- Details
- Category: เกษตร
- Published: Tuesday, 31 March 2015 21:39
- Hits: 1501
ก.เกษตรฯ คาดปี 58 ผลผลิตมันฝรั่งลด แจงราคาหอมแดง-หอมใหญ่-มันฝรั่ง ปรับตัวเพิ่ม
ก.เกษตรฯ คาด ปี 58 กระเทียม-หอมแดง-หอมหัวใหญ่ผลผลิตลดลง ในขณะที่มันฝรั่งผลผลิตโดยรวมเพิ่มขึ้น ด้านราคาหอมแดง-หอมหัวใหญ่-มันฝรั่ง ปรับตัวเพิ่ม ส่วนกระเทียมลดลง พร้อมแจงมาตรการภาครัฐเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรแล้ว
นายเลอศักดิ์ ริ้วตระกูลไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการติดตามสถานการณ์การผลิตและการตลาดของสินค้ากระเทียม หอมแดง หอมหัวใหญ่ และมันฝรั่ง ในเดือนมีนาคม 2558 พบว่า กระเทียม ปี 2558 คาดว่าจะมีผลผลิต 67,668 ตัน ลดลงจากปีที่แล้วร้อยละ 6 เนื่องจากราคาในปีที่แล้วลดลง และค่าพันธุ์มีราคาแพง เกษตรกรจึงปรับเปลี่ยนพื้นที่ไปปลูกพืชอื่นๆ เช่น มันฝรั่งพันธุ์โรงงาน ยาสูบ ขณะนี้ผลผลิตกระเทียมออกสู่ตลาดแล้วประมาณร้อยละ 60 ของผลผลิตทั้งหมด แต่ภาวการณ์ซื้อขายยังไม่ค่อยดี เนื่องจากมีการนำเข้ากระเทียมจากต่างประเทศในปริมาณมาก ประกอบกับโรงงานกระเทียมดองมีการรับซื้อกระเทียมสดน้อยกว่าปีที่ผ่านมาทำให้มีสต็อกของพ่อค้ามาก เป็นผลให้ราคากระเทียมที่เกษตรกรขายได้ปีนี้ลดต่ำลง ซึ่งมีราคากิโลกรัมละ 8-9 บาท อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกร กระทรวงพาณิชย์ได้อนุมัติเงินทุนตามโครงการช่วยเหลือสินค้าเกษตรที่มีปัญหาเร่งด่วน ให้จังหวัดเชียงใหม่ เป็นจำนวนเงิน 3,255,200 บาท เพื่อชดเชยดอกเบี้ยให้เกษตรกรที่กู้เงิน ธ.ก.ส. และค่าบริหารจัดการในการชะลอกระเทียมออกสู่ตลาดเพื่อยกระดับราคากระเทียมให้สูงขึ้น
หอมแดง ปี 2558 มีผลผลิต 115,794 ตัน ลดลงจากปีที่แล้วร้อยละ 10 เนื่องจากเกษตรกรบางพื้นที่มีการปรับเปลี่ยนพื้นที่ไปปลูกพืชอื่นๆ เช่น มันฝรั่งพันธุ์โรงงาน ถั่วลิสง ข้าวโพดหวาน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ แต่เนื่องจากภาวะภูมิอากาศหนาวเย็นทำให้ปีนี้หอมแดงมีคุณภาพดี หัวใหญ่ จึงมีพ่อค้าซื้อหอมแดงมาเก็บไว้ขายนอกฤดูกาลผลิต ขณะนี้ผลผลิตออกสู่ตลาดไปแล้วร้อยละ 70 ของผลผลิตทั้งหมด สำหรับการส่งออกหอมแดงปีนี้มีน้อยกว่าปีที่ผ่านมา เนื่องจากอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นตลาดหลักในการส่งออกหอมแดงของไทย ไม่มีการนำเข้าหอมแดงจากต่างประเทศรวมทั้งประเทศไทย ทำให้ตลาดหอมแดงที่ไทยส่งไปต่างประเทศมีเฉพาะประเทศมาเลเซีย และสิงคโปร์ ราคาหอมแดงปีนี้คาดว่า จะทรงตัวใกล้เคียงกับปีที่แล้ว เนื่องจากมีคุณภาพดี ทำให้ราคาเกษตรกรขายได้ไม่ลดต่ำลงจากปีที่แล้วมากนัก ราคาหอมแดงสดที่เกษตรกรขายได้อยู่ระหว่างกิโลกรัมละ 6-10 บาท
หอมหัวใหญ่ ปี 2558 มีผลผลิต 30,315 ตัน ลดลงจากปีที่แล้วร้อยละ 20 เนื่องจากฝนตกทั้งในช่วงต้นฤดูที่เกษตรกรกำลังเพาะกล้า ทำให้ต้นกล้าเสียหายบางส่วนและช่วงฤดูกาลเก็บเกี่ยวในบางพื้นที่ของจังหวัดเชียงใหม่ทำให้ผลผลิตเสียหาย ขณะนี้ผลผลิตหอมหัวใหญ่ออกสู่ตลาดแล้วร้อยละ 80 ของผลผลิตทั้งหมด สำหรับการส่งออกหอมหัวใหญ่ไปตลาดญี่ปุ่นปีนี้ มีปริมาณลดลงจากปีที่แล้ว เนื่องจากว่าประเทศคู่แข่ง เช่น สหรัฐอเมริกา และจีน ส่งออกหอมหัวใหญ่ไปขายในตลาดญี่ปุ่นในราคาถูกกว่า ราคาหอมหัวใหญ่สด ขนาดเบอร์ 0-1 ของอำเภอฝาง อำเภอไชยปราการ และอำเภอพร้าว มีราคาอยู่ระหว่างกิโลกรัมละ 7-8 บาท
มันฝรั่ง ปี 2558 ผลผลิตโดยรวม 120,699 ตัน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วร้อยละ 22 แยกเป็นมันฝรั่งพันธุ์โรงงาน 110,165 ตัน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วร้อยละ 24 ส่วนมันฝรั่งพันธุ์บริโภค 10,534 ตัน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว ร้อยละ 8 เนื่องจากภูมิอากาศหนาวเย็น ผลผลิตต่อไร่จึงสูงขึ้น และจากการที่ภาครัฐมีโครงการส่งเสริมปลูกมันฝรั่งพันธุ์โรงงานโดยประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรเข้าร่วมโครงการขยายพื้นที่ปลูก ทำให้เกษตรกรจำนวนมากสนใจที่จะปลูกมันฝรั่งพันธุ์โรงงานเพิ่มมากขึ้น โดยปลูกแทนข้าวนาปรัง กระเทียม และหอมแดง
ทั้งนี้ โรงงานแปรรูปจะมีการรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรเมื่อถึงฤดูกาลเก็บเกี่ยว โดยมีราคาประกันรับซื้อฤดูแล้งขั้นต่ำกิโลกรัมละ 10.40 บาท ฤดูฝนขั้นต่ำกิโลกรัมละ 14.00 บาท มันฝรั่งฤดูแล้งจะเก็บเกี่ยวผลผลิตภายในเดือนเมษายน ส่วนมันฝรั่งพันธุ์บริโภค สหกรณ์ผู้ปลูกมันฝรั่งเป็นผู้นำเข้าหัวพันธุ์มาส่งเสริมให้เกษตรกรปลูก ซึ่งจำนวนหัวพันธุ์ที่นำเข้ามาปีนี้เท่ากับปีที่แล้ว โดยผลผลิตจึงเพิ่มขึ้นไม่มากนัก และเก็บเกี่ยวผลผลิตขายออกสู่ตลาดไปเกือบหมดแล้ว ด้านราคามันฝรั่งพันธุ์บริโภคเกษตรกรขายผลผลิตได้อยู่ระหว่างกิโลกรัมละ 13-16 บาท ซึ่งราคาปีนี้ดีกว่าปีที่แล้วเล็กน้อย ส่วนมันฝรั่งพันธุ์โรงงาน มีโรงงานแปรรูปรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรที่มีสัญญาข้อตกลงซื้อในราคากิโลกรัมละ 12.40 บาท สูงกว่าราคาประกัน เกษตรกรที่ปลูกมันฝรั่งพันธุ์โรงงานจึงมีกำไรดีพอสมควร อย่างไรก็ตาม เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในการรับซื้อกับโรงงานแปรรูป เกษตรกรจะต้องทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้ากับทางบริษัทก่อนถึงฤดูกาลปลูกเพื่อเป็นหลักประกันที่แน่นอนให้กับเกษตรกร