- Details
- Category: เกษตร
- Published: Sunday, 22 February 2015 17:46
- Hits: 2383
กรมชลฯ เดินหน้าจัดรูปที่ดินหวังให้เกษตรกรมีน้ำใช้อย่างทั่วถึง
บ้านเมือง : ปัจจุบันการจัดรูปที่ดินถือเป็นการพัฒนาระบบชลประทานในระดับไร่นา เพื่อส่งน้ำเข้าถึงแปลงอย่างทั่วถึง ซึ่งเปรียบเสมือนเส้นเลือดฝอยที่ลำเลียงเลือดไปหล่อเลี้ยงอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย รองรับเชื่อมโยงจากระบบชลประทานใหญ่ไหลสู่คูน้ำ คูระบายน้ำ ส่งน้ำถึงแปลงไร่นาอย่างทั่วถึง ซึ่งทำให้สามารถเพิ่มผลผลิตให้แก่เกษตรกรมีน้ำใช้ได้ตลอดทั้งปีในทุกแปลงอย่างทั่วถึง
นายสิริวิชญ กลิ่นภักดี ผู้อำนวยการ สำนักงานจัดรูปที่ดินกลาง กรมชลประมาน เปิดเผยว่า รัฐได้ให้ความสำคัญในเรื่องของระบบคูส่งน้ำ การระบายน้ำ ซึ่งได้เชื่อมโยงกับภารกิจหน้าที่ของกรมชลประทานในการจัดรูปที่ดิน โดยการจัดทำคูส่งน้ำจากแหล่งน้ำคลองชลประทานเพื่อส่งไปยังเกษตรกรที่มีพื้นที่ห่างไกล และสามารถนำน้ำไปใช้ในการเกษตรในไร่นาได้อย่างทั่วถึง โดยพัฒนาในพื้นที่ชลประทานเสร็จแล้วจำนวน 1.9 ล้านไร่ จากพื้นที่ชลประทาน 29.9 ล้านไร่ โดยพัฒนาระบบชลประทานในไร่นาจะทำ 2 แบบ คืองานคันและคูน้ำ และจัดรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม นอกจากนี้ยังมีแผนการก่อสร้างในพื้นที่อื่นอย่างต่อเนื่อง
ที่ผ่านมางานจัดรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมทำไปแล้ว 1.96 ล้านไร่ ส่วนงานคันและคูน้ำทำไปแล้ว 10.77 ล้านไร่ และยังคงเหลือพื้นที่ที่เหมาะสมที่จะพัฒนาต่อเป็นงานจัดรูปที่ดินประมาณ 1.5 ล้านไร่ สำหรับงานคันและคูน้ำอีกประมาณ 5 ล้านไร่
ในหลากหลายพื้นที่มีระดับแหล่งน้ำที่แตกต่างกัน บางแห่งมีพื้นที่อยู่สูงกว่าระดับแหล่งน้ำต้นทุน ทำให้ไม่สามารถอาศัยแรงโน้มถ่วงของโลกในการส่งน้ำได้ จึงจ้องอาศัยการสูบน้ำด้วยไฟฟ้า ซึ่งเป็นภาระต้นทุนส่วนหนึ่งของเกษตรกรในพื้นที่ดังกล่าว เปรียบเทียบกับพื้นที่อยู่ต่ำกว่าระดับแหล่งน้ำต้นทุนที่อาศัยแรงโน้มถ่วงของโลกส่งน้ำได้ ไม่ต้องพึ่งเครื่องสูบน้ำและไม่ต้องแบกรับภาระค่าไฟฟ้า
พื้นที่ตำบลโพธิ์ อำเภอเมือง จังหวัดศรีสะเกษ ถือเป็นพื้นที่นำร่องจัดรูปที่ดินของภาคอีสาน ซึ่งมีแหล่งน้ำต้นทุนที่สำคัญ คือห้วยสำราญไหลผ่าน ปริมาณน้ำต้นทุนมีมากพอสมควรและเพียงพอสำหรับฤดูแล้ง สำหรับปัญหาซ้ำซากของเกษตรกรในพื้นที่นี้คือน้ำหลากช่วงฤดูฝน ทั้งจากแม่น้ำมูลโดยตรงกับห้วยสำราญซึ่งเป็นลำน้ำสาขาของแม่น้ำมูล ส่งผลกระทบทำให้น้ำไหลผ่านพื้นที่ทำกิน
"ในพื้นที่ตำบลโพธิ์ กรมชลประทานได้สนับสนุนการก่อสร้างสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าพร้อมระบบส่งน้ำเข้าสู่พื้นที่การเกษตร เมื่อนำน้ำเข้าสู่พื้นที่แล้วแต่การ กระจายน้ำยังไม่มี จึงได้มาสนับสนุนจัดรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม โดยทำคูส่งน้ำระดับเล็ก ทางลำเลียง ทางคลองระบาย จัดรูปแปลงและปรับระดับดินในพื้นที่การเกษตร เพื่อให้สามารถสูบน้ำผ่านคูส่งน้ำไหลเลาะไปยังแปลงของเกษตรกรทุกแปลง ขณะเดียวกันยังทำให้ประสิทธิภาพผลผลิตของเกษตรกรดีขึ้น"
ด้านนายณัฐกิตติ์ กองรักษา นายกองค์การบริหารส่วนตำบลโพธิ์ กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำก่อนการจัดรูปที่ดินแม้จะไม่ทั่วถึงดีนัก แต่ก็ยังทำให้เกษตรกรทำกินได้ และมีรายได้จากการทำนาในฤดูแล้ง ส่วนฤดูฝนจะได้รับผล กระทบจากระดับน้ำในแม่น้ำมูลทำให้ท่วมพื้นที่แทบทุกปี จากการจัดรูปที่ดินทำให้เกษตรกรมีความมั่นคงด้านน้ำอย่างชัดเจน โดยห้วยสำราญจะเป็นแหล่งน้ำต้นทุนที่สำคัญสำหรับพื้นที่ตรงนี้ ช่วยให้เกษตรกรมีน้ำเพาะปลูกในหน้าแล้ง นอกจากนี้เกษตรกรได้มีการวางแผนปลูกข้าวนาปรัง 2 ครั้งต่อปีอีกด้วย
จากการจัดรูปที่ดินของกรมชลประทาน ทำให้เห็นได้ว่าเกษตรกรมีแหล่งน้ำใช้เพื่อการเกษตรอย่างทั่วถึง มีผลผลิตเพิ่ม รวมทั้งมีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น