- Details
- Category: เกษตร
- Published: Saturday, 23 May 2015 11:17
- Hits: 2532
Thailand Rice Convention 2015 นายกฯ เร่งขับเคลื่อน 7 ยุทธศาสตร์พัฒนาข้าวไทย
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานในพิธีเปิดการประชุม 'Thailand Rice Convention 2015” และกล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ 'ยุทธศาสตร์ด้านการตลาดข้าวและนโยบายการข้าวของไทย' โดยย้ำว่าไทยจะต้องเป็นผู้นำการค้าข้าวในตลาดโลก ผ่านการพัฒนากลไกตลาดให้มีประสิทธิภาพ พร้อมเร่งขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ข้าว 7 ด้าน
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานในพิธีเปิดการประชุม 'Thailand Rice Convention 2015' และกล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ ยุทธศาสตร์ด้านการตลาดข้าวและนโยบายการข้าวของไทย ณ อิมแพคเมืองทองธานี
การประชุม 'Thailand Rice Convention 2015' เป็นการประชุมสัมมนาทางวิชาการ และบรรยายโดยเชิญวิทยากรซึ่งเป็นผู้บริหารระดับสูงจากรัฐบาลและประเทศผู้ผลิตและส่งออกข้าว ซึ่งในปีนี้ เน้นการนำเสนอพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่เกี่ยวข้องในเรื่องข้าว นอกจากนี้ ในงานยังเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการค้าข้าวได้พบปะเจรจาการค้า ซึ่งรวมถึงการค้าข้าวในรูปแบบรัฐต่อรัฐ โดยมีผู้เข้าร่วมจากภาครัฐและเอกชน ผู้ผลิตและผู้ส่งออก ผู้นำเข้าและผู้ประกอบการ ประมาณ 700 คนจาก 40 ประเทศทั่วโลก โดยภายหลังการกล่าวปาฐกถา นายกรัฐมนตรีได้เยี่ยมชมนิทรรศการที่จัดขึ้นโดยกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งประกอบไปด้วยการแสดงข้าวหอมมะลิดีเด่น พบปะและทักทายกับชาวนาต้นแบบ ตลอดจน รวมทำอาหารไทยกับเชฟชุมพล แจ้งไพร ในเมนู “โคราชวากิว ปลาร้าบองไรซ์เบอร์เกอร์
สำหรับ คำกล่าวเปิดงานและปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “ยุทธศาสตร์ด้านการตลาดข้าวและนโยบายการข้าวของไทย โดยพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สรุปดังนี้
นายกรัฐมนตรี มีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง ในการเป็นประธานเปิดการประชุม “Thailand Rice Convention 2015” และได้รับเกียรติให้กล่าวถึงความสำคัญของข้าวไทย ตลอดจนยุทธศาสตร์และนโยบายการค้าข้าวของประเทศไทย และที่สำคัญที่สุดคือการได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการถ่ายทอดผลงานอันทรงคุณค่าเพื่อเทอดพระเกียรติ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในโอกาสครบรอบพระชนมพรรษา 5 รอบ ในปี 2558 อันเป็นปีมหามงคล จากการที่ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อปวงชนชาวไทย ในเรื่องการพัฒนาข้าวและคุณภาพชีวิตของเกษตรกรไทย ตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
การจัดงาน Thailand Rice Convention 2015 ในครั้งนี้ นับเป็นโอกาสอันดีสำหรับเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ผู้ประกอบอุตสาหกรรมการผลิตและแปรรูป ผู้ประกอบการค้าข้าว นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญในเรื่องข้าว และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในแวดวงการค้าข้าวทั่วโลก ที่จะได้รับทราบถึงพระมหากรุณาธิคุณของสถาบันพระมหากษัตริย์ที่มีต่อพสกนิกรไทย ได้รับทราบถึงนวัตกรรม ความก้าวหน้า และศักยภาพของข้าวไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในความภาคภูมิใจของคนไทย ที่ข้าวไทยมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับของทั่วโลก และเป็นเวทีที่จะนำไปสู่การขยายความร่วมมือทางธุรกิจและการสร้างแนวคิดมุมมองใหม่ๆ ต่อวงการค้าข้าวของไทยและของโลก
ข้าว มีความจำเป็นต่อวิถีชีวิตของคนไทย รวมทั้งเป็นหนึ่งในสินค้าส่งออกที่สำคัญของประเทศ ซึ่งรัฐบาลมีนโยบายและยุทธศาสตร์ที่ชัดเจนในการขับเคลื่อนการพัฒนาข้าวไทยให้มีความก้าวหน้าอย่างยั่งยืน โดยได้ทำการระดมความคิดเห็นและบูรณาการความร่วมมือทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานภาครัฐ เกษตรกร และภาคเอกชนผู้ประกอบการค้าข้าว โดยนายกรัฐมนตรีอยากให้มุมมองในเชิงยุทธศาสตร์ของการพัฒนาผลิตภัณฑ์ข้าว โดยจะขอเน้นใน 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1) การค้าข้าวในตลาดโลกและบทบาทของประเทศไทย 2) แนวโน้มและโครงสร้างอุปสงค์และอุปทานข้าวไทย และ 3) แผนยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนาข้าวไทย
1. การค้าข้าวในตลาดโลกและบทบาทของประเทศไทย
ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา ตลาดข้าวได้ขยายอย่างต่อเนื่องไปสู่ทุกภูมิภาคของโลก ไม่ได้จำกัดอยู่แค่เพียงประเทศในแถบภูมิภาคเอเชียเหมือนในอดีต ปัจจุบัน ประชากรกว่า 3,000 ล้านคนทั่วทุกมุมโลกบริโภคข้าวเป็นอาหารหลัก ทำให้หลายประเทศหันมาสนใจการพัฒนาพันธุ์ การเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูกและการค้าข้าวจนเกิดความร่วมมือระหว่างกันในรูปแบบองค์กรระหว่างประเทศ เพื่อทำหน้าที่ศึกษา วิจัย พัฒนา และวางแผนบริหารจัดการข้าว ให้มีศักยภาพและมีความหลากหลาย เพื่อสร้างทางเลือกใหม่แก่ผู้บริโภคและสร้างความมั่นคงทางด้านอาหาร ข้าวจึงมีบทบาทสำคัญทางเศรษฐกิจ ซึ่งทุกท่านในที่นี้ต่างก็ให้ความสนใจ และมีจุดมุ่งหมายเดียวกันคือการร่วมกันวางแนวทาง การพัฒนาระบบการผลิตและการค้าข้าวให้มีเสถียรภาพและยั่งยืนเป็นประโยชน์โดยรวม ต่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องตลอดไป
เศรษฐกิจของประเทศไทยขับเคลื่อนโดยภาคการค้าระหว่างประเทศที่มีสัดส่วนมูลค่ากว่าร้อยละ 70 ของผลผลิตมวลรวมทั้งประเทศ (GDP) การส่งออกข้าวซึ่งเป็นผลผลิตหลักของประเทศไทยจึงเป็นส่วนหนึ่งของรายได้ประชาชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปี 2014 ที่ผ่านมา ประเทศไทยสามารถส่งออกข้าวได้มากที่สุดในโลก ปริมาณ 10.97 ล้านตัน เป็นมูลค่าสูงถึง 5,439 ล้านเหรียญสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าในปัจจุบัน กลุ่มประเทศผู้ผลิตและส่งออกข้าวรวมทั้งประเทศไทย จะต้องเผชิญกับความผันผวนและภาวะตลาดที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ทั้งปัญหาอุปสรรคที่ส่งผลกระทบต่อผลผลิตอันเกิดจากภัยธรรมชาติรูปแบบต่างๆ และสถานการณ์การแข่งขันทางการค้าที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น แต่ประเทศไทยยังคงมุ่งมั่นที่จะผลิตและส่งออกข้าวคุณภาพเยี่ยมให้แก่ผู้บริโภคทั่วโลกซึ่งในปี 2015 นี้ ไทยได้ตั้งเป้าหมายการส่งออกข้าวให้ได้ในปริมาณและมูลค่าใกล้เคียงที่ผ่านมา โดยมีตลาดส่งออกที่สำคัญอยู่ทุกภูมิภาคของโลก อาทิ สาธารณรัฐประชาชนจีน สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป แอฟริกาใต้ และกลุ่มประเทศในแถบโอเชียเนีย
2. แนวโน้มและโครงสร้างอุปสงค์และอุปทานข้าวไทย
ทั้งนี้ หากเรามองไปข้างหน้า สำหรับประเทศไทย “ข้าว” มิได้เป็นเพียงอาหารหลักที่ขาดไม่ได้ของคนไทยและสินค้าส่งออกสำคัญ แต่สำหรับสังคมไทยข้าวยังเป็นบ่อเกิดแห่งวัฒนธรรมและประเพณีอันหลากหลาย ความอุดมสมบูรณ์ของดินในพื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาในภาคกลาง พื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และอีกหลายพื้นที่ในภาคเหนือและภาคใต้ของไทย เป็นความได้เปรียบสำคัญเชิงภูมิศาสตร์ เกื้อหนุนให้ประเทศไทยสามารถปลูกข้าวที่มีคุณภาพดีได้หลากหลายประเภท เป็นสินค้าส่งออกที่หล่อเลี้ยงครอบครัวเกษตรกรไทยมากกว่า 4 ล้านครัวเรือน รวมไปถึงภาคแรงงาน อุตสาหกรรม โรงสีแปรสภาพ โลจิสติกส์การขนส่ง และธุรกิจการค้าที่เกี่ยวข้องกับห่วงโซ่อุปทานการผลิต แปรรูป และส่งออกข้าว
อย่างไรก็ตาม ในขณะที่ความได้เปรียบเชิงภูมิศาสตร์และความผูกพันที่คนไทยมีต่อข้าวมาช้านานทำให้ไทยเป็นผู้นำในการผลิตข้าว ในความเป็นจริงมีปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ ทั้งภายในและภายนอกประเทศ เป็นตัวแปรสำคัญที่กำหนดอุปสงค์และอุปทาน ซึ่งส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางด้านปริมาณ ราคา และภาวะตลาดของข้าวไทย
ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่ออุปสงค์ข้าวในระยะยาว ได้แก่ แนวโน้มความต้องการบริโภคข้าวในอนาคตที่เพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรในหลายภูมิภาค ประกอบกับความจำเป็นในการสร้างความมั่นคงทางด้านอาหารของโลก อาทิ ความต้องการบริโภคข้าวของโลก ถูกประมาณการว่ามีปริมาณ 483 ล้านตันในปี 2557/2558 เพิ่มขึ้นต่อเนื่องจาก 435 ล้านตัน ในปี 2552/2553 หรือร้อยละ 11 (ข้อมูลจากกระทรวงเกษตรสหรัฐฯ) กระตุ้นให้เกิดการผลิตและส่งออกข้าวจากหลายประเทศเข้าสู่ตลาดโลกมากขึ้น อาทิ ผลผลิตข้าวโลกคาดการณ์ว่าจะมีประมาณ 474 ล้านตัน สำหรับปีการผลิต 2557/2558 เพิ่มขึ้นจาก 440 ล้านตันในปี 2552/2553 หรือร้อยละ 7.7 (ข้อมูลจากกระทรวงเกษตรสหรัฐฯ) ขณะเดียวกัน พฤติกรรม รสนิยม และกระแสการบริโภคสมัยใหม่ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน โดยเฉพาะกระแสความตื่นตัวในเรื่องการดูแลสุขภาพและความต้องการผลิตภัณฑ์ที่ ปลอดสารพิษ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ก็เป็นแรงผลักดันที่ก่อให้เกิดตลาดของกลุ่มผู้บริโภครูปแบบใหม่ๆ ที่ต้องการข้าวที่มีคุณลักษณะพิเศษ และมีคุณค่าทางโภชนาการสูง และพร้อมที่จะจ่ายส่วนเพิ่มให้กับคุณสมบัติเฉพาะบางอย่างที่มีอยู่ในสินค้าเหล่านี้ ตลาดของกลุ่มผู้บริโภคในลักษณะนี้ จึงเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยสนับสนุนยกระดับผลผลิต ในท้องถิ่นที่มีความโดดเด่น ให้เป็นที่รู้จักในกลุ่มผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อสูงและต้องการสินค้าคุณภาพ
สำหรับ ปัจจัยหลักอีกประการหนึ่งที่มักส่งผลกระทบต่ออุปสงค์ในห้วงเวลานั้นๆ คือ ภาวะเศรษฐกิจของประเทศผู้นำเข้าและสภาพเศรษฐกิจโลกโดยรวมที่ผันแปรไป โดยเฉพาะกำลังซื้อของผู้บริโภค เช่น ในขณะนี้ที่ภาวะเศรษฐกิจโลกโดยรวมยังเปราะบางและไม่ฟื้นตัวเต็มที่ ส่งผลกระทบต่อการจัดซื้อสินค้าเกษตรและราคาสินค้า นอกจากนั้น ปริมาณและราคาของพืชอาหารด้านคาร์โบไฮเดรตอื่นๆ ที่สามารถใช้บริโภคทดแทนข้าวได้ อาทิ ข้าวโพด ข้าวสาลี ก็มีผลกระทบต่อปริมาณความต้องการของตลาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่ข้าวมีราคาแพง ผู้บริโภคบางส่วนหันไปบริโภคพืชเกษตรอื่นๆ ที่มีราคาถูกกว่า
ในส่วนของปัจจัยสำคัญที่มีผลต่ออุปทานข้าว ได้แก่ สภาพการณ์ด้านการผลิต โดยเฉพาะจำนวนพื้นที่เพาะปลูก ความเหมาะสมและคุณภาพของดิน ความพร้อมทางด้านชลประทานที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ ความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยี การวิจัยและพัฒนาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและคุณภาพข้าว ตลอดจนฤดูกาลและสภาพดินฟ้าอากาศที่มีความไม่แน่นอน และมีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศทั่วทุกภูมิภาคของโลก (Climate Change) และภาวะโลกร้อน (Global Warming) ที่ก่อให้เกิดอุทกภัย ภัยแล้ง และภัยธรรมชาติอื่นๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการเพาะปลูก ส่งผลกระทบต่อปริมาณและคุณภาพของผลผลิตข้าว
นอกจากนั้น ระดับราคาของผลผลิตทางการเกษตรแต่ละชนิดที่แตกต่างกันในแต่ละห้วงเวลา ยังเป็นแรงจูงใจให้เกษตรกรหยุดการปลูกพืชที่อยู่ในภาวะราคาตกต่ำ โดยหันไปปลูกพืชที่มีราคาดีกว่าแทน ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าวสามารถส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรผันผวนและขาดเสถียรภาพได้
3. แผนยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนาข้าวไทย
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ตลาดข้าวโลกนั้นมีแนวโน้มที่จะเจริญเติบโตต่อเนื่อง เพราะความต้องการบริโภคผลิตภัณฑ์ข้าวจะเพิ่มขึ้นจากความต้องการด้านอาหารที่เพิ่มตามประชากรโลก และจากความต้องการผลิตภัณฑ์ข้าวที่หลากหลายขึ้นตามพฤติกรรมของผู้บริโภคในภูมิภาคต่างๆ แต่ในขณะเดียวกัน การผลิตและการค้าขายข้าวกำลังเผชิญกับความท้าทายหลายประการทั้งที่มีอยู่เดิมและที่กำลังเกิดขึ้นใหม่ ที่สะท้อนในความไม่แน่นอนของตลาดค้าข้าวทั้งระดับโลกและภายในประเทศ และที่สำคัญยิ่ง แนวโน้มการแข่งขันที่สูงขึ้นในปัจจุบัน จากการที่ผู้ผลิตทั้งรายเดิมและรายใหม่ที่พยายามพัฒนาผลิตภัณฑ์ข้าวของตนให้ตรงกับความต้องการของตลาดทั้งด้านคุณภาพและปริมาณ
สภาพตลาดที่เปลี่ยนแปลงไปนี้ส่งผลกระทบต่ออุปสงค์และอุปทานของข้าว สำหรับประเทศไทยในฐานะที่ไทยเป็นผู้ผลิตรายต้นของโลก รัฐบาลเล็งเห็นถึงความจำเป็นในการปรับโครงสร้างการผลิต กระบวนการบริหารจัดการข้าว และสินค้าเกษตรสำคัญทุกชนิด ให้สอดรับกับสภาพตลาดและแนวโน้มในอนาคตเพื่อให้ภาคเกษตรและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องเป็นกำลังหลักประการหนึ่งในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน โดยสำหรับผลิตภัณฑ์ข้าว คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) เป็นผู้ขับเคลื่อนหลักในการดำเนินการ ซึ่ง นบข. ได้พัฒนายุทธศาสตร์ด้านการตลาดข้าวและนโยบายการค้าข้าว โดยกำหนดเป็นเป้าหมายพื้นฐานให้ “ไทยเป็นผู้นำการค้าข้าวในตลาดโลก ผ่านการพัฒนากลไกตลาดให้มีประสิทธิภาพโดยแสวงหาความร่วมมือกับอาเซียน เพื่อสร้างความสมดุลให้กับทุกภาคส่วนทั้งภาคการผลิตและภาคการค้า เป็นแหล่งผลิตข้าวของโลกที่มั่นคง ส่งผลให้เกษตรกรมีความเป็นอยู่ที่ดี องค์กรชาวนามีความเข้มแข็ง รวมทั้งมีระบบการค้าที่เป็นธรรมไม่บิดเบือนตลาด”
การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ข้าวนั้นจะดำเนินการใน 7 ด้านหลัก คือ
1) แผนพัฒนาข้าวที่ยั่งยืนและมีเสถียรภาพ
2) สร้างความเป็นธรรมในระบบการค้าข้าว
3) ส่งเสริมและผลักดันการใช้มาตรฐานการผลิตและการค้าให้ได้มาตรฐานสากล
4) พัฒนาศักยภาพระบบการค้าข้าว
5) สร้างค่านิยมการบริโภคข้าว
6) สร้างนวัตกรรม
7) เพิ่มประสิทธิภาพการจัดการด้านโลจิสติกส์
1. แผนการพัฒนาข้าวที่ยั่งยืนและมีเสถียรภาพ คือ การปรับโครงสร้างการบริหารจัดการสินค้าข้าว รวมทั้งพืชเกษตรอื่นๆ ทั้งด้านการผลิตและการค้า ให้มีความสมดุลระหว่างอุปทานและอุปสงค์ สอดคล้องกับสถานการณ์และภาวะการแข่งขันในปัจจุบัน เพื่อสร้างเสถียรภาพให้แก่ภาคการผลิตและการค้าข้าวไทยอย่างยั่งยืน โดยยุทธศาสตร์ที่รัฐบาลได้วางไว้ คือ
ระยะสั้น : รัฐบาลจะเร่งรัดปรับโครงสร้างการบริหารจัดการผลผลิตข้าวให้อยู่ในพื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับพันธุ์ข้าวแต่ละชนิด ลดพื้นที่การปลูกข้าวนาปรังเพื่อควบคุมปริมาณข้าวให้เหมาะสมสอดคล้องกับความต้องการของตลาด ควบคู่ไปกับการให้ความช่วยเหลือด้านการวางแผนการผลิตและการวิจัยพัฒนา เพื่อเพิ่มศักยภาพในการผลิตและคุณภาพข้าว
ระยะยาว : รัฐบาลจะให้การสนับสนุนภาคการผลิตในรูปแบบที่ไม่ทำลายกลไกตลาด โดยเน้นการวิจัยและพัฒนาพันธุ์ข้าวที่ดี มีคุณภาพ ต้นทุนต่ำ และให้ผลผลิตต่อไร่สูง สนับสนุนการใช้ปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยชีวภาพ เพื่อรักษาคุณภาพและมาตรฐานด้านสุขอนามัย โดยมีเป้าหมายให้ผลผลิตข้าวต่อไร่ของไทย ในปี 2021 เพิ่มขึ้นจากเดิมอย่างน้อย ร้อยละ 25 ด้วยต้นทุนการผลิตข้าวต่อตันที่ลดลงอย่างน้อย ร้อยละ 20 รวมทั้ง ส่งเสริมการผลิตข้าวคุณภาพที่มีความโดดเด่นซึ่งกระจายอยู่ตามท้องถิ่นต่างๆ สำหรับตลาดเฉพาะ เช่น ข้าวอินทรีย์ ข้าวกล้องงอก ข้าวไรซ์เบอรร์รี่ ข้าวสังข์หยด ข้าวลืมผัว เพื่อเพิ่มมูลค่าและ ความหลากหลายของข้าวไทยในตลาด ภายใต้การผลิตแบบแปลงรวมเชิงอุตสาหกรรม ด้วยระบบประณีตตามวิถีธรรมชาติ โดยนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาช่วยลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพ รวมทั้ง ผลักดันการยกระดับห่วงโซ่มูลค่าข้าว (Value Chain) ตลอดกระบวนการตั้งแต่การผลิตจนถึงการแปรรูปสู่การค้า เพื่อให้เกษตรกรและผู้ที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนมีรายได้และชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
2. การสร้างความเป็นธรรมในระบบการค้าข้าว โดยรัฐบาลจะดูแลการค้าข้าวให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรมตามกลไกตลาด โดยร่วมมือกับเครือข่ายองค์กรภาคเอกชน เกษตรกร และภาคประชาชน กำกับดูแลแก้ไขปัญหาความไม่เป็นธรรมตลอดห่วงโซ่อุปทานการค้าข้าว เน้นความโปร่งใสตรวจสอบได้ ตั้งแต่กระบวนการเก็บรักษา การบริหารจัดการสต็อกข้าว การจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ จัดระบบโรงสีและตลาดกลางให้ครอบคลุมพื้นที่ปลูกข้าวที่สำคัญ รวมทั้งพัฒนาให้เกษตรกรชาวนามีความรู้เรื่องมาตรฐานการชั่ง การวัดความชื้นและสิ่งเจือปน และปราศจากการทุจริตจากภาคส่วนต่างๆ
3. การส่งเสริมและผลักดันการใช้มาตรฐานการผลิตและการค้าให้ได้มาตรฐานสากล โดยรัฐบาลจะจัดให้มีระบบการควบคุมตรวจสอบคุณภาพข้าวอย่างเข้มงวดทุกขั้นตอน ผลักดันให้ผู้ประกอบการโรงสีปรับปรุงการสีแปรสภาพให้ได้ตามมาตรฐาน GMP (Good Manufacturing Practice) จัดให้มีศูนย์ปฏิบัติการตรวจสอบและรับรองคุณภาพมาตรฐานเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว และปรับปรุงกฎกติกาการส่งออกข้าวป้องกันการปลอมปน เพื่อให้ข้าวไทยทุกเม็ดเป็นข้าวที่ได้รับการยอมรับในคุณภาพและมาตรฐานในระดับสากล
4. การพัฒนาศักยภาพระบบการค้าข้าวและการตลาด ประเทศไทยตั้งเป้าหมายที่จะเป็นศูนย์กลางการค้าและการส่งออกข้าวที่สามารถตอบสนองความต้องการของทุกระดับคุณภาพและทุกระดับราคาในตลาดโลก โดยให้ภาคเอกชนเป็นผู้ขับเคลื่อนหลักและภาครัฐทำหน้าที่อำนวยความสะดวกและกำกับดูแล เพื่อรักษาความเป็นธรรมทางการค้าและการแข่งขันอย่างเสรีตามกลไกตลาด ตลอดจนร่วมมือกับผู้ประกอบการรายใหญ่ในการช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมให้สามารถเข้าสู่ตลาดต่างประเทศได้
ในส่วนของการตลาดต่างประเทศ รัฐบาลไทยตั้งเป้าหมายที่ไทยและอาเซียนจะเป็นผู้นำทางด้านคุณภาพและมาตรฐานข้าว รวมทั้งผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่ทำจากข้าวของโลก เพื่อให้ข้าวไทยคงความเป็นหนึ่งในเรื่องคุณภาพที่ผู้บริโภคทั่วโลกพึงพอใจ โดยจะส่งเสริมตลาดสำหรับข้าวคุณภาพสูง (Premium) และข้าวชนิดพิเศษสำหรับตลาดเฉพาะ (Niche Market) อาทิ ข้าวอินทรีย์ และข้าวประจำท้องถิ่นที่ได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ตามภูมิศาสตร์ (Geographical Identification : GI) เช่น ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้จากที่ราบสูงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อตอบสนองความตื่นตัวในเรื่องสุขภาพของผู้บริโภคกลุ่มนี้ ซึ่งเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อสูง ยึดถือในตัวผลิตภัณฑ์ที่ตนเองมีความเชื่อมั่นสูง (Brand royalty) และพร้อมที่จะจ่ายเงินแพงขึ้นเพื่อคุณสมบัติเฉพาะของผลิตภัณฑ์
5. การสร้างค่านิยมการบริโภคข้าว โดยสอดแทรกวัฒนธรรมข้าวไทยเข้าไปในทุกๆ กิจกรรม ทั้งการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ งานแสดงสินค้าระดับนานาชาติ เพื่อนำเสนอคุณประโยชน์และความมหัศจรรย์ของข้าวไทยอันหลากหลายที่เป็นได้ทั้งอาหารและ โภชนาบำบัด ให้ผู้บริโภคทั่วโลกได้รู้จักและตระหนักถึงคุณค่าของพืชอาหารชนิดนี้
6. การส่งเสริมด้านการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมและการแปรรูปข้าว โดยสนับสนุนให้มีการแปรรูปข้าวเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีความหลากหลาย สามารถเป็นได้ทั้งอาหารเพื่อการบริโภคและสินค้าสำหรับอุปโภค เพื่อเพิ่มมูลค่าและสร้างความหลากหลายให้แก่ผู้บริโภค
7. การเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนในระบบการบริหารจัดการโลจิสติกส์ตลอดห่วงโซ่อุปทาน เพื่อให้ข้าวไทยสามารถแข่งขันทางด้านราคาได้ โดยพัฒนาปรับปรุงการขนส่งทั้งระบบให้มีความสะดวกและมีต้นทุนที่ต่ำลง ร่วมกับภาคเอกชนในการจัดตั้งคลังสินค้า ไซโล และ ห้องเย็น เพื่อเป็นจุดกระจายสินค้า และใช้ประโยชน์จากประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในการพัฒนาเส้นทางโลจิสติกส์ เพื่อกระจายสินค้าไปยังทุกภูมิภาคทั่วโลก
ทั้งนี้ ในการที่จะขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ดังกล่าว รัฐบาลมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน และภาคเกษตรกร โดยภาคเอกชนเป็นผู้ขับเคลื่อนการค้า ภายใต้การสนับสนุนและอำนวยความสะดวกจากภาครัฐ เพื่อรักษาระบบการค้าข้าวให้เป็นไปตามกลไกตลาด ส่งเสริม ความร่วมมือและการซื้อขายข้าวระหว่างภาคเอกชนไทยกับผู้ค้ารายใหญ่จากประเทศ ผู้นำเข้า และผลักดันการบุกเบิกตลาดใหม่เพื่อเพิ่มส่วนแบ่งข้าวในตลาดโลก ควบคู่กับการแสวงหาความร่วมมือกับกลุ่มประเทศผู้ผลิตข้าวโดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคอาเซียน ใช้จุดเด่นของแต่ละประเทศให้เป็นประโยชน์ส่งเสริมเกื้อกูลซึ่งกันและกัน โดยในส่วนของประเทศไทย รัฐบาลมีนโยบายชัดเจนที่จะพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ (Special Economic Zone) เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าข้าวและสินค้าเกษตรอื่นๆ ทั้งของไทยและจากประเทศเพื่อนบ้าน โดยประเทศไทยจะเป็นศูนย์กลางในการบริหารจัดการเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและกระจายสินค้าเกษตรของอาเซียนไปสู่ตลาดโลก
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีต้องการให้พี่น้องเกษตรกรมั่นใจว่า รัฐบาลได้ให้ความสำคัญแก่เกษตรกรและดูแลในการสร้างความเข้มแข็งให้ภาคเกษตกร ผ่านการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่
ข้าว ผูกพันกับวิถีชีวิตไทยแต่บรรพบุรุษ และมีความสำคัญต่อชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทย รวมถึงเป็นผลิตผลที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในอนาคต ความพยายามของรัฐบาลไทยคงไม่ใช่เพียงแค่การคงให้ไทยเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับ 1 ในด้านปริมาณและมูลค่า แต่ยุทธศาสตร์และนโยบายที่ได้กล่าวมาแล้วนั้น เป็นความพยายามที่จะมุ่งเน้นการพัฒนาข้าวไทยทั้งระบบอย่างมั่นคงยั่งยืน ตั้งแต่ระดับฐานราก โดยสร้างความเข้มแข็งให้พี่น้องเกษตรกรชาวนาไทยมีความอยู่ดีกินดี และสามารถพึ่งพาตนเองได้ในระบบการค้าการตลาดที่เป็นธรรมมีประสิทธิภาพจนถึงระดับสากล
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย