- Details
- Category: เกษตร
- Published: Thursday, 26 February 2015 22:24
- Hits: 2354
ธ.ก.ส.-ออมสิน จะปล่อยกู้กองทุนหมู่บ้าน 4 หมื่นลบ.เสนอเข้าครม.ต้นมี.ค.
นายนที ขลิบทอง ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง แห่งชาติ(กทบ.) เผยว่า เตรียมจะเสนอให้คณะรัฐมนตรี(ครม.)พิจารณาราว ต้นเดือนมี.ค.นี้ กรณีจะให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) และ ธ.ออมสิน ปล่อยกู้ให้กับกองทุนหมู่บ้าน ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ
"ตอนนี้ที่คุยกันเบื้องต้น จะมีเงินจำนวน 4 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นเงิน ที่ธนาคารออมสิน และ ธ.ก.ส.จะสนับสนุนฝ่ายละ 2 หมื่นล้านบาทให้กับกองทุน หมู่บ้าน เพื่อนำไปใช้ในงานของกองทุน เช่น การปล่อยกู้ หรือกิจการที่เป็นประโยชน์" นายนที กล่าว
นายนที กล่าวว่า ขณะนี้ให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.)หารือกับธนาคาร ทั้งสองแห่งว่าจะมีหลักเกณฑ์คิดอัตราดอกเบี้ยเท่าไร และอย่างไร ซึ่งสำหรับเงินกู้ดังกล่าว จะให้ปล่อยกู้ให้กับกองทุนหมู่บ้าน ที่มีผลดำเนินการที่ดี ซึ่งมีอยู่ประมาณ 75%
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย
ครม.ศก.ไฟเขียวแผนเคลียร์หนี้เกษตรกร
แนวหน้า : ครม.ศก.ไฟเขียวแผนเคลียร์หนี้เกษตรกร ธ.ก.ส.ตั้งเป้าช่วย 8.18 แสนราย หวังบรรเทาความเดือดร้อน
ครม.เศรษฐกิจไฟเขียวธ.ก.ส.แก้ปัญหาหนี้เกษตรกรรายย่อย 8.18 แสนราย บรรเทาความเดือดร้อน โดยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ทั้งตัดหนี้สูญ ปรับโครงสร้างหนี้ และยืดระยะเวลาการจ่ายคืน ช่วยหาอาชีพเสริมเพื่อเพิ่มรายได้
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี ด้านเศรษฐกิจ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2558 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ(ครม.ศก.)เห็นชอบในหลักการตามที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร( ธ.ก.ส.) เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้เกษตรกรแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มแรก เป็นกลุ่มที่กู้มานานมีหนี้ค้างชำระนานและชำระหนี้ไม่ไหวซึ่งธ.ก.ส.จะทำการเจรจาและตัดหนี้สูญให้แก่เกษตรกรกลุ่มดังกล่าว
สำหรับ กลุ่มที่ 2 เป็นเกษตรกรที่มีหนี้และมีศักยภาพต่ำแต่ยังสามารถชำระหนี้ได้บางส่วน ธ.ก.ส.จะเจรจาเพื่อพักชำระหนี้และยืดหนี้ในการผ่อนชำระ และต้องมีมูลหนี้ไม่เกิน 5 หมื่นบาทต่อราย และกลุ่มที่ 3 คือ กลุ่มประสบภัยแล้ง ธ.ก.ส.จะปล่อยกู้เพื่อฟื้นฟูกิจการ
อย่างไรก็ตาม ในที่ประชุมได้มอบหมายให้ ธ.ก.ส.กลับไปทบทวนจำนวนมูลหนี้และจำนวนเกษตรกรทั้งหมดว่ามีจำนวนเท่าไร ก่อนเสนอเข้าที่ประชุม ครม. อีกครั้งในสัปดาห์หน้า
รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า ที่ประชุมเห็นชอบในหลักการของโครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกรรายย่อย ผ่านระบบ ธ.ก.ส. มีเป้าหมายในการชำระหนี้ให้เกษตรกรจำนวน 8.18 แสนราย โดยมีสาระสำคัญ คือ 1.โครงการปลดหนี้ สำหรับกลุ่มเกษตรกรรายย่อยที่ไม่มีศักยภาพ(เสียชีวิต) ทุพพลภาพ เจ็บป่วยเรื้อรัง ชราภาพและมีปัญหาสุขภาพ และเป็นหนี้ใช้หลักประกันบุคคลค้ำประกัน รวมจำนวน 2.8 หมื่นราย หนี้สินรวม 4,000 ล้านบาท โดยจะดำเนินการปลดหนี้เงินกู้ทั้งจำนวนออกจากบัญชีเป็นหนี้สูญ
2.โครงการปรับโครงสร้างหนี้ สำหรับกลุ่มเกษตรกรรายย่อยที่มีศักยภาพต่ำ แต่ยังสามารถประกอบอาชีพได้แต่มีปัญหาในการชำระหนี้จำนวน 3.4 แสนราย หนี้สินรวม 4.8 หมื่นล้านบาท จะทำการปรับโครงสร้างหนี้โดยไม่ต้องชำระต้นเงินเป็นระยะเวลา 3 ปี ให้ผ่อนชำระเงินตามงวด หรือระยะเวลาที่ตกลงไม่เกิน 15 ปี หลังจากนั้นเมื่อชำระคืนทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยได้ตามงวดแล้ว จะยกหนี้ในส่วนของดอกเบี้ยที่พักไว้ทั้งจำนวน รวมถึงจะสนับสนุนสินเชื่อใหม่ตามแผนการฟื้นฟูประกอบอาชีพวงเงินต่อรายไม่เกิน 5 หมื่นบาท วงเงินสินเชื่อ 1.5 หมื่นล้านบาท
3.โครงการขยายเวลาชำระหนี้ สำหรับเกษตรกรรายย่อยที่มีศักยภาพในการประกอบอาชีพ แต่ได้รับผลกระทบจากการทำนาปรังและราคาขายยางพาราตกต่ำจำนวน 4.5 แสนราย หนี้สินรวม 6.4 หมื่นล้านบาท จะพิจารณาขยายเวลาชำระหนี้ตามศักยภาพของเกษตร พร้อมปล่อยสินเชื่อให้เกษตรกรประกอบอาชีพอื่น หรืออาชีพเสริม เพื่อเพิ่มรายได้ในวงเงินไม่เกิน 1 แสนบาทต่อราย เป็นวงเงินสินเชื่อ 3.5 หมื่นล้านบาท อัตราดอกเบี้ยปกติของ ธ.ก.ส.
นายสมศักดิ์ กังธีระวัฒน์ รองผู้จัดการ ธ.ก.ส.กล่าวว่า อัตราการชำระหนี้ของ ธ.ก.ส. ในภาพรวมยังอยู่ที่ 93% ของยอดสินเชื่อรวม ถือว่าเป็นระดับเดียวกับปีก่อน ส่วนยอดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล)ขณะนี้มีอยู่ประมาณ 4.6% ของยอดสินเชื่อคงค้าง และตั้งเป้าลดเหลือ 3.5% ภายในสิ้นปีบัญชี 2557 นี้ โดยจะเร่งเรื่องการปรับโครงสร้าง ยืดหนี้
ปัจจุบัน ธ.ก.ส. มีลูกหนี้ที่มีปัญหาหนักคือ พวกที่ไม่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม มีรายได้ไม่พอรายจ่าย มีจำนวนราว 3.2 แสนราย ซึ่งในจำนวนนี้มีลูกหนี้ราว 2-3 หมื่นราย ที่คาดว่าจะเข้าสู่กระบวนการตัดหนี้สูญ เนื่องจากผู้กู้ ซึ่งเป็นหัวหน้าครอบครัวเสียชีวิต ประสบอุบัติเหตุ ทุพพลภาพ ไม่สามารถประกอบอาชีพได้ตามปกติ ขณะที่เรื่องของการพักชำระหนี้ จะเน้นช่วยกลุ่มที่ยังพอฟื้นตัวได้ โดยต้องมีมาตรการฟื้นฟูอาชีพเข้ามาเสริม ส่วนจำนวนผู้ที่เข้าโครงการและวงเงินทั้งหมดต้องรอประชุมเพื่อหา
ข้อสรุปก่อนเสนอเข้าครม.ก่อน