- Details
- Category: เกษตร
- Published: Sunday, 15 February 2015 00:01
- Hits: 2261
กรมหม่อนไหม เตรียมพร้อมรับมือภัยแล้ง แนะวิธีเลี้ยงไหมและดูแลแปลงหม่อนในช่วงหน้าแล้ง
นางวีณา พงศ์พัฒนานนท์ อธิบดีกรมหม่อนไหม กล่าวว่า จากสภาพอากาศในขณะนี้ได้เข้าสู่ช่วงฤดูแล้ง ซึ่งเป็นช่วงที่ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรในทุกสาขาอาชีพ รวมถึงเกษตรกรผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม โดยทั่วไปแล้ว สภาพอากาศร้อนจะไม่เหมาะสมต่อการเลี้ยงไหม เนื่องจากจะทำให้ไหมอ่อนแอเป็นโรคได้ง่าย จึงต้องให้ความสำคัญในเรื่องของความสะอาดเป็นอย่างมาก
นอกจากนี้สภาพอากาศที่ร้อนมากยังส่งผลทำให้ใบหม่อนมีเปอร์เซนต์น้ำในใบต่ำ ดังนั้น หากเกษตรกรมีการเลี้ยงไหมในช่วงหน้าแล้ง จึงมีข้อควรปฏิบัติ คือ หมั่นทำความสะอาดโรงเลี้ยงและอุปกรณ์การเลี้ยงให้ปลอดโรค เลี้ยงไหมในปริมาณที่ไม่หนาแน่นเกินไป ขยายพื้นที่ให้เหมาะสมกับวัยไหม ซึ่งถ้าเลี้ยงไหมหนาแน่นเกินไปจะทำให้ไหมอ่อนแอเติบโตไม่สม่ำเสมอ ลดความร้อนโดยการใช้พัดลมเข้าช่วย เพิ่มการถ่ายเทอากาศในโรงเลี้ยงไหมในช่วงที่อากาศร้อนสูงดูแลจัดการสภาพรอบๆกระด้งเลี้ยงไหมให้มีการระบายอากาศ เพื่อลดอากาศที่เป็นพิษภายในห้องเลี้ยงไหม และไม่ควรใช้ผ้าคลุมกระด้งเลี้ยงไหม เพราะจะทำให้เกิดการถ่ายเทอากาศไม่ดี ทำให้หนอนไหมอึดอัด หายใจไม่ออก
ในส่วนของใบหม่อนที่นำมาเลี้ยงไหมควรมีคุณภาพเหมาะสมกับวัยของหนอนไหม ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการเก็บใบหม่อนควรจะเป็นเวลาเช้าหรือเย็น ป้องกันไม่ให้ใบหม่อนเหี่ยว แนะนำให้ใช้ผ้าสะอาดชุบน้ำปิดตะกร้าใบหม่อน เพื่อทำให้ใบหม่อนสด เมื่อนำไปเป็นอาหารหนอนไหมก็จะส่งผลดีต่อผลผลิตรังไหม
อธิบดีกรมหม่อนไหม กล่าวต่อไปว่า สำหรับการดูแลรักษาแปลงหม่อนในช่วงหน้าแล้งนั้น ก็มีความสำคัญเช่นกัน เนื่องจากคุณภาพของใบหม่อนจะส่งผลต่อผลผลิตรังไหม ในช่วงหน้าแล้งจึงแนะนำให้เกษตรกรที่ไม่ได้เลี้ยงหนอนไหม ทำการตัดแต่งกิ่งหม่อนแบบตัดต่ำ โดยตัดไว้ตอสูงจากพื้นดิน 30 เซนติเมตร เพื่อให้ต้นหม่อนแตกกิ่งในช่วงฤดูฝน นอกจากนี้ในฤดูแล้งดินจะขาดความชุ่มชื้น ทำให้หม่อนชะงักการเติบโตและไม่มีใบเลี้ยงไหม เกษตรกรควรรักษาความชื้นในดินโดยการพรวนดินให้ร่วนซุย หรือใช้วัสดุคลุมดิน เช่น ฟางข้าว เพื่อป้องกันการระเหยของน้ำจากผิวดินทำให้ดินมีความชุ่มชื้น และหากเกษตรกรมีงบประมาณที่เพียงพออาจใช้การให้น้ำในแปลงหม่อนด้วยระบบน้ำหยด โดยใช้มินิสปริงเกอร์ ซึ่งเป็นวิธีการให้น้ำแบบประหยัดทั้งแรงงานคนและประหยัดน้ำ
ทั้งนี้ ในส่วนของกรมหม่อนไหม เบื้องต้นได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่เพื่อไปให้คำแนะนำแก่เกษตรกรในการดูแลรักษาแปลงหม่อน และการดูแลหนอนไหมเพื่อบรรเทาความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นในช่วงหน้าแล้ง โดยเกษตรกรผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมที่ประสบปัญหาภัยแล้งสามารถติดต่อแจ้งผลกระทบ และขอรับความช่วยเหลือได้ที่กรมหม่อนไหม เบอร์โทรศัพท์ 0-2558-7924-26 หรือที่ศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียติฯ ทั้ง 21 ศูนย์ของกรมหม่อนไหม