- Details
- Category: เกษตร
- Published: Wednesday, 17 June 2015 14:40
- Hits: 1937
คู่ค้าธุรกิจจับมือซีพีเอฟขับเคลื่อนนโยบายจัดหายั่งยืน มั่นใจก้าวไปข้างหน้าร่วมกัน
คู่ค้าธุรกิจจำนวนมากของ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ตื่นตัวและร่วมมืออย่างเต็มที่เพื่อร่วมคิด ร่วมสร้าง สู่การเติบโตอย่างยั่งยืน นำนโยบายการจัดหาอย่างยั่งยืนไปประยุกต์ใช้กับธุรกิจ เพื่อลดความเสี่ยงและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต สู่การเติบโตอย่างมั่นคงบนพื้นฐานความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบตลอดกระบวนการดำเนินธุรกิจ
หลังจากที่ซีพีเอฟประกาศและส่งมอบนโยบายด้านการจัดหาอย่างยั่งยืนและแนวปฏิบัติสำหรับคู่ค้าธุรกิจให้กับคู่ค้าธุรกิจหลัก (Critical Supplier) 3 กลุ่ม คือ กลุ่มวัตถุดิบหลักทางการเกษตร, กลุ่มเครื่องปรุง และกลุ่มบรรจุภัณฑ์รวม 150 บริษัท โดยเน้นหลักการดำเนินงาน 4 ด้าน ได้แก่ ด้านผลิตภัณฑ์และบริการ ด้านบุคลากร ด้านกระบวนการผลิต และด้านการดำเนินงาน ทำให้คู่ค้าหลายรายให้ความสนใจและร่วมปฏิบัติตามแนวนโยบายดังกล่าว
นายไพศาล เครือวงศ์วานิชรองกรรมการผู้จัดการบริหาร บริษัท กรุงเทพโปรดิ๊วส จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทเข้าไปสนับสนุนความรู้แก่คู่ค้าทางธุรกิจในการดำเนินนโยบายการจัดหาอย่างยั่งยืนฯ ได้ครบทั้ง 4 ด้าน โดยคำนึงถึงเรื่องความปลอดภัยตลอดห่วงโซ่อาหารเนื่องจากเป็นปัจจัยสำคัญต้นทางก่อนส่งมอบผลิตภัณฑ์สู่ผู้บริโภค, การปฏิบัติต่อบุคลากรอย่างเป็นธรรมและเคารพในสิทธิมนุษยชน, ตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, ยึดหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี และการบริหารความเสี่ยงอย่างเหมาะสม และการปฏิบัติตามข้อบังคับและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อเพิ่มคุณภาพและประสิทธิภาพของแรงงานและการผลิตให้สูงขึ้น ขณะเดียวกันยังเป็นการลดค่าใช้จ่ายของคู่ค้าในการฝึกอบรมพัฒนาบุคลากร
“บริษัทมุ่งส่งเสริมให้ผู้ที่เกี่ยวข้องตลอดห่วงโซ่อุปทานเห็นความสำคัญและทำในสิ่งที่ถูกต้อง หากทุกภาคส่วนให้ความร่วมมือจะสามารถแก้ปัญหาได้ทั้งภาคเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจให้เกิดความยั่งยืนในระยะยาว” นายไพศาล กล่าว
นายไพศาล กล่าวต่อไปว่า โรงงานปลาป่นที่เป็นคู่ค้าของบริษัทปฏิบัติถูกต้องตามกฎหมายอยู่แล้ว ซึ่งนโยบายฯ นี้จะครอบคลุมในเรื่องระเบียบการปฏิบัติให้ความสำคัญกับสวัสดิภาพของการทำงานบนเรือ นอกจากนี้ยังเข้าไปส่งเสริมให้เห็นความสำคัญของการรักษาสิ่งแวดล้อมทางทะเล เพราะหากทรัพยากรเหล่านั้นหมดไปจะไม่สามารถประกอบอาชีพได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเป็นผลประโยชน์กลับคืนไปสู่คู่ค้า
หนึ่งในคู่ค้าที่ร่วมเดินหน้าตามแนวนโยบายด้านการจัดหาอย่างยั่งยืนกับซีพีเอฟ คือ นายสมชาย โชติวัฒนะพันธุ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยเจริญอาหารสัตว์ จำกัด กล่าวว่า ดำเนินธุรกิจโรงงานปลาป่นมากว่า 20 ปี และขายปลาป่นที่เป็นเศษเหลือ (by product) จากการผลิตผลิตภัณฑ์ปลาทูน่าให้กับซีพีเอฟ โดยให้ความสำคัญกับการจับปลาทูน่าอย่างถูกกฎหมาย เพราะปลาเหล่านี้ส่งออกไปขายยังต่างประเทศ จึงดำเนินตามมาตรฐานการส่งออกสากล ดังนั้นวัตถุดิบของเราจึงถูกต้องตามกฎหมายมาเป็นเวลานานแล้ว พร้อมกล่าวถึงนโยบายด้านการจัดหาอย่างยั่งยืนของซีพีเอฟว่า โรงงานได้ดำเนินการตามแนวนโยบายทั้ง 4 ด้านไปแล้ว โดยมีการปรับกลยุทธ์การบริหารงานทางธุรกิจ เพื่อเกิดความยั่งยืน
“เราดูแลคนงานของเราเป็นอย่างดี เนื่องจากแรงงานในปัจจุบันหายาก ทั้งทำการปรับปรุงบ้านพักให้มีห้องพักที่สะดวกสบาย มีสนามฟุตบอลให้ออกกำลังกาย มีศาลาให้พักผ่อน เพราะถ้าคนงานพึงพอใจก็จะอยู่กับเราได้นาน จึงดูแลเขาเป็นพิเศษ ส่วนเรื่องสิ่งแวดล้อมได้ให้ความสำคัญกับการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้คุ้มค่าจึงนำน้ำทิ้งมาบำบัดแล้วนำกลับมาใช้ภายในโรงงาน อาทิ เอามารดน้ำต้นไม้ สวนยางต่าง ๆ บนเนื้อที่กว่า 20 ไร่ เมื่อได้ลงมือทำแล้วจึงรู้ว่านโยบายการจัดหายั่งยืน สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับองค์กร เพื่อให้สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงอยากเชิญชวนผู้ประกอบการทุกคนหันมาให้ความสำคัญและปฏิบัติตามนโยบายฯ เพราะหากทำครบทุกด้านคิดว่าธุรกิจจะสามารถเติบโตไปได้อย่างยั่งยืน เนื่องจากจะช่วยลดความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจ ทั้งยังเป็นมาตรฐานในการทำงานให้กับพนักงานอีกด้วย” นายสมชาย กล่าว
ด้านนายวิษณุ ศิริคุรุรัตน์ผู้จัดการปลาป่น บริษัท เซ้าท์อีสต์เอเชียน แพคเกจจิ้งแอนด์แคนนิ่ง จำกัด กล่าวถึงมุมมองในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนว่า บริษัทมองว่าการทำประมงและการใช้แรงงานที่ถูกต้องเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันแก้ไขปัญหา โดยร่วมกับซีพีเอฟ ทำระบบ IFFO หรือการทำประมงอย่างยั่งยืนเป็นบริษัทแรก ดังนั้นวัตถุดิบปลาป่นที่มาจากเศษเหลือของปลาทูน่าของบริษัทจึงมีเอกสารรับรองว่าได้มาจากการทำประมงอย่างถูกต้องตามกฎหมาย
“บริษัทตั้งใจปฏิบัติตามนโยบายการจัดหาอย่างยั่งยืนของซีพี เพราะเป็นคู่ค้ากันมานาน 30-40 ปี เราจะต้องทำทุกอย่างให้ถูกต้องและอยู่ในระบบ เพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจไปในทิศทางเดียวกัน เกิดความยั่งยืน และจะได้มีทรัพยากรไว้ให้รุ่นลูกรุ่นหลานได้ใช้ ซึ่งในส่วนของผลิตภัณฑ์จะเข้มงวดในการเลือกซื้อปลาที่ถูกต้องเข้ามา อาจจำกัดด้านปริมาณให้ลดลงแต่ผลิตภัณฑ์ที่ได้จะต้องมีคุณภาพและถูกต้องที่สุด นอกจากนี้ด้านบุคลากร เราได้ดูแลด้านสวัสดิการต่างๆ พร้อมปลูกจิตสำนึกให้คนงานรู้จักดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม ต้องร่วมมือกัน และทำให้ถูกต้องตามกฎหมายในทุกๆ ด้าน” นายสุทัศน์ บวรวณิชย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อีสเทิร์นปลาป่น จำกัด กล่าว
อย่างไรก็ตามซีพีเอฟย้ำว่าการขับเคลื่อนแผนงานบริหารความยั่งยืนในห่วงโซ่อุปทานจะเกิดขึ้นได้ ต้องอาศัยความร่วมมือจากผู้ประกอบการโดยต้องหันมาดำเนินนโยบายการจัดหายั่งยืนทั้ง 4 ด้านอย่างจริงจังจะทำให้เกิดการร่วมกันบริหารคุณภาพสินค้าและบริการด้วยรับผิดชอบตลอดห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ผู้บริโภค คู่ค้า และนักลงทุนในปัจจุบันให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก
นอกจากนี้ นโยบายดังกล่าว ยังถือเป็นจุดเชื่อมโยงระหว่างซีพีเอฟและคู่ค้าธุรกิจ เพื่อสร้างการเติบโตอย่างมั่นคงในระยะยาวและการพัฒนาอย่างยั่งยืนร่วมกัน และยังเป็นแนวทางในการบริหารจัดการความเสี่ยง เสริมสร้างโอกาสทางธุรกิจตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน เชื่อมโยงศักยภาพ ขีดความสามารถทางการแข่งขัน ตลอดจนการมีส่วนร่วมดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อมร่วมกันระหว่างบริษัทและคู่ค้าธุรกิจ
กลุ่มผู้ประกอบการอาหารทะเล หวังสหรัฐฯปลดล็อก Tier3 เดือนมิ.ย. อียู ยกเลิกใบเหลือง ต.ค. หลังทุกฝ่ายร่วมแก้ปัญหาเต็มที่
ดร.พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า กลุ่มผู้ประกอบการอาหารทะเลคาดหวังว่าในเดือนนี้สหรัฐฯจะประกาศทบทวนอันดับของสถานการณ์ค้ามนุษย์ หรือ TIP Report โดยหวังว่าสหรัฐฯจะให้ความเป็นธรรมกับประเทศไทยด้วยการปรับเกรดให้ดีขึ้น จากปัจจุบันที่ไทยถูกจัดอยู่ในเกรด 3 หรือ Tier3 ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่มีสถานการณ์ค้ามนุษย์ระดับเลวร้ายที่สุด
"หวังว่ากระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ จะให้ความเป็นธรรมพิจารณาปรับเกรด Tier3 ของไทยให้ขึ้นมาอยู่ในอันดับที่ดีขึ้น แต่หากผลออกมาไทยยังอยู่ Tier3 เหมือนเดิม เราก็คงไม่ไปโวยวายแต่ก็คงจะเดินหน้าแก้ไขเรื่องสถานการณ์ค้ามนุษย์ต่อไป" ดร.พจน์ กล่าว
ทั้งนี้ เนื่องจากการแก้ไขสถานการณ์ค้ามนุษย์เป็นเป้าหมายที่ประเทศไทยต้องการจะทำอยู่แล้ว เพราะไม่อยากเห็นการใช้แรงงานทาสเกิดขึ้นในประเทศไทย ดังนั้นจึงเป็นการทำเพื่อประเทศไทยไม่ใช่เพื่อทำเพราะสหรัฐฯต้องการ แต่หากว่าการจัดอันดับระดับของการค้ามนุษย์โดยสหรัฐฯจะดีขึ้นนั้น ถือว่าเป็นเพียงส่วนประกอบหนึ่งเท่านั้น ซึ่งนับตั้งแต่รัฐบาลคสช.เข้ามาสิ่งไหนที่ควรจะต้องทำก็ได้เร่งทำไปหมดแล้ว และเห็นเป็นรูปธรรมมากกว่าในหลายรัฐบาลที่ผ่านมา
นอกจากนี้ ในเดือน ต.ค. ทางสหภาพยุโรปจะมีการประเมินกฎระเบียบ IUU หรือการต่อต้านการทำประมงที่ผิดกฎหมายขาดการรายงานและไร้การควบคุม โดยบังคับใช้กับสินค้าประมงที่วางจำหน่ายในยุโรปทั้งหมด ซึ่งไทยเป็นหนึ่งในประเทศผู้ส่งออกไปยุโรปโดนใบเหลืองจากกรณีดังกล่าว ทางภาคเอกชนคาดหวังว่าไทยจะไม่ได้ใบแดงแน่นอน ส่วนจะหลุดจากใบเหลืองหรือไม่ ต้องติดตามในเดือน ต.ค.นี้ แต่ทั้งนี้ทุกฝ่ายได้ทำเต็มที่แล้ว
"เราเชื่อว่าเราไม่ได้ใบแดงแน่นอน ส่วนผลจะเป็นอย่างไรต้องมาติดตาม ถ้าหากยุโรปขอเวลาดูต่ออีก 6 เดือนเพื่อให้เราไปปรับปรุงก็ไม่เป็นไร เราก็ปรับปรุงต่อเพราะจากสถิติที่ผ่านมาหลายๆ ประเทศที่โดนใบเหลืองคราวละ 6 เดือน จะโดนกัน 2-3 รอบกว่าที่จะหลุดได้ ไม่ใช่โดนรอบแรก 6 เดือนแล้วหลังจากนั้นจะหลุดได้เลย หากไทยสามารถหลุดจากใบเหลืองได้ในครั้งแรกเลยก็คงจะถือว่าเป็นสถิติใหม่" ดร.พจน์ กล่าว
อนึ่ง อียูและกระทรวงกิจการประมงของอียู ไม่ได้มีกฎระเบียบห้ามนำเข้าสินค้าประมงที่มาจากปัญหาแรงงานผิดกฎหมาย (IUU) เพียงแต่อียูจะตักเตือนให้ประเทศนั้นๆ ไปพัฒนาระบบตรวจสอบสินค้าประมงให้เป็นที่น่าพอใจ โดยอียูจะให้ความช่วยเหลือและคำแนะนำควบคู่ไปด้วย หากพัฒนาการยังไม่เป็นที่น่าพอใจอียูจะให้เวลาประเทศผู้ส่งออกนั้น 6 เดือนในการปรับปรุง ขั้นตอนนี้เปรียบเสมือนการให้ใบเหลือง และหากการพัฒนายังไม่เป็นที่น่าพอใจ อียูจะพิจารณาให้ใบแดง คือห้ามนำเข้าสินค้าประมงจากประเทศผู้ส่งออกนั้นๆ
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย