- Details
- Category: เกษตร
- Published: Thursday, 05 June 2014 23:51
- Hits: 3807
ผู้ตรวจฯคลังแจงปปช. ปัดปูดเจ๊งจำนำ 5 แสนล.
แนวหน้า : ผู้ตรวจฯคลังแจงปปช.ปัดปูดเจ๊งจำนำ 5 แสนล.ทุกข์ซ้ำชาวนามีทุนหว่าน แต่ขาดน้ำ-ร้อง‘คสช.’ช่วย
วันที่ 4 มิถุนายน ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)นายกุลิศ สมบัติศิริ ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง ในฐานะอดีตประธานคณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าว เข้าให้ถ้อยคำต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) เกี่ยวกับการดำเนินการโครงการรับจำนำข้าว ประกอบสำนวนการดำเนินคดีอาญาต่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ปล่อยให้เกิดการทุจริตในโครงการจำนำข้าวและระบายข้าว
ผู้ตรวจฯคลังแจงปปช.ปมข้าว
โดยนายกุลิศกล่าวว่า ไม่กังวลกับการให้ถ้อยคำวันนี้ ได้เตรียมเอกสารหลักฐานต่างๆ เกี่ยวกับการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวทั้งหมด และพร้อมให้ข้อมูลทุกประเด็นกับคณะกรรมการ ป.ป.ช. ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวได้สิ้นสภาพแล้ว ตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หลังเข้ายึดอำนาจ เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคมที่ผ่านมา ขณะที่ตนได้เข้ารับหน้าที่เมื่อวันที่ 23 เมษายน
ปัดให้ข่าวเจ๊งจำนำ 5 แสนล้าน
นายกุลิศยังปฎิเสธด้วยว่า ตนไม่เคยให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนเกี่ยวกับผลการตรวจสอบการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือกช่วง 2 ปีที่ผ่านมาคือ ฤดูกาลผลิต ปี 2554/2555 ,ปี 2555/2556 และปี 2556/2557 พบว่า มีผลดำเนินการขาดทุนสูงกว่า 500,000 ล้านบาท และมีข้าวสารหายไปจากสต๊อกของรัฐบาลกว่า 2.8 ล้านตัน เพราะในสต๊อกข้าวไม่ได้มีข้าวอยู่จริง เป็นเพียงตัวเลขทางบัญชีเท่านั้น ทำให้เรื่องข้าวหายมีปัญหามาตั้งแต่ตอนปิดบัญชีโครงการฯเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2556 พบมีตัวเลขข้าวหาย 2.5 ล้านตัน และปิดบัญชีโครงการฯเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2556 พบมีตัวเลขข้าวหายเพิ่มเป็น 2.98 ล้านตัน เนื่องจากเพิ่งได้พบกับสื่อมวลชนเป็นครั้งแรกวันนี้และไม่ทราบว่าข่าวดังกล่าวมาจากที่ไหน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายกุลิศ ใช้เวลาให้ถ้อยคำต่อป.ป.ช.นานประมาณเกือบ 2 ชั่วโมง ก่อนที่จะหลบผู้สื่อข่าวออกไปทางด้านหลัง อย่างไรก็ตาม นายกุลิศ เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวผ่านทางโทรศัพท์ว่า ป.ป.ช.ได้สอบถามถึงข้อมูลกรณีข้าวในโครงการจำนำข้าวหายไปจากสต๊อค และผลดำเนินการที่ขาดทุน ซึ่งตนก็ได้ปฏิเสธไปว่าไม่ได้เป็นคนให้ข่าว และไม่ทราบว่าข้อมูลที่สื่อนำไปลงข่าวนั้นมาจากไหน
ทั้งนี้ ในวันที่ 5 มิถุนายน เวลา 9.30 น. นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลังจะเดินทางเข้าให้ถ้อยคำต่อ ป.ป.ช.เป็นรายที่ 3
เงินสะพัดชาวนาช็อปกระจาย
ส่วนความคืบหน้าการจ่ายเงินจำนำข้าวให้ชาวนาแต่ละจังหวัดยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง อย่างที่จ.นครสวรรค์ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) แต่ละสาขาในพื้นที่ยังคงเร่งจ่ายเงินให้ชาวนา โดยเปิดทำการวันเสาร์-อาทิตย์ด้วย เนื่องจากมีชาวนาที่ยังไม่ได้รับเงินถึง 6,760 ราย ด้านชาวนา อ.บรรพตพิสัยที่มารอรับเงินบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า ดีใจที่ได้รับเงินที่ค้างการชำระมานาน 6-7 เดือน จะนำเงินไปใช้หนี้ และเตรียมลงทุนทำนารอบใหม่ต่อไป ขณะที่บรรยากาศการจับจ่ายซื้อของจังหวัดคึกคักอย่างเห็นได้ชัด โดยร้านจำหน่ายปุ๋ย ยาและอุปกรณ์การเกษตร มีเกษตรกรนำเงินมาชำระหนี้จำนวนมาก โดยพ่อค้าแม่ค้าตามตลาดสดบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า มีชาวนาที่ได้รับเงินโครงการจำนำข้าวมาซื้อสินค้าตลอดทั้งวัน โดยเฉพาะ 3 วันที่ผ่านมา ยอดจำหน่ายสินค้าเพิ่มขึ้นกว่าช่วงที่ชาวนายังไม่ได้รับเงินจำนำข้าว
สุพรรณบุรีโวยไม่มีน้ำทำนา
ส่วนบริเวณคลองชลประทาน หมู่ 7 ต.ตลิ่งชัน อ.เมือง จ.สุพรรณบุรีมีชาวนาจาก 3 อำเภอ 5 ตำบลประกอบด้วย ตำบลไร่ อ.ดอนเจดีย์ ต.ตลิ่งชัน ต.สนามคลี ต.สระแก้ว อ.เมืองสุพรรณบุรี และต.พลับพลาไชย อ.อู่ทอง กว่า 200 คน ได้รับความเดือดร้อนไม่มีน้ำทำนา มารวมตัวเรียกร้องให้ ชลประทานอำเภอดอนเจดีย์ ปล่อยน้ำผ่านคลองมะขามเฒ่า-อู่ทอง ที่แห้งขอดมานาน ทำให้ชาวนาเดือดร้อนมาก เพราะได้รับเงินจำนำข้าวมาแล้ว เป็นทุนทำนาแต่ต้องมาประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ ทั้งนี้ กลุ่มเกษตรกรได้ยื่นหนังสื่อผ่านปลัดอำเภอดอนเจดีย์ และผู้แทนจากโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาน้ำดอนเจดีย์ พร้อมระบุว่า ถ้ายังไม่มีคำตอบ หรือเกษตรกรยังไม่มีน้ำทำนา ชาวนาจะรวมตัวเดินทางไปเรียกร้อง ที่โครงการส่งและบำรุงรักษาน้ำดอนเจดีย์ต่อไป
ร้องคสช.ขุดคลองส่งน้ำเพิ่ม
โดยนายวรภพ ฉิมพันธ์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.)ไร่รถ อ.ดอนเจดีย์ กล่าวว่า เกษตรกรที่ใช้น้ำจากคลองมะขามเฒ่าฯ 5 ตำบลลงมือปลูกข้าวไปแล้ว แต่ไม่มีน้ำ ทำให้ข้าวขาดน้ำตาย และนาข้าวอีกนับหมื่นไร่ ไม่สามารถลงมือปลูกข้าวได้ จึงฝากถึงหน่วยงานชลประทานที่รับผิดชอบในเขตพื้นที่ในคลองมะขามเฒ่าฯ ตั้งแต่ กม.0-104 ให้ช่วยดูแลแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำให้ชาวนา และฝากผ่านไปถึงคณะ คสช.ให้ช่วยมาแก้ปัญหาน้ำในคลองมะขามเฒ่า-อู่ทอง ที่มีปัญหามาหลายปีแล้ว และขอให้ คสช.ช่วยพิจารณาเรื่องขุดคลองส่งน้ำเพิ่มในงบประมาณ 520,000 ล้านบาท ที่ คสช.กำหนดไว้เป็นแผนยุทธศาสตร์เกี่ยวกับเรื่องน้ำ
10 วันจ่าย 4 หมื่นล.ให้ 4 แสนราย
ส่วนความคืบหน้าการจ่ายเงินจำนำข้าวให้ชาวนา วันเดียวกัน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สรุปยอดการจ่ายเงินโครงการรับจำนำข้าว ฤดูกาลผลิต 2556/2557 โดยเริ่มจ่ายตั้งแต่วันที่ 26 พฤษภาคม-4 มิถุนายน รวมยอดจ่ายสะสมจ่ายให้ชาวนาจนถึงขณะนี้ 400,763 ราย เป็นเงินทั้งสิ้น 40,930.98 ล้านบาท
แจงเบิกจ่ายงบแผนน้ำ 3.5 แสนล.
วันเดียวกัน เว็บไซต์กรมบัญชีกลาง เผยผลการเบิกจ่ายงบประมาณตาม พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ 2555 โดยเป็นข้อมูลจนถึงวันที่ 23 พฤษภาคม หลังวันรัฐประหาร 1 วัน พบว่า ในเอกสารระบุ วงเงิน 336,918.97 ล้านบาท มีการโอนเข้ามาอยู่ในกำกับของสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นที่ตั้งของสำนักนโยบายและบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ (สบอช.) มีการเบิกจ่ายงบประมาณไปแล้ว 10,626.86 ล้านบาท หรือร้อยละ 3.15 มีรายละเอียดที่น่าสนใจดังนี้ กรมทางหลวงชนบทเบิกจ่าย โครงการซ่อมแซมทางหลวงชนบท วงเงินรวม 6,118.92 ล้านบาท กรมทางหลวง เบิกจ่ายวงเงิน 2,626.65 ล้านบาท เป็นโครงการแนวคันกั้นน้ำริมฝั่งคลองระพีพัฒน์ และคลองรังสิต ฯลฯ โครงการขุดลอกคลอง 9 สาย เหนือใต้ 10 สาย กลางล่าง รวมถึงขุดลอกคลองต่างๆ
ในส่วนของกรมชลประทาน ที่กำกับดูแลโดยพรรคชาติไทยพัฒนามีการ เบิกจ่ายหลายก้อนรวม 2,410 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นแผนงานกำหนดพื้นที่รับน้ำนอง เป็นงานจ้างเหมาระบบ ปรับปรุงคันดินป้องกันน้ำท่วมฝั่งซ้ายคลองฯ เป็นต้น