- Details
- Category: เกษตร
- Published: Thursday, 26 March 2015 23:44
- Hits: 1960
ก.เกษตรฯ เผย กองทุน FTA คลอดงบ 4.2 ล้านบาท เร่งผลิตอาหารหยาบลดต้นทุนการเลี้ยงโคนม
ก.เกษตรฯ เผย กองทุน FTA อนุมัติโครงการสร้างความมั่นคงทางอาหารหยาบให้โคนมด้วยหญ้าเนเปียร์ปากช่อง 1 งบประมาณ 4.2 ล้านบาท หวังสร้างความมั่นคงและลดค่าใช้จ่ายด้านอาหารหยาบให้สมาชิกสหกรณ์ในเครือข่ายชุมนุมสหกรณ์โคนมภาคใต้และตะวันตก จำกัด และเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมในพื้นที่ใกล้เคียง
นายเลอศักดิ์ ริ้วตระกูลไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนปรับโครงสร้างการผลิตภาคเกษตรเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ หรือกองทุน FTA เมื่อวันที่ 20 มีนาคม ที่ผ่านมา ว่าคณะกรรมการบริหารกองทุนฯ ได้อนุมัติงบประมาณ 4.2 ล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการสร้างความมั่นคงทางอาหารหยาบให้โคนมด้วยหญ้าเนเปียร์ปากช่อง 1 ของชุมนุมสหกรณ์โคนมภาคใต้และตะวันตก จำกัด เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนอาหารหยาบสำหรับเลี้ยงโคนมทดแทน ซึ่งปริมาณอาหารหยาบในพื้นที่ ได้แก่ เปลือกสับปะรด ฟาง หญ้าสดและอาหารหมักต่างๆ มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมและโคเนื้อในพื้นที่มีการขยายฝูงโคเพิ่มมากขึ้น ทำให้อาหารหยาบในพื้นที่มีไม่เพียงพอต่อความต้องการ และมีราคาที่เพิ่มสูงขึ้น จนส่งผลกระทบต่อต้นทุนการเลี้ยง โคนมของเกษตรกร
กองทุน FTA จึงได้สนับสนุนงบประมาณให้ชุมนุมดำเนินการปลูกหญ้าพันธุ์เนเปียร์ปากช่อง 1 ใน ตำบลหนองตาแต้ม อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งมีเป้าหมายการปลูกในปีที่ 1 จำนวน 50 ไร่ ส่วนปีที่ 2-6 ปลูกเพิ่มปีละ 20 ไร่ รวมพื้นที่แปลงหญ้าทั้งโครงการประมาณ 150 ไร่ โดยสามารถผลิตหญ้าเนเปียร์ปากช่อง 1 ได้ ไม่น้อยกว่า 7,500 ตัน เมื่อสิ้นโครงการ และสามารถลดค่าใช้จ่ายด้านอาหารหยาบ (หญ้า) ได้ 0.65 บาท/กก. หรือประมาณ 4,700 บาท/ตัว/ปี รวมทั้งยังสามารถผลิตอาหารหมักและอาหาร TMR บริการให้กับสหกรณ์สมาชิกในเครือข่าย นอกจากนี้ โครงการยังเป็นศูนย์ศึกษาเรียนรู้ในการศึกษาดูงาน และการศึกษาวิจัยในการพัฒนาการผลิตอาหารหยาบสำหรับโคนม ให้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมรวมทั้งผู้สนใจทั่วไปอีกด้วย
สำหรับ เกษตรกรผู้ผลิตสินค้าเกษตรอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า ที่มีความประสงค์จะขอรับเงินช่วยเหลือจากกองทุนฯ สามารถจัดทำเป็นโครงการปรับโครงสร้างการผลิตสินค้านั้นๆ เสนอผ่านหน่วยงานราชการระดับกรม เพื่อส่งต่อให้สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการบริหารกองทุนฯ เพื่อให้การช่วยเหลือต่อไปได้เช่นกัน ทั้งนี้สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ ที่ส่วนบริหารกองทุนภาคเกษตร เบอร์โทรศัพท์ 0 2561 4727 หรือโทรสาร 0 2561 4726 และที่ www2.oae.go.th/FTA หรือทาง E-mail : [email protected]
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย