- Details
- Category: เกษตร
- Published: Thursday, 11 June 2015 23:06
- Hits: 1708
ก.เกษตรฯ วอนเกษตรกรชะลอปลูกข้าวนาปีเพื่อจัดสรรน้ำ ชี้จะกระทบค่าเสียโอกาสกว่า 6 หมื่นล้านบาท
สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร แจงบทวิเคราะห์ น้ำเหลือน้อย รัฐประกาศให้เกษตรกรชะลอเพาะปลูกนาปีในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา กระทบค่าเสียโอกาสของการหมุนเวียนเม็ดเงินการปลูกข้าวนาปีกว่า 6 หมื่นล้านบาท แนะเกษตรกรคอยติดตามสถานการณ์และคำแนะนำของภาครัฐอย่างเคร่งครัด
นายเลอศักดิ์ ริ้วตระกูลไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมชลประทาน ได้ประกาศเรื่องขอให้เกษตรกรชะลอการเพาะปลูกข้าวนาปีในพื้นที่จังหวัดลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา และผู้ใช้น้ำทุกภาคส่วนใช้น้ำอย่างประหยัด ตั้งแต่ 9 มิถุนายน 2558 อันเนื่องมาจากสถานการณ์น้ำที่ไม่เพียงพอต่อการเพาะปลูกข้าวนาปี และนาปรัง การอุปโภค-บริโภค และกิจกรรมอื่นๆ รวมทั้งปริมาณน้ำฝนที่ทิ้งช่วงออกไป โดยแนะนำให้ปลูกพืชฤดูแล้งเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ดังกล่าวตั้งแต่ช่วงปลายปี 2557 ไปแล้วนั้น
ในการนี้ สศก. ได้วิเคราะห์ถึงค่าเสียโอกาสของการหมุนเวียนเม็ดเงินการปลูกข้าวนาปี 2558 ที่กำลังดำเนินการเพาะปลูกในขณะนี้ของเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยา ซึ่งมีพื้นที่ในการเพาะปลูกประมาณ 13 ล้านไร่ ซึ่งต้องเลื่อนหรือชะลอการเพาะปลูกออกไป โดย สศก. ได้ประเมินภายใต้กรอบของต้นทุนการผลิตข้าวนาปี ได้แก่ ค่าแรงงาน ค่าพันธุ์ ค่าปุ๋ย ค่ายาปราบศัตรูพืช ค่าน้ำมันเชื้อเพลิงและหล่อลื่น อื่นๆ เช่น ค่าซ่อมแซมอุปกรณ์การเกษตร ค่าวัสดุอุปกรณ์ และวัสดุสิ้นเปลือง ค่าเสียโอกาสเงินลงทุน เป็นต้น รวมเป็นเม็ดเงินทั้งสิ้น 60,171.93 ล้านบาท
จากเม็ดเงินหมุนเวียนดังกล่าว สามารถพิจารณาแบ่งได้เป็น 3 ระยะ คือ ระยะแรก เสียโอกาสการหมุนเวียนเม็ดเงินร้อยละ 42.51 (จำนวน 25,576.67 ล้านบาท) อันเนื่องมาจากการลงทุนด้านแรงงานที่สูงในช่วงแรกของการผลิต ค่าพันธุ์ ระยะที่สอง เสียโอกาสการหมุนเวียนเม็ดเงินร้อยละ 33.61 (จำนวน 20,221.47 ล้านบาท) เป็นช่วงการดูแลรักษาใส่ปุ๋ย และระยะที่สาม เสียโอกาสการหมุนเวียนเม็ดเงิน ร้อยละ 23.89 (จำนวน 14,373.79 ล้านบาท) เป็นช่วงของการเก็บเกี่ยว การขนส่ง
รายการ ค่าเสียโอกาสการหมุนเวียนเม็ดเงิน
(ล้านบาท)
1. ค่าแรงงาน 27,037.79
2. ค่าพันธุ์ 6,937.71
3. ค่าปุ๋ย 9,089.60
4. ค่ายาปราบศัตรูพืชและวัชพืช 2,153.71
5. ค่าน้ำมันเชื้อเพลิงและหล่อลื่น 2,792.01
6. อื่น ๆ 12,161.11
7. รวมทั้งสิ้น 60,171.93
อย่างไรก็ตาม ในช่วงระยะเวลาดังกล่าว รัฐบาลโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้สนับสนุนให้เกษตรกรหันมาดำเนินกิจกรรมด้านอื่นๆ เช่น การเรียนรู้นวัตกรรมและองค์ความรู้ทางการเกษตรใหม่ๆ การลดต้นทุนการผลิต สนับสนุนโครงการสร้างรายได้และพัฒนาการเกษตรแก่ชุมชนเพื่อเพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้ง และแนวทางการลดค่าใช้จ่าย รวมทั้งการวางแผนการใช้น้ำที่มีอยู่อย่างจำกัด และคอยติดตามสถานการณ์และคำแนะนำของภาครัฐเช่น กรมชลประทาน เนื่องจากการรักษาระดับน้ำในคลองชลประทาน จะช่วยสร้างความมั่นคงของโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ตลิ่ง คลอง และรักษาระบบนิเวศน์ ตลอดจนแผนการผลิตน้ำประปาของการประปานครหลวง
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย