- Details
- Category: เกษตร
- Published: Wednesday, 17 June 2015 14:13
- Hits: 2016
กระทรวงเกษตรชู'ชัยนาทโมเดล'แผน 3 ระยะ-ช่วยแก้ปัญหาชาวนา
บ้านเมือง : ที่สำนักชลประทานที่ 12 เขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท นายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมคณะลงพื้นที่ตรวจติดตามสถานการณ์น้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยา และติดตามสถานการณ์น้ำในพื้นที่จังหวัดชัยนาท โดยมี นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยนาท และหัวหน้าส่วนราชการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้การต้อนรับและรายงานสถานการณ์น้ำ
นายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า จากสถานการณ์น้ำในปัจจุบันที่มีปริมาณฝนตกน้อยกว่าเกณฑ์ที่ประเมินส่งผลให้มีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนน้อยและต้องระบายน้ำจากเขื่อนมาก เพื่อเสริมปริมาณน้ำฝน เป็นผลให้น้ำในเขื่อนลดปริมาณลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจากมติที่ประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ เห็นชอบให้ระบายน้ำจากเขื่อนทั้ง 4 แห่ง ประกอบไปด้วยเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ในช่วงเดือนมิถุนายนถึงเดือนกรกฎาคม 2558 อัตราเฉลี่ยวันละ 30-35 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อการอุปโภค บริโภค รักษาระบบนิเวศและอื่นๆ รวมถึงพื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปีที่เพาะปลูกแล้ว จำนวน 2.84 ล้านไร่เท่านั้น
ดังนั้น จึงได้ขอความร่วมมือไปยังเกษตรกรในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่ยังไม่เพาะปลูกข้าวนาปีให้ชะลอไปก่อนจนกว่าจะเริ่มมีฝน
นายชวลิต กล่าวด้วยว่า ปีนี้ถือว่าฝนมาช้ามาน้อยและไปเร็ว ประกอบที่น้ำต้นทุนในเขื่อนมีน้อย ทำให้เป็นปัญหาต่อการทำนามาก ซึ่งเห็นด้วยกับแนวทางของจังหวัดชัยนาทที่ผู้ว่าฯ ได้เสนอแผนระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว โดยในส่วนระยะสั้นควรช่วยชาวนาในส่วนที่ยังไม่ได้ลงมือปลูกข้าวไร่ละ 1,000 บาท เนื่องจากฝนมาช้าและใกล้หากถึงเดือนสิงหาคมน้ำมากอาจท่วมทำให้นาเสียหายได้ ส่วนระยะกลางควรส่งเสริมปลูกพืชใช้น้ำน้อยหรือพืชโตเร็ว รวมทั้งการปรับปรุงระบบชลประทานที่มีปัญหา ส่วนการแก้ปัญหาระยะยาวปรับปรุงระบบชลประทานทั้งระบบ และส่งเสริมการปลูกป่าที่ต้นน้ำ โดยมีกฎหมายบังคับให้เจ้าของที่ดินหากมี 20 ไร่หรือ 50 ไร่ ให้มีบ่อน้ำหรือแหล่งน้ำ 1 บ่อ ซึ่งสอดคล้องกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่ควรมีแหล่งน้ำของตัวเอง อย่างไรก็ตาม ขอให้ทุกหน่วยงานบูรณาการร่วมกันและเร่งทำความเข้าใจกับพี่น้องประชาชนให้ทราบถึงปัญหาและมาตรการในการให้ความช่วยเหลือ และเร่งสำรวจข้อเสนอแนะของ 21 จังหวัดภาคกลาง รวมกับ "โมเดลชัยนาท" รวมเป็น 22 จังหวัดภาคกลางเพื่อให้ที่ประชุมกระทรวงฯ ต่อไป
รัฐบาลวอนเกษตรกรชะลอปลูกพืชเกษตร
บ้านเมือง : พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงสถานการณ์ภัยแล้งในประเทศ ซึ่งทำให้ต้องขอความร่วมมือพี่น้องเกษตรกรชะลอการปลูกพืชเกษตรออกไประยะหนึ่งก่อนว่ารัฐบาลได้มอบหมายให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้สื่อสารทำความเข้าใจกับประชาชนในเขตชลประทานและลุ่มน้ำเจ้าพระยา ให้ชะลอการปลูกพืชโดยเฉพาะข้าวออกไปก่อน และให้เตรียมพร้อมรับน้ำเข้าเต็มพื้นที่ได้ภายในเดือนกรกฎาคมนี้ ทั้งนี้เหตุที่ต้องชะลอการเพาะปลูก เนื่องจากระดับน้ำในเขื่อนหลักลดต่ำลงมาก จำเป็นต้องรอรับน้ำฝนให้เพียงพอก่อนปล่อยเข้าสู่ระบบชลประทาน
"บางพื้นที่ในเขตชลประทาน และลุ่มน้ำเจ้าพระยาจะได้รับน้ำเต็มพื้นที่ในช่วงต้นเดือนกรกฎาคม บางพื้นที่เป็นช่วงกลางเดือน ซึ่งตามแผนของกรมชลประทานการปล่อยน้ำจะทำได้ครบถ้วนทุกพื้นที่ภายในเดือนกรกฎาคม จึงอยากขอให้พี่น้องเกษตรกรอดทนรออีกระยะหนึ่ง อย่าเร่งรีบลงมือเพาะปลูก เพราะอาจส่งผลให้พืชผลขาดน้ำ เกิดความเสียหาย รวมทั้งอยากขอร้องพี่น้องเกษตรกรว่า ควรให้ความร่วมมือและอย่าได้กดดันเจ้าหน้าที่ให้เร่งระบายน้ำในขณะที่น้ำในเขื่อนยังไม่มีความพร้อมเต็มที่ เพราะจะทำให้กระทบแผนการระบายน้ำทั้งระบบซึ่งรวมถึงน้ำสำหรับการอุปโภคบริโภคด้วย"
พล.ต.สรรเสริญ กล่าวต่อว่า ในช่วงฤดูแล้งที่ผ่านมารัฐบาลมีมติงดส่งน้ำเพื่อการเพาะปลูกข้าวนาปรังในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำแม่กลอง โดยได้จัดสรรน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้ง 2,900 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งได้รับความร่วมมือจากเกษตรกรส่วนใหญ่เป็นอย่างดี แต่ก็มีเกษตรกรบางส่วนไม่ปฏิบัติตาม ทำให้เมื่อสิ้นฤดูแล้งมีการใช้น้ำไปถึง 4,113 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งมากกว่าที่ตั้งเป้าหมายไว้ถึง 1,213 ล้าน ลบ.ม. ทำให้น้ำต้นทุนสำหรับฤดูกาลเพาะปลูกใหม่ในเขื่อนหลัก คือ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้มาก จึงส่งผลให้ต้องขอความร่วมมือชะลอการเพาะปลูกออกไปดังกล่าว
"อย่างไรก็ตาม รัฐบาลมีโครงการช่วยเหลือเกษตรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งเพื่อการสร้างอาชีพ การจ้างงาน การส่งเสริมการเลี้ยงปศุสัตว์เพื่อชดเชยการขาดรายได้ ในวงเงิน 1,800 ล้านบาท ซึ่งกระทรวงเกษตรดำเนินการอยู่ โดยข้อมูลล่าสุดมีการจ้างงานเกษตรกรไปแล้ว 37,569 ราย จากเป้าหมายประมาณ 44,000 ราย ซึ่งยังสามารถให้การช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรได้อย่างต่อเนื่องต่อไป อย่างไรก็ตามหากเกษตรกรมีปัญหาสามารถขอคำปรึกษาได้ที่ศูนย์เกษตรกรตำบล หรือศูนย์ดำรงธรรมของจังหวัด"