- Details
- Category: เกษตร
- Published: Wednesday, 25 February 2015 21:00
- Hits: 2468
ชาวสวนยางจ่อยื่นฟ้องป.ป.ช. สอบโครงการมูลภัณฑ์กันชน
แนวหน้า : แหล่งข่าวจากกระทรวงเกษตร เปิดเผยว่าจากที่นายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรฯตั้งคณะกรรมการการตรวจสอบข้อเท็จจริงการซื้อขายยางดิบ ในโครงการมูลภัณฑ์กันชน โดยองค์การสวนยาง(อสย.)ก่อนหน้านี้ได้ใช้เงินรับซื้อไปแล้วกว่า 6 พันล้านบาท รวมทั้งอสย.ได้ขออนุมัติจาก ครม.ใช้เงินในโครงการอีก 6 พันล้านบาท ซึ่งพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯรมว.กลาโหม ได้ตั้งข้อสงสัยว่าเงินของรัฐไปไม่ถึงมือเกษตรกร หลังจากส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบพบว่ายางที่นำมาขายในตลาดกลาง นั้นมีปริมาณกว่า 3 พันตันต่อวัน และไม่ใช่ยางจากเกษตรกรอย่างแน่นอน เพราะปริมาณยางที่นำมาขายในตลาดถือว่ามากผิดปกติ เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของแต่ละปี ซึ่งหากกระทรวงเกษตรฯยังเดินหน้าซื้อยางเพื่อเก็บในสต็อก อีกต่อไปนั้นอาจมีปัญหาราคาตกต่ำในอนาคตอย่างแน่นอน
“ขณะนี้ยางที่มีการทำสัญญาซื้อขายให้กับประเทศจีน ยังไม่มีการรับมอบยางตามสัญญาแต่อย่างใด ทั้งที่ได้มีการลงนามตั้งแต่วันที่21พฤศจิกายน 2557 โดยในสัญญาเอกชนจีนต้องรับยางเดือนละ 2พันตัน ตามมาตรฐานยางคุณภาพ จนถึงขณะนี้ มีการรับยางที่เป็นยางเก่า ไปเพียง 1พันตัน ซึ่งถือว่าทางจีนผิดสัญญาอย่างชัดเจนแต่องค์การสวนยาง หรือ อสย. ยังไม่มีการยกเลิกสัญญา และยังเดินหน้าซื้อยางเก็บในโครงการมูลภัณฑ์กันชนอีกต่อไป ทำให้มียางในสต็อกที่เก็บไว้ในโกดังแล้วกว่า3แสนตัน จากปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งหมด ขณะที่ทางกลุ่มตัวแทนเกษตรกรชาวสวนยางภาคใต้และเครือข่ายคนกรีดยาง กำลังรวบรวมข้อมูล เพื่อยื่นต่อสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ปปช.) ให้ตรวจสอบในเรื่องดังกล่าวเป็นการเร่งด่วนเพราะเชื่อว่าน่าจะมีการทุจริตในโครงการแทรกแซงยาง”แหล่งข่าว กล่าว
ด้านนายอำนวย ปะติเส รมช.เกษตรและสหกรณ์ ในฐานะกำกับดูแลองค์การสวนยาง เปิดเผยกรณีที่มีพ่อค้ารายใหญ่นำยางไปขายในโครงการมูลภัณฑ์กันชน ยืนยันว่าไม่เป็นจริงเพราะมีการตรวจสอบอย่างละเอียด และมีหลักเกณฑ์? ซึ่งตลาดกลางได้ตั้งมาก่อนที่ตนเข้ามา ในส่วนตนเห็นว่าหากโครงการมีปัญหา ตนก็พร้อมที่จะยกเลิกและจากการที่ส่งคนไปหาข้อมูลและสอบถามเกษตรกร ส่วนใหญ่พูดตรงกันในส่วนโครงการที่รัฐบาลทำมาขณะนี้ถือเป็นช่องทางเดียวที่เกษตรกรสามารถเข้ามาถึงตลาดได้ เพราะที่ผ่านมามีแต่กลุ่มอื่นเข้ามาขาย
นายอำนวย กล่าวอีกว่าเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดข้อครหาว่ามีการเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชน ตนได้ขอกำลังทางทหาร เข้าไปดูแลการซื้อขายให้เกิดความโปร่งใสมากที่สุด โดยโครงการมูลภัณฑ์กันชนได้แทรกแซงราคายางเข้ารับซื้อยางทั้งหมด จางวงเงิน 6 พันล้านบาที่ผ่านมานั้นยืนยันว่าทำมาอย่างโปร่งใส ส่วนงบประมาณขอไปใหม่อีก 6พันล้านบาท ได้แยกซื้อยางแผ่นรมควัน 4 พันล้านบาท โดยกำหนดเกษตรกรรายย่อยเท่านั้นที่สามารถนำยางมาขายได้ เพื่อป้องกันกลุ่มอื่นๆห้ามเข้ามาขายเด็ดขาด และแบ่งงบซื้อน้ำยางสดและยางก้นถ้วยอีก2 พันล้านบาท โดยต้องนำใบรับรองการทำสวนยางมาด้วย โดยหลักเกณฑ์ชัดเจนว่าจะต้องเป็นเกษตรกร ที่มีสวนยางไม่เกิน 15 ไร่ และต้องเป็นสมาชิก สหกรณ์ หรือสถาบันเกษตรกรและต้อเป็นสมาชิกตลาดกลาง
“ยืนยันว่า การซื้อขายยางมีขั้นตอนชัดเจนโดยต้องเป็นเกษตรกรายย่อยๆที่นำยางมาขาย และเป็นสมาชิกของตลาดกลาง ซึ่งคนที่บอกว่ามีแต่เอกชนรายใหญ่มาขายในโครงการมูลภัณฑ์กันชน ผมอยากรู้ว่าเป็นใคร หากพบผมเอาเรื่องแน่ ในขณะนี้สามารถตรวจสอบได้ว่าเงินของรัฐที่นำไปซื้อยางไปอยู่ที่ใครบ้าง และได้สั่งให้เจ้าหน้าที่รายงานรายละเอียดมาให้ผมรับทราบ เพื่อให้เกิดความโปร่งใสให้มากที่สุด“นายอำนวยกล่าว