- Details
- Category: เกษตร
- Published: Saturday, 28 March 2015 09:36
- Hits: 1680
ก.เกษตรฯ คาดผลผลิตข้าวนาปี-นาปรังปี 58 ลดลงจากปีก่อน ด้านส่งออกข้าวปีนี้อยู่ที่ 10 ล้านตัน
ก.เกษตรฯ คาดผลผลิตข้าวนาปี-นาปรังปี 58 ลดลงจากปีก่อน หลังปริมาณน้ำในเขื่อนขนาดกลางและขนาดใหญ่ที่ใช้การได้มีน้อย และไม่เพียงพอต่อการเพาะปลูก ด้านส่งออกข้าวปีนี้คาดอยู่ที่ 10 ล้านตัน
นายเลอศักดิ์ ริ้วตระกูลไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงสถานการณ์การผลิตและการตลาดข้าวนาปรัง ปี 2558 (คาดการณ์ ณ เดือนมีนาคม 2558) พบว่ามีเนื้อที่เพาะปลูก 8.87 ล้านไร่ ผลผลิต 5.52 ล้านตันข้าวเปลือก และผลผลิตต่อไร่ 622 กิโลกรัม เมื่อเทียบกับปี 2557 เนื้อที่เพาะปลูก ผลผลิต และผลผลิตต่อไร่ ลดลงร้อยละ 41 ร้อยละ 43 และร้อยละ 3 ตามลำดับ เนื่องจากปริมาณน้ำในเขื่อนขนาดกลางและขนาดใหญ่ที่ใช้การได้มีน้อย และไม่เพียงพอต่อการเพาะปลูก ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ออกประกาศงดการส่งน้ำเพื่อการปลูกข้าวนาปรัง ตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคม 2557 - 30 เมษายน 2558
ประกอบกับราคาข้าวมีแนวโน้มลดลง ทำให้เกษตรกรลดเนื้อที่เพาะปลูกลง โดยมีเกษตรกรปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อยกว่า เช่น พืชตระกูลถั่ว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ข้าวโพดหวาน และบางพื้นที่ปล่อยว่าง โดยผลผลิตออกสู่ตลาด ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ - ตุลาคม 2558 ซึ่งคาดว่าผลผลิตจะออกสู่ตลาดมากในช่วงเดือนมีนาคม - พฤษภาคม 2558 ปริมาณ 4.43 ล้านตันข้าวเปลือก หรือคิดเป็นร้อยละ 80 ของผลผลิตข้าวนาปรังทั้งหมด
สำหรับ ข้าวนาปี ปี 2558/59 (คาดการณ์ ณ เดือนมีนาคม 2558) พบว่า มีเนื้อที่เพาะปลูก 61.18 ล้านไร่ ผลผลิต 26.58 ล้านตัน และผลผลิตต่อไร่ 434 กิโลกรัม เมื่อเทียบกับปี 2557/58 เนื้อที่เพาะปลูก ผลผลิต และผลผลิตต่อไร่ ลดลงร้อยละ 1 ร้อยละ 2 และร้อยละ 1 ตามลำดับ เนื่องจากกรมอุตุนิยมวิทยาคาดหมายลักษณะอากาศปี 2558 ฝนจะมาล่าช้าหลังเดือนพฤษภาคม และมีปริมาณน้ำฝนน้อยจนถึงปลายเดือนมิถุนายน ส่งผลให้เกษตรกรเริ่มปลูกข้าวได้ช้า ประกอบกับราคาข้าวมีแนวโน้มลดลง เกษตรกรบางส่วนจึงปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่น เช่น อ้อยโรงงาน โดยผลผลิตออกสู่ตลาด ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2558 - เมษายน 2559 และคาดว่าผลผลิตจะออกสู่ตลาดมากในเดือนตุลาคม - พฤศจิกายน 2558 ปริมาณ 20.10 ล้านตันข้าวเปลือก หรือคิดเป็นร้อยละ 76 ของผลผลิตข้าวนาปีทั้งหมด
ด้านนายสุรศักดิ์ พันธ์นพ รองเลขาธิการและโฆษก สศก. กล่าวว่า การส่งออก ปี 2558 คาดว่าจะส่งออกข้าวปริมาณ 10.00 ล้านตันข้าวสาร ใกล้เคียงกับปี 2557 เนื่องจากราคาใกล้เคียงกับประเทศคู่แข่งขัน ประกอบกับภาครัฐยังคงต้องเร่งบริหารจัดการระบายข้าวในสต็อกของรัฐบาลที่ยังคงมีอยู่เป็นจำนวนมาก ด้วยวิธีการที่เหมาะสมในแต่ละช่วงเวลา โดยในเดือนมกราคม 2558 ไทยส่งออกข้าวได้ 0.61 ล้านตันข้าวสาร มูลค่า 10,887 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2557 ที่ส่งออกได้ 0.70 ล้านตันข้าวสาร มูลค่า 12,372 ล้านบาท ทั้งปริมาณและมูลค่าลดลงร้อยละ 12.86 และร้อยละ 11.96 ตามลำดับ
สำหรับ ราคาที่เกษตรกรขายได้ ในช่วง 2 เดือนแรกของปี (มกราคม - กุมภาพันธ์ 2558) ข้าวนาปีหอมมะลิ ราคาเฉลี่ยตันละ 12,834 บาท ลดลงจากตันละ 14,238 บาท ในช่วงเดียวกันของปี 2557 หรือลดลงร้อยละ 9.86 ข้าวเปลือกเจ้า ความชื้น 15% ราคาเฉลี่ยตันละ 7,884 บาท เพิ่มขึ้นจากตันละ 7,871 บาท ในช่วงเดียวกันของปี 2557 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.16 ทั้งนี้ คาดว่าราคาข้าวเปลือกเจ้า ความชื้น 15% ยังคงทรงตัวอยู่ในระดับตันละ 7,500 - 8,000 บาท แม้ว่าผลผลิตจะลดลง เนื่องจากยังคงมีข้าวในสต๊อกของภาครัฐอยู่เป็นจำนวนมาก
ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯ ยังคงมีการดำเนินงานตามมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ฤดูการผลิตปี 2557/58 โดยร่วมกับหน่วยงานต่างๆ เช่น ธ.ก.ส. และ กระทรวงพาณิชย์ ได้แก่ โครงการเชื่อมโยงการตลาดข้าวในประเทศและต่างประเทศ โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร และโครงการลดดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อการผลิตแก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2557/58 ซึ่งปัจจุบันยังคงดำเนินการในจังหวัดภาคใต้
นอกจากนี้ ยังมีโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปี 2557/58 (ประกันยุ้งฉาง) โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต๊อกข้าว ปี 2557/58 การเร่งหาตลาดใหม่ตามมาตรการผลักดันการส่งออกข้าวและขยายตลาดข้าวในต่างประเทศ ซึ่งในระยะยาว จะมีการดำเนินการจัดตั้งกองทุนข้าวและชาวนาแห่งชาติ การกำหนดเขตเกษตรเศรษฐกิจ (Zoning) การจัดตั้งสถาบันพัฒนาการพาณิชย์ข้าว และโครงการจัดตลาดนัดข้าวและพืชไร่ ปีการผลิต 2557/58
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย