- Details
- Category: เกษตร
- Published: Wednesday, 04 March 2015 21:44
- Hits: 1718
ก.เกษตรฯ เผย สต๊อกปาล์มมีนาคมสูงกว่าจุดวิกฤติ แจงมติอนุกรรมการฯ ให้หยุดการนำเข้า
กระทรวงเกษตรฯ เผย ปี 58 ผลผลิตปาล์มออกตลาด 12.57 ล้านตัน เริ่มออกสู่ตลาดแล้วมีนาคมนี้ คาดปริมาณผลผลิตออกมากสุดเมษายนไปจนถึงพฤษภาคม แจงสิ้นเดือนมีนาคมสต๊อกสูงกว่าจุดวิกฤต ด้าน สศก. ระบุ คณะอนุกรรมการเพื่อบริหารจัดการปาล์มน้ำมันมีมติร่วมกันไม่มีความจำเป็นจะต้องนำเข้าน้ำมันปาล์มเพิ่มเติมอีก
นายเลอศักดิ์ ริ้วตระกูลไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงสถานการณ์ปาล์มน้ำมันปี 2558 ซึ่งคาดว่าผลผลิตปาล์มน้ำมันจะออกสู่ตลาดทั้งสิ้น 12.57 ล้านตัน ซึ่งจากการลงพื้นที่ในจังหวัดกระบี่และสุราษฎร์ธานี เมื่อวันที่ 22-24 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เพื่อติดตามสถานการณ์ พบว่า ผลผลิตปาล์มน้ำมันเริ่มออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้นตั้งแต่เดือนมีนาคม และจะมีปริมาณมากสุดในเดือนเมษายนต่อเนื่องไปถึงเดือนพฤษภาคม 2558
ประกอบกับกรมการค้าภายในได้มีการตรวจสอบสต็อกน้ำมันปาล์มดิบ ณ วันที่ 24-25 กุมภาพันธ์ 2558 พบว่า มีปริมาณ 123,947 ตัน เมื่อรวมกับปริมาณน้ำมันปาล์มที่จะออกสู่ตลาดในเดือนมีนาคมอีกประมาณ 151,137 ตัน ทำให้ผลผลิตน้ำมันปาล์มดิบเดือนมีนาคม อยู่ที่ 275,084 ตัน โดยเมื่อหักปริมาณการบริโภคโดยตรงและใช้ในอุตสาหกรรม 80,000 ตัน ใช้ผลิตพลังงานทดแทน 35,000 ตัน และส่งอออก 5,000 ตันแล้วสิ้นเดือนมีนาคมนี้ จะมีสต็อกน้ำมันปาล์มดิบ 155,084 ตัน ซึ่งเป็นระดับสต๊อกที่สูงกว่าจุดวิกฤติ (ความต้องการใช้ 115,000 ตันต่อเดือน)
ดังนั้น คณะอนุกรรมการเพื่อบริหารจัดการปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มด้านการตลาด ในคราวประชุมเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2558 จึงมีมติร่วมกันว่า ไม่มีความจำเป็นจะต้องนำเข้าน้ำมันปาล์มเพิ่มเติมอีก และให้ติดตามสถานการณ์การผลิตปาล์มน้ำมันอย่างต่อเนื่อง หากผลผลิตปาล์มน้ำมันยังออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้นหรือมีสต็อกน้ำมันเพิ่มขึ้น ก็จะปรับสัดส่วนการใช้น้ำมันปาล์มในการผลิตไบโอดีเซลให้กลับไปเป็นบี 7 ได้ตามปกติ และเพื่อไม่ให้เกษตรกรได้รับผลกระทบปัญหาทางด้านราคา กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มุ่งหวังให้เกษตรกรขายผลปาล์มสดทั้งทะลายที่มีคุณภาพและได้รับราคาไม่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 5 บาท จึงขอให้เกษตรกร เกษตรกรให้ความสำคัญในเรื่องคุณภาพทะลายปาล์มน้ำมัน ไม่ตัดปาล์มดิบ ซึ่งมีผลทำให้อัตราน้ำมันที่สกัดได้ต่ำลง
นอกจากนี้ จากการศึกษาของ สศก. พบว่า การขายผลผลิตปาล์มน้ำมันของเกษตรกรรายย่อยส่วนใหญ่จะผ่านจุดรับซื้อ หรือที่เรียกว่า “ลานเท” ซึ่งจะมีการแยกผลปาล์มร่วงออกจากทะลาย รวมถึงการใส่สิ่งเจือปนและ รดน้ำเพื่อเพิ่มน้ำหนัก ทำให้ผลปาล์มทั้งทะลายที่ส่งเข้าโรงงานสกัดไม่มีคุณภาพ อัตราการสกัดน้ำมันต่ำ ซึ่งอัตราการสกัดน้ำมันจากผลผลิตปาล์ม 12.57 ล้านตัน ถ้าลดลงร้อยละ 1 จะมีผลทำให้มูลค่าทางเศรษฐกิจลดลงประมาณ 7,700 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศมาเลเซีย ที่สามารถสกัดน้ำมันได้อัตราเฉลี่ยร้อยละ 20.04 (ปี 2556) ในขณะที่ประเทศไทยสามารถสกัดได้อัตราเฉลี่ยร้อยละ 17.54 แต่ในปัจจุบันประเทศไทยมีผลอัตราการสกัดเพียงร้อยละ 14-15 เท่านั้น (มกราคม – กุมภาพันธ์ 2558)
ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการเพื่อบริหารจัดการปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มด้านการตลาด ได้มอบหมายให้พาณิชย์จังหวัดร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดของแต่ละจังหวัด เข้ากำกับและตรวจสอบลานเท เพื่อไม่ให้มีการแยกผลปาล์มร่วงออกจากทะลายปาล์ม โดยในส่วนการตัดปาล์มดิบของเกษตรกร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มอบหมายเจ้าหน้าที่ในท้องที่แต่ละจังหวัดเร่งประชาสัมพันธ์และรณรงค์ให้เกษตรกรเห็นความสำคัญของการตัดปาล์มสุกต่อไป
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย