- Details
- Category: เกษตร
- Published: Saturday, 25 April 2015 17:21
- Hits: 2247
'บิ๊กตู่'เร่ง! จดทะเบียนประมง ยํ้าใช้ม.44 เพื่อ ทำงานสะดวก! เอกชน-รวมตัว ให้ข้อมูลนายก แก้ใบเหลืองอียู
'บิ๊กตู่'แจงใช้ม.44 แก้ปัญหาประมง-ค้ามนุษย์ เพื่ออำนวยความสะดวก เจ้าหน้าที่หลายหน่วยทำงานได้รวดเร็วมีเอกภาพมากขึ้น สั่งลุยเต็มที่แต่ไม่มั่นใจจะล้างใบเหลือง อียูได้หรือไม่ ผู้ประกอบการประมงเตรียมเข้าพบนายกฯร่วมมือกันทำงาน ระบุรัฐบาลมาถูกทางแต่มาได้แค่ 50 % พร้อมให้ข้อมูลข้อเท็จจริงเพื่อจะได้แก้ตรงจุดถูกเป้า แนะทุ่มพีอาร์ประเทศ เสียเงินจ้างล็อบบี้ยิสต์เท่าไหร่ก็ต้องเสีย เพราะทางการไทยยังอ่อนด้อยเรื่องประชาสัมพันธ์ ทำงานหนักแค่ไหน แก้ปัญหาอย่างไรรู้กันเองภายในประเทศแต่ต่างประเทศโดยเฉพาะสหรัฐกับอียูไม่รู้
บิ๊กตู่จับมือผู้นำอินโดฯ แก้ประมง
เมื่อวันที่ 23 เม.ย. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวช่วงหนึ่งของการหารือทวิภาคีกับนายโจโก วิโดโด ประธานา ธิบดีอินโดนีเซีย ระหว่างการประชุมสุดยอดเอเชีย-แอฟริกา ที่กรุงจาการ์ตา สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ว่า ผู้นำของทั้ง 2 ประเทศ เห็นพ้องจัดตั้งคณะทำงาน ด้านการประมง อินโดนีเซียมอบหมายให้รมต.กิจการทะเลและประมงอินโดนีเซีย ขณะคณะทำงานฝ่ายไทยจะประกอบด้วยพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และรมว.กลาโหม และพล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รมว.ต่างประเทศ เพื่อประสานความร่วมมือการแก้ไขปัญหาและวางแนวทางความร่วมมือในระยะยาวต่อกัน ซึ่งรัฐบาลให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายในน่านน้ำต่างประเทศ โดยถือเป็นวาระแห่งชาติ รวมทั้งการแก้ปัญหาภาคประมงไทยในลักษณะองค์รวม ทั้งประเด็นแรงงานผิดกฎหมาย การต่อต้านการทำประมงแบบไอยูยู และการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล ครม.เห็นชอบให้ลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการประมงระหว่างไทยและอินโดนีเซีย ซึ่งจะช่วยแก้ไขปัญหาด้านประมง และหวังว่าจะมีการลงนามกันโดยเร็ว
จากนั้นเวลา 13.50 น. ที่ท่าอากาศยานทหาร 2 กองบิน 6 ดอนเมือง กทม. (บน.6) พล.อ.ประยุทธ์ให้สัมภาษณ์ภายหลังเดินทางกลับจากอินโดนีเซียว่า กรณีอียูให้ใบเหลืองไทยเรื่องประมง ไม่เกินที่คาดการณ์ คิดว่าไม่น่าผ่าน เพราะมีหลายข้อที่เราปฏิบัติบกพร่องมานาน ระหว่างที่ตนเข้ามาก็เข้ามาดูเรื่องพวกนี้แล้ว ทั้งเรื่องค้ามนุษย์ลดระดับเทียร์ หลายอย่างให้ดำเนิการมาเป็นลำดับ เร่งรัดให้ทุกหน่วยงานทำ ต่อมาก็เป็นเรื่องไอยูยู ที่ให้ใบเหลืองเรา ซึ่งอียูแจ้งมานานแล้วแต่มาตร ฐานการทำประมงของเราไม่เป็นรูปธรรม ไม่ถูกต้องตามกฎหมายมากนัก ที่ถูกก็มีแต่ที่ผิดก็เยอะ
ไม่รับประกันอียูจะล้างใบเหลือง
"สิ่งเหล่านี้ผมไม่สามารถจะรับประกันได้ว่าเขาจะลด หรือเพิ่มให้เราได้เมื่อไหร่ ผมรับปากไม่ได้แต่สิ่งสำคัญในเรื่องนี้เราได้กำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติ ฉะนั้นจำเป็นต้องรื้อทั้งระบบมาใหม่ ซึ่งจะเกี่ยวข้องตั้งแต่เรื่องกฎหมาย เรื่องพ.ร.บ. ซึ่งวันนี้ก็มีแล้วคือพ.ร.บ.ประมง แต่เพิ่งออกมายังอยู่ในสนช. ต่อไปต้องเอากฎหมายประมงมาดูด้วยว่ามีอะไรที่เกี่ยวข้องกัน ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของผู้ประกอบการ เจ้าหน้าที่ การตรวจตราและความร่วมมือของต่างประเทศต้องรื้อใหม่ทั้งระบบ และผมบอกแล้วว่าการแก้ปัญหาโดยใช้มาตรา 44 เพื่ออำนวยความสะดวกให้ เจ้าหน้าที่เข้าไปทำงานได้ และสั่งการกฎ หมายที่ยังออกมาไม่ทันได้"นายกฯ กล่าว
นายกฯ กล่าวต่อว่า วันนี้พยายามให้เรือทุกลำมาขึ้นทะเบียน ซึ่งเรือประมงมีทั้งขนาดใหญ่ขนาดเล็ก โดยขนาดใหญ่จะแบ่งเป็นสองประเภท ประเภทแรกคือไปแล้วกลับใช้เวลาไม่นาน อีกประเภทจะเหมือนกองเรือย่อมๆ มีเรือห้องเย็นตาม อาจจะกลับมาประเทศและอาจไปขึ้นท่าขายที่อื่นได้ จะตระเวนไปเรื่อยไม่ได้กลับเลยก็ได้ในเวลานานๆ ซึ่งจากการสอบถามไปยังกระทรวงที่เกี่ยวข้องได้รับแจ้งว่า เรือประเภทนี้เป็นปัญหา เพราะเจ้าหน้าที่ไม่สามารถทำงานได้บ้าง กฎหมายไม่พอบ้าง การบูรณาการข้ามหน่วยงานทำได้ไม่มาก ตนก็ใช้คำสั่งคสช.ช่วงประกาศกฎอัยการศึกให้รีบดำเนินการเพื่อให้การทำงานเชื่อมโยงได้ โดยตั้งศูนย์จดทะเบียนเรือประมง วันนี้จดไปได้ 2-3 หมื่นกว่าลำ ที่เหลือยังจดไม่ได้ เจ้าหน้าที่ก็ไม่รู้ว่าเรือเหล่านี้ไปอยู่ที่ไหน เป็นเรือที่ออกไปไกลๆ ฉะนั้นมีโอกาสทำผิดกฎหมายทั้งสิ้น
"อยากฝากพวกเราว่าการแก้ไขปัญหาอย่าใจร้อนมากนัก เพราะเราลงโทษใครไม่ได้นอกจากลงโทษตัวเราเอง ว่าทำไมปล่อยให้เรื่องเหล่านี้เป็นปัญหามานาน ไม่ได้รับการแก้ไขอย่างมีประสิทธิภาพ รัฐบาลนี้จะเร่งรัดดำเนินการเต็มที่ สำหรับคำว่ามาตรา 44 มาแก้ประมง ไม่ใช่เอามาตรา 44 ไปแก้ไอยูยู หรือแก้ค้ามนุษย์ มันแก้ไม่ได้ เพียงแต่แก้ว่าให้เจ้าหน้าที่ทหารและกระทรวงทำงานร่วมกันได้ ไม่เช่นนั้นทหารจะเข้ามาช่วยไม่ได้ ข้าราชการก็มีกำลังพลไม่เพียงพอ ในเมื่อกฎหมายอะไรก็ยังไม่มี ต้องเขียนคำสั่งลงไปเพื่อให้ทำงานได้ ให้จดทะเบียนภายใน 30-60 วัน ทั้งหมดจะออกเป็นพ.ร.บ.ต่อไป เหลือเวลาอีก 6 เดือนต้องช่วยกัน ภาคเอกชนต้องร่วมมือกับรัฐ ซึ่งผมสั่งการไปยังรองนายกฯฝ่ายความมั่นคง รมว.เกษตรฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตั้งแต่เมื่อวานแล้ว ซึ่งทุกคนทราบดีว่าคือปัญหาแต่ไม่ใช่ไม่มีฝีมือเขาทำเต็มที่ อย่างว่าวันนี้โลกมันกว้างขึ้น แต่ละประเทศจำเป็นต้องมีมาตรการปกป้องผลประโยชน์ของทรัพยากรในพื้นที่ตนเอง" นายกฯกล่าว
ผู้นำอินโดฯรับดูแลตังเกไทย
นายกฯ กล่าวอีกว่า วันนี้น่ายินดีได้เห็นข่าวในหนังสือพิมพ์ของอินโดนีเซีย กล่าวถึงการแก้ปัญหาของรัฐบาลไทยในเรื่องประมง ชื่นชมความจริงใจของไทยในการแก้ปัญหาประมงทั้งระบบ ซึ่งจากการพบกับประธานา ธิบดีอินโดนีเซีย ท่านเข้าใจทั้งหมดหลังจากที่ตนอธิบาย เพราะปัญหาส่วนหนึ่งคือเรือประมงไทยถูกควบคุมที่อินโดนีเซียจำนวนมากรวมถึงลูกเรือด้วย ตนก็สืบต่อพบว่ามีความซับซ้อนเยอะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัททำประมงที่ต่างประเทศพบว่ามีปัญหาเยอะไม่ทำตามระเบียบกฎหมาย แต่เราก็รับกันว่าจะดูแลโดยให้ความร่วมมือกัน และในฐานะที่เราทำผิดก็จะขอการสนับสนุนจากประธานา ธิบดีอินโดนีเซียให้ช่วยดูแลเรือประมงไทย รวมถึงลูกเรือที่ถูกกักบริเวณอยู่บนเกาะจำนวนมาก ประธานาธิบดีอินโดนีเซียรับปากดูแลให้ และตนจะให้รมว.ต่างประเทศประสานกับอินโดนีเซียต่อไป ถือว่าวันนี้เราพูดจากันดีมากคิดว่าจะร่วมมือกันให้ได้โดยเร็ว และตนยังบอกว่าเราต้องร่วมมือแก้ไข เพราะมีผลกระทบกับรายได้ประมงอาเซียน เพราะเราเป็นส่วนหนึ่งของอาเซียน ดังนั้น แต่ละประเทศต้องร่วมมือกัน
นายกฯ กล่าวว่า รู้สึกสบายใจที่ได้คุยกับประธานาธิบดีอินโดนีเซียและท่านก็เข้าใจ อินโดนีเซียจะปิดน่านน้ำ 60 วันเพื่อเคลียร์ โดยระหว่างนี้จะคุยกับไทยว่าแก้ไขปัญหากันอย่างไร นั่นคือสิ่งที่ตนทำ เมื่อสามารถเคลียร์ได้อะไรถูกอะไรผิดก็ต้องมาว่ากันทางกฎหมาย โดยอินโดนีเซียจะส่งคนไทยที่ถูกควบคุมกลับมา ไทยก็ต้องดำเนินการลงโทษเข้าสู่กระบวนการ และต้องจ่ายค่าปรับอีก สิ่งนี้คือการทำธุรกิจที่ไม่ตรง ฉะนั้นขอฝากไปยังธุรกิจอื่นๆ ด้วย
นายกฯ กล่าวอีกว่า ทุกปัญหาที่ทำทุกวันนี้ไม่ใช่ปัญหาง่ายๆ กับสถานการณ์และเศรษฐกิจเช่นนี้ ต้องแก้เป็นระบบหากกดดันมากๆ ก็จะเป็นปัญหากับผู้ปฏิบัติและความเข้าใจของประชาชน ดังนั้น ต้องดูด้วยว่าปัญหาไอยูยูมีกี่ข้อและเกี่ยวกับหน่วยงานไหนบ้าง มีกฎหมายอะไรบ้างและรัฐบาลได้สั่งอะไรไปแล้วบ้างแล้วค่อยเสนอแนะ ไม่ใช่มาบอกว่าทำไม่สำเร็จ มันสำเร็จไม่ได้อยู่แล้ว ตนไม่เคยรับปากว่าจะทำสำเร็จภายใน 4-5 วัน หรือภายใน 6 เดือน แต่เรามีเวลาอีก 6 เดือนที่จะทำให้เสร็จโดยเร็ว จะทำอย่างไรให้เรือจดทะเบียนได้หมดพร้อมติดจีพีเอส ซึ่งที่ผ่านมาละเลยมานาน
ใช้ม.44 อำนวยความสะดวก
ผู้สื่อข่าวถามว่าจะใช้คำสั่งมาตรา 44 เพื่ออุดช่องโหว่ข้อกฎหมายใช่หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า จำไว้ว่ามาตรา 44 เป็นเครื่องมืออำนวยความสะดวก ไม่ใช่เอาไปแก้มะนาวแพง เรื่องเศรษฐกิจที่แย่ หรือเรื่องประมง มันแก้ตรงนั้นไม่ได้ แต่เอาไปทำให้เกิดการบูรณาการ บังคับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำงานร่วมกันให้ได้ เนื่องจากมีการใช้กฎหมายคนละฉบับ ซึ่งกฎหมายไทยเป็นเสียแบบนี้ และทุกกระทรวงทำงานมาโดยลักษณะแยกกันมาโดยตลอด เราให้มารวมกันนี่คือมาตรา 44
เมื่อถามว่า เป็นการให้อำนาจในส่วนเจ้าพนักงานใช่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ไม่ใช่ ทั้งหมดนั้นออกมาเป็นคำสั่งโดยคำสั่งของตนคือกฎหมาย ในระหว่างที่ตนสั่งไปนั้นจะต้องไปทำให้ถูกต้อง ครบถ้วนกระบวนความ เพราะถ้าเข้าสู่สภาก็คือข้อความเดียวกัน ตนเห็นว่าเรื่องไหนมีความจำเป็นจะออกเป็นคำสั่งมาให้ก่อน เพราะกระบวนการออกกฎหมายมีความล่าช้า
เมื่อถามถึงที่ประชุมคณะกรรมการแก้ปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ที่มีพล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และรมว.กห.เป็นประธาน ระบุภายหลังการประชุมว่าจะออกพ.ร.ก.เพื่อแก้ปัญหา พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า บางเรื่องที่ใช้พ.ร.ก.ได้ก็ใช้ บางเรื่องก็ต้องใช้มาตรา 44 เช่น ขั้นตอนการออก พ.ร.ก.ใช้เวลานาน จะแก้ปัญหาได้ทันหรือไม่ ฉะนั้น ถ้าสามารถแยกได้ และรอพ.ร.ก. ได้ก็ไปทำ แม้กระทั่งเรื่องทุจริต ตนอ่านหนังสือพิมพ์เห็นลงข่าวนายกฯ ใช้มาตรา 44 ลุยลงโทษ ตนไปใช้ลุยลงโทษไม่ได้ แต่มาตรา 44 คือให้อำนาจเจ้าหน้าที่ตรวจค้น จับกุม สืบสวน ในกรณีที่เป็นความผิด ซึ่งที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่ไม่ค่อยกล้าทำ หรือทำแล้วหยุดชะงัก ไปเจอใครอะไรก็ไม่รู้ แต่วันนี้ตนสั่งให้ทำให้เรียบร้อย และนำเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมให้ได้
"พ.ร.ก.แก้ไขไอยูยูนั้นไม่มี แต่พ.ร.ก.ที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหานี้ พอฟังได้ ปัญหาไอยูยูมีกฎหมายอะไรบ้างที่เกี่ยวข้อง เกี่ยวกับผู้ประกอบการ เครื่องมือทำประมง จีพีเอส วีเอ็มเอส ตรงนี้ต้องมีพ.ร.ก.ทุกเรื่อง วันนี้พ.ร.ก.ยังออกไม่ได้เลยต้องใช้มาตรา 44 สั่งการตรงนี้ก่อน ซึ่งเมื่อผมไป คำสั่งก็เลิกหมดแล้ว" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
แม้ทำได้แต่ไม่ใช้ม.44 ลงโทษ
นายกฯ กล่าวต่อว่า การใช้มาตรา 44 ใช้ให้เกิดความรวดเร็ว บูรณาการและประสานงานกรณีติดขัดข้อกฎหมาย แต่เมื่อใช้มาตรา 44 แล้ว ทั้งหมดต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ด้วยการขึ้นศาลปกติ ไม่ใช่ว่าตนจะใช้มาตรา 44 ไปลงโทษเองทั้งๆ ที่ทำได้ แต่ไม่อยากทำ ทั้งนี้ การแก้ปัญหาไอยูยูได้มีคำสั่งตั้งแต่ช่วงที่ประกาศใช้กฎอัยการศึกแล้ว และคำสั่งเหล่านั้นยังมีผลบังคับใช้อยู่ทั้งหมด ถ้าตนยังไม่ได้บอกยกเลิกจะเห็นได้ว่าหลังจากยกเลิกกฎอัยการศึก ตนจะออกเป็นคำสั่งที่ใช้อำนาจมาตรา 44 แทน โดยในเรื่องเดียว กันนั้น คำสั่งของคสช.ยังมีผลบังคับใช้อยู่
ต่อข้อถามว่า ปัญหาการจัดลำดับการค้ามนุษย์ที่ใกล้จะครบกำหนดแล้วมีแนวโน้มว่าแก้ปัญหาได้หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่าจะมีแนวโน้มอะไร แก้ให้ได้ก็แก้ได้ เช่นเดียวกับปัญหาการตรวจสอบกรมการบินพลเรือนขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ไอซีเอโอ) ที่มีข้อบังคับกว่า 500 ข้อ วันนี้คัดมา 33 ข้อในระยะที่ 1 เท่านั้น ส่วนที่เหลือต้องใช้ระยะเวลาทำต่อ ซึ่งการทำงานนั้นต้องคลี่ออกมาดู ไม่ใช่วันนี้ทำ พรุ่งนี้แก้ มะรืนเสร็จ มันไม่เสร็จ
นายกฯ กล่าวอีกว่า ส่วนการแก้ปัญหาค้ามนุษย์นั้นมีข้อกฎหมายอีกเยอะ ทั้งแรงงานบนเรือ ขอทาน โสเภณี แรงงานผิดกฎหมาย เคยทำทั้งระบบแบบนี้หรือไม่ เคยดูแลเหยื่อไหม เคยเอาตัวกลับมาได้จริงๆ เท่าไหร่ ปล่อยให้สื่อต่างประเทศเอาไปโจมตี ไปถามจากเหยื่อที่ถูกขังอยู่นั่น เขาจะพูดดีหรือ วันนี้เราเอากลับมา หาอาชีพให้ ดูแลทุกอย่าง แต่จะมาทำให้เร็วนั้นจะทำได้อย่างไร เพราะเราเป็นคนทำผิดกติกาเขา เราไม่ได้ร่างกติกา มันเป็นเรื่องของสากล ฉะนั้น เราต้องพยายามอย่างที่สุด แก้ปัญหาเหล่านี้ให้ได้ แต่ไม่ใช่จะมาตีเส้นว่าภายในตอนไหน ตนทำให้ไม่ได้ ไม่ว่าจะใช้มาตรา 44 หรืออีกร้อยมาตราก็ทำไม่ได้ เพราะมาตรา 44 มีเพียงอำนวยความสะดวก ตนพยายามเต็มที่ สั่งมาตลอด ท่านบอกว่าให้มาแก้ปัญหาค้ามนุษย์โดยเร็ว ใน 60 วัน เช่นเดียวกับปัญหาประมงผิดกฎหมายเหมือนกัน ซึ่งเส้นตายนั้นมันตายไปนานแล้ว จะมาเส้นตายอะไรตอนนี้
เมื่อถามถึงการกดดันจะคว่ำบาตรทางการค้ากับไทย นายกฯกล่าวว่า คว่ำบาตรอะไร มันยังไม่ถึง อย่าเพิ่งไปลงโทษขนาดนั้น ถ้าเรากังวลอย่างนี้แล้วมันไปไม่ได้ จะกังวลไปทำอะไร
ปัดจ้างล็อบบี้ยิสต์คุยอียู-สหรัฐ
ต่อข้อถามว่า ที่ประชุมสภาสูงสหรัฐ อเมริกาจะนำเรื่องนี้เข้าที่ประชุมด้วย พล.อ. ประยุทธ์กล่าวเสียงดังว่า ก็เข้าไป ตนเข้าไปสภาเขาได้ไหม นั่นเป็นสภาของเขา แล้วคุณทำผิดสภาเขาหรือไม่ ทำผิดเฉพาะสภาไทยยังไม่พอหรือไง จะต้องไปยุ่งกับสภาอื่นด้วยหรือไง ตนไม่เข้าใจคนไทย ซึ่งเรามีหน้าที่ทำให้เขาเข้าใจ ทำอย่างจริงจังและประสานกับเพื่อนบ้านเช่น อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น เราประสานหมด ตอนนี้ตนได้คุยกับระดับผู้นำแล้วว่าจะต้องทบทวนเรื่องการประมงใหม่ เพราะที่ผ่านมาไม่เคยคุย ต่างคนต่างเสรีกันไป นั่นคือความคิดตนและได้ให้ไปหาข้อมูลแล้วว่า ถ้าเราทำประมงในลักษณะร่วมกันจะได้หรือไม่ เป็นกองเรือประมง ไทยไม่ค่อยมีลูกเรือ ไปเอาลูกเรือเขามาได้หรือไม่ และใช้เรือเราเข้าไปจับในพื้นที่ ก่อนนำมาแบ่งสรรปันส่วนกันไป ส่วนเรือขนาดเล็กก็แบ่งสัมปทาน ไปเร็วกลับเร็ว ไม่ต้องแยกเรือ มีใครเคยคิดให้แบบนี้ไหม ตนบอกเลยว่าไม่มี เพราะที่ผ่านมาก็เป็นเรื่องๆ วันๆ ไป
นายกฯ กล่าวต่อว่า การหารือกับประเทศเพื่อนบ้านจะหารือกันอีกที ซึ่งประธานาธิบดีอินโดนีเซียเห็นด้วยแล้ว แต่ไม่ใช่พูดวันนี้แล้วพรุ่งนี้จัดกองเรือ เรากำลังตั้งคณะทำงานเรื่องประมง ซึ่งไม่ใช่ในเรื่องของการประมงอย่างเดียว แต่ยังมีมาตรการนำเข้าออกสินค้า และต่อมาตนต้องมาสั่งกับกระทรวงและคณะทำงาน ดูข้อกฎหมายว่าจะทำอย่างไร ไม่ใช่ส่งสินค้าอะไรไปก็ได้ ส่วนเรื่องจะมาลงทุนเราก็บอกว่า ต้องการแบบใด
เมื่อถามว่า ภาคเอกชนเสนอให้จ้างล็อบบี้ยิสต์เข้าไปเจรจากับอียูและสหรัฐ นายกฯ กล่าวว่า มีการพูดคุยอยู่แล้ว แต่ทำไมต้องไปจ้างล็อบบี้ยิสต์ พูดกันแบบลูกผู้ชายนี่แหละ ถ้าเป็นล็อบบี้ยิสต์ตนก็ไม่พูด มันเปิดเผยได้หรือล็อบบี้ยิสต์ มันเสียตั้งแต่คนทำและคนให้ล็อบบี้ทั้งหมด ซึ่งต้องเปิดเผยและตนต้องการให้ทุกคนเห็นว่าเมื่อทำไม่ดีก็ต้องแก้ไข ไม่ใช่ปิดบังซ่อนเร้นและเกิดปัญหาทั้งระบบ อย่าลืมว่าตนเข้ามาแก้ปัญหา ไม่ใช่เข้ามาสร้างปัญหาเลยแม้แต่อย่างเดียว แต่ก็ไม่ปฏิเสธความรับผิดชอบเพราะอาสาเข้ามา แต่ถ้าคิดว่าตนทำไม่ครบ ไม่ได้ใช้ล็อบบี้ยิสต์ ไม่ได้ออกพ.ร.ก.ก็ต้องไปขอรัฐบาลใหม่ แล้วดูว่าจะทำได้อย่างที่ตนทำหรือไม่
เมื่อถามว่า ให้ความมั่นใจได้หรือไม่ว่าปัญหาประมงที่เกิดขึ้นจะไม่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกอาหารทะเล นายกฯ กล่าวว่า "ผมไม่ได้สัญญา และผมบอกแล้วไงว่าถ้าเรื่องใดไม่สำเร็จผมสัญญาไม่ได้ เพราะไม่ได้เป็นคนตัดสิน แต่ยืนยันว่าทำงานอย่างเต็มที่ ทำทุกมิติ ทั้งในและต่างประเทศ และหากสงสัยก็ให้ไปหามาว่าที่ผ่านมาได้ทำงานหรือเปล่า ให้ยกตัวอย่างมาสัก 10 ข้อ โดยเฉพาะเรื่องเทียร์และไอยูยู เรื่องนี้มีการแจ้งมาหลายปีแล้ว ผมสามารถตอบได้ว่ารัฐบาลนี้ได้ทำอะไรไปบ้าง การชี้แจงของผมอาจจะเสียงดังหน่อยแต่ไม่ได้มีปัญหา และไม่ได้เกี่ยวกับสื่อแต่เครียดกับปัญหา ขอให้ได้พูดและทำความเข้าใจ ส่วนใครจะไม่เข้าใจก็เป็นเรื่องของเขา แต่จะมากดดันเรามากๆ ไม่ได้ เพราะเราเข้ามาทำโดยไม่ได้ถูกเลือกเข้ามา ถ้าผมถูกเลือกเข้ามาท่านสับผมได้เลย แต่ก็คงไม่ได้เลือกผมเข้ามาแน่ เพราะผมไม่รับเลือกอยู่แล้ว อย่าลืมว่าทุกอย่างมันมีปัญหาผมถึงต้องใช้มาตรา 44 ถ้าไม่ใช้ก็ทำไม่ได้ทั้งหมด จึงต้องให้ชะลอเรื่องต่างๆ และนำเอามาตรา 44 เข้ามาใช้"
ชี้ยังแก้ค้ามนุษย์ไม่ตรงจุด
ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ แถลงข่าว "ฤา จะหนีไม่พ้นวังวนการค้ามนุษย์" เพื่อจับตาสถานการณ์ขึ้นบัญชีการค้ามนุษย์ในประเทศไทย นายสุรพงษ์ กองจันทึก ประธานคณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติ และผู้พลัดถิ่น สภาทนายความ กล่าวว่า ปัญหาการค้ามนุษย์ขณะนี้อยู่ในช่วงหนักหนาสาหัสมากสำหรับประเทศไทย เนื่องจากถูกจับตาดูทั้งจากสหรัฐอเมริกา และอียู นอกจากนี้ยังมีเรื่องของการทำประมงผิดกฎหมาย ที่ผ่านมารัฐบาลพยายามแก้ไขปัญหามาตลอด แต่ยังไม่สามารถแก้ได้ตรงจุด เช่น การจัดการปัญหาการค้ามนุษย์นั้น สิ่งที่สหรัฐต้องการเห็นคือรัฐบาลไทยต้องจับกุมหัวหน้าขบวนการค้ามนุษย์ให้ได้ ไม่ใช่จับแค่เหยื่อของขบวนการค้ามนุษย์เหมือนที่ผ่านมา
"รัฐบาลต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ด้วยการเอาผิดกับขบวนการค้ามนุษย์ที่กระทำผิด ทั้งผู้ประกอบการ ข้าราชการที่มีส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อเป็นแบบอย่าง เชื่อว่าจะทำให้ภาพลักษณ์การแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ของไทยดีขึ้น นอกจากนี้ยังต้องดำเนินการกับกิจการเรือประมงที่ผิดกฎหมาย ไม่ใช่เปิดให้ขึ้นทะเบียนอย่างเดียว โดยไม่จัดการคนผิดเหมือนที่ผ่านมา ซึ่งมีข้อสังเกตว่าในขบวนการค้ามนุษย์ ค้าทาสบนเรือประมงนั้น ไม่เคยจับกุมมาดำเนินคดีได้เลย อีกทั้งยังไม่เคยพูดถึงเรื่องนี้เลย ทั้งที่เป็นเรื่องที่รัฐบาลไทยจำเป็นต้องทำ" ตัวแทนสภาทนายความกล่าว
ภาคประมงแนะแก้ตามจริง
นายกำจร มงคลตรีลักษณ์ นายกสมาคมการประมงสมุทรสาคร เปิดเผยว่า ภาคประมงของสมุทรสาครให้ความร่วมมือเพื่อแก้ไขปัญหามาโดยตลอด ตั้งแต่เมื่อครั้งถูกลดระดับมาอยู่ที่เทียร์ 3 ของสหรัฐ เพราะภาคประมงไม่อยากถูกลดระดับลงอีก กระทั่งอียูให้ใบเหลือง ภาคประมงเองก็อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยกันแก้ไขปัญหาให้ตรงจุด เพราะที่ผ่านมารัฐบาลทำเหมือนไม่จริงจังแก้ไขปัญหา โดยเน้นแก้ปัญหาปลายเหตุ แต่ไม่ได้แก้ปัญหาตาที่สหรัฐหรือยุโรปต้องการ ซึ่งถ้าแก้ไขปัญหาอย่างถูกจุดและตรงกับเหตุจริงๆ จะช่วยคลี่คลายสถานการณ์ให้เบาบางลงได้ โดยเฉพาะการแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานประมง ที่ผ่านมาตั้งศูนย์ประสานงานแรงงานประมงใน 22 จังหวัด จดทะเบียนแรงงานในเรือประมงปีละ 2 ครั้ง ตามมติครม. แต่หลังจากมีคสช. บทบาทของศูนย์ดังกล่าวก็เงียบไปเพราะเป็นห่วงเรื่องความมั่นคง จึงอยากให้ทบทวนการจดทะเบียนแรงงานประมงปีละ 2 ครั้ง เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน รวมทั้งการออกกฎหมายต่างๆ มาบังคับไม่ตรงกับความเป็นจริง จึงอยากให้ฟังเสียงของภาคประมงบ้าง ก่อนออกกฎหมายหรือข้อบังคับต่างๆ เพื่อที่จะได้เป็นการวางรากฐานในการแก้ปัญหาให้ตรงจุดและตรงกับสภาพความเป็นจริง
ผู้ประกอบการนัดเข้าพบบิ๊กตู่
นายฤทธิรงค์ บุญมีโชติ ประธานกลุ่มธุรกิจกุ้ง บริษัท ไทยยูเนี่ยน โฟรเซ่น โปร ดักส์ จำกัด (มหาชน) หรือทียูเอฟ เปิดเผยว่า ทียูเอฟร่วมกับผู้ประกอบการภาคเอกชน ผู้ส่งออกสินค้าประมง เตรียมขอพบพล.อ. ประยุทธ์เร็วๆ นี้เพื่อให้ข้อมูลข้อเท็จจริง และนำข้อเสนอของภาคเอกชน ถึงข้อเท็จจริงที่ภาคเอกชนในฐานะผู้ประกอบการได้รับผล กระทบกรณีใบเหลืองจากอียู เพื่อร่วมกันแก้ปัญหาการประมงที่ผิดกฎหมาย เพราะขณะนี้แม้รัฐบาลทำมาถูกทางแล้ว แต่ความคืบหน้า ที่จะทำให้หลุดพ้นใบเหลืองมีเพียงประมาณ 50% หรือเดินทางถูกทางแล้ว แต่เดินทางได้เพียงครึ่งทางเท่านั้น การแก้ปัญหาไอยูยู รัฐบาลทำฝ่ายเดียวอาจจะช้าและทำให้การหลุดพ้นจากใบเหลืองยาก แต่หากร่วมมือกับเอกชนขับเคลื่อนให้เป็นสากลภายใต้ทีมไทยแลนด์ ที่มีรัฐบาล โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันทำงาน ตั้งรมต.เป็นประธานคณะทำงาน ให้อำนาจในการตัดสินใจและขับเคลื่อนคณะทำงานบูรณาการงานได้เร็วขึ้น
"ขณะนี้รัฐบาลไทยถือว่ามีจุดแข็ง เด็ดเดี่ยวสั่งการได้ จึงเป็นความหวังของเอกชนไทย และประเทศไทย ในเรื่องของ ไอยูยู และเทียร์ 3 ความหวังอยู่ที่รัฐบาลนี้ หากรัฐบาลนี้ทำไม่ได้ ถือว่าคนไทย ประเทศไทย และภาคธุรกิจไทยคงหมดหวังปิดทางในการทำธุรกิจในโลกนี้แล้ว" นายฤทธิรงค์กล่าวและว่า ปัจจุบันงานแก้ปัญหาประมงและแรงงานผิดกฎหมาย ทั้งเรื่องไอยูยู และเทียร์ 3 ไม่คืบ เพราะทุกคนเท่ากันหมด คือเป็นรมต. งานจึงไม่คืบ จำเป็นต้องตั้งหัวหน้าทีมมา 1 คนมานำคณะ โดยใช้เอกชนเป็นที่ปรึกษา หรือเป็นผู้ให้ข้อมูลในเรื่องภาคเอกชนปัญหาและอุปสรรคที่แท้จริง เพราะคนในธุรกิจไปให้ข้อมูลที่แท้จริง อยู่ในพื้นที่จริง เพื่อให้รัฐบาลไปได้ข้อมูลที่แท้จริง ที่ผ่านมารัฐบาลทำเยอะมาก แต่อเมริกา หรือยุโรปบอกว่า ไทยโนแอ๊กชั่น ดังนั้นเอกชนยินดีที่จะชี้แจง หรือบอกถึงจุดประสงค์ที่ยุโรปหรืออเมริกาต้องการ เพื่อให้การแก้ปัญหาสามารถดำเนินการได้ เสนอตัวทำงานคู่กับรัฐบาลหากรัฐบาลให้โอกาส
นายฤทธิรงค์ กล่าวต่อว่า ไทยต้องทำทุกอย่างเพื่อไม่ให้ได้ใบแดง สินค้าประมงไทยหากถูกใบแดงจะได้รับผลกระทบผู้ซื้อจาก อียูไม่ซื้อแน่ และหากมีบริษัทใด หรือผู้นำเข้ารายใดซื้อก็จะถูกตั้งคำถาม หลักการของทียูเอฟคือต้องการทำงานร่วมกับรัฐบาล เพราะอยู่ในธุรกิจที่เข้าใจความต้องการของลูกค้าหรือต่างชาติ ต้องการอะไร รัฐบาลต้องเร่งประชาสัมพันธ์ให้ยุโรป อเมริการู้ รัฐบาลบอกว่าทำมามากแล้ว แต่ต่างชาติมองไทยไม่เป็นเอกภาพ ทำงานไม่คืบ แสดงว่าข้อมูลไม่ถูกส่งไปถึงต่างประเทศคู่กรณี แสดงให้เห็นว่าอ่อนประชาสัมพันธ์ คือการประชาสัมพันธ์ในระดับโลก
ต้องทุ่มพีอาร์-จ้างล็อบบี้ยิสต์
"การประชาสัมพันธ์ประเทศไทย เสียเงินเท่าไหร่ก็ต้องยอม เพราะสิ่งสำคัญอีกอย่างเพื่อให้ปัญหามันผ่านพ้นไปได้ คือ 1.ต้องพีอาร์ในระดับโลก 2.การจ้างล็อบบี้ยิสต์ จะใช้งบฯ เท่าไหร่ก็ต้องทำเพื่อให้ต่างชาติรับรู้ความก้าวหน้าของไทย เพราะสิ่งที่ท้าทายคือการถูกโจมตี และการถูกกล่าวหาในเรื่องแรงงาน สิทธิมนุษยชน การค้ามนุษย์จากอียูและอเมริกา เป็นการยกขึ้นมาเพื่อเป็นข้อกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช้ภาษี ให้ใบเหลืองครั้งนี้ไทยมีโอกาส 6 เดือนในการแก้ตัว เอกชนต้องร่วมกับภาครัฐ เพื่อแก้ปัญหา ไทยเป็นเป้าถูกโจมตี ทั้งยุโรป อเมริกา เอ็นจีโอจากทั่วโลก แม้รัฐบาลไทยทำเยอะมาก ใน 1-2 ปีที่ผ่านมา ครั้งนี้ถือว่าทำจริงจังมาก ไทยสามารถนำการขึ้นทะเบียนเรือขึ้นทะเบียนแรงงาน ภายใน 6 เดือนมียอด 1.6 แสนคน" นายฤทธิรงค์กล่าวและว่า ทียูเอฟลงทุนในหลายประเทศ ประเทศที่ทียูเอฟลงทุนคือ กานาก็ได้รับใบเหลืองจากอียู ทียูเอฟจึงตัดสินใจทำงานร่วมกับรัฐบาลกานาเป็นที่ปรึกษา จ้างล็อบบี้ยิสต์ให้กานาเพื่อร่วมเจรจาและแก้ปัญหาใบเหลืองอียู เพียง 6 เดือน กานาก็หลุด ดังนั้นจากนี้ไปรัฐบาลต้องร่วมมือกับเอกชนทำงานอย่างจริงจัง เพื่อให้เป็นเอกภาพ ไม่ได้หวังว่าปัญหาจะหายไปช่วงข้ามคืน แต่ต่างชาติที่เป็นคู่ค้าโดยเฉพาะอียูต้องการความชัดเจน โดยมีแผนการดำเนินงานที่มีความคืบหน้า มีความก้าวหน้า การบังคับใช้กฎหมายต้องจริงจัง
สื่อนอกจับตาสหรัฐลงดาบไทย
พล.อ.ประยุทธ์ยอมรับว่า ประเทศไทยก็มีปัญหาเกี่ยวพันกับการประมงผิดกฎหมาย และได้ดำเนินการปราบปรามแล้วบางส่วนในพื้นที่ชายแดน
ขณะที่เอพีรายงานนายมาร์ก ลากอน ประธานฟรีดอมเฮาส์ องค์กรไม่หวังผลกำไรด้านสิทธิมนุษยชน และอดีตเอกอัครราชทูตประจำกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐว่าด้วยการค้ามนุษย์ แถลงต่อคณะอนุกรรมการกิจการต่างประเทศของสภาคองเกรสว่า หลายปีที่ผ่านมามีรายงานว่าอุตสาหกรรมประมงในไทยใช้แรงงานผิดกฎหมาย ทั้งกระบวนการออกทะเลหาปลา รวมถึงขั้นตอนการผลิตและแปรรูปของโรงงาน ซึ่งยังต้องติดตามต่อไปว่ารัฐบาลประธานาธิบดีบารัก โอบามา ผู้นำสหรัฐจะมีมาตรการคว่ำบาตรไม่รับซื้ออาหารทะเลจากไทยหรือไม่
รายงาน ระบุอีกว่า อาวุธสำคัญที่กระทรวงต่างประเทศสหรัฐจะใช้ต่อสู้กับอาชญากรรมการค้ามนุษย์คือ รายงานการจัดลำดับการ ต่อต้านการค้ามนุษย์ประจำปี ซึ่งกลุ่มที่ 1 (เทียร์ 1) หมายถึงประเทศที่ดำเนินการสอดคล้องกับมาตรฐานขั้นต่ำตามกฎหมายสหรัฐในการป้องกันและบังคับใช้กฎหมายการต่อต้านการค้ามนุษย์ กลุ่มที่ 2 (เทียร์ 2) คือการดำเนินการยังไม่สอดคล้องกับกฎหมายสหรัฐ แต่แสดงให้เห็นถึงความพยายามที่จะแก้ไขปัญหา และกลุ่มที่ 3 (เทียร์ 3) เป็นประเทศที่ดำเนินการไม่สอดคล้องกับมาตรฐานขั้นต่ำของกฎหมายสหรัฐ และไม่มีความพยายามแก้ไขปัญหา ซึ่งประเทศในกลุ่มหลังนี้มีแนวโน้มถูกขึ้นทะเบียนบัญชีดำ และอาจส่งผลให้ถูกคว่ำบาตร ซึ่งคณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนโลกของสภาคองเกรสเดินหน้าเรียกร้องรัฐบาลนายโอบามาเร่งดำเนินการขั้นเด็ดขาดกับประเทศที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน ตั้งแต่เปิดเผยรายงานดังกล่าวในเดือนมิ.ย.ปีที่ผ่านมา
นายคริส สมิธ ส.ส.รัฐนิวเจอร์ซี พรรครีพับลิกัน พรรคฝ่ายค้านของสหรัฐกล่าวว่า การปรับเลื่อนลำดับของประเทศจีนจาก เทียร์ 3 เป็นเทียร์ 2 เมื่อปีก่อนเป็นการพิจารณาที่เร็วเกินไป ขณะที่พม่า มาเลเซีย และไทย จำเป็นต้องยกระดับการต่อสู้กับอาชญากรรมการค้ามนุษย์ที่จริงจังกว่านี้ ขณะที่ภูมิภาคแอฟริกามีหลายประเทศที่เสี่ยงถูกลดระดับโดยอัตโนมัติในปีนี้
ส่วนกรณีช่วยเหลือแรงงานผิดกฎหมายราว 370 คนที่ถูกบังคับให้ทำงานหนักและกักขังไว้ในกรงบนเกาะเบนจินาของอินโด นีเซีย เมื่อเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา ปลาและอาหารทะเลที่กลุ่มแรงงานเหล่านี้จับมาได้อาจเป็นผลิตผลส่วนหนึ่งที่ส่งออกไปจำหน่ายในบริษัทผู้ค้าอาหารรายใหญ่ของสหรัฐ อาทิ วอลมาร์ท ซิสโก และโครเกอร์ หรือนำไปแปรรูปเป็นอาหารสัตว์บรรจุกระป๋องยี่ห้อยอดนิยมอย่างแฟนซีฟีสต์ เมียวมิกซ์ และ ไอแอมส์ แม้บริษัทเหล่านี้จะประณามการใช้แรงงานผิดกฎหมาย และว่ามีมาตรการป้องกันอาชญากรรมดังกล่าว เช่นเดียวกับไทยซึ่งมีมูลค่าอุตสาหกรรมส่งออกการประมงมากถึง 224,000 ล้านบาท และมีสหรัฐเป็นลูกค้ารายใหญ่ที่กล่าวยืนยันมาตลอดหลายปีว่า ทางการไทยมีมาตรการจัดการกับปัญหาแรงงานที่ก้าวหน้าต่อเนื่อง ถึงอย่างนั้นสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนและแรงงานในไทยยังเป็นวิกฤตที่แก้ไม่ตก
ด้านนายรอน ไวย์เดน สมาชิกวุฒิสภารัฐโอเรกอน พรรคเดโมแครต พรรครัฐบาล กล่าวว่า ไม่เคยมีครั้งใดที่แรงงานผิดกฎหมายจะเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ ปีนี้คือปี 2015 และทางการสหรัฐจะไม่ปล่อยให้เกิดการเอื้อประโยชน์อีกต่อไป หลังวุฒิสภาลงมติเห็นชอบให้แก้ไขกฎหมายพิกัดอัตราภาษีศุลกากรสหรัฐ ปีพ.ศ.2473 ที่ให้อำนาจศุลกากรในการตรวจสอบและยับยั้งการนำเข้าสินค้าจากเรือที่ต้องสงสัยว่ามีการละเมิดกฎหมายค้ามนุษย์ และแรงงานผิดกฎหมาย เพื่อลดช่องโหว่ที่นำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชน และแรงงานผิดกฎหมาย
วันที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2558 ปีที่ 25 ฉบับที่ 8913 ข่าวสดรายวัน