- Details
- Category: เกษตร
- Published: Monday, 02 March 2015 07:38
- Hits: 1855
ก.เกษตรฯ จับตา ศก.ไทยกับต่างประเทศแบบหลากมิติ เปิดมุมมองสินค้าเกษตรกับประเทศเพื่อนบ้าน
สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เจาะลึกแนวโน้มสถานการณ์เศรษฐกิจไทยต่อระบบเศรษฐกิจโลกและสถานการณ์ต่างประเทศในปัจจุบัน พร้อมเกาะติดเปิดเออีซีปลายปีนี้ กับสินค้าเกษตรไทยในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน มั่นใจไทยมีฐานการผลิตที่ดีได้มาตรฐาน ช่วยเปิดโอกาสในการขยายตลาดมายังอาเซียนเพิ่มขึ้น
นายเลอศักดิ์ ริ้วตระกูลไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงสถานการณ์และแนวโน้มทางเศรษฐกิจของไทยและเศรษฐกิจโลกในปัจจุบันว่า ระบบเศรษฐกิจระหว่างประเทศ มีสะพานเชื่อมต่อ (Bridge linkage) ทางเศรษฐกิจที่สำคัญ 3 เส้นทางหลักคือ ปริมาณการค้าและการลงทุน เศรษฐกิจทางการเงินหรือตลาดการเงินระหว่างประเทศ และ การบริการท่องเที่ยวและบริการอื่นๆ เป็นต้น ซึ่งจากสถานการณ์ระดับโลก อย่างสถานการณ์ทางการเมืองระหว่างสหรัฐฯและรัสเซีย ที่เข้าไปเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองในประเทศยูเครน หากเรามาพิจารณาในแต่ละเส้นทางจะพบว่า
1. เส้นทางมูลค่าการค้าและการลงทุน พบว่า ปริมาณและมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตร ไปยังประเทศยูเครน รวมทั้งปี 2551 มีมูลค่าการส่งออกประมาณ 1,067 ล้านบาท และขณะที่ ปี 2557 มีมูลค่าการส่งออกเหลือเพียง 115 ล้านบาท จะเห็นว่าแนวโน้มของการส่งออกทางการเกษตรมีแนวโน้มลดลง เพราะกำลังซื้อภายในประเทศยังมีน้อย ผลกระทบคงจะมีบ้างแต่มีปริมาณการค้าระหว่างประเทศยังมีน้อย
2. เส้นทางเศรษฐกิจทางการเงินหรือตลาดการเงินระหว่างประเทศ เป็นที่ทราบกันดีว่าแบงก์ชาติยูเครนลดค่าเงินครั้งใหม่ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ทะลุ 26 เทียบดอลล์ (ณ 17 ก.พ. 2558) ดังนั้น ค่าเงินฮริฟเนีย (hryvnia) ร่วงลงเกือบ 50% เมื่อเทียบดอลลาร์ในปีที่แล้ว จากความขัดแย้งทางการเมือง และการทำสงครามกับกลุ่มกบฏที่มีรัสเซียหนุนหลัง ซึ่งความผันผวนของการเงินเช่นนี้ย่อมส่งผลต่อระบบการเงินของประเทศพอสมควร สำหรับประเทศไทยแล้วจะพบว่า จะส่งผลต่อระบบการเงินไม่มาก เพราะระบบของเรามีมาตรฐานและแข็งแกร่งมากอยู่แล้ว จึงคาดว่า จะไม่ได้รับผลกระทบแต่อย่างใด
3. เส้นทางการบริการท่องเที่ยวและบริการอื่นๆ พบว่า มีนักท่องเที่ยวที่มาไทยของยูเครนนั้นน้อยมาก เนื่องมากจากรายได้ของประชากรยังน้อย และระยะทางและเวลาของการเดินทางยังไกลอยู่จึงส่งผลต่อปริมาณนักท่องเที่ยว ดังนั้น จึงคาดว่าวิกฤติของยูเครนในครั้งนี้จะส่งผลต่อการท่องเที่ยวเล็กน้อยและรายได้ก็ยังไม่มากเท่าใดนักเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม จากกรณีเหตุการณ์กลุ่ม IS ที่มีการสังหารหมู่ อย่างโหดร้ายต่อชาวญี่ปุ่น ชาวจอร์แดน และท้ายสุดจำนวน 45 ศพ เป็นชาวอียีปต์นั้น มีระบบเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศที่จะเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจของไทย 6 ประเด็นสำคัญ คือ 1.ด้านมูลค่าการนำเข้าน้ำมันตลาดต่างประเทศรวม ช่องทางการนำเข้าน้ำมันดิบของไทยนั้น จะพบว่ามีช่องทางการนำเข้าประมาณเฉลี่ยปีละ 1 ล้านล้านบาท บางปีอาจจะสูงกว่านี้เพียงเล็กน้อยหรือประมาณร้อย 8 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ซึ่งถือว่าประเทศเรามีการนำเข้าน้ำมันในปริมาณที่สูงมากประเทศหนึ่ง หากเกิดสถานการณ์วิกฤติของกลุ่มในตะวันออกกลางขึ้นย่อมส่งผลต่อปริมาณนำเข้าน้ำมันจากตลาดต่างประเทศอย่างแน่นอน ในขณะเดียวกันไทยอาจมีทางเลือกในตลาดอื่นๆ ได้เช่นเดียวกัน
2.ด้านมูลค่าการนำเข้าน้ำมันจากตลาดตะวันออกกลาง พบว่า มูลค่าการนำเข้าน้ำมันจากตะวันออกกลาง ในปี 2557 มีประมาณ 2 ใน 3 หรือประมาณร้อยละ 63 ของมูลค่าการนำเข้าทั้งหมด ซึ่งถือว่าจำเป็นต้องพึ่งพาแหล่งผลิตในตะวันออกกลางสูง
3.ด้านผลกระทบที่มีต่อระดับราคา พบว่า หากเหตุการณ์นี้มีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นและทวีความรุนแรงจากปัจจุบันมากขึ้นนั้น จะส่งผลต่อระดับราคาน้ำมันในตลาดโลกอย่างแน่นอน อย่างไรก็ตาม ยังขึ้นอยู่กับปริมาณการผลิตหรืออุปทานการผลิตน้ำมันในแหล่งอื่นๆ ได้แก่ สหรัฐ รัสเซีย เวเนซูเอลา บรูไน และแหล่งผลิตน้ำมันอื่นๆ เป็นต้น ว่าจะสนองตอบต่อระดับราคาตามสถานการณ์นั้นๆ ได้มากน้อยเพียงใด ซึ่งหากมีแหล่งน้ำมันที่เพียงพอต่อปริมาณความต้องการ ก็จะไม่ทำให้ราคาน้ำมันสูงมากนัก แต่ถ้าหากทั้งสหรัฐและแหล่งอื่น ร่วมมือกันทำให้ปริมาณน้ำมันในตลาดโลกลดลง ก็จะทำให้ระดับราคาน้ำมันมีแนวโน้มขยับตัวสูงขึ้น
4. ด้านมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรไปตะวันออกกลาง พบว่า มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรในลำดับต้นที่ส่งออกไปยังตะวันออกกลาง โดยเฉพาะอาหารฮาลาลและพืชเกษตรอื่นๆ เช่น ข้าว ยางพารา ปลาสดแช่เย็นแช่แข็ง ผักผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งและแห้ง ไก่แปรรูป ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง และสินค้าปศุสัตว์อื่น ๆ นั้น มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น จากอดีตที่ผ่านมา ดังนั้น หากเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นจะส่งผลต่อมูลค่าการส่งออกสินค้าทางเกษตรอย่างแน่นอน แต่จะมากน้อยเพียงใดนั้น จะขึ้นอยู่กับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตเป็นสำคัญ
5. ด้านมูลค่าการลงทุนของไทยในประเทศตะวันออกกลาง พบว่า การลงทุนของนักลงทุนไทยไปยังตะวันออกกลางยังมีน้อยเพียงบางประเทศ เช่น อียิปต์ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ที่เป็นตัวอย่างของตะวันออกกลางที่เป็นที่สนใจของนักลงทุนไทย
6. ด้านปริมาณนักท่องเที่ยวสัญชาติตะวันออกกลางที่เข้ามาในประเทศไทย พบว่า จำนวนนักท่องเที่ยวจากตะวันออกกลางนิยมที่มาเที่ยวเมืองไทย โดยใน ปี 2557 มีจำนวนนักท่องเที่ยวประมาณ 5.9 แสนคน นำมาซึ่งรายได้ของประเทศจำนวนมาก แต่หากเกิดเหตุการณ์รุนแรงมากขึ้น ย่อมส่งผลกระทบต่อรายได้จากการท่องเที่ยวแน่นอน
นอกจากนี้ การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนปลายปี 2558 สมาชิก 10 ประเทศ (อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย สิงคโปร์ บรูไน กัมพูชา สปป.ลาว เวียดนาม และเมียนมาร์) มีประชากรรวมกันมากกว่า 625 ล้านคน ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน จะทำให้สินค้าเกษตรและอาหารเคลื่อนย้ายผ่านกระบวนการเคลื่อนย้ายสินค้าตามกลไกการตลาดได้อย่างเสรี ซึ่งถ้ามองถึงการวิเคราะห์แนวโน้มการส่งออกสินค้าเกษตรของไทยกับอาเซียน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้วิเคราะห์ศักยภาพการแข่งขันของสินค้าเกษตรไทยด้วยวิธี Thailand Competitiveness Matrix : TCM โดยพิจารณาจากความสัมพันธ์ระหว่าง
2 ปัจจัยหลัก คือ ปัจจัยความน่าสนใจของสินค้า (Attractiveness Factors) และปัจจัยความสามารถในการแข่งขันของสินค้า (Competitiveness Factors) เพื่อระบุตำแหน่งหรือสถานะของสินค้าเกษตรชนิดนั้น โดยจะพิจารณาแบ่งกลุ่มสินค้าเกษตรตามความพร้อมหรือศักยภาพการแข่งขันของไทยหลังเปิด AEC ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มหลักๆ คือ
1 กลุ่มสินค้าเกษตรที่ไทยมีศักยภาพสูงเมื่อเทียบกับคู่แข่งขัน ได้แก่ เนื้อสุกร โคเนื้อและผลิตภัณฑ์ โคนมและผลิตภัณฑ์ น้ำตาลทราย มังคุด ลำไย และสับปะรดกระป๋องและน้ำสับปะรด โดยสินค้าที่มีความโดดเด่นมากในกลุ่มนี้ คือ สินค้าปศุสัตว์ เนื่องจากประเทศไทยมีการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีการเลี้ยงและพันธุกรรมที่ก้าวหน้าที่สุดในภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะโคนมและผลิตภัณฑ์เป็นอีกสินค้าที่ประเทศไทยมีศักยภาพการแข่งขันสูงกว่าประเทศอื่นๆ ในอาเซียนแทบทุกด้าน ซึ่งสามารถพัฒนาให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมนม (Hub) ในภูมิภาคอาเซียนได้
2 กลุ่มสินค้าเกษตรที่ไทยมีศักยภาพใกล้เคียงกับคู่แข่งขัน ได้แก่ ข้าว (เวียดนามและกัมพูชา) ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์(ลาวและกัมพูชา) กุ้ง(อินโดนีเซียและเวียดนาม) ปลาทูน่า(ฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย) ไหม (เวียดนาม) และยางพารา (อินโดนีเซียและมาเลเซีย)
3. กลุ่มสินค้าเกษตรที่ไทยมีศักยภาพต่ำเมื่อเทียบกับคู่แข่งขัน ได้แก่ เมล็ดกาแฟ (เวียดนามและอินโดนีเซีย) ปาล์มน้ำมัน(อินโดนีเซียและมาเลเซีย) และมะพร้าว(ฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย) ซึ่งสินค้าเกษตรกลุ่มนี้จะได้รับผลกระทบมากหลังเปิด AEC เพราะถึงแม้ว่าประเทศไทยได้กำหนดสินค้าเหล่านี้ไว้เป็นรายการสินค้าอ่อนไหว ซึ่งสามารถเก็บภาษีนำเข้าในอัตราร้อยละ 5 แต่ประเทศคู่แข่งในอาเซียนมีต้นทุนการผลิตต่ำกว่าประเทศไทย ดังนั้น ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ และรัฐบาลจะต้องมีการปรับตัวและเตรียมรับกับการแข่งขันเสรีอย่างเต็มรูปแบบในปี 2558
อย่างไรก็ตาม เมื่อมองถึง ปี 2557 ที่ผ่านมา ประเทศสมาชิกอาเซียนมีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสมาชิกใหม่ เช่น กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมาร์ และ เวียดนาม แสดงว่าอาเซียนมีเศรษฐกิจดีขึ้น ซึ่งจะส่งผลด้านการขยายตัวของความต้องการบริโภคสินค้าที่มีคุณภาพดี และได้มาตรฐาน โดยที่ผ่านมาประเทศไทยนั้น เป็นประเทศที่ขึ้นชื่อว่าเป็นผู้ผลิตสินค้าเกษตรและอาหารคุณภาพดี สอดคล้องกับมาตรฐานสากล จึงเป็นโอกาสของไทย ในการขยายตลาดมายังอาเซียนเพิ่มขึ้นด้วย