- Details
- Category: เกษตร
- Published: Friday, 10 April 2015 22:00
- Hits: 1438
ก.เกษตรฯ ยันไทยยังไม่เจอภาวะเงินฝืด แม้เงินเฟ้อติดลบสูงสุดในรอบ 5 ปี พบปชช.ยังซื้อสินค้า - ผู้ประกอบการไม่ได้ลดกำลังการผลิตลง
ก.เกษตรฯ ยันไทยยังไม่เจอภาวะเงินฝืด แม้เงินเฟ้อติดลบสูงสุดในรอบ 5 ปี พบปชช.ยังซื้อสินค้า - ผู้ประกอบการไม่ได้ลดกำลังการผลิตลง ต้องมีการเตือนภัยทางเศรษฐกิจแบบทันสถานการณ์ เพื่อเป็นแนวทางการป้องกันความเสียหายที่กำลังจะเกิดขึ้น
นายเลอศักดิ์ ริ้วตระกูลไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์เงินเฟ้อเดือนมีนาคม ติดลบ 0.57% ซึ่งสูงสุดในรอบ 5 ปี 6 เดือน แต่ยังไม่ใช่ภาวะเงินฝืด เนื่องจากประชาชนยังซื้อสินค้า และผู้ประกอบการไม่ได้ลดกำลังการผลิตลง โดยปัจจัยทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ภาวะเงินเฟ้อหรือภาวะเงินฝืดนั้น ประกอบด้วย ระดับราคาสินค้าและบริการ ปริมาณเงินในระบบเศรษฐกิจจะมีเพียงพอหรือไม่ อัตราดอกเบี้ยที่จะส่งผลโดยตรงอัตราเงินเฟ้อหรือภาวะเงินฝืด รวมถึงอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศหรือค่าเงินบาทของไทยจะแข็งหรืออ่อนมากน้อยเพียงใดที่มีผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าและบริการด้วย
สำหรับดัชนีราคาผู้บริโภค เป็นตัวชี้วัดการเปลี่ยนแปลงระดับราคาสินค้าและบริการ โดยเฉลี่ยที่ผู้บริโภคจ่ายไปสำหรับกลุ่มสินค้าและบริการที่กำหนด เรียกว่า ตะกร้าสินค้า (Market Basket) คือกลุ่มสินค้าและบริการที่กลุ่มผู้บริโภคเป้าหมายส่วนใหญ่ซื้อมาบริโภคเป็นประจำ การจัดตะกร้าสินค้านั้น ได้ข้อมูลมาจากการสำรวจค่าใช้จ่ายการบริโภคของผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมาย ประกอบด้วย ตัวชี้วัดที่สำคัญ 4 ด้าน คือ 1) ด้านดัชนีราคาประเภทต่างๆ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน ดัชนีราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ดัชนีราคาสินค้าเกษตรที่สำคัญ 2) ด้านการคลังและงบประมาณ 3) ด้านปริมาณเงินและอัตราดอกเบี้ย และ 4)การค้าระหว่างประเทศและการส่งออกสินค้าและบริการ
ในเรื่องดังกล่าว เมื่อวิเคราะห์ผลกระทบที่มีต่อเศรษฐกิจการเกษตรในแต่ละด้าน พบว่า ด้านเศรษฐกิจการเกษตรมหภาค มูลค่าการผลิตสินค้าเกษตรที่สำคัญยังคงมีแนวโน้มที่ดี โดยภาวะเศรษฐกิจการเกษตรไตรมาส 1 ปี 2558 พบว่า หดตัวร้อยละ 1.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2557 โดยสาขาพืช และสาขาบริการทางการเกษตร หดตัวลง ขณะที่สาขาปศุสัตว์ สาขาประมง และสาขาป่าไม้ ขยายตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งปัจจัยลบ ที่ทำให้ภาวะเศรษฐกิจการเกษตรหดตัวในไตรมาสนี้ คือ ปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงปลายปี 2557 ต่อเนื่องมาจนถึงไตรมาสแรกของปี 2558 ทำให้ปริมาณน้ำในเขื่อนหลักมีน้อย แม้ว่าระดับราคาสินค้าส่วนใหญ่ยังมีราคาที่ทรงตัว ดังนั้นคาดว่าปัจจัยทางเศรษฐกิจจะมีแนวโน้มที่ส่งผลให้ภาคเกษตรมีการขยายตัวเพิ่มมากขึ้น
ด้านระดับราคาสินค้าเกษตร ดัชนีราคาสินค้าเกษตรกุมภาพันธ์ 58 เพิ่ม 3.92 สินค้าที่มีราคาปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ ยางพารา และปาล์มน้ำมัน โดยยางพารา ราคาสูงขึ้นเนื่องจากเป็นช่วงฤดูยางผลัดใบ ผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย ปาล์มน้ำมัน ราคาสูงขึ้นเนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดลดลง ในขณะที่ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรลดลง 4.19 เมื่อเทียบกับเดือนมกราคม 58
แต่หากเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ปีที่แล้ว (ปี 2557) ภาพรวมลดลง ร้อยละ 2.51 โดยสินค้าเกษตรที่มีราคาปรับตัวลดลง ได้แก่ มันสำปะหลัง ยางพารา สุกร ไก่เนื้อ และไข่ไก่ ซึ่งมันสำปะหลัง ราคาลดลงเนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดมากกว่าช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ประกอบกับความต้องการส่งออกลดลง ยางพารา ราคาลดลงเนื่องจากราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลง และเศรษฐกิจโลกชะลอตัว สุกร ไก่เนื้อ และไข่ไก่ ราคาลดลงเนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดมากกว่าช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ส่วนสินค้าที่มีราคาปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ สับปะรดโรงงาน และปาล์มน้ำมัน ราคาสูงขึ้นเนื่องจากสถานการณ์ภัยแล้ง ทำให้ผลผลิตออกสู่ตลาดลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา
ด้านการปรับโครงสร้างการผลิตการเกษตร เพื่อยกระดับรายได้ของครัวเรือนเกษตรให้สูงขึ้น คุ้มครองและสนับสนุนให้เกษตรกรได้รับความเป็นธรรมในระบบการผลิตและการค้าผลิตผลทางการเกษตร รวมถึง พัฒนาความพร้อมของเกษตรกรในการปรับระบบการผลิตให้มีความสอดคล้องกับภาวะการตลาด และสามารถเลือกใช้วิทยาการทางการเกษตรที่เหมาะสม เป็นการคุ้มครองภาคเกษตรจากภาวะเงินเฟ้อติดลบขณะนี้
สำหรับ มาตรการ แนวทางการแก้ไขปัญหาของภาวะเงินฝืด ประกอบด้วย นโยบายการเงิน (monetary policy) หมายถึงมาตรการทางการเงินที่ธนาคารกลางของแต่ละประเทศนำมาใช้ในการควบคุมดูแลปริมาณเงินและสินเชื่อรวมของระบบเศรษฐกิจ เพื่อบรรลุเป้าหมายทางเศรษฐกิจประการใดประการหนึ่งหรือหลายประการ ส่วนนโยบายการคลัง (fiscal policy) หมายถึงนโยบายเกี่ยวกับการใช้รายได้และรายจ่ายของรัฐเป็นเครื่องมือสำคัญในการกำหนดแนวทาง เป้าหมาย และการดำเนินงานเพื่อให้บรรลุเป้าหมายทางเศรษฐกิจเช่นเดียวกับการดำเนินนโยบายการเงิน โดยเร่งรัดการใช้จ่ายงบประมาณของภาครัฐให้เพิ่มมากขึ้น และ/หรือการเก็บภาษีให้น้อยลง พร้อมทั้งหากเป็นไปได้ควรใช้นโยบายงบประมาณแผ่นดินแบบขาดดุล
ดังนั้น ในขณะนี้แม้จะยังไม่ถึงภาวะเงินฝืดก็ตาม แต่ต้องมีการเตือนภัยทางเศรษฐกิจ เพื่อเป็นแนวทางการป้องกันความเสียหายที่กำลังจะเกิดขึ้น
เลขาธิการ สศก. กล่าวทิ้งท้ายว่า สำหรับสถานการณ์เศรษฐกิจไทยในภาพรวมขณะนี้ พบว่า ภาวะเงินเฟ้อของดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แม้ว่าดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปยังมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องก็ตาม เหตุสำคัญเกิดจากต้นทุนการผลิตสินค้าและบริการลดลง เพราะต้นทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมีแนวโน้มลดลง จึงส่งผลดีต่อการขยายฐานการผลิตสินค้าให้เพิ่มขึ้น หากสินค้านั้นสอดคล้องกับความต้องการของตลาด ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ จึงจำเป็นต้องให้มีการขยายตัวความต้องการทางการตลาดให้เพิ่มมากขึ้น แม้ว่าภาครัฐได้มีความพยายามในการผลักดันทางด้านงบประมาณ และนโยบายทางการเงินที่เหมาะสมแล้วก็ตาม ดังนั้น การวิเคราะห์จำเป็นต้องสร้างความสมดุลย์ของอุปสงค์รวมและอุปทานรวมของระบบเศรษฐกิจไปพร้อมๆ กัน เพื่อเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพต่อไป
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย