชีพหลักไม่ได้ ส่งผลให้ภาระภายในครอบครัวทั้งหนี้สินในและนอกระบบพอกพูนขึ้น ต้องหาเงินไปจัดซื้อหาเมล็ดพันธุ์ข้าว เพื่อเตรียมมาปลูกทดแทนที่ไถหว่านและต้นข้าวขาดน้ำเสียหายไป ทำให้ชาวนาในพื้นที่ อ.วชิรบารมี อ.สามง่าม และพื้นที่ใกล้เคียงที่มีเครื่องมือทำการเกษตร โดยเฉพาะเครื่องสูบน้ำขนาดเล็ก และรถไถนาเดินตาม ตั้งแต่ 5 แรงม้าไปจนถึง 18 แรงม้า รวมไปถึงรถดำนา มาขายให้ โดยราคารับซื้อขึ้นอยู่กับสภาพเครื่องยนต์ตั้งแต่ 4 พันบาทไปจนถึงหลักหมื่นบาท แล้วแต่สภาพ

       กัญญารัตน์ จำนงพัก ชาวนาอำเภอเมืองพิจิตร กล่าวว่า ก่อนหน้านี้นำเครื่องมือทางการเกษตรมาจำนำ เนื่องจากทำนาขาดทุนข้าวยืนต้นตาย เพราะขาดน้ำทำนาครั้งนี้ ครั้งนี้ต้องนำสร้อยคอหนัก 1 บาท มาจำนำกับโรงรับจำนำได้เงิน 14,000 บาท เอาไปใช้หนี้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และหนี้สินนอกระบบ ขณะนี้เดือดร้อนมากไม่มีเงินจะเลี้ยงครอบครัว นาก็ทำไม่ได้เพราะไม่มีน้ำทำนา อยากให้ภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือเร่งด่วน

     เช่นเดียวกับ เจริญ ลำเจียก ชาวนา อ.วชิรบารมี อยู่ในสภาพไม่แตกต่างกัน กล่าวว่า ต้องนำรถไถนาเดินตามมาขายให้กับร้านเจริญรุ่งเรืองในราคา 4,500 บาท 

      ปีนี้ประสบกับปัญหาภัยแล้งหนักและนานมาก ไม่สามารถเพาะปลูกได้ ขณะที่ต้องดูแลค่าใช้จ่ายในครอบครัว อีกทั้งค่าหนี้สินต่างๆ จึงจำเป็นต้องนำรถไถนามาขาย

     ประทีป เทศเพ็ญ ชาวนา อ.วิเศษชัยชาญ จ.อ่างทอง ปรับทุกข์ว่า เช่าที่นา 17 ไร่ปลูกข้าวสร้างรายได้เลี้ยงครอบครัว ปีที่ผ่านมาไปกู้เงินจาก ธ.ก.ส. 100,000 บาท เพื่อลงทุนทำนาและซื้อเครื่องสูบน้ำมา 1 ตัว ประมาณ 40,000 บาท แต่กลับต้องชอกช้ำหลังจากต้นปีรัฐบาลให้หยุดทำนา จ่ายเงินชดเชยให้ไร่ละ 1,000 บาท จำนวน 15 ไร่ โดยบอกว่าให้เริ่มลงมือทำนาพร้อมกันในช่วงต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา แต่ต้องผิดหวังซ้ำอีกเมื่อไม่มีน้ำให้ทำนา ชลประทานก็ชะลอจ่ายน้ำ เนื่องจากน้ำต้นทุนเหลือน้อย

     ในขณะที่เมื่อขาดรายได้แต่ครอบครัวยังมีค่าใช้จ่าย จำเป็นต้องนำเครื่องมือหากินคือ เครื่องสูบน้ำที่เพิ่งซื้อมาเมื่อต้นปี ไปเข้าโรงรับจำนำของรัฐบาล ในราคา 18,000 บาท นำเงินมาหมุนเวียนใช้จ่ายภายในครอบครัวในช่วงขาดรายได้ น้ำมาเมื่อไหร่ก็คงต้องไปหากู้หนี้ยืมสินไปไถ่ถอนอีก เอาออกมาใช้ในการทำนา อยากฝากวิงวอนไปยังรัฐบาลให้เร่งช่วยชาวนาที่ได้รับผลกระทบจากภาวะแล้งและขาดรายได้อย่างเร่งด่วนก่อนที่ชาวนากระดูกสันหลังของชาติจะช้ำไปกว่านี้

     ภัยแล้งผลส่งกระทบเป็นลูกโซ่ สุดท้ายไปตกหนักสุดท้ายอยู่กับชาวนา

     เป็นภารกิจสำคัญที่ภาครัฐต้องเร่งช่วยเหลือก่อนที่ "กระดูกสันหลังของชาติ" จะช้ำไปกว่านี้

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!