WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

ก.วิทย์ฯสกัดสมุนไพรไทยใช้ประโยชน์ สู่ธุรกิจส่งออกทำเงินหมื่นล้าน

     แนวหน้า : ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมด้วย ศ.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยี (นาโนเทค) ภายใต้สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) นายยงวุฒิ เสาวพฤกษ์ ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วว.) ดร.นเรศ ดำรงชัย ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (TCELS) และนางเกศมณี เลิศกิจจา นายกสมาคมเครื่องสำอางไทย ร่วมแถลงข่าว ความก้าวหน้าการนำวิจัยใช้ประโยชน์จากการเพิ่มมูลค่าสมุนไพรไทยด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม

     ดร.พิเชฐ กล่าวว่า หนึ่งในนโยบายสำคัญของรัฐบาลคือ การผลักดันงานวิจัยและพัฒนาไปสู่การใช้ประโยชน์เชิงพานิชย์ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้นำผลงานวิจัยใช้ประโยชน์ อันเกิดจากเพิ่มมูลค่าสมุนไพรไทย ด้วยวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) เน้นการใช้ประโยชน์จากความหลากหลายของพันธุ์ไม้ต่างๆ และมุ่งเน้นการนำ วทน.มารวมกับ ภูมิปัญญาไทย มายกระดับมาตรฐานเทียบเท่าสากล เนื่องจากประเทศไทยได้เข้าสู่ประประชาคมอาเซียน ภายในปี 2558 ซึ่งทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ได้มีการปรับกฎระเบียบเครื่องสำอางให้สอดคล้องกันในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน ว่าด้วยการใช้เกณฑ์หรือข้อบังคับเดียวกันสำหรับผลิตภัณฑ์ ที่ระบุให้ผู้ผลิตต้องปฏิบัติตามวิธีการที่ดีในการผลิตเครื่องสำอางอาเซียนหรือ ASEAN GMP (ASEAN Good Manufacturing Practice: GMP) และการประเมินความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่ออกสู่ตลาด

   ดร.พิเชฐ กล่าวว่า หลายหน่วยงานภายใต้กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ที่กำลังพัฒนางานวิจัยใช้ประโยชน์ในกลุ่มสมุนไพรทั้งผลิตเครื่องสำอาง เวชสำอาง อาหารเสริมและยา ได้แก่ ศูนย์นาโนเทคฯ สวทช. วว. และ TCELS ดำเนินการผลิต และพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง รวมถึงการก่อสร้างโรงงานผลิตเครื่องสำอางต้นแบบ โรงงานผลิตสารสกัดสมุนไพรเพื่อผลิต ผลิตภัณฑ์เวชสำอาง ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และยา ตามมาตรฐาน GMP เพื่อยกระดับมาตรฐานภาคธุรกิจเพื่อการส่งออก สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก โดยเฉพาะมูลค่าส่งออกเครื่องสำอางไทยคาดว่าจะสูงถึงกว่า 21,200 ล้านบาท คาดว่าจะลดการนำเข้าวัตถุดิบสารสกัดได้ถึง 2,000 ล้านบาท อีกทั้งยังสามารถสร้างงานและรายได้ ให้คนไทยในอนาคต

   ศ.นพ.สิริฤกษ์ กล่าวว่า ศูนย์นาโนเทคฯ สวทช. ได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีจากงานวิจัยสู่เชิงพาณิชย์แล้ว ได้แก่ 1.โลชั่นน้ำมันรำข้าวนาโน ช่วยบำรุงให้รากผมแข็งแรงชะลอการหลุดร่วง เพิ่มมูลค่าแก่รำข้าวลดการเหลือทิ้งในกระบวนการสีข้าว 2.แป้งหอมศรีจันทร์ทานาคา มีการพัฒนาสูตรตำรับพิเศษ ให้เนื้อแป้งละเอียดขึ้น เปียกน้ำได้ง่ายขึ้นและล้างออกได้ง่ายขึ้นช่วยลดความมันบนใบหน้า แก้ปัญหาให้กับผู้ประกอบการได้อย่างตรงความต้องการ เป็นต้น ปัจจุบัน ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สวทช. อยู่ระหว่างก่อสร้างโรงงานผลิตเครื่องสำอางต้นแบบมาตรฐาน GMP และจัดหางบประมาณสำหรับจัดซื้อครุภัณฑ์ เพื่อการจัดตั้งโรงงานต้นแบบในระดับ Pilot Scale เพื่อทดลองผลิตแก่ผู้ประกอบการภาคเอกชนก่อนการลงทุนผลิตในระดับอุตสาหกรรมจริง ซึ่งคาดว่าโรงงานผลิตเครื่องสำอางต้นแบบมาตรฐาน GMP จะพร้อมให้บริการประมาณเดือนมิถุนายน 2559 แก่ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม, SMEs และ OTOP ในรูปแบบ One-Stop Service

   นายยงวุฒิ เสาวพฤกษ์ ผู้ว่าการ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วว.) กล่าวว่า วว. มีโครงการสร้างโรงงานผลิตสารสกัดสมุนไพรเพื่อผลิตผลิตภัณฑ์เวชสำอาง ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและยา ตามมาตรฐาน GMP/PICs  โดยกำลังดำเนินการในปี 2559  เพื่อยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ยา ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและเครื่องสำอาง/เวชสำอางจากสารสกัดสมุนไพรตามหลักเกณฑ์ GMP หรือ GMP PIC/S และช่วยลดต้นทุนการผลิตดังกล่าวให้ภาค SMEs รวมทั้งการขยายกำลังการผลิตจากระดับห้องปฏิบัติการวิจัยสู่ระดับเชิงพาณิชย์ นับเป็นการยกระดับภาคธุรกิจด้านอุตสาหกรรมการผลิต ยา ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และเวชสำอางจากสารสกัดสมุนไพร เป็นแหล่งเรียนรู้กระบวนการผลิตสมุนไพรที่ได้มาตรฐานและเพิ่มคุณภาพชีวิตของเกษตรกรผู้ปลูกสมุนไพรและประชาชนผู้บริโภคผลิตภัณฑ์สมุนไพร

   ด้าน ดร.นเรศ ดำรงชัย ผอ.TCELS กล่าวว่า TCELS สนับสนุนโครงการเทคโนโลยีชีวภาพเซรั่มน้ำยางพารา เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์สุขภาพและเครื่องสำอางมูลค่าสูงสู่เชิงพาณิชย์ โดยพัฒนาโรงงานต้นแบบในการผลิตสารสกัดตามมาตรฐาน GMP ตลอดจนพัฒนาสารสกัดเป็นสูตรต้นตำรับผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางมูลค่าสูงมากมายหลายชนิด โดยในปีที่ผ่านมามีภาคเอกชน รายย่อยและ SMEs สนใจนำสารสกัดไปพัฒนาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาดแล้ว  และด้วยกำลังของโรงงานต้นแบบที่มีอยู่ไม่สามารถรองรับการผลิตได้เพียงพอต่อความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ TCELS จึงวางแผนจัดทำแผนการขยายผลการผลิตสารสกัดยางพารามูลค่าสูงสู่เชิงพาณิชย์ ลงสู่ท้องถิ่น 4 ภาค ได้แก่ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ โดยจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากสหกรณ์สวนยางเข้าร่วมโครงการไม่น้อยกว่า 4 แห่ง ขณะนี้ TCELS ได้รับสิทธิบัตรแล้วใน 4 ประเทศคือ ไทย สิงคโปร์ จีน และอินโดนีเซีย และนอกจากผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางจากสารสกัดยางพาราแล้ว ยังมีอาหารเสริมทางการแพทย์ และเป็นสารตั้งต้นสำหรับเป็นยารักษาโรคมะเร็งได้อีกด้วย

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!