- Details
- Category: เกษตร
- Published: Wednesday, 11 June 2014 22:21
- Hits: 3469
ก.เกษตรฯ รุกเมืองเกษตรสีเขียว จ.ราชบุรี หวังขยายโอกาสทางการค้า ก้าวสู่เศรษฐกิจสีเขียว
ก.เกษตรฯ รุกโครงการเมืองเกษตรสีเขียว จังหวัดราชบุรี หนึ่งในจังหวัดเป้าหมายตามโครงการ จับมือทุกหน่วยเปิดเวทีประชุมการจัดทำ Green GPP ภาคเกษตร หวังขยายโอกาสทางการค้า ก้าวสู่เศรษฐกิจสีเขียว ดันตำบลบ้านสิงห์ อำเภอโพธาราม ขับเคลื่อนโครงการ เผย ปี 57 เดินหน้าจัดเก็บข้อมูลการผลิตในพื้นที่ และรวบรวมข้อมูลเบื้องต้นสำหรับการคำนวณต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อม
นายธวัชชัย ประยูรสิน ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 10 ราชบุรี (สศข.10) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงโครงการเมืองเกษตรสีเขียว ซึ่งนับเป็นโครงการที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ริเริ่มและกำหนดให้เป็นโครงการที่สำคัญ (Flagship Project) ในลำดับที่ 2 ที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ประเทศ โดยมี 6 จังหวัดนำร่อง ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ หนองคาย ศรีสะเกษ จันทบุรี พัทลุง และราชบุรี เพื่อพัฒนาระบบการผลิตทางการเกษตรที่คำนึงถึงการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ในการเป็นต้นแบบสำหรับการพัฒนาการเกษตรในระดับพื้นที่ให้มีความยั่งยืน ซึ่งมีตัวชี้วัดที่สำคัญของโครงการ คือ ผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด (Gross Provincial Product : GPP) อันเป็นเครื่องมือในการบ่งบอกว่าการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของจังหวัดโดยไม่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แสดงให้เห็นถึงผลกระทบของการพัฒนาเศรษฐกิจที่มีต่อสิ่งแวดล้อม ต่อการก้าวสู่เศรษฐกิจสีเขียวและขยายโอกาสทางการค้า
ในการนี้ สศข.10 จึงได้จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง การจัดทำผลิตภัณฑ์จังหวัดสีเขียว (Green GPP) ภายใต้โครงการเมืองเกษตรสีเขียว ณ โรงแรมเวสเทริน์แกรนด์ จังหวัดราชบุรี เมื่อวันที่ 10 มิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจากหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และในจังหวัดราชบุรีเข้าร่วม ซึ่งจังหวัดราชบุรี เป็น 1 ในจังหวัดนำร่องที่กำหนดให้มีศักยภาพและโดดเด่นในการผลิตสินค้าเกษตร กำหนดเลือกพื้นที่ดำเนินการในลักษณะบูรณาการทุกหน่วยงานทั้งในกระทรวงและนอกกระทรวง ณ ตำบลบ้านสิงห์ อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี โดยมีแนวคิดในการนำเอาต้นทุนที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการผลิต เช่น ต้นทุนในการบำบัดฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมที่เสียหายจากการผลิต นำไปหักออกจากผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมประชุมได้ร่วมแสดงความคิดเห็นด้วยความสนใจ เช่น เรื่องฐานข้อมูลวัฎจักรชีวิต Life Cycle Inventory หรือ LCI ทั้งข้อมูลเกี่ยวกับชนิดสินค้า และกรอบระยะเวลาของการดำเนินงาน เป็นต้น ซึ่งในปี 2557 สศข.10 จะดำเนินการจัดเก็บข้อมูลการผลิตในพื้นที่นำร่อง ตรวจสอบแหล่งข้อมูล และรวบรวมข้อมูลเบื้องต้นสำหรับการคำนวณต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อมต่อไป นายธวัชชัย กล่าว