- Details
- Category: เกษตร
- Published: Monday, 09 June 2014 23:30
- Hits: 3511
สศข.8 เผยผลแผนแม่บทการพัฒนาอาชีพ ปี 56 ตามโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังนครศรีธรรมราช
สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 8 เผยผลติดตามแผนแม่บทการพัฒนาอาชีพและส่งเสริมรายได้ให้แก่ราษฎร ภายใต้โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปาก จังหวัดนครศรีธรรมราช ปี 56 ระบุ เกษตรกรพึงพอใจในระดับมาก วอนภาครัฐช่วยเหลือเรื่องการบริหารจัดการน้ำให้เป็นระบบและขยายการอบรมเกี่ยวกับศัตรูพืช
นายสมพงศ์ จันทร์ทอง ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 8 สุราษฎร์ธานี (สศข.8) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.)เปิดเผยถึงการประเมินผลแผนแม่บทการพัฒนาอาชีพและส่งเสริมรายได้ให้แก่ราษฎร ภายใต้โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดนครศรีธรรมราช ปี 2556 เพื่อใช้เป็นแนวทางในการปรับแผนการดำเนินงานในระยะต่อไป ซึ่งผลการประเมินโครงการฯ พบว่า เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ ส่วนใหญ่ เป็นเพศชาย มีอายุระหว่าง 51-60 ปี จบการศึกษาระดับประถมศึกษา อาชีพหลัก คือการทำนา ทำสวนยางพารา และทำสวนปาล์มน้ำมัน จำนวนสมาชิกทั้งหมดในครัวเรือน เฉลี่ย 5 คนต่อครัวเรือน มีพื้นที่ถือครอง จำนวน 27.64 ไร่ต่อครัวเรือน โดยใช้ประโยชน์พื้นที่ในการทำนา มากที่สุด เฉลี่ย 16.02 ไร่ต่อครัวเรือน รองลงมาเป็นพื้นที่ปลูกไม้ยืนต้น เฉลี่ย 7.98 ไร่ต่อครัวเรือน
สำหรับ ครัวเรือนเกษตรที่มีพื้นที่อยู่ในโครงการฯ มีรายได้เงินสดสุทธิทางการเกษตร รวมเฉลี่ยครัวเรือนละ 150,537.76 บาทต่อครัวเรือน โดยมีรายได้สุทธิจากพืชมากที่สุดโดยมีมูลค่า 114,146.66 บาทต่อครัวเรือน ส่วนรายได้เงินสดทางการเกษตรรวมของครัวเรือน เฉลี่ยครัวเรือนละ 246,676.38 บาท เป็นรายได้เงินสดทางพืช เฉลี่ยครัวเรือนละ 196,113.02 บาท
ส่วนรายจ่ายเงินสดทางการเกษตรรวมของครัวเรือน เฉลี่ยครัวเรือนละ 96,138.62 บาท เป็นรายจ่ายเงินสดทางพืช เฉลี่ยครัวเรือนละ 81,966.36 บาท และมีหนี้สินที่ยังค้างชำระในช่วงปลายปีเพาะปลูก 2555/56 เฉลี่ยครัวเรือนละ 112,465.81 บาท ซึ่งเป็นหนี้สินเงินกู้จาก ธ.ก.ส. ด้านการรับทราบข้อมูลข่าวสาร และสมัครเข้าร่วมโครงการฯ ของเกษตรกร ส่วนใหญ่ทราบ และสมัครจาก ผู้นำชุมชน (ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน อบต.) ซึ่งเหตุผลที่เข้าร่วมโครงการฯ พบว่า ต้องการลดรายจ่าย/ลดต้นทุน สามารถแก้ไขปัญหาทางด้านการเกษตรได้ และคาดหวังรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากการเข้าร่วมโครงการฯ
ด้านความพึงพอใจของเกษตรกรต่อการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ ส่วนใหญ่มีความพึงพอใจในระดับมาก ทั้งด้านความกระตือรือร้นเอาใจใส่ในการให้บริการของเจ้าหน้าที่ ความรวดเร็วในการให้ความช่วยเหลือ มารยาทการพูดจาของเจ้าหน้าที่ และการได้รับความรู้คำแนะนำจากการอบรมที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้
อย่างไรก็ตาม เกษตรกรในโครงการฯ ยังประสบปัญหาในพื้นที่ เช่น ราคาพืชผลที่ตกต่ำ วัชพืช ศัตรูพืช โรคแมลงระบาดในนาข้าว โดยเฉพาะศัตรูพืช เช่น หนูที่ระบาดและกัดกินข้าวของชาวนา และการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่ไม่แน่นอน ทั้งภัยแล้ง และน้ำท่วม การคาดคะเนช่วงฤดูปลูกเปลี่ยนไป ส่งผลต่อการเพาะปลูก และผลผลิตข้าวของเกษตรกร อีกทั้งเกษตรกรที่ไม่มั่นใจในปัญหาเรื่องน้ำ แหล่งน้ำ อาจทำให้เกิดปัญหาการทำการเกษตรในอนาคต และต้องการให้ภาครัฐช่วยในการบริหารจัดการน้ำพื้นที่อย่างเป็นระบบ รวมทั้งเพิ่มหลักสูตรการอบรมความรู้ในเรื่องการกำจัดศัตรูพืช โรคพืช โรคแมลง เป็นต้น
สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร