- Details
- Category: เกษตร
- Published: Thursday, 04 June 2015 22:36
- Hits: 1673
กนย.เร่งช่วยเหลือชาวสวนยาง เดินหน้าปรับหลักเกณฑ์โครงการ-รุกบริหารจัดการในพื้นที่
สศก. แจงข้อสั่งการนายกรัฐมนตรีต่อที่ประชุม กนย. เผย ให้ขยายระยะเวลาในโครงการสนับสนุนเงินทุนหมุนเวียนฯ วงเงินสินเชื่อหนึ่งหมื่นล้านบาท และโครงการสนับสนุนสินเชื่อเกษตรกรชาวสวนยางรายย่อยเพื่อประกอบอาชีพเสริมออกไป พร้อมยกเลิกโครงการสนับสนุนสินเชื่อผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ยาง โดยให้กระทรวงเกษตรฯ ใช้เงินที่เหลือจากโครงการสร้างมูลภัณฑ์ฯ รับซื้อยางจากเกษตรกรเท่านั้น พร้อมชงรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ พิจารณาจัดทำเป็นโครงการใหม่
นายเลอศักดิ์ ริ้วตระกูลไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) ว่า กนย. ได้มีการประชุมครั้งที่ 2/2558 เมื่อกลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดำเนินการขับเคลื่อนด้านยางพารา ภายใต้กรอบนโยบายเดิม โดยการปรับปรุงหลักเกณฑ์ของโครงการที่ได้ดำเนินการแล้วในปี 2557/2558 ให้สอดคล้องกับข้อเสนอของภาคเกษตรกร ภาคเอกชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อขับเคลื่อนให้มีประสิทธิภาพในปี 2558/2559 ดังนี้
โครงการสนับสนุนเงินทุนหมุนเวียนแก่สถาบันเกษตรกรเพื่อใช้ในการรวบรวมยาง (วงเงินสินเชื่อ 10,000 ล้านบาท) ให้ขยายระยะเวลาการจ่ายเงินกู้ของ ธ.ก.ส. จากสิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2558 เป็นสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2558 นอกจากนี้ ให้ขยายระยะเวลาโครงการที่สถาบันเกษตรกรต้องส่งคืนเงินกู้ออกไปอีก 3 เดือน จากเดิมภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2558 เป็นภายในวันที่ 31 มีนาคม 2559 และโครงการสนับสนุนสินเชื่อสถาบันเกษตรกรแปรรูปยางพารา (วงเงินสินเชื่อ 5,000 ล้านบาท) ให้กรมส่งเสริมสหกรณ์ ร่วมกับ ธ.ก.ส. เร่งรัดกระบวนการและขั้นตอนการดำเนินงานให้ได้ข้อยุติของแต่ละปัญหาโดยเร็ว
ด้านโครงการสนับสนุนสินเชื่อเกษตรกรชาวสวนยางรายย่อยเพื่อประกอบอาชีพเสริม มอบให้กรมส่งเสริมการเกษตร และ ธ.ก.ส. ขยายระยะเวลาการเข้าร่วมโครงการ โดยเปิดรับสมัครเกษตรกรให้เต็มตามวงเงินสินเชื่อ 10,000 ล้านบาท หากวงเงินกู้ในส่วนนี้หมด จะมีการจัดสรรให้เพิ่มเติมในภายหลัง ส่วนโครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบการยางที่สิ้นสุดไปแล้วเมื่อเมษายน 2558นั้น ให้รับข้อเสนอของกรรมการผู้แทนสมาคมน้ำยางข้นไทย ที่จะขอให้ขยายระยะเวลาโครงการนี้ออกไปอีก 1 ปี ไปพิจารณา
อย่างไรก็ตาม ได้ยกเลิกโครงการสนับสนุนสินเชื่อผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ยาง (วงเงินสินเชื่อ 15,000 ล้านบาท) เนื่องจากไม่สามารถดำเนินการต่อได้ เพราะคุณสมบัติของผู้กู้ไม่ผ่านเงื่อนไขตามที่ธนาคารออมสินกำหนด โดยรองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายเศรษฐกิจ จะพิจารณาในรายละเอียด เพื่อจัดทำเป็นโครงการใหม่ และให้ยกเลิกระบบเดิมในโครงการสร้างมูลภัณฑ์กันชนรักษาเสถียรภาพราคายาง โดยดำเนินการตามบัญชาของนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธาน กนย. ที่ได้สั่งการให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ใช้เงินที่เหลืออยู่จากโครงการดังกล่าวรับซื้อยางเฉพาะจากเกษตรกรเท่านั้น ทั้งนี้ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.)จะเป็นผู้ตรวจสอบ โดยไม่ใช้ระบบเดิม และให้รับข้อเสนอของกรรมการตัวแทนเกษตรกรมาศึกษาในการข้อชดเชยส่วนต่างราคาแทนการรับซื้อผลผลิตของเกษตรกรมาเก็บสต็อก
เลขาธิการ สศก.กล่าวต่อไปว่า สำหรับการบริหารจัดการยางพาราปี 2558 มีมาตรการด้านอุปทาน โดยการลดปริมาณพื้นที่ปลูกยางพารา ซึ่งมอบหมายให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเข้าไปควบคุมพื้นที่ที่ถูกบุกรุกทำสวนยางให้เป็นไปตามกฎหมายรวม 600,000 ไร่ และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โค่นยางเก่าปีละ 4 แสนตัน รวม 1 ล้านไร่ เพื่อลดปริมาณอุปทานยางในปลายปี 2558/59 รวม 1.5 - 2 แสนตัน ในปลายปี 2558/2559
นอกจากนี้ มอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดำเนินการขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกยางตามมาตรา 6 ของ พ.ร.บ.ควบคุมยาง พ.ศ. 2542ให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน โดยให้ขอความร่วมมือจากกระทรวงกลาโหมร่วมดำเนินการแจ้งขึ้นทะเบียนเกษตรกรชาวสวนยางและคนกรีดยาง รวมทั้งให้สภาเกษตรกรแห่งชาติเก็บรวบรวมข้อมูลเกษตรกรชาวสวนยางและคนงานกรีดยาง พร้อมนี้ให้ตรวจสอบปรับปรุงคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการส่งต่อการดำเนินการใหม่การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) รวมทั้งมอบหมายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมส่งเสริมการเกษตร นำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบในเรื่องการขอปรับปรุงหลักเกณฑ์ แนวทางการใช้สิทธิ์ของเกษตรกรชาวสวนยางตามโครงการชดเชยรายได้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง
ทั้งนี้ ให้มีการใช้ประโยชน์จากข้อมูล สถิติ มาใช้ในการวิเคราะห์สถานการณ์ แนวโน้ม เพื่อกำหนดเป้าหมาย และวางแผนการดำเนินงาน โดยให้มีความชัดเจนมากขึ้นในแต่ละช่วงระยะเวลา รวมทั้งควรกำหนดเป้าหมายการส่งออกยางพาราในปี 2559 และระบุการเพิ่มการส่งออกเป็นตัวเลขอย่างชัดเจน โดยเชื่อมโยงถึงการหาตลาดใหม่เพื่อเพิ่มปริมาณการส่งออกด้วย ตลอดจนเรื่องการใช้ยางภายในประเทศ ควรมีการกำหนดเป้าหมายผลสัมฤทธิ์ของการส่งออก การเพิ่มปริมาณการผลิตยางพาราในโรงงานไว้ล่วงหน้า ทั้งแบบรายเดือน/รายไตรมาส/รายปี โดยร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและเอกชน รวมถึงสหกรณ์ ซึ่งจะได้มีมาตรการทั้งระยะสั้นและระยะยาว โดยมาตรการต่างๆ จะเป็นมาตรการเชิงรุก ที่ไม่ได้ดำเนินการตามสถานการณ์โลกเพียงปัจจัยเดียว ส่วนการนำยางในสต๊อก (โครงการพัฒนาศักยภาพสถาบันเกษตรกรเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง)ไปผลิตผลิตภัณฑ์ยาง ให้มีการซื้อยางพาราในราคาที่เหมาะสม และรัฐเข้าไปชดเชยในส่วนของการขาย โดยร่วมมือกันทุกกระทรวงอย่างเป็นระบบ
สุดท้าย คือการแก้ปัญหาผลผลิตในพื้นที่ ให้มีการแก้ปัญหาเป็นระบบในแต่ละพื้นที่ โดยการลดพื้นที่ปลูกยาง ซึ่งในปีนี้มีการกำหนดเป้าหมาย 1 ล้านไร่ และในระยะต่อไปต้องกำหนดเป้าหมายให้ชัดเจน ทั้งพื้นที่ในเขต นอกเขต โดยการลดพื้นที่ปลูกยางในที่ที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ของกลุ่มที่เป็นเกษตรกร จะต้องมีการวางแผนเพื่อให้ความช่วยเหลือ เช่น จัดหาอาชีพและจัดหาที่ดินเพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์ได้ การสนับสนุนการปลูกพืชเศรษฐกิจ และการปลูกพืชแซมในสวนยาง เช่น พืชผักสวนครัวเพื่อการบริโภคในครัวเรือน รวมทั้งการเลี้ยงสัตว์โดยยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ส่วนด้านการลดต้นทุนการผลิต ต้องกำหนดเป้าหมายในด้านต่างๆ เช่น การใช้วัสดุอุปกรณ์ แรงงาน เป็นต้น ทั้งนี้ เกษตรกรปลูกยางอยู่ในพื้นที่ที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ ประมาณ 2 แสนราย ได้มอบหมายให้สภาเกษตรกรไปสำรวจ และรับขึ้นทะเบียนให้ชัดเจน เพื่อนำมาพิจารณาการดำเนินการแก้ปัญหาอีกครั้ง โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะเข้าไปควบคุมพื้นที่ที่ถูกบุกรุกทำสวนยางให้เป็นไปตามกฎหมายรวม 600,000 ไร่ เพื่อลดปริมาณอุปทานยางในปลายปี 2558/59 ต่อไป
สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร