- Details
- Category: เกษตร
- Published: Monday, 09 March 2015 21:58
- Hits: 1840
ก.เกษตรฯ เผยสหกรณ์ทั่วปท.ยังเข้มแข็ง เสริมมาตรการป้องกันความเสี่ยง
นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงฯได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นแล้ว ประกอบด้วย การดำเนินการเรื่องของคดีความทั้งคดีแพ่ง 5 คดี และคดีอาญา 5 คดี โดยส่วนของคดีแพ่ง ที่ศาลกำหนดวันนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 20 มีนาคม 2558 นี้ไม่ว่าคำพิพากษาจะออกมาในรูปแบบใด กรมตรวจบัญชีสหกรณ์และกรมส่งเสริมสหกรณ์ได้เตรียมการรองรับตามที่ศาลมีคำสั่งไว้ในเบื้องต้นแล้ว ทั้งกรณีศาลมีคำสั่งให้ล้มละลาย ก็ต้องว่ากันไปตามกฎหมายว่าด้วยการล้มละลาย หรือ ดำเนินการฟื้นฟู ซึ่งก็ต้องมาพิจารณาอีกว่าการฟื้นฟูนั้นศาลจะสั่งให้ใครเป็นผู้ฟื้นฟู และบริหารแผนฟื้นฟู สหกรณ์
ซึ่งหากศาลไม่สั่งให้สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นเป็นผู้ดำเนินการบริหารแผนฟื้นฟู กระทรวงเกษตรฯ จะนำเสนอผู้บริหารแผนผู้มีประสบการณ์ตามข้อกำหนดของกรมบังคับคดี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่มาของรายได้ ค่าหุ้นของสมาชิก ค่าเช่าอาคารที่สหกรณ์มีอยู่ รายได้จากการฟ้องบังคับดคี หรือลดภาระค่าใช้จ่ายในส่วนอื่นๆ ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ จะต้องนำเสนอเข้าครม.เพื่อของบประมาณบางส่วนในการบริหารแผนฟื้นฟู ซึ่งมีระยะ 5 ปี เพื่อชำระหนี้คืนให้แก่สมาชิก
"ต้องรอคำพิพากษาของศาลที่แน่ชัดอีกครั้ง สำหรับคดีอาญา ทั้งกรมตรวจบัญชีสหกรณ์และกรมส่งเสริมสหกรณ์ได้ให้ข้อมูล เอกสารที่ทั้งสองหน่วยงานมีอยู่ และประสานงานกับดีเอสไออย่างใกล้ชิดมาโดยตลอด เพื่อให้การดำเนินการไปตามขั้นตอนของกฏหมายต่อไป"
ด้านการสร้างความเชื่อมั่นต่อระบบสหกรณ์ของประเทศ ซึ่งยืนยันว่าขณะนี้สหกรณ์ทุกประเภท คิดเป็น จำนวนสหกรณ์ทั้งสิ้น 8,161 สหกรณ์ สมาชิก 11.27 ล้านครอบครัว ปริมาณธุรกิจรวม 2.25 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 16.48 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP) ในภาพรวมยังมีความเข้มแข็งอยู่ ซึ่งจากการที่กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ได้ส่งเจ้าหน้าที่สอบบัญชีเข้าไปดำเนินการสอบบัญชีอย่างเข้มข้น และจัดชั้นประเภทสหกรณ์ โดยส่วนใหญ่เป็นสหกรณ์กลุ่มดี กับกลุ่มพอใช้ พบสหกรณ์ที่มีความเสี่ยงเพียง 1 - 2% เท่านั้น โดยเป็นสหกรณ์ที่ตั้งขึ้นใหม่ ผู้บริหารดำเนินธุรกิจไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์
สำหรับ กรณีมีการทุจริตจะเข้าไปดำเนินการกำกับดูแลอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน โดยล่าสุดได้มีการตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาสหกรณ์ในระดับจังหวัด ซึ่งประกอบด้วยผู้แทน ธกส. กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กรมส่งเสริมสหกรณ์ และผู้แทนสหกรณ์ ซึ่งคณะกรรมการชุดดังกล่าวจะมีอำนาจในมาตรา 19 ตาม พ.ร.บ.สหกรณ์ฯ พ.ศ. 2542 ซึ่งมีอำนาจเรียกตรวจเอกสาร แนะนำสหกรณ์ที่คาดว่าจะมีปัญหา หรือมีแนวโน้มว่าจะเกิดปัญหา โดยจะดำเนินการตามลำดับ คือ 1) ให้แนะนำ 2) ให้แก้ไข 3.) ให้กรรมการพ้นจากตำแหน่ง
ขณะเดียวกัน กรมส่งเสริมสหกรณ์และกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ร่วมมือกับธนาคารแห่งประเทศไทยในการประเมินภาพรวมความเสี่ยงด้านการเงิน การบริหารจัดการของสหกรณ์ และจัดระดับความเสี่ยงของสหกรณ์แต่ละแห่งที่นำเงินไปลงทุนประเภทต่าง ๆ หรือลงทุนในธุรกิจที่มีความเสี่ยงสูง ก็จะประกาศให้เป็นสหกรณ์ที่มีระดับความเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวัง รวมถึงการให้สหกรณ์เข้าระบบเครดิตบูโรให้มากขึ้น จากเดิมที่สมาชิกจะเข้าระบบเครดิตยูโรแบบสมัครใจเท่านั้น ซึ่งจะทำให้การบริหารสินเชื่อของสหกรณ์มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น นอกจากนี้ กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ยังรื้อระบบเรื่องจรรยาบรรณผู้สอบบัญชี และการ QC ผู้สอบบัญชีภาคเอกชนใหม่ทั้งหมด เพื่อไม่ให้เกิดขึ้นอีก โดยตั้งโรงเรียนผู้สอบบัญชี ซึ่งจะทำให้ระบบการสอบบัญชีเข้มข้นมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ยังมีแนวคิดให้มีคณะทำงานขึ้นมา 1 ชุดมาตรวจสอบสหกรณ์ทั้งระบบโดยเฉพาะในเรื่องโครงสร้าง วิธีการ เช่น การแยกระบบของการตรวจสอบระหว่างสหกรณ์การเกษตร กับสหกรณ์ประเภทอื่นๆ ที่กระทรวงเกษตรฯ ไม่ชำนาญเพียงพอ และเรื่องรายละเอียดของ พ.ร.บ.สหกรณ์ ใน 2 ประเด็น คือ การให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจในการป้องกันความเสียหายได้ โดยเพิ่มอำนาจการตรวจสอบการดำเนินงานของบุคคลภายนอก จากเดิมให้มีการตรวจสอบได้แต่คณะกรรมสหกรณ์เท่านั้น และ เงินสำรองประเภทต่างๆ ที่เดิมต้องเก็บไว้ที่สหกรณ์ ตามมาตรา 60 พ.ร.บ.สหกรณ์ ที่กำหนดว่าสหกรณ์ต้องกันเงิน 10% ของกำไรสุทธิสหกรณ์ ไว้เป็นเงินสำรองใช้ชดเชยดูแลสหกรณ์กรณีที่แบ่งแยกสหกรณ์ หรือขาดทุน ซึ่งที่ผ่านมาเงินก้อนดังกล่าวจะเก็บอยู่ที่สหกรณ์สหกรณ์แต่ละแห่ง
ดังนั้น น่าจะนำเงินก้อนดังกล่าวมารวมอยู่ที่ใดที่หนึ่ง หรืออาจจะตั้งเป็นกองทุนเพื่อรักษาเสถียรภาพระบบสหกรณ์ เพื่อช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาการขาดสภาพคล่องของระบบสหกรณ์ และสามารถใช้เงินกองทุนนี้แก้ปัญหาต่างๆ ได้ทันที ซึ่งทั้งหมดนี้จะต้องมีความชัดเจนภายใน 1-2 สัปดาห์ เพื่อนำเสนอในการแก้ไขกฎหมายต่อสภาฯ และมีผลบังคับใช้โดยเร็ว
สำหรับ การเร่งรัดสรุปผลการตรวจสอบความเชื่อมโยงระหว่างหน่วยงานของกระทรวงเกษตรฯ กับความผิดพลาดของสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน ตามที่สมาชิกส่วนหนึ่งมีข้อเรียกร้องว่าเจ้าหน้าผู้กำกับดูแล มีความรอบคอบ รัดกุมในการปฏิบัติงานหรือไม่ ซึ่งขณะนี้ผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงตามที่กระทรวงเกษตรฯได้แต่งตั้งขึ้น เมื่อวันที่ 2 ก.ค.2557 โดยมีรองปลัดกระทรวงเกษตรฯ นายสมปอง อินทร์ทอง เป็นประธาน โดยผลการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่า การดำเนินงานของนายทะเบียนสหกรณ์เป็นไปอย่างถูกต้อง โดยมีการสั่งแก้ไขข้อบกพร่อง เพิกถอนทะเบียน และสั่งปลดคณะกรรมการที่มีปัญหาและมีการแต่งตั้งคณะกรรมชุดใหม่ และสาเหตุของปัญหาเครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น สาเหตุเกิดจากการทุจริตของคณะกรรมการสหกรณ์ ฉ้อโกง ซึ่งฝ่ายกฎหมายจะเร่งสรุปสำนวนการตรวจสอบเสนอให้แล้วเสร็จภายใน 7 วัน แต่หากยังพบจุดที่ยังมีข้อสงสัยก็อาจจะมีการสอบสวนเพิ่มเติมให้แน่ชัดก่อน รายงานผลการตรวจสอบเรื่องนี้ไปยัง คสช. โดยเร่งด่วนต่อไป
อินโฟเควสท์