WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

ธกส.ดันมาตรการแก้จนเข้าครม. วงเงินกว่า 116,000 ล้านบาท

     แนวหน้า : ธกส.ดันมาตรการแก้จนเข้าครม. วงเงินกว่า 116,000 ล้านบาท ‘พักหนี้’เกษตรกร 3.4 แสนราย

   นายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ธนาคารได้เตรียมเสนอมาตรการแก้ปัญหาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำของเกษตรกรรายย่อย เนื่องจากภาระหนี้สิน และราคาผลผลิตตกต่ำ เพื่อเสนอต่อ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ( คสช. ) แล้ว คาดว่า กระทรวงการคลัง จะนำเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุม ครม. เร็วๆ นี้ ซึ่งเป้าหมายของโครงการแก้ปัญหาหนี้สินผ่านระบบ ธ.ก.ส. จะมุ่งช่วยเกษตรกรรายย่อยมีหนี้สินรายไม่เกิน 500,000 บาท รวมทั้งสิ้น 818,000 ราย คิดเป็นมูลหนี้กว่า 116,000 ล้านบาท ผ่าน 3 โครงการ ได้แก่

    1.โครงการปลดเปลื้องหนี้สิน เพื่อช่วยเกษตรกรไม่มีศักยภาพ หรือมีเหตุผิดปกติ เช่น เสียชีวิต ทุพหลภาพ เจ็บป่วยเรื้อรัง 28,000 ราย มีมูลหนี้ 4,000 ล้านบาท โดย ธ.ก.ส. จะปลดหนี้ด้วยการจำหน่ายเป็นหนี้สูญ ตัดออกจากบัญชีธนาคาร

     สำหรับ โครงการที่ 2 คือ โครงการปรับโครงสร้างหนี้ เน้นกลุ่มเกษตรกรที่ยังมีความสามารถในการประกอบอาชีพ แต่มีปัญหาในการชำระหนี้จากเหตุสุจริต หรือมีภาระหนัก มีประมาณ 340,000 ราย คิดเป็นมูลหนี้ 48,000 ล้านบาท เบื้องต้นไม่ต้องชำระเงินต้นเป็นเวลา 3 ปี เว้นแต่รายที่มีเหตุจำเป็น สามารถผ่อนชำระเงินต้นตามข้อตกลงแต่ไม่เกิน 10 ปี เว้นแต่มีความจำเป็นอาจขยายได้ถึง 15 ปี และคิดดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้าที่ปรับโครงสร้างในอัตราปกติ รวมทั้งปล่อยกู้ตามแผนฟื้นฟูการประกอบอาชีพไม่เกิน 50,000 บาทต่อราย มีวงเงินสินเชื่อที่เตรียมไว้ 15,000 ล้านบาท คิดดอกเบี้ยปกติของ ธ.ก.ส.

     ขณะที่โครงการที่ 3 คือ โครงการขยายเวลาชำระหนี้ เน้นกลุ่มที่มีศักยภาพในการประกอบอาชีพ แต่ได้รับผลกระทบจากการงดทำนาปรังและราคายางตกต่ำ วงเงิน 450,000 ราย มูลหนี้ 64,000 ล้านบาท ซึ่งธนาคารจะขยายเวลาชำระหนี้ตามศักยภาพของเกษตรกร  งดคิดดอกเบี้ยปรับแต่จะคิดดอกเบี้ยตามอัตราปกติของธนาคาร รวมถึงจะปล่อยกู้เพิ่มเพื่อสนับสนุนให้ปลูกพืชอื่นทดแทน ไม่เกิน 1 แสนบาทต่อราย มีวงเงินสินเชื่อ 35,000 ล้านบาท คิดดอกเบี้ยอัตราปกติ ทั้งนี้มาตรการนี้ให้เริ่มได้ตั้งแต่ 1 เม.ย.2558 - 31 มี.ค.2559

   ทั้งนี้ จากการสำรวจข้อมูลของ ธ.ก.ส. ณ.วันที่  31 ม.ค.2558 พบว่า เกษตรกรลูกค้าของ ธ.ก.ส. 3.52 ล้านคน มีหนี้สินรวม 766,000 ล้านบาท คิดเป็นหนี้สินเฉลี่ยต่อราย 217,000 บาท แบ่งเป็นลูกค้าที่ไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด 325,000 ราย คิดเป็น 9.24% ของลูกค้าทั้งหมด มีมูลหนี้รวมกว่า 79,200 ล้านบาท คิดเป็น 10.33% ของหนี้ทั้งหมด

  อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาแนวโน้มปัญหาหนี้สินเกษตรกร ช่วงเดือน ธ.ค.2557 ยอดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ปรับตัวสูงขึ้นมาอยู่ที่ระดับกว่า 50,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นกว่า 6% ของยอดสินเชื่อคงค้าง ถือว่าสูงจากต้นปี 57 ที่มียอดเอ็นพีแอลอยู่ที่ระดับ 4% ซึ่งเป็นผลจากราคาผลผลิตตกต่ำ โดยเฉพาะภาคใต้และอีสานที่ราคายางตกต่ำ , ประสบภัยธธรรมชาติ , มีค่าใช้จ่ายในครัวเรือนแบบฉุกเฉิน

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!