- Details
- Category: เกษตร
- Published: Monday, 08 June 2015 11:32
- Hits: 2349
ชาวนาลุ้นระทึก..วิกฤตภัยแล้ง อีกโจทย์ใหญ่วัดฝีมือรบ.บิ๊กตู่
มติชนออนไลน์ : เข้าสู่เดือนพฤษภาคม ตามปกติถือว่าเข้าสู่ฤดูกาลเพาะปลูกข้าวนาปีอย่างเป็นทางการ แต่ในปีการผลิต 2558/2559 นี้ เกษตรกรไทยอาจต้องเจอวิกฤตตั้งแต่แรกเริ่มของการผลิต หลังจากกรมอุตุนิยมวิทยาและกรมชลประทานคาดการณ์ว่า ฝนปีนี้อาจจะแล้งกว่าปกติ และเขื่อนต่างๆ ทั่วประเทศอาจไม่มีน้ำเพียงพอต่อการส่งเสริมการเพาะปลูก สืบเนื่องจากสภาพอากาศของประเทศ นั่นเอง
จากกระแสข่าวน้ำแล้งยังร้อนแรงต่อเนื่อง หลังจากกรมอุตุนิยมวิทยาประกาศเข้าฤดูฝนตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคมที่ผ่านมา จนขณะนี้กำลังเข้าสู่สัปดาห์ที่ 2 ของเดือนมิถุนายน แต่ฝนยังตกไม่สม่ำเสมอ ประกอบกับโหรชื่อดังนายโสรัจจะ นวลอยู่ และเคยเป็นข้าราชการประจำกรมชลประทาน ได้ทำนายว่าจะเกิดฝนแล้งและจะมีน้ำน้อยในเขื่อนต่างๆ จนทำให้นายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อยู่เฉยไม่ได้ ต้องประกอบพิธีขอฝนครั้งแรกของกระทรวงเกษตรฯ กับพระพิรุณทรงนาคที่ถือเป็นเทพแห่งสายฝน ที่ประดิษฐานอยู่หน้ากระทรวงเกษตรฯ
- กรมชลฯเล็งงดส่งน้ำเพาะปลูกนาปี
คำทำนายดูท่าจะมีมูลแห่งความเป็นจริง เพราะนายสุเทพ น้อยไพโรจน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน ระบุว่า เดิมกรมอุตุนิยมวิทยาและกรมชลประทานได้ประเมินว่า ฤดูฝนจะเริ่มในสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนพฤษภาคม แต่จนขณะนี้ย่างสู่สัปดาห์ที่ 2 ของเดือนมิถุนายน ยังไม่มีฝนมาเติมน้ำในเขื่อนได้อย่างเพียงพอ ทำให้ในเขื่อนหลักมีน้ำใช้การเหลือประมาณ 1,500 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) สำหรับทุกกิจกรรม จึงอาจต้องประกาศงดส่งน้ำเพื่อการเพาะปลูกนาปี 2558/2559 เพื่อให้มีน้ำเหลือพอรักษาระบบนิเวศและการอุปโภคบริโภค
ปกติในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยาจะมีการทำนาประมาณ 9.2 ล้านไร่ ตลอดฤดูกาลผลิต ซึ่งใช้น้ำจากเขื่อนต่างๆ เดือนละประมาณ 1,500 ล้าน ลบ.ม. นอกจากนี้กรมชลประทานต้องส่งน้ำสำหรับอุปโภคบริโภคเดือนละ 150 ล้าน ลบ.ม. และรักษาระบบนิเวศ (ผลักดันน้ำเค็ม) เดือนละ 180 ล้าน ลบ.ม. ดังนั้นโดยรวมต้องใช้น้ำในทุกกิจกรรมปริมาณ 1,800-1,900 ล้าน ลบ.ม. หากนำน้ำใช้การที่เหลืออยู่มาส่งเสริมการทำนาเต็มพื้นที่และส่งน้ำตามปกติกับกิจกรรมอื่นๆ อีกด้วยจะทำให้เหลือน้ำใช้เพียง 25 วันเท่านั้น
"ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคมที่ผ่านมา กรมชลประทานเริ่มปล่อยน้ำทำการเกษตรไปแล้ว โดยมีเกษตรกรเริ่มเพาะปลูกข้าวนาปีประมาณ 2 ล้านไร่ ทั้งในที่ลุ่มและที่ดอน แต่หากประเมินแล้วพบว่าฝนยังคงตกไม่ต่อเนื่อง อาจต้องประกาศชะลอการส่งน้ำทำนาปี ส่วนพื้นที่ 2 ล้านไร่ที่ทำการเพาะปลูกแล้ว กรมชลประทานจะส่งน้ำให้พอประคองตัวจนกว่าจะถึงฤดูฝน" นายสุเทพกล่าว
มาตรการงดส่งน้ำทำนาปีจึงถือเป็นเรื่องน่าใจหายสำหรับเกษตรกร แม้กระทั่งนายวิเชียร พวงลำเจียก นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย ระบุว่า ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การทำนาปี ที่กรมชลประทานจะงดส่งน้ำทำการเพาะปลูกตั้งแต่เดือนมิถุนายน เพราะเพิ่งเริ่มการเพาะปลูกได้เพียง 1 เดือนเท่านั้น และชาวนาส่วนใหญ่อาจมีรายได้ไม่เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพหากไม่สามารถเพาะปลูกข้าวเพื่อนำไปขายได้
- นักวิชาการ-เอกชนหวั่นซ้ำเติมรายได้ชาวนา
นายกัมปนาท เพ็ญสุภา รองคณบดีฝ่ายวิจัย คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แสดงความคิดเห็นว่า แม้สถานการณ์ภัยแล้งอาจจะส่งผลให้เกษตรกรปลูกข้าวได้น้อยลง ทำให้ผลผลิตข้าวหายจากตลาดในประเทศจำนวนมาก ตามหลักเศรษฐศาสตร์อาจช่วยดันราคาข้าวสูงขึ้น แต่ขณะเดียวกันรัฐบาลยังมีสต๊อกข้าวมากดดันราคาถึง 17 ล้านตัน รวมทั้งภาคเอกชน เช่น โรงสีต่างๆ ยังมีโกดังเก็บข้าวอีกเป็นจำนวนมาก ดังนั้นจากสถานการณ์ภัยแล้งประกอบกับผลผลิตข้าวที่ยังมีปริมาณมากอยู่นั้น ราคาข้าวในประเทศยังมีแนวโน้มต่ำลงต่อเนื่องที่ 6,500-7,000 บาทต่อตัน จากที่เคยได้จากโครงการจำนำข้าวถึง 15,000 บาทต่อตัน
เช่นเดียวกับภาคเอกชนที่แสดงความเป็นห่วง โดยเฉพาะคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและหอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสมาคมธนาคารไทย เช่น นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและหอการค้าไทย ที่มั่นใจว่าภาวะเศรษฐกิจไทยผ่านจุดต่ำสุดและเริ่มฟื้นตัว แต่ที่น่าเป็นห่วงคือรายได้ของกลุ่มเกษตรกรที่มีจำนวนมากในประเทศ โดยเฉพาะผู้ปลูกข้าว ยางพารา ดังนั้นรัฐบาลต้องเร่งแก้ปัญหา ยกระดับราคาสินค้าเกษตร
ขณะที่นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธาน ส.อ.ท. ระบุถึงปัญหาราคาสินค้าเกษตรที่ตกต่ำทั้งเรื่องของข้าว ยางพารา และอ้อยมาโดยตลอดว่า จะมีผลต่อภาวะเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ รัฐบาลจำเป็นต้องหามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศให้มากและชัดเจนขึ้น "การพึ่งพาการส่งออกให้กระตุ้นเศรษฐกิจเป็นหลักคงลำบากเพราะเศรษฐกิจโลกซบเซา แนวทางกระตุ้นเศรษฐกิจที่ทำได้ ภาคเอกชนมองว่าต้องเน้นเศรษฐกิจในประเทศคือเร่งรัดการเบิกจ่ายรัฐบาลและเรื่องการดูแลราคาสินค้าเกษตร ที่รัฐบาลต้องมีนโยบายให้ชัดเจนเหมือนกับนโยบายประกันรายได้หรือการจำนำสินค้าเกษตร เข้ามาดูแลเพื่อฟื้นกำลังซื้อของเกษตรกร เพราะเชื่อว่ารัฐบาลยังมีเงินเหลืออีกจำนวนมากในการเข้ามาดูแลด้านนี้"
- สศช.ชี้เศรษฐกิจโตแต่ด้านบน
ในรายงานภาวการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจ ไตรมาส 1/2558 ของประเทศ จัดทำโดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ระบุว่าแม้อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย (จีดีพี) ในไตรมาส 1/2558 จะโตขึ้นร้อยละ 3 ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีของรัฐบาล แต่การเจริญเติบโตล้วนเป็นการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่มาจากปัจจัยด้านบนทั้งสิ้น เช่น การลงทุนภาครัฐและภาคเอกชน การผลิตภาคอุตสาหกรรม และภาคการท่องเที่ยว
แต่เศรษฐกิจในระดับกลุ่มคนรากหญ้าหรือภาคเกษตรกรยังคงน่าเป็นห่วง โดยไตรมาสแรก ปี 2558 ผลผลิตภาคเกษตร ติดลบ 4.8% เช่น ข้าว ยางพารา และปาล์มน้ำมัน ส่วนราคาสินค้าเกษตรไตรมาสแรก ลดลง 7.2% ต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ห้า ทั้งราคาข้าวเปลือก อ้อย ยาง ปาล์มน้ำมัน กุ้ง ซึ่งการลดลงของผลผลิตและราคาสินค้าเกษตรส่งผลให้รายได้ของเกษตรกรลดลง 12.6% และยังแสดงให้เห็นว่ามาตรการของรัฐบาลในการช่วยเหลือภาคการเกษตรยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เช่น มาตรการจ่ายเงิน 1,000 บาทต่อไร่ให้เกษตรกร ที่ชาวนาบ่นว่าไม่เพียงต่อการซื้อปัจจัยการผลิต หรือมาตรการจ้างชาวนาขุดลอกคลองด้วยค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน ซึ่งมีชาวนามาสมัครเพียง 3 หมื่นกว่าคนจากที่เป้าหมายร่วมโครงการ 1 แสนกว่าคน และมาตรการลดต้นทุนการผลิตหรือปุ๋ย ที่ผู้ประกอบการยังไม่ให้ความร่วมมือลดราคา เป็นต้น
- "หม่อมอุ๋ย"หวังดึงราคาข้าวเพิ่มตันละ1พันบาท
จากปัญหาภาคการเกษตรที่แก้ไม่ตก ทำให้ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายเศรษฐกิจ เตรียมแผนแก้ปัญหาราคาข้าวตกต่ำหวังดึงรายได้ให้เกษตรกรพอใจในระยะยาว ด้วยแนวคิดนำข้าวที่เริ่มเน่าเสียและอยู่ในสต๊อกรัฐบาลจำนวน 12 กว่าล้านตัน แปรรูปเป็นอย่างอื่นที่ให้ผลตอบแทนดีกว่านำข้าวเน่าไปขาย เบื้องต้นคาดว่าจะแปรรูปข้าวเสื่อมคุณภาพเป็นแอลกอฮอล์ เพื่อไม่กดดันราคาข้าวในตลาดและปลดล็อกราคาข้าวที่ตกต่ำในประเทศ โดยเฉพาะการกำจัดความรู้สึกของผู้ซื้อที่มองว่าข้าวในสต๊อกรัฐบาลยังมีอยู่มากถึง 17 ล้านตัน และหวังกดดันราคาข้าวให้ต่ำลง
"ยอมรับว่าจุดอ่อนด้านเศรษฐกิจของไทยคือภาคเกษตร โดยเฉพาะข้าวในขณะนี้ที่มีราคา 7,500-8,000 บาทต่อตัน ซึ่งราคายังต่ำอยู่ ดังนั้น โจทย์ของรัฐบาลต้องทำอย่างไรให้ราคาขึ้น ซึ่งถ้าราคาขึ้นได้กว่า 1,000 บาทต่อตัน ชาวนาน่าจะสบายใจ" ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าว
อย่างไรก็ตาม จากมาตรการดังกล่าวยังถือเป็นมาตรการด้านกลไกการตลาดของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ต้องจับตาดูว่าจะส่งผลกับราคาสินค้าได้มากเพียงใด แต่ที่สำคัญคือ ในช่วงเวลานี้รัฐบาลควรจะต้องหามาตรการใหม่ๆ เพื่อเยียวยาและสร้างรายได้ให้ชาวนาในระยะสั้นในช่วงสถานการณ์ภัยแล้งรุมเร้าภาคการเกษตร
มิฉะนั้นเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศอาจมีผลกระทบ ล้มเป็นโดมิโน่อย่างที่คาดไม่ถึงก็เป็นได้