- Details
- Category: เกษตร
- Published: Wednesday, 11 March 2015 11:27
- Hits: 1689
กฟก.กับการเพิ่มศักยภาพเกษตรกรไทย เร่งแก้ไขปัญหาหนี้และเน้นการฟื้นฟูอาชีพเกษตรกร
กฟก.กับการเพิ่มศักยภาพเกษตรกรไทย เร่งแก้ไขปัญหาหนี้และเน้นการฟื้นฟูอาชีพเกษตรกร ปัญหาหนี้สินของเกษตรกร เป็นปัญหาใหญ่ที่เกิดขึ้นกับภาคการเกษตรของไทยมาอย่างยาวนานและต่อเนื่อง และเป็นปัจจัยสำคัญที่บั่นทอนความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ
โดยที่ผ่านมา หน่วยงานภาครัฐตลอดจนทุกรัฐบาล มีความพยายามในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว เพื่อให้ภาคการเกษตรของไทย สามารถเดินหน้าเข้าสู่โลกแห่งการแข่งขันทางการค้ายุคใหม่ ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ โดยมีหน่วยงานสำคัญอย่าง “กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร” หรือ กฟก.เป็นหน่วยงานหลักที่ร่วมกับหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องอื่นๆ เป็นหัวหอกสำคัญในการแก้ไขปัญหาเหล่านี้
นับจากปี พ.ศ 2544 ตามพรบ. กองทุนฟื้นฟูฯ จวบจนปัจจุบัน ที่สามารถดำเนินภารกิจดังกล่าวให้ลุล่วงไปได้ในระดับหนึ่ง บนความสำเร็จของการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกร รวมไปถึงการพัฒนาและเพิ่มขีดความสามารถและศักยภาพของเกษตรกร ตามเจตนารมณ์ และ เป้าหมายแห่งการฟื้นฟูภาคการเกษตรไทย ให้สามารถเดินหน้าอย่างเต็มกำลัง และลดปัญหาความเดือดร้อนตลอดจนการพัฒนาในด้านต่างๆ ของพี่น้องเกษตรกร
นายวัชระพันธุ์ จันทรขจร เลขาธิการสำนักงานกองทุนฟื้นฟูฯ เปิดเผยว่า “ที่ผ่านมา กองทุนฟื้นฟูฯ ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาหนี้และการฟื้นฟูอาชีพให้กับเกษตรกรที่มาขึ้นทะเบียนสมาชิกไปแล้วกว่า 500,000 ราย ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ และบริหารจัดการหนี้แทนอีกกว่า 28,460 ราย ช่วยรักษาที่ดินทำกิน กว่า 140,429 ไร่ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการเดินหน้าพัฒนาศักยภาพให้แก่เกษตรกรในด้านอื่นๆ ต่อไป
ในจำนวนสมาชิกเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนหนี้กับกองทุนฟื้นฟูฯ ประมาณ 500,000 ราย เป็นหนี้ปกติ มีคุณสมบัติไม่ถูกต้องกว่า 270,000 ราย ส่วนที่เป็นหนี้ผิดนัดชำระ (NPL) ขึ้นไป กองทุนฟื้นฟูฯมีการกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหา โดยได้กำหนดหลักเกณฑ์การชำระหนี้แทนดังนี้ ในกรณีที่เป็นลูกหนี้สหกรณ์ จะชำระหนี้แทนเมื่อมีการผิดนัดชำระเกิน 3 ปี ขึ้นไป ส่วนหนี้ของสถาบันการเงินอื่นๆเช่น ธ.ก.ส. ธนาคารพาณิชย์และนิติบุคคลจะต้องเป็นหนี้ที่ถูกฟ้องร้องดำเนินคดี โดยกองทุนฟื้นฟูฯจะติดต่อชำระหนี้แทนทุกสถาบันการเงินที่ยินยอมให้กองทุนฟื้นฟูฯ เข้าไปชำระหนี้แทน และสุดท้าย หนี้ที่ถูกบังคับคดีขายทอดตลาดไปยังบุคคลอื่นหรือเจ้าหนี้ซื้อทรัพย์ไว้ กระบวนการเหล่านี้ ทางกองทุนฟื้นฟูฯ จะติดตามขอซื้อทรัพย์คืนจนเสร็จสิ้น
นอกจากนี้ จะยังมีการดำเนินการติดตาม และแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อภาคการเกษตรและเกษตรกรของไทย รวมถึงการให้ความรู้ และสร้างเสริมแนวทางการพัฒนา อันเป็นการต่อยอดจากการจัดการปัญหาหนี้สินให้กับเกษตรกร เพื่อให้เกษตรกรสามารถยืนหยัดและพึ่งพาตนเองได้ ตลอดจนร่วมมือกับองค์กรหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ ทั้งในระดับส่วนกลางและท้องถิ่นเพื่อเพิ่มศักยภาพในด้านต่างๆ ให้กับเกษตร เพื่อให้สามารถสร้างผลผลิต และมีความสามารถในการแข่งขันมากขึ้น ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญในการยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตร และยกระดับขีดความสามารถในภาคการเกษตรของไทย” นายวัชระพันธุ์ เลขาธิการสำนักงานกองทุนฟื้นฟูฯ กล่าว
จากจำนวนเกษตรกรที่ได้รับการฟื้นฟูและพัฒนาอาชีพ โดยกองทุนฟื้นฟูฯ ที่ผ่านมา แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการสร้างรากฐานและการบริหารจัดการหนี้ให้กับเกษตรกรได้เป็นอย่างดี ซึ่งตัวเลขสมาชิกกว่า 500,000 ราย ที่ครอบคลุมทุกพื้นที่ เป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาคุณภาพชีวิต และ สร้างสรรค์ผลผลิตที่มีคุณภาพได้เป็นจำนวนมาก
นอกจากนี้ แนวทางที่ชัดเจนในการแก้ปัญหาโดยกองทุนฟื้นฟูฯ ยังเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับเจ้าหนี้ และเกษตรกรลูกหนี้ ที่จะหาแนวทางการแก้ไขปัญหาร่วมกัน และบูรณาการปัญหา ก่อนเข้าสู่กระบวนการขั้นตอนในการพัฒนายกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรสมาชิกต่อไป
จากจุดเริ่มต้นแห่งปัญหา เมื่อภาคการเกษตรไทยเข้าสู่โลกแห่งการค้าเต็มรูปแบบ รวมทั้งปัจจัยการผลิตที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะการเข้ามาของการเกษตรในยุคใหม่ ที่มีเรื่องของ “ราคาปัจจัยทางการผลิต” ซึ่งเป็นต้นทุน และ ปัจจัยในเรื่องของราคา จากการรับซื้อผ่านกลไกการตลาด ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของความล้มเหลวในภาคการเกษตร จนเป็นสาเหตุให้เกิด “หนี้”ในภาคการเกษตร และกับตัวของเกษตรกร ที่สร้างความเดือดร้อน และบั่นทอนความเจริญในภาคการผลิต และภาคการเกษตรของไทย สู่การเข้ามาแก้ไขฟื้นฟูและพัฒนาอาชีพโดยกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ได้ประสบผลสำเร็จชัดเจนเป็นรูปธรรมในระดับที่น่าพอใจ และมีการกำหนดแนวทางในอนาคต เพื่อให้งานด้านการฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร และภาคการเกษตรของไทย เป็นไปในทิศทางเดียวกัน บนความต่อเนื่อง และผลสัมฤทธิ์ที่จะตามมา
กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร จึงมีบทบาททวีความสำคัญมากขึ้น โดยเฉพาะในอนาคต ที่การแข่งขันทางภาคการเกษตรของไทย จะมีความเข้มข้น ทั้งจากการเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมอาเซียน หรือ AEC ในปีนี้ และการเปลี่ยนแปลงของวงจรตลาดสินค้าเกษตรและเพื่อสนองตอบต่อนโยบายของรัฐบาล ที่ต้องการให้เกิดการแก้ไขปัญหาในภาคการเกษตรของไทย อย่าง มั่นคง และยั่งยืน กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร จึงมีแนวทางที่ชัดเจนในการจะสร้างความเชื่อมั่นอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในทุกภารกิจอย่างสมบูรณ์แบบ เพื่อสร้างรากฐานสำคัญ ทั้งในด้านการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นแล้ว และการเตรียมความพร้อมให้กับเกษตรกรไทย และภาคการเกษตรไทย ที่กำลังจะเดินหน้าสู่อนาคต ได้อย่างเต็มศักยภาพ และเพิ่มศักยภาพในด้านต่างๆ ให้กับผลผลิตอย่างเต็มประสิทธิภาพ ตลอดจนยกระดับคุณภาพของชีวิตเกษตรกรไทยในอนาคตเพื่อให้สามารถยืนหยัดและแข่งขันบนโลกการค้ายุคใหม่ อย่างทัดเทียมและมีคุณภาพ ซึ่งจะเป็นการช่วยให้ภาคการเกษตรไทย เติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน ได้อย่างแท้จริง