- Details
- Category: เกษตร
- Published: Monday, 23 February 2015 21:42
- Hits: 2001
สวนสามพราน ร่วมฟื้นตำนาน 'ข้าวหอมนครชัยศรี'ชูข้าวเกษตรอินทรีย์ของดีคู่นครปฐม
บ้านเมือง : หลังจากที่เคยหายสาบสูญไปนานกว่า 40 ปีวันนี้ ชื่อข้าวหอมนครชัยศรีข้าวนาปีสายพันธุ์พื้นเมืองของจังหวัดนครปฐม คืนกลับมามีชีวิตอีกครั้งโดยความร่วมมือของหน่วยงานต่างๆ ทั้ง นักวิชาการ องค์กร เครือข่ายชาวนา ที่ร่วมกันนำพันธุ์ข้าวพื้นเมืองชนิดนี้ กลับมาทดลองปลูกในพื้นที่นา จังหวัดนครปฐม โดยเน้นการปลูกด้วยระบบเกษตรอินทรีย์ เพื่อเพิ่มคุณค่าให้กับผลผลิต และเป็นทางเลือกใหม่ให้คนรักสุขภาพ
สำหรับ จุดเริ่มของการฟื้นตำนานข้าวหอมนครชัยศรี ดังคำขวัญของจังหวัด ที่ว่า "ส้มโอหวาน ข้าวสารขาว ลูกสาวสวย" นั้น รศ.ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนึ่งในบุคคลสำคัญที่ร่วมกับชาวนาในพื้นที่โฉนดชุมชนบ้านคลองโยง-ลานตากฟ้า อ.นครชัยศรี ค้นหาพันธุ์ข้าวหอมนครชัยศรีกลับมาปลูกกันอีกครั้ง เล่าว่า หลังจากได้เมล็ดพันธุ์เมื่อปี 2556 ตน และเกษตรกร ก็ได้ทดลองปลูกด้วยระบบอินทรีย์ในพื้นที่ ประมาณ 6 ไร่ ซึ่งผลผลิตที่ได้ในปีแรกนั้น ส่วนใหญ่เก็บไว้เป็นเมล็ดพันธุ์ในปีต่อไป อีกส่วนหนึ่งสีเป็นข้าวสารแจกจ่ายให้คนในพื้นที่ได้ทดลองชิม ซึ่งทุกคนต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า กลิ่นหอม รสชาติอร่อย ต่อมาในปี 2557สมาชิกกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านโฉนดชุมชน คลองโยง-ลานตากฟ้า จึงได้ขยายพื้นที่ปลูกออกไปเกือบ 30ไร่ และแบ่งเมล็ดพันธุ์ส่วนหนึ่งให้กับโรงแรมสามพรานริเวอร์ไซด์ไปปลูกขยายพันธุ์ต่อเป็นรุ่นที่ 2
"สมัยก่อนพื้นที่แห่งนี้เป็นอู่ข้าวอู่น้ำของคนนครปฐม แต่ระยะหลังชาวนาเลือกปลูกข้าวอายุสั้น ซึ่งเป็นข้าวแข็งสำหรับทำแป้ง ทำให้ข้าวพื้นถิ่นดีๆ หายไปจากทุ่ง ต้องกินข้าวถุงกัน ซึ่งเป็นข้าวที่ไม่มีหัวนอนปลายเท้าเราก็เลยค้นหาพันธุ์ข้าวดั้งเดิมที่กินได้กลับมาปลูกซึ่งพบว่าข้าวหอมนครชัยศรี คือหนึ่งในพันธุ์ข้าวพื้นเมืองของ จ.นครปฐม ที่ให้รสชาติอร่อย มีเอกลักษณ์เฉพาะ คล้ายข้าวหอมมะลิ และข้อดีของข้าวพันธุ์นี้ก็คือ เป็นข้าวนาปีที่ดูแลง่าย หนีน้ำได้ทัน ไวต่อแสง ไม่กินปุ๋ย และต้านทานโรคได้ดี โดยเราเลือกปลูกด้วยระบบอินทรีย์ เพื่อหวังอยากให้ทุกคนได้กินข้าวที่ดี มีคุณภาพ และปลอดภัยอีกทั้งช่วยกันฟื้นฟู อนุรักษ์ และส่งเสริมให้ข้าวชนิดนี้กลับมาอยู่คู่นครปฐมอีกครั้ง"
ด้าน นายอรุษ นวราช กรรมการผู้จัดการ โรงแรมสามพรานริเวอร์ไซด์ และเลขาธิการมูลนิธิสังคมสุขใจกล่าวว่า ภายใต้โครงการ สามพรานโมเดล ซึ่งพยายามผลักดันเรื่องเกษตรอินทรีย์มาอย่างต่อเนื่อง ได้มีการนำพันธุ์ข้าวหอมนครชัยศรี มาทดลองปลูกในศูนย์พัฒนาเกษตรอินทรีย์สุขใจ ริมแม่น้ำท่าจีน ฝั่งตรงข้ามกับโรงแรม ในพื้นที่ประมาณ 2 ไร่ โดยผลผลิตในปีแรกนี้ก็เป็นที่น่าพอใจ
"เป็นที่น่ายินดีที่ชาวนาในจังหวัดนครปฐม มองเห็นความสำคัญของพันธุ์ข้าวดั้งเดิมของท้องถิ่น และช่วยกันรื้อฟื้นกลับมาปลูกใหม่กันอีกครั้ง ซึ่งเราเน้นว่า จะต้องทำในระบบเกษตรอินทรีย์เท่านั้น เพื่อให้ได้รับอาหารที่ปลอดภัย ขณะเดียวกันเกษตรกรเองก็มีสุขภาพที่ดี อีกทั้งยังเป็นการสร้างมูลค่าให้กับผลผลิต และสร้างรายเพิ่มได้กับเกษตรกรอีกทางหนึ่งด้วย"
ด้าน นายอนิรุทธ์ ขาวสนิท เกษตรกรอินทรีย์ ซึ่งเป็นหัวหอกสำคัญ ในการฟื้นตำนานข้าวหอมนครชัยศรีโดยได้รับมอบหมายจากโรงแรมสามพรานริเวอร์ไซด์ ให้เป็นผู้ดูแลศูนย์เรียนรู้เกษตรอินทรีย์ และเป็นผู้ทดลองปลูกข้าวหอมนครชัยศรีด้วยระบบอินทรีย์ เล่าถึงวิธีการปลูกข้าวชนิดนี้ว่า เริ่มปลูกในเดือนสิงหาคมและเกี่ยวในเดือนธันวาคมใช้เวลาปลูกทั้งสิ้น120 วัน หรือประมาณ 4 เดือนกว่า ได้ลำต้นสูงประมาณ 150 เซนติเมตร รวงใหญ่จะให้เม็ดข้าวประมาณ 175 เม็ด รวงเล็กประมาณ 150 เม็ด แต่จะไม่เกิน 200 เม็ด ในการปลูกให้ได้ผลนั้น เกิดจากการยึดถือ 3 หลักของวิถีการทำนาแบบโบราณ คือ แม่ธรณี แม่คงคา และแม่โพสพ
"ถ้าเอาอาหารที่ดีๆ ให้ 3 แม่นี้กิน ให้ทุกแม่มีร่างกายที่สมบูรณ์แข็งแรง โดยที่ไม่ทำลาย ไม่ใช้สารเคมี ไม่จุดไฟเผา สุดท้ายทั้ง 3 แม่ก็จะให้ผลผลิตที่ดีกลับคืนมาเช่นกัน และการปลูกข้าวนั้น ขึ้นอยู่ที่การเตรียมดิน เพราะถ้าเตรียมดินดีเมล็ดข้าวจะงอกงามโดยปุ๋ยไม่ต้องใส่ อย่าจุดไฟเผา แต่ให้ใช้วิธีไถดะแล้วว่านปอเทืองทิ้งไว้ได้สัก 1-2 เดือน เพื่อเตรียมดิน หลังนั้นไถกลบปอเทือง แล้วปล่อยน้ำเข้าแปลงนา ปล่อยทิ้งไว้ให้ปอเทืองย่อยสลายเพื่อเพิ่มธาตุอาหารให้กับดินก่อนปักดำส่วนเรื่องการให้ปุ๋ยและฮอร์โมนต้องคอยสังเกตช่วงเวลาให้เหมาะสม ถ้าใส่ไม่ถูกจังหวะอาจทำให้ต้นข้าวเสียหายได้"
ขณะที่ นายธัญญสิทธิ์ ยอดศรีโสภณเกษตรกรหนุ่มวัย 38 ปีจาก ต.ลานตากฟ้า อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม ที่หันมาปลูกข้าวหอมนครชัยศรีด้วยระบบเกษตรอินทรีย์ เมื่อปี 2556 เล่าว่า การทำนาอินทรีย์ต้องใช้ความอดทนในช่วงแรกแม้ปริมาณผลผลิตที่ได้ไม่มากเหมือนการทำเกษตรเคมี แต่ก็ชวยลดต้นทุนได้มากอย่างข้าวอินทรีย์ได้ประมาณ 50 ถังต่อไร่ ราคาขายกิโลประมาณ 80 บาท ขณะที่นาข้าวเคมี 1 ไร่ ได้ประมาณ 120 ถัง ราคาขายเท่ากัน แต่ค่าใช้จ่ายด้านเคมีสูงกว่า หักลบกลบหนี้แล้วจำนวนเงินที่ได้ไม่ต่างกันมากนัก แต่ความต่างที่ปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจน นั่นคือ ได้สุขภาพที่ดี และได้ฟื้นของดี ของนครปฐมให้กลับคืนมาอีกครั้ง
"ข้าวหอมนครชัยศรีนั้นปลูกไม่ยาก ข้อดีคือเป็นข้าวที่หนีน้ำได้ทัน ต้านทานโรคได้ดี ไวต่อแสง แต่จะใช้เวลานานกว่าข้าวอื่นๆ ส่วนข้อเสียสำหรับพื้นที่ลุ่มในย่านดินเหนียวพอต้นใกล้เวลาออกรวงจะสูงระดับ150 เซนติเมตร ถ้าน้ำหนักรวงเยอะ จะโน้มตันล้มหมด ถ้าน้ำในนาไม่แห้งเวลาเก็บเกี่ยวจะเสียหายเยอะ ฉะนั้นดินที่เหมาะคือดินร่วนปนทราย" ธัญญสิทธ์ บอกเคล็ดลับเล็กๆ น้อยๆ
เหล่านี้คือ ส่วนหนึ่งของความพยายามในการฟื้นตำนานข้าวหอมนครชัยศรี ซึ่งในช่วง2 ปีที่ผ่าน ถือเป็นช่วงเวลาแห่งการเก็บเกี่ยวเมล็ดพันธุ์ และช่วงการทดลองตลาด แต่ด้วยเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่โดดเด่นและเป็นข้าวอินทรีย์ที่มีความหอม อร่อย ก็เชื่อแน่ว่าในไม่ช้า ข้าวหอมนครชัยศรี จะกลับมาเป็นข้าวที่ได้รับความนิยมอีกครั้งเช่นอดีตที่ผ่านมาอย่างแน่นอน
สำหรับ เกษตรกร หรือเครือข่ายชุมชน ที่สนใจเรียนรู้เรื่องการปลูกพืชผัก และข้าวในระบบเกษตรอินทรีย์สามารถติดต่อมาได้ที่ มูลนิธิสังคมสุขใจ ศูนย์พัฒนาเกษตรอินทรีย์สุขใจโทร.034-225-203