WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

ก.เกษตรฯ ดันนโยบายส่งเสริมเกษตรแปลงใหญ่พืช 13 ชนิด นำร่อง 219 จุด

   นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวในงานสัมมนาเชิงปฏิบัติการ การดำเนินงานโครงการส่งเสริมการเกษตรในรูปแบบแปลงใหญ่ว่า ขณะนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีนโยบายเรื่องการจัดทำแปลงเกษตรขนาดใหญ่ โดยให้เกษตรกรรายย่อยมีการรวมกลุ่มและรวมพื้นที่การผลิตเป็นแปลงขนาดใหญ่ครอบคลุมทั้งด้านพืช ประมง และปศุสัตว์ เพื่อช่วยให้เกษตรกรเข้าถึงข้อมูลแหล่งทุน ทรัพยากรและการตลาด ง่ายต่อการจัดการผลผลิตให้มีประสิทธิภาพและได้ผลผลิตที่มีคุณภาพสอดคล้องกับความต้องการของตลาด

  โดยมีผู้จัดการพื้นที่เป็นผู้บริหารจัดการ ตั้งแต่การวางแผนการผลิตตลอดห่วงโซ่อุปทาน (Supply chain) การสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้เกษตรกรมีความสามารถในการจัดการผลิตสินค้าเกษตรจนถึงการตลาดที่มีมาตรฐานเช่นเดียวกับฟาร์มขนาดใหญ่ ซึ่งจะส่งผลให้เกษตรกรรายย่อย มีอำนาจการต่อรองในการจัดหาปัจจัยการผลิตและการจำหน่ายผลผลิต สามารถผลิตสินค้าที่มีคุณภาพได้ในต้นทุนที่ต่ำลง และมีรายได้เพิ่มขึ้น โดยยึดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เนื่องจากสถานการณ์การผลิตสินค้าเกษตรในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและมีการแข่งขันสูงทั้งในด้านปริมาณ คุณภาพ และต้นทุนการผลิตที่สูง ทำให้เกษตรกรรายย่อยประสบปัญหาในการผลิตและจำหน่ายสินค้าเกษตร

  สำหรับ แนวคิดในการส่งเสริมการเกษตรแปลงใหญ่ เป็นการส่งเสริมการเกษตรที่ยึดพื้นที่เป็นหลักในการดำเนินงานในลักษณะบูรณาการระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีผู้จัดการพื้นที่เป็นผู้บริหารจัดการทุกกิจกรรมตลอดห่วงโซ่อุปทาน โดยมีเป้าหมายหลัก คือ 1) เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต โดยส่งเสริมให้เกษตรกรรายย่อยมีความเข้มแข็ง สามารถบริหารจัดการการผลิตและการตลาด ร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่นเดียวกับฟาร์มขนาดใหญ่ และ 2) เพื่อพัฒนากระบวนการทำงานส่งเสริมการเกษตรให้นักส่งเสริมการเกษตรเป็นผู้จัดการพื้นที่ โดยการบูรณาการของทุกภาคส่วนในพื้นที่ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ศักยภาพของพื้นที่ และตอบสนองต่อความต้องการของเกษตรกร

  ด้านนายโอฬาร พิทักษ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า การส่งเสริมการเกษตรแปลงใหญ่ กรมส่งเสริมการเกษตรได้เตรียมการเพื่อรองรับการส่งเสริมการเกษตรในลักษณะแปลงใหญ่โดยได้นำวิธีการทำงานรูปแบบ MRCF system ขับเคลื่อนการดำเนินงานด้วยกระบวนการเรียนรู้และการมีส่วนร่วม และใช้พื้นที่เป็นศูนย์กลางการพัฒนามองเป้าหมาย พื้นที่-คน-สินค้าเข้าด้วยกัน ด้วยการจัดตั้งศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรเป็นแหล่งเรียนรู้การผลิตทางการเกษตรที่ตอบสนองต่อชุมชน โดยใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมและมีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับของตลาด ซึ่งได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคม กันยายน 2558 มีเป้าหมายทั้ง 77 จังหวัดทั่วประเทศ ในพื้นที่นำร่อง 219 จุด ดำเนินการในพืช 13 ชนิด ได้แก่ ข้าว, ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์, มันสำปะหลัง, ทุเรียน, ลำไย, มะม่วง, มังคุด, เงาะ, ส้มโอ, มะพร้าวน้ำหอม, สับปะรด, ปาล์มน้ำมัน และผัก

  โดยคาดว่า จากการดำเนินการส่งเสริมการเกษตรแปลงใหญ่นี้ เกษตรกรรายย่อยจะมีความเข้มแข็ง และสามารถบริหารจัดการการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด มีต้นทุนการผลิตที่ลดลง คุณภาพผลผลิตที่สูงขึ้น ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น มีการรวมกลุ่มในการผลิตและการตลาดอย่างเข้มแข็ง สามารถบริหารจัดการการผลิตและการตลาดร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพเช่นเดียวกับฟาร์มขนาดใหญ่ รวมถึงมีรูปแบบการทำงานส่งเสริมการเกษตรแบบบูรณการในพื้นที่ที่มีการบริหารจัดการในลักษณะแปลงใหญ่ที่เหมาะสมกับสภาพแต่ละพื้นที่ โดยมีเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรทำหน้าที่เป็นผู้จัดการพื้นที่

อินโฟเควสท์

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!