- Details
- Category: เกษตร
- Published: Friday, 24 April 2015 19:06
- Hits: 2181
ม.หอการค้าฯ แนะกดต้นทุน-เพิ่มแปรรูป-จัดโซนนิ่ง เพิ่มโอกาสยางพาราไทยใน AEC
นายอัทธิ์ พิศาลวานิช คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ และผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ยางพาราไทยมีโอกาสใน AEC แต่ต้องดำเนินการวิเคราะห์จากปัจจัยเกี่ยวข้อง 9 เรื่อง คือ 1.บริหารต้นทุนการผลิตทั้งภายในประเทศและเปรียบเทียบกับคู่แข่ง โดยต้นทุนในประเทศ ปัจจุบันต้นทุนหน่วยงายรัฐอยู่ที่ 64 บาท/กก. แต่ต้นทุนจริงของเกษตรกรอยู่ที่ 80 บาท/กก. และหากเปรียบเทียบกันระหว่างประเทศผู้ผลิต ต้นทุนของไทยสูงกว่ามาเลเซียและอินโดนีเซีย
2.ความสัมฤทธิ์ผลและความสำเร็จของยุทธศาสตร์ยางพาราไทย ซึ่งปัจจุบันประสิทธิภาพการผลิตยังไม่บรรลุเป้าหมาย สัดส่วนและมูลค่าการบริโภคภายใต้การส่งออกไม่บรรลุเป้าหมาย การขยายพื้นที่เป็นไปตามเป้าหมายถึงปีละ 5 แสนไร่
3.ร่างพ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทย ต้องมาดูกันในเชิงลึกว่าสามารถแก้ปัญหาอุตสาหกรรมยางพาราไทยได้ทั้งระบบหรือไม่ โดยเฉพาะเรื่องการแก้ปัญหาเสถียรภาพราคา แปรรูป ดำเนินธุรกิจ วิจัย และที่มาของคณะกรรมการ
4.การจัดเก็บเงิน CESS หรือ อัตราเรียกเก็บเงินสงเคราะห์ ว่าอัตราที่เหมาะสมควรอยู่ที่เท่าไร โดยปัจจุบันอัตราเงิน CESS ของไทยมีอยู่ 5 ระดับ 1) ราคายางพาราต่ำกว่ากิโลกรัมละ 40 บาท คิดค่า CESS กิโลกรัมละ 90 สตางค์ 2) ราคายางพาราอยู่ระหว่างกิโลกรัมละ 40-60 บาท คิดค่า CESS กิโลกรัมละ 1.40 บาท 3) ราคายางพาราอยู่ระหว่างกิโลกรัมละ 60-80 บาท คิดค่า CESS กิโลกรัมละ 2 บาท 4) ราคายางพาราอยู่ระหว่างกิโลกรัมละ 80-100 บาท คิดค่า CESS กิโลกรัมละ 3 บาท 5) ราคายางพาราสูงกว่ากิโลกรัมละ 100 บาท คิดค่า CESS กิโลกรัมละ 5 บาท
5.ความเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลก สะท้อนความต้องการยางพาราที่ผันผวน ราคาน้ำมัน ราคายางสังเคราะห์ซึ่งจะสอดคล้องกับทิศทางราคาน้ำมัน
6.ผลผลิตจากประเทศ CLMV + จีน + อินเดีย ซึ่งมีการพยากรณ์จากกูรูด้านยางของโลกว่าหลังปี 2015 ผลผลิตจะเพิ่มขึ้นอีกมากกว่า 19.8 ล้านไร่จากปี 2014 ที่อินโดนีเซียมีพื้นที่ปลูกยาง 22 ล้านไร่ ไทย 20.7 ล้านไร่ จีน 7.1 ล้านไร่
7.การสนับสนุนให้มีโรงงานแปรรูปยางพาราในต่างจังหวัด ผ่าน 3 รูปแบบ คือ ภาคเอกชนไทย สหกรณ์ ร่วมทุนกับนักลงทุนอาเซียน ตามข้อตกลงเปิดเสรีลงทุนอาเซียน
8.จัดโซนนิ่งในการส่งเสริมโรงงานแปรรูปยางพารา เพื่อไม่ให้กระทบสิ่งแวดล้อม จึงต้องศึกษาพื้นที่เหมาะสมในการตั้งโรงงานแปรรูป ขณะเดียวกันประเทศไทยต้องลดพื้นที่ปลูกลง 5 ล้านไร่ใน 10 ปีข้างหน้า แต่เพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้อยู่ที่ 300 กก./ไร่ แต่พื้นที่ที่ลดลงต้องหาพืชเศรษฐกิจอื่นเข้ามาแทนที่ เช่น อ้อย ปาล์มน้ำมัน
9.เร่งผลักดัน Rubber City ซึ่งมองว่านิคมอุตสาหกรรมภาคใต้ ต.ฉลุง อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ซึ่งเป็นพื้นที่ตามโครงการมีความเหมาะสมเรื่องโครงสร้างพื้นฐานแต่ส่วนตัวมองว่าพื้นที่บริเวณด่านประกอบ อ.นาทวี จ.สงขลา ซึ่งใกล้กับด่าน Durian Burong บริเวณเมืองโกตาปูตรา รัฐเคดะห์ของมาเลเซียอาจจะเหมาะสมในแง่ของโลจิสติกการขนส่งหากไทยและมาเลเซียจะร่วมมือกันโดยไทยสนับสนุนเรื่องวัตถุดิบให้มาเลเซียนำไปแปรรูป
ด้านนายบุญหาญ อู่อุดมยิ่ง ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมผลิตภัณ์ยาง สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) กล่าวว่า มีการประเมินว่าปริมาณการใช้ยางพาราในโลก ปี 2035 ประมาณ 27-28 ล้านตัน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยางล้อ ประเทศจีนบริโภคยางในอุตสาหกรรมยางล้อมากที่สุดประมาณ 16-17 ล้านตัน ที่เหลือประเทศอื่นๆ ประเทศละ 4 ล้านตัน โดยรวมในแต่ละปีตัวเลขการบริโภคยางเติบโตปีละประมาณ 3.5-4%ต่อปี อยู่ในภาครถยนต์เป็นหลัก ขณะที่การผลิตยางพาราก็จะโตตามภาคการบริโภค
ดังนั้น การสร้างโอกาสให้ยางพาราไทยใน AEC ต้องเพิ่มการแปรรูปในประเทศให้มากขึ้น โดย BOI อาจจะดึงนักลงทุนเข้ามา, การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในประเทศไทยให้พร้อม ให้เหมาะและจูงใจให้มีการลงทุนในประเทศ เช่น ห้องทดสอบผลิตภัณฑ์ยางที่มีใบรับรองมาตรฐาน ซึ่งหากสินค้าได้มาตรฐานผู้ซื้อย่อมต้องการสินค้า โดยภาครัฐและภาคเอกชนอาจจะต้องร่วมมือกันในการพัฒนามาตรฐาน ภาครัฐต้องให้การสนับสนุน เพราะเอกชนทำคนเดียวคงไม่ได้ สนับสนุนด้านการวิจัยและพัฒนาสินค้าใหม่ๆ หรือถ้าเป็นสินค้าค้าเดิม ก็วิจัยพัฒนาเพื่อให้ต้นทุนการผลิตสินค้าลดลง
ขณะที่นายขุนศรี ทองย้อย รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส กลุ่มธุรกิจพืชครบวงจร เครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวว่า การสร้างโอกาสให้ยางไทยคือการเร่งเพิ่มมูลค่าให้ยางพาราไทย โดยรัฐบาลต้องหาแหล่งเงินทุนให้เกษตรกรนำผลผลิตของตัวเองไปแปรรูปเป็นยางคุณภาพ
อินโฟเควสท์