- Details
- Category: เกษตร
- Published: Sunday, 21 June 2015 11:45
- Hits: 2445
ทุกข์ของ'ชาวนา' โดนสั่งชะลอ'ทำนาปี'
มติชนออนไลน์ : วันที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2558
สืบเนื่องจากความกังวลและเป็นห่วงของกรมชลประทานที่ฤดูฝนปีนี้ที่ทำให้เขื่อนใหญ่ซึ่งต้องกักเก็บน้ำไว้ ส่วนหนึ่งเพื่อการอุปโภคบริโภคและส่วนใหญ่เป็นเรื่องของการเกษตรกรรม ปรากฏว่า น้ำใน 4 เขื่อนใหญ่ คือ เขื่อนภูมิพล (จ.ตาก), เขื่อนสิริกิติ์ (จ.อุตรดิตถ์), ป่าสักชลสิทธิ์ (จ.ลพบุรี) และเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน (จ.พิษณุโลก) ที่ใช้การได้ มีเหลือไม่มากพอจะใช้ในการเกษตร
ผนวกกับข้อมูลเรื่องปริมาณฝนของกรมอุตุนิยมวิทยาให้ความเห็นว่าปริมาณฝนในปีนี้จะต่ำกว่าค่าเฉลี่ยปกติ 10% ขึ้นไป
กรมชลประทาน จึงตัดสินใจหยุดปล่อยน้ำสำหรับการทำนาในส่วนที่เหลือ 7 ล้านไร่เศษ ไปจนถึงปลายเดือนกรกฎาคม เพื่อรอดูสภาพน้ำฝนจะมีมากน้อยเพียงใด
ต่อมา เลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ อธิบดีกรมชลประทาน ออกประกาศกรมชลประทาน ลงวันที่ 9 มิถุนายน 2558 ขอความร่วมมือเกษตรกรในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่ยังไม่ได้เพาะปลูกข้าวนาปี ให้ชะลอการเพาะปลูกข้าวออกไปก่อนจนกว่าจะเริ่มมีฝนตกชุก หรือมีปริมาณน้ำเพียงพอต่อการเพาะปลูกประมาณปลายเดือนกรกฎาคม 2558
และขอให้ผู้ใช้น้ำทุกภาคส่วนใช้น้ำอย่างประหยัดเพื่อป้องกันการขาดแคลนน้ำในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา
สภาพการณ์ดังกล่าวมีผลกระทบต่อชาวนา
ทรงยศ มะกรูดทอง ประธานเกษตรกรอำเภอไชโย จ.อ่างทอง กล่าวว่า ตอนนี้ชาวนาทั่วทั้งจังหวัดกำลังประสบปัญหาไม่มีน้ำ
ทำนาอย่างหนัก โดยเฉพาะอย่างพื้นที่ทุ่งไชโย ทุ่งราชสถิตย์ และทุ่งเทวราช ทั้งหมดเป็นที่ลุ่มสามารถรองรับน้ำได้เป็นอย่างดี การให้ชะลอการทำนาปี เกรงว่าเมื่อถึงช่วงเก็บเกี่ยว ชาวนาต้องลงไปเกี่ยวข้าวในน้ำ จะเกิดความเสียหายซ้ำซ้อนอย่างแน่นอน
"ปัญหาที่เกิดขึ้นตอนนี้เป็นเรื่องชาวนาไม่มีน้ำที่จะทำนาต่อเนื่อง กว่า 40 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ทำนา ได้ลงมือหว่านข้าวกันไปบ้างแล้ว ผืนนาหลายแห่งเริ่มประสบปัญหาดินแตกระแหง ยืนต้นตายก็มี"
ทรงยศบอกต่อว่า ขอวิงวอนรัฐบาล ในเมื่อเหตุเกิดขึ้นมาอย่างนี้แล้ว รัฐบาลจะมีวิธีไหนที่จะแก้ปัญหาให้กับชาวนาชาวไร่ทั้งเวลานี้และภายภาคหน้า ทางสภาเกษตรจังหวัดอ่างทองจึงขอเสนอให้ช่วยพักการชำระหนี้กับสถาบันการเงินชั่วคราว หรือผ่อนผันการชำระหนี้และงดคิดดอกเบี้ยเงินกู้
ด้าน เฉลียว น้อยแสง แกนนำชาวนา จ.ชัยนาท กล่าวว่า ขณะนี้ชาวนาภาคกลางต้องเริ่มปรับตัว ส่วนหนึ่งที่ลงมือทำไปแล้วต้องเร่งสูบน้ำเข้าเก็บไว้ในนา อีกส่วนหนึ่งก็จำเป็นต้องจ้างช่างมาเจาะบ่อบาดาลน้ำตื้นเพื่อสำรองไว้ใช้ ตรงนี้มีค่าใช้จ่ายไม่ต่ำกว่าบ่อละ 10,000 บาท
แต่ที่จะต้องชะลอหรืองดการทำข้าวนาปี เหมือนเป็นการตัดเส้นชีวิตของเกษตรกร เพราะเมื่อครั้งงดนาปรัง ชาวนาก็ขาดรายได้ต้องมีความเป็นอยู่ที่อัตคัดมาแล้วช่วงหนึ่ง ครั้งนี้ชาวนาต้องงดนาปีอีกเท่ากับมีสภาพตกงานต่อเนื่องกัน 1 ปีเต็ม เมื่อรายได้จากการทำนาไม่มี ความเป็นอยู่ในครอบครัวก็มีแต่แย่ลง รัฐบาลและกรมชลประทานต้องหาทางเยียวยา
"มีทั้งกลุ่มที่ยังไม่ได้ทำนาปี กลุ่มนี้ดูจะไม่น่าห่วงมากนักเพราะยังไม่มีการลงทุน แต่ควรหาทางชดเชยการขาดรายได้ให้ด้วยเพราะชาวนาต้องกินต้องใช้เหมือนกัน ลูกหลานต้องไปโรงเรียน ในกลุ่มนี้ควรชดเลยไร่ละ 2,000 บาท เพื่อป้องกันไม่ให้กลุ่มนี้ฝืนทำนา จะยิ่งไปซ้ำเติมสถานการณ์แย่งน้ำกับกลุ่มที่ลงมือทำไปแล้ว จะพากันกอดคอตายทั้งหมดเมื่อน้ำมีไม่พอ"
เฉลียวกล่าวต่อว่า ในกลุ่มที่ลงมือทำนาปีไปแล้ว รัฐบาลและกรมชลประทานต้องหาทางช่วยให้มากที่สุดเพื่อให้สามารถเก็บเกี่ยวข้าวในนาได้ แต่ถ้าผลผลิตเสียหายเก็บเกี่ยวไม่ได้ ต้องเยียวยาเพื่อไม่ให้เกิดวิกฤตครัวเรือนที่มักจะพบว่าชาวนาฆ่าตัวตายทุกครั้งที่นาล่มและนาแล้ง
ขณะที่ ชวลิต เจริญสมบัติ ประธานศูนย์ข้าวชุมชนบ้านรางไม้แดง อ.เมือง จ.ราชบุรี เปิดเผยว่า ภาครัฐได้เตือนเกษตรกรให้ระมัดระวังการใช้น้ำ ซึ่งต้นทุนน้ำในเขื่อนที่มีอยู่ขณะนี้มีน้อยมากถึงขั้นวิกฤต ในเขตลุ่มเจ้าพระยาเป็นพื้นที่ถูกขอร้องอย่าเพิ่งเพาะปลูกนาปี 2558 เกษตรกรที่มีน้ำต้นทุนอยู่แล้วจะต้องคำนึงถึงการใช้น้ำทุกหยดให้มีประโยชน์มากที่สุด
"แม้ราชบุรีจะมีลุ่มน้ำแม่กลอง มีต้นน้ำจากเมืองกาญจนบุรีผ่านมาถึงราชบุรี ต้องไม่ประมาท จึงทำจุดนี้เป็นศูนย์เรียนรู้และพิพิธภัณฑ์ชาวนาที่จะต้องทำหลายอย่าง เป็นกรณีศึกษาให้กับเกษตรกรที่ใช้น้ำอย่างเป็นประโยชน์ ทำในสิ่งต่างๆ ไม่ใช่เชิงเดี่ยว จะสังเกตได้ว่าราคาข้าวถึงปลูกไปแล้วก็จะไม่เหลืออะไรซ้ำจะขาดทุนด้วย แต่ถ้าหากหันมาปลูกพืชผักสวนครัวร่วมกันในหมู่บ้าน มีการแลกเปลี่ยนพืชผักแต่ละชนิด ส่วนที่เหลือยังสามารถนำออกไปขายได้อีก โดยที่ไม่มีภาระหนี้สินลดรายจ่ายในครอบครัวลงไปได้ส่วนหนึ่ง"
วิเชียร พวงลำเจียก นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย ให้ความเห็นว่า การประกาศว่าจะขาดน้ำในช่วงนี้และชาวนาไม่ควรทำนา ถือว่าเป็นสิ่งที่เลวร้ายที่สุด เพราะก่อนหน้านี้เมื่อต้นปีถึงหน้าร้อน ได้สั่งให้ชาวนาหยุดทำนารอบที่ 1 ไปแล้ว อ้างปัญหาภัยแล้งในหน้าร้อน
มาตอนนี้เข้าหน้าฝนแล้ว ยังมาสั่งให้หยุดทำนาอีกรอบ เป็นครั้งที่ 2 และอ้างภัยแล้งอีก
"จึงขอเรียกร้อง 1.ให้รัฐบาลจ่ายเงินชดเชยเพื่อช่วยเหลือชาวนาไร่ละ 3,000 บาท ไม่เกิน 30 ไร่/ราย ยึดข้อมูลจากฐานการขึ้นทะเบียนชาวนาที่กระทรวงเกษตรฯได้จัดขึ้นทะเบียนไว้ก่อนหน้านี้ และให้เจ้าหน้าที่ภาครัฐ เช่น หน่วยงานเกษตร ท้องถิ่น กำนันผู้ใหญ่บ้าน สนธิกำลังร่วมตรวจสอบรายชื่อ จำนวนที่นา/ไร่ ให้เป็นข้อมูลที่เป็นปัจจุบัน ถูกต้อง ป้องกันรัฐบาลและชาวนาโดนด่า หาว่าทุจริตหรือมีคนได้ประโยชน์นอกจากชาวนาที่ได้รับผลกระทบ
2.พักชำระหนี้ชาวนาเป็นเวลา 3 ปี ต่อเนื่องโดยไม่คิดดอกเบี้ย ที่ผ่านมามีการเรียกร้องให้พักชำระหนี้มาแล้ว แต่ไม่มีการประกาศอย่างเป็นทางการ โดย ธ.ก.ส.น่าจะนำร่อง และธนาคารอื่นที่ชาวนาไปกู้ก็ควรทำตาม เพราะว่าตอนนี้ไม่รู้จะเอาเงินที่ไหนไปใช้คืนเงินต้นและดอกเบี้ย ส่วนโครงการปลูกพืชอื่นทดแทน ฉากหน้าก็บอกว่าสำเร็จ แต่ในความเป็นจริงไม่สำเร็จ เพราะชาวนาก็ขาดน้ำ จะไปปลูกอะไรได้ อาจมีบางคนที่ทำได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าชาวนาทั้งหมดที่หยุดทำนาจะทำได้ ชาวนาส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบ แต่หากรัฐบาลไม่สามารถช่วยเหลือชาวนาได้ ก็เท่ากับว่าฆ่าชาวนา เพราะทั้งปีนี้ไม่ต้องทำนากัน แต่หากจะให้ไปทำนาช่วงปลายปีนั้น ทำไม่ได้เพราะเป็นช่วงน้ำเหนือหลากเข้าทุ่ง" วิเชียรกล่าวอย่างเข้มข้น
ด้าน ขวัญชัย มหาชื่นใจ รองประธานชมรมเกษตรกรภาคกลาง ยืนยันว่า คงมีชาวนาเชื่อกรมชลประทานไม่มาก เพราะเมื่อช่วงต้นปีสั่งไม่ให้ทำนากันไปแล้ว 1 ครั้ง มาครั้งนี้คงต้องทำกันและต้องหาน้ำกันเอง รวมถึงรอฝนตก ถือเป็นการเสี่ยงดวง แต่หากไม่ทำ ก็เท่ากับไม่มีรายได้อะไรเลยในปีนี้ เพราะช่วงสิ้นปีจะเป็นช่วงน้ำเหนือหลากเข้าทุ่ง ทำนาไม่ได้แน่นอน
"การเสี่ยงดวงของชาวนาเป็นการดิ้นเฮือกสุดท้าย เพราะต้องหาน้ำเอง รอเทวดามาโปรด และแน่นอน ถึงข้าวจะดันทุรังปลูกกันและพอจะเก็บเกี่ยวได้ แต่ราคาต้องไม่ได้แน่นอน เพราะว่านาไม่สมบูรณ์ เมล็ดข้าวจะไม่สวย อีกทั้งผลผลิตจากเดิมได้ 800-1,000 กิโลกรัม ก็จะเหลือเพียง 400-500 กิโลกรัมเท่านั้น"ขวัญชัยกล่าวสรุป