WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

บทความ: แผนที่อุตสาหกรรมยางพาราไทย (ตอนที่ 1)

                ตอนที่ 1 ก้าวย่างของยางไทย

   ในโลกใบนี้มีสรรพสิ่งเกิดขึ้นอยู่มากมาย หากจะเลือกสนใจเรื่องบางเรื่องก็จะทำให้เราเข้าใจสิ่งเหล่านั้นและเห็นภาพต่างๆได้อย่างชัดเจน เรื่องราวของยางธรรมชาติเป็นเรื่องที่เล็กมากๆ ในโลกใบนี้แต่กลับเป็นเรื่องใหญ่มากสำหรับกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งโดยเฉพาะเกษตรกรชาวสวนยางของประเทศไทย สภาพที่เป็นอยู่ในปัจจุบันบนโลกใบนี้เกี่ยวกับสถานการณ์ยางธรรมชาติ โดยเฉพาะยางพาราซึ่งในที่นี้ถือว่าเป็นตัวหลักของเรื่องนี้ ภาคอุปทาน ยางพาราของโลกในปัจจุบัน ปี ค.ศ. 2014 ผลผลิตยางพาราที่ผลิตได้จากแหล่งปลูกยางพาราทั่วโลกรวมกันได้ 12.257 ล้านตัน ในจำนวนนี้ประเทศไทยที่มีสวนยางพารากระจายอยู่ตามพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ผลิตยางได้ 4.2 ล้านตัน ซึ่งเทียบส่วนแล้วจัดว่าเป็นประเทศผู้ผลิตยางได้เป็นอันดับ 1 ของโลก รองลงไปก็เป็นประเทศอินโดนีเซียตามลำดับ แนวโน้มปริมาณการผลิตยางพาราของโลกมีปริมาณค่อยๆเพิ่มขึ้นทุกปี ภาคอุปสงค์ ยางพาราของโลกในปีเดียวกันก็มีปริมาณความต้องการใช้ยางพาราในการผลิตเป็นสินค้าสำเร็จรูปเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน ยางพาราในส่วนของประเทศไทยที่ผลิตได้ทั้งหมดเรามีความสามารถนำมาแปรรูปผลิตเป็นสินค้าอุตสาหกรรมที่ใช้ในประเทศและส่งออกได้เพียงร้อยละ 13 หรือคิดเป็นปริมาณยางได้ 4.6 แสนตัน ผลผลิตยางส่วนทีอยู่นอกการแปรรูปของเราถูกจำหน่ายให้ภาคอุปสงค์นอกประเทศไปในหลายๆ ประเทศทั้งในแถบยุโรป อเมริกาฯลฯ

      และคู่ค้าที่เป็นลูกค้ารายใหญ่ของไทยที่มีความต้องการใช้ยางพารามากและซื้อยางพาราของไทยนำไปผลิตสินค้าคือประเทศจีน ในมณฑลซานตงซึ่งมีเมืองชิงเต่าเป็นเมืองเอกด้านอุตสาหกรรมการผลิตผลิตภัณฑ์ยาง และเมืองกว่างเหยาก็เป็นเมืองคู่ขนานของเมืองชิงเต่าที่ใช้ยางพาราเป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้าผลิภัณฑ์ยาพารา โดยเฉพาะการผลิตยางล้อรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดอันดับ 1 ของประเทศจีน ผลิตได้กว่าปีละ 150 ล้านเส้น มูลค่ากว่า 20,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ใช้ยางพาราไปในกระบวนการผลิตรวม 1 ล้านตันและประมาณครึ่งหนึ่งของยางพาราที่ใช้ได้ซื้อจากประเทศไทย อย่างไรก็ตามการขายยางพาราให้ภาคอุปสงค์นอกประเทศสามารถขายออกไปได้จำนวนหนึ่งซึ่งยังมีปริมาณยางพาราคงค้างที่ผลิตได้อยู่ในสะต๊อกจำนวนมากสะสมมาทุกๆ ปี ประกอบกับมีข้อมูลปริมาณยางเพิ่มขึ้นเป็นผลจากนโยบายของประเทศจีนที่ได้บรรลุข้อตกลงร่วมกับรัฐบาลสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ได้รับสัมปทานพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ 99 ปี แถบทิศเหนือของประเทศลาวเพื่อปลูกยางพาราป้อนอุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยางของประเทศจีน ข้อมูลตรงนี้ทำให้เราเห็นว่าแนวโน้มต่อจากนี้ไปทั้งปริมาณยางของโลกและราคายางจะไม่มีทางสูงขึ้นอย่างแน่นอนด้วยปัจจัยภาคอุปทานเติบโตมากกว่าภาคอุปสงค์ เกษตรกรชาวสวนยางของไทยคงเห็นอนาคตแล้วของตนเองแล้วว่าจะมีทิศทางขาลง ความจริงที่ผ่านมาจะเห็นปรากฏการที่พี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางออกมาเรียกร้อยให้ภาครัฐช่วยเหลือ หรือให้ช่วยพยุงราคายางพาราให้ จะเห็นได้ทุกปีจนคุ้นชินแล้ว

    ปัจจุบันในรัฐบาลยุคคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ( คสช. ) เรื่องราคายางพาราตกต่ำ ก็เป็นเรื่องที่มีความสำคัญรัฐบาลถือให้เป็นวาระแห่งชาติ เพราะเกษตรกรชาวสวนยางมีความเดือดร้อนมาก ราคาที่ขายได้ต่ำมาก ราคาลงลึกถึงประมาณ 3 กิโลกรัม 100 บาท ไม่คุ้มกับต้นทุนการผลิต เกษตรกรชาวสวนยางจึงออกมาเรียกร้อยให้รัฐบาลรับซื้อหรือประกันราคาให้ 60 บาท/กิโลกรัม ในขณะที่ราคาน้ำยางสด ณ. เวลาปัจจุบัน ราคาตลาดโลกอยู่ที่กิโลกรัมละ 43 บาท ก็อ่านความได้ว่า รัฐบาลคงไม่อาจสนองตอบต่อข้อเรียกร้องนี้ได้ ภายใต้การนำรัฐบาลจาก คสช. ได้ระดมความคิดเห็นจากหลายๆ ภาคส่วนเพื่อแก้ปัญหาอุตสาหกรรมยางทั้งระบบจนเป็นข้อสรุป 4 แนวทาง คือ 1.เร่งรัดการใช้ยางภายในประเทศให้มากขึ้น โดยนำยางมาใช้สร้างถนน ทำอิฐบล็อก ทำพื้น ฝาย หรือผลิตภัณฑ์แปรรูป เป็นต้น พร้อมทั้งเร่งการโค่นต้นยางเก่าเพื่อลดอุปทานภายในประเทศ ทำให้ลดผลผลิตยาวในอนาคต 2.ผลักดันและเร่งรัดโครงการปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ให้สถาบันเกษตรกรรับซื้อยางจากเกษตรกรในราคาที่สูงขึ้น และการปล่อยกู้ให้กับผู้ประกอบการ นำเงินเปลี่ยนเครื่องจักรเพื่อใช้ในการแปรรูปยาง อีกทั้ง สนับสนุนให้มีการปล่อยเงินกู้ให้กับกลุ่มวิสาหกิจชุมชน เพื่อเข้าถึงเกษตรกรมากขึ้น 3.สร้างตลาดการซื้อขายยางธรรมชาติ โดยเชื่อมโยงให้มีการทำสัญญาซื้อขายและส่งมอบสินค้าจริงระหว่างเกษตรกรชาวสวนยางกับผู้ซื้อ และ 4.ร่วมมือกับต่างประเทศ เพื่อกำหนดแนวทางจัดการเก็บสต็อกยางร่วมกัน

ข้อมูลจาก  http://in-promote.blogspot.com/2014/12/1.html

บทความ: แผนที่อุตสาหกรรมยางพาราไทย (ตอนที่ 2)

                ตอนที่ 2 สินเชื่อยางแนวทางพยุงราคา

    แนวทางในการผลักดันและเร่งรัดโครงการปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ให้สถาบันเกษตรกรรับซื้อยางจากเกษตรกรในราคาที่สูงขึ้น และการปล่อยกู้ให้กับผู้ประกอบการ นำเงินเปลี่ยนเครื่องจักรเพื่อใช้ในการแปรรูปยาง อีกทั้ง สนับสนุนให้มีการปล่อยเงินกู้ให้กับกลุ่มวิสาหกิจชุมชน เพื่อเข้าถึงเกษตรกรมากขึ้น โครงการสินเชื่อยาง เป็นโครงการหนึ่งที่อยู่ในแนวทางที่ 2 นี้ ในส่วนของการชดเชยดอกเบี้ยเงินกู้ให้กับผู้ประกอบการนำเงินไปซื้อน้ำยางข้นเพื่อเก็บน้ำยางเข้าสะต๊อกของโรงงานให้เต็มจำนวนสะต๊อก ใช้วงเงิน 10,000 ล้านบาท โดยให้ผู้ประกอบการกลุ่มน้ำยางข้นกู้เงินหรือขอสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์ตามที่ผู้ประกอบการมีอยู่ เพื่อนำเงินไปหมุนเวียนซื้อน้ำยางข้นจากเกษตรกรชาวสวนยางมาเข้าสะต๊อกให้เต็มจำนวนในช่วงเวลาที่ผลผลิตน้ำยางออกมามาก โดยเล็งเห็นผลว่าเป็นการดึงปริมาณน้ำยางออกจากมือเกษตรกรให้มากที่สุดและเร็วที่สุดและคาดว่าจะส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำยางข้นมีมากยิ่งขึ้นเพื่อดึงราคายางพาราให้สูงขึ้นตาม วิธีที่ทำก็คือกลุ่มผู้ประกอบการกลุ่มน้ำยางข้นไปกู้เงินจากสถาบันการเงินมาใช้ซื้อน้ำยางข้นในวงเงิน 10,000 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ที่ผู้ประกอบการต้องจ่ายให้ธนาคารเจ้าหนี้ตามอัตราดอกเบี้ยของสถาบันการเงิน ซึ่งปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 5 บาท คิดเป็นเม็ดเงินที่ใช้ในโครงการอยู่ที่ 500 ล้านบาท ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการสินเชื่อยางจะได้รับการชดเชยดอกเบี้ยเงินกู้ร้อยละ 3 บาท รวมเม็ดเงิน 300 ล้านบาท หมายความว่าผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการสินเชื่อยางจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ให้ธนาคารเจ้าหนี้รวมทั้งสิ้น 500 ล้านบาท ในจำนวนนี้ภาครัฐจ่ายชดเชยแทนให้ 300 ล้านบาท ผู้ประกอบการจ่ายเอง 200 ล้านบาท  เรื่องแบบนี้ท่านเห็นเป็นอย่างไรมาพิจารณาวิเคราะห์เรื่องนี้กันสักหน่อยจะได้เห็นมุมมองต่างๆ ได้หลากหลายยิ่งขึ้น

    ก่อนอื่นต้องชมรัฐบาลยุคที่มาจาก คสช. ว่าทำงานได้อย่างรวดเร็ว คำนึงถึงความเดือดร้อนและเรื่องปากท้องของพี่น้องเกษตรกร ทุ่มเทการทำงานอย่างหนักเพื่อคลี่คลายความเดือดร้อนของพี่น้องเกษตรการอย่างแท้จริง เรื่องนี้ถูกยกขึ้นเป็นวาระปัญหาระดับชาติ ก็คิดว่าโครงการสินเชื่อยางซึ่งเป็นกลไกชิ้นเล็กๆ ชิ้นหนึ่งที่จะขับเลื่อนการแก้ปัญหาราคายางทั้งระบบได้ส่งผลเป็นลูกโซ่ถึงตัวเกษตรกรชาวสวนยางจริงๆ คงได้ระดับหนึ่ง ท่านก็เห็นด้วยตามความข้างต้นนี้นะครับ ในมุมมองอีกด้านหนึ่ง เมื่อพิจารณาดูกันอีกทีเปรียบเทียบข้อมูลให้รอบด้านแล้วค่อยสรุปตกผลึกทางความคิดกันดีกว่า ตามที่เราเห็นว่าเรื่องราวของยางพาราตั้งแต่ตอนต้นแล้วว่ามีบทสรุปที่เป็นหัวใจอยู่ที่ภาคอุปทาน มีอัตราการเติบโตที่สูงกว่าภาคอุปสงค์ การใช้มาตรการช่วยเหลือผ่านเครื่องมือต่างๆ เช่นโครงการสินเชื่อยางเพื่อพยุงราคายางจึงถือว่าเป็นการใช้เครื่องมือที่ถูกต้องเหมาะกับเวลาหรือไม่ ถ้าเปรียบปริมาณยางที่ผลิตออกมาเรื่อยๆ เหมือนปริมาณฝนตกไม่หยุดมีน้ำที่ไหลหลากลงมาจากภาคเหนือเข้าสู่ภาคกลาง การผันน้ำลงสู่ทะเลเปรียบเหมือนกระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์ยางซึ่งในภาวะปกติระบายได้ทันก็ไม่เป็นประเด็นปัญหา ปริมาณน้ำที่ไหลลงมามีอัตราที่มากกว่าอัตราปริมาณน้ำที่ระบายออกไป สถานการณ์นี้ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมแน่นอน เช่นเดียวกับปริมาณยางพาราที่ระบายขายออกไปไม่หมดจึงมีปริมาณยางเหลืออยู่ในระบบฉันนั้น แล้วอย่างไรจะเป็นการช่วยไม่ให้น้ำท่วมได้ วิธีคิดเรื่องยางพาราก็เป็นแนวทางเดียวกัน มีผู้คิดได้เสนอข้อคิดความเห็นทั้งระบบให้รัฐบาลออกมาตรการต่างๆ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางและยกระดับราคายางพาราให้สูงขึ้น เครื่องมือหนึ่งในมาตรการเหล่านั้นก็คือโครงการสินเชื่อยาง ภาพของโครงการนี้แสดงออกมาให้เห็นว่าเป็นโครงการที่ดีในระดับหนึ่ง เนื้อหาหลักของโครงการเป็นการชดเชยดอกเบี้ยเงินกู้ให้ผู้ประกอบการโดยเฉพาะผู้ประกอบการกลุ่มน้ำยางข้นในอัตราร้อยละ 3 ที่ไปกู้สถาบันการเงินต่างๆ ในวงเงินกู้รวม 10,000 ล้านบาท 

      โดยมีเงื่อนไขให้ผู้ประกอบการนำเงินกู้นี้ไปหมุนเวียนซื้อน้ำยางข้นเก็บเข้าสะต๊อกให้เต็มตลอดเวลา เมื่อโครงการนี้ดำเนินต่อไปคาดการได้ว่าจะมีปริมาณน้ำยางข้นจำนวนหนึ่งจะไหลเข้าโกดังเก็บของผู้ประกอบการ เกษตรกรชาวสวนยางขายน้ำยางได้ปริมาณเพิ่มขึ้น คล้ายกับตลาดมีความต้องการมากขึ้นราคาน้ำยางก็จะขยับตัวสูงขึ้นแต่วัดค่าไม่ได้ว่า ราคาสูงขึ้นแค่ไหนจากโครงการนี้ เกษตรการชาวสวนยางไม่ได้รับประโยชน์โดยตรงต้องรอดูไปว่าโครงการนี้จะส่งผลต่อราคาน้ำยางมากน้อยแค่ไหนอย่างไร เปรียบเหมือนการทำโครงการนี้ผิดฝาผิดตัวหรือเกาไม่ถูกที่คัน ถ้าหันมาดูแบจำลองเปรียบเทียบกับสถานการณ์น้ำท่วม คล้ายกับว่าโครงการนี้กำลังใช้ความพยายามต่อสู้กับสถานการณ์น้ำท่วมด้วยการสร้างแก้มลิงเป็นตัวช่วยดูดซับปริมารณน้ำยางที่กำลังไหลสู่ตลาด ก็ช่วยได้ระดับหนึ่งซึ่งค่อนข้างจะได้ผลน้อยมากเมื่อเทียบกับปริมาณน้ำยางที่ผลิตออกมากและระบายออกต่างประเทศได้ช้าและปริมาณไม่มากพอ เหตุการณ์ลักษณะนี้จะเกิดขึ้นซ้ำๆ เป็นแบบนี้ทุกปี  ทีนี้ลองพิจารณาแยกส่วนให้ชัดถึงผลลัพธ์ที่คาดว่าจะเกิดขึ้น โครงการนี้มีผู้เกี่ยวข้องได้เสียอย่างไรบ้าง เริ่มจากคนที่หนึ่งคือภาครัฐ มติ ครม.เห็นชอบให้ดำเนินโครงการนี้ รัฐจำต้องนำภาษีอากรจากประชาชนออกมาจ่ายชดเชยค่าดอกเบี้ยเงินกู้ให้ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการฯ 300 ล้านบาท คนที่สองเป็นเหล่าผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการฯ เป็นผู้รับผลประโยชน์นี้จากเงินภาษีอากร 300 ล้านบาทที่รัฐบาลจ่ายแทนให้ คนที่สามเป็นเกษตรกรชาวสวนยางที่ขายน้ำยางได้ราคาที่สูงกว่าราคาตลาดปกติทั่วไป (สูงกว่ากี่บาทหรือไม่) ข้อนี้ไม่สามารวัดเป็นมูลค่าออกมาได้ ภาพที่แสดงให้เห็นนี้ยังสามารถบ่งชี้ถึงกลุ่มผู้รับประโยชน์จากโครงการนี้ เชื่อได้ว่าน่าจะมาจากกลุ่มทุนขนาดใหญ่ที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับยางพาราเพียงไม่กี่รายที่เสนอแนวความคิดนี้เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนมาตรการต่างๆ ออกมาช่วยเหลือพยุงราคายางไม่ให้ตกต่ำ เป็นผลงานเด่นของรัฐบาล เพื่อพิสูจน์ความจริงและการยอมรับผลงานชิ้นนี้ ต้องมีหน่วยติดตามสำรวจและสอบถามจากพี่น้องเกษตรการชาวสวนยางว่าได้รับประโยชน์ราคาที่เพิ่มขึ้นและมีความพึงพอใจกับมาตรช่วยเหลือในโครงการสินเชื่อยางหรือไม่ คำตอบนั้นคือเสียงสวรรค์ที่ต้องน้อมรับนะครับ

   ติดตามข้อมูลเพิ่มเติม : http://in-promote.blogspot.com/2015/01/2-2-10000-10000-5-500-3-300-500-300-200.html

บทความ: แผนที่อุตสาหกรรมยางพาราไทย : ตอนที่ 3 (ตอนจบ)

ตอนที่ 3 (ตอนจบ) : นวัตกรรมผลิตภัณฑ์ที่ใช้ยางพารา...ใครได้ใครเสีย

แนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมยางพาราของไทยทั้งระบบที่รัฐบาลวางแผนดำเนินการไว้ มี 4 แนวทางคือ

     1.เร่งรัดการใช้ยางภายในประเทศให้มากขึ้น โดยนำยางมาใช้สร้างถนน ทำอิฐบล็อก ทำพื้น ฝาย หรือผลิตภัณฑ์แปรรูป เป็นต้น พร้อมทั้งเร่งการโค่นต้นยางเก่าเพื่อลดอุปทานภายในประเทศ ทำให้ลดผลผลิตยาวในอนาคต

      2.ผลักดันและเร่งรัดโครงการปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ให้สถาบันเกษตรกรรับซื้อยางจากเกษตรกรในราคาที่สูงขึ้น และการปล่อยกู้ให้กับผู้ประกอบการ นำเงินเปลี่ยนเครื่องจักรเพื่อใช้ในการแปรรูปยาง อีกทั้ง สนับสนุนให้มีการปล่อยเงินกู้ให้กับกลุ่มวิสาหกิจชุมชน เพื่อเข้าถึงเกษตรกรมากขึ้น (แนวทางนี้เพื่อชดเชยดอกเบี้ยเงินกู้ 3% ให้ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ รัฐบาลได้อนุมัติโครงการแล้ว 2 โครงการ คือโครงการสนับสนุนสินเชื่อผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ยางเพื่อขยายกำลังการผลิต/ปรับเปลี่ยนเครื่องจักการผลิต วงเงินกู้ 15,000 ล้านบาท  และโครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบการยาง วงเงินกู้ 10,000 ล้านบาท  หมายความว่ารัฐบาลยอมจ่ายเงิน 750 ล้านบาท แทนผู้ประกอบการที่ต้องจ่ายดอกเบี้ยกู้เงินให้ธนาคารเจ้าหนี้ ในสองโครงการนี้)

    3.สร้างตลาดการซื้อขายยางธรรมชาติ โดยเชื่อมโยงให้มีการทำสัญญาซื้อขายและส่งมอบสินค้าจริงระหว่างเกษตรกรชาวสวนยางกับผู้ซื้อ

    4.ร่วมมือกับต่างประเทศ เพื่อกำหนดแนวทางจัดการเก็บสต็อกยางร่วมกันนั้น

     ในแนวทางการ.เร่งรัดการใช้ยางภายในประเทศให้มากขึ้น โดยนำยางมาใช้สร้างถนน ทำอิฐบล็อก ทำพื้น ฝาย หรือผลิตภัณฑ์แปรรูป เป็นต้น พร้อมทั้งเร่งการโค่นต้นยางเก่าเพื่อลดอุปทานภายในประเทศ เพื่อให้ลดผลผลิตยางในอนาคต เป็นแนวคิดที่ถูกต้องเหมาะสมและมีมานานแล้ว แนวทางนี้จะไม่ถูกนำไปปฏิบัติให้เกิดขึ้นอย่างเด็ดขาดหากเป็นห่วงเวลาในยุครัฐบาลประชาธิปไตยที่มาจากการเลือกตั้งจะเป็นเพียงหมึกที่เปื้อนติดกระดาษแค่นั้น เพราะมีข้อขัดข้องบางอย่างที่ไม่แสดงออกมาให้เห็นอีกจำนวนมากเปรียบเหมือนก้อนน้ำแข็งที่ลอยน้ำมีส่วนของน้ำแข็งที่จมน้ำอยู่ก้อนใหญ่มากกว่าส่วนที่มองเห็น สิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งยวดในยุครัฐบาลที่มาจาก คสช. คือการสร้างอุปสงค์ยางพาราให้เกิดขึ้นด้วยการใช้การตลาดเป็นตัวขับเคลื่อน วิธีขับเคลื่อนที่ผู้มีอำนาจรัฐอยู่ในมือคือการออกเป็นนโยบายหรือข้อสั่งการให้หน่วยงานภาคราชการเป็นการเฉพาะ ใช้วัสดุอุปกรณ์หรือผลิตภัณฑ์ใดๆ ที่มียางพาราเป็นวัสดุหรือส่วนประกอบเป็นลำดับแรก เพื่อให้สอดคล้องกับระเบียบราชการ ต้องนำระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535  มาปรับปรุง/แก้ไขใหม่ ให้สนอบตอบต่อนโยบายในการเพิ่มปริมาณการใช้ยางในประเทศให้มากขึ้นด้วย  วิธีคิดแบบนี้จะส่งผลกระทบต่ออุปสงค์ของยางพาราโดยตรง ความคิดในการนำยางมาใช้ประโยชน์เป็นวัสดุแทนวัสดุอื่นสร้างถนน ทำอิฐบล็อก ทำพื้น  ฝาย หรือผลิตภัณฑ์แปรรูปต่างๆ นั้นมีมานานแล้ว มีหลายๆ หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ได้ศึกษา วิจัยคิดค้นไว้แล้วระดับหนึ่ง แต่ยังไม่นำมาประยุกต์ใช้และต่อยอดให้เกิดเป็นรูปธรรมออกสู่สาธารณะแม้แต่เรื่องเดียว  ลองมาช่วยกันวิเคราะห์ดูถึงเหตุต่างๆ ที่ผู้เกี่ยวข้องมีส่วนได้ส่วนเสียในเรื่องเหล่านี้ดูว่าเป็นเช่นไร เริ่มจากถ้าได้นำผลงานจากการศึกษา วิจัย คิดค้น การใช้ยางพาราเพื่อทดแทนวัสดุอื่นที่หน่วยงานต่างๆ ทำไว้มาทดลองทำเพื่อใช้งานจริงและรัฐบาลมีนโยบาย/ข้อสั่งการลงมาโดยอาจจะนำร่องทำในที่ใดๆ ก็ได้เช่น  องค์การสวนยาง และหรือที่อื่นๆ เพื่อสร้าง/ปรับปรุงสิ่งปลูกสร้าง  ถนน  ลานกีฬา ฯลฯ  ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 ที่ปรับปรุง/แก้ไขให้เอื้อต่อนโยบายการเพิ่มปริมาณการใช้ยางในประเทศแล้ว  จะเท่ากับเป็นการดึงปริมาณยางพาราเข้าสู่ระบบการผลิตและผลิตภัณฑ์ในเชิงอุตสาหกรรมได้อย่างมากและทันที และต่อมาขยายผลการดำเนินงานรุกเข้าไปในพื้นที่ชุมชนที่อยู่ภายใต้การดูแลของ อบต. อบจ. ตามลำดับ ผู้มีส่วนได้โดยตรงคือเกษตรกรชาวสวนยางจะจำหน่ายผลผลิตได้ราคาที่สูงขึ้นคุ้มค่าเหมาะสมเพราะปริมาณการใช้ยางเป็นที่ต้องการมากขึ้นในภาคอุตสาหกรรม ส่งผลทางอ้อมให้ชีวิตความเป็นอยู่และสังคมดีขึ้น

     ภาคอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการอาจมีสองกลุ่มคือทั้งส่วนที่ได้ประโยชน์และเสียประโยชน์ ในกลุ่มที่ได้ประโยชน์จะมีแนวคิดในการใช้ยางพาราทำนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ทดแทนวัสดุอื่น ผู้ประกอบการกลุ่มนี้ในระยะแรกต้องมีต้นทุนการพัฒนาองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ นวัตกรรม และลงทุนด้านเทคโนโลยีการผลิตและพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้สามารถใช้งานได้เหมาะสมดียิ่งขึ้น (สร้างความก้าวหน้าภาคการแปรรูปในอุตสาหกรรมยางให้สูงขึ้น) ในกลุ่มที่เสียประโยชน์อาจจะเป็นกลุ่มทุนที่ไม่ต้องการให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ  ที่สร้างผลิตภัณฑ์ใดๆ เข้ามาทดแทน  ผลิตภัณฑ์ที่ใช้วัสดุเดิมที่มีใช้อยู่แล้ว หากใช้ยางพาราเป็นวัสดุส่วนผสมในการสร้างถนนทดแทนวัสดุอื่นได้ คำถามที่ว่าวัสดุชนิดที่ใช้อยู่เดิมจะไปอยู่ที่ไหนในอุตสาหกรรม นี่เป็นเพียงหนึ่งเรื่องที่ชวนให้พิจารณา ผลประโยชน์ที่เคยได้รับกลับต้องเสียไปอย่างมหาศาลจะยอมรับได้หรือไม่ หากสถานการณ์เดินไปแบบนี้กลุ่มผู้เสียประโยชน์คงไม่นิ่งเฉยอย่างแน่นอนจะต้องมีกระบวนการอะไรบางอย่างออกมาเพื่อสกัดไม่ให้เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่จะใช้ยางพาราเป็นวัสดุประกอบแทนวัสดุอื่นสร้างถนนออกมาได้อย่างง่ายๆ เห็นอะไรที่เป็นเรื่องที่ขัดแย้งกันอยู่บ้างหรือไม่ ด้วยการลงทุนทางด้านเทคโนโลยี วิทยาศาสตร์และนวัตกรรมที่ต้องใช้เม็ดเงินอย่างมาก จึงอาจมีบางสิ่งหรือแหล่งข้อมูลบางแห่งที่ส่งสัญญาณออกมาว่ามีความไม่คุ้มค่าในการลงทุน หรือศึกษาดูแล้วมีต้นทุนการผลิตที่สูงกว่าการทำถนนแบบปัจจุบันมากเพื่อหวังผลเก็บโครงงานนี้ไว้ก่อน หากแนวคิดนี้เป็นจริงก็น่าเสียดายโอกาสในการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมอย่างมาก เมื่อพิจารณาว่าถ้านำเม็ดเงินที่จ่ายชดเชยแทนดอกเบี้ยเงินกู้ในสองโครงการนั้น จำนวน 750 ล้านบาท นำไปสร้างสิ่งปลูกสร้างหรือที่มียางพาราเป็นส่วนประกอบทดแทนวัสดุอื่น หรือให้หน่วยงาน/องค์กรต่างๆ นำไปวิจัย/ค้นคว้าและพัฒนาเทคโนโลยีการสร้างถนนด้วยยางพาราทดแทนวัสดุอื่น ผลการดำเนินงานถึงแม้จะเป็นการนำร่องและไม่ประสบผลสำเร็จอย่างสมบูรณ์ แต่ความคุ้มค่าได้มากกว่าเมื่อเปรียบเทียบเม็ดเงินจำนวนเดียวกันที่ภาครัฐต้องจ่ายชดเชยดอกเบี้ยเงินกู้ให้ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ เพราะนำไปสร้าง/ปรับปรุงสิ่งปลูกสร้างที่มียางพาราเป็นส่วนประกอบทดแทนวัสดุอื่น ส่งผลโดยตรงถึงตัวเกษตรการชาวสวนยางพาราสามารถวัดค่าได้

     การผลักดัดให้เกิดอุปสงค์ทำให้เกิดตลาดขนาดใหญ่นั้นรัฐบาลทำได้ด้วยการออกนโยบาย หรือข้อสั่งการ เช่น ให้ส่วนราชการท้องถิ่นสร้างหรือซ่อมถนนที่มียางพาราเป็นส่วนประกอบ หรือพื้นลานกีฬา อุปกรณ์การกีฬา วัสดุและผนังกันกระแทรก ฯลฯ  ผลที่จะเกิดขึ้นก็คือเม็ดเงินจำนวน 750 ล้านบาท (เงินที่จะต้องนำไปชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการ) จะถูกนำไปซื้อยางพาราจากเกษตรกรชาวสวนยางโดยตรง (เกษตรกรชาวสวนยางได้รับประโยชน์โดยตรงเต็มเม็ดเต็มหน่วย) เพื่อนำไปแปรรูปทำผลิตภัณฑ์ที่ต้องใช้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมภาคการผลิตที่ใช้ยางพาราเป็นวัตถุดิบจะหันมาสนใจลงทุนใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการสร้างถนนด้วยยางพารามากขึ้นเพราะมีตลาดขนาดใหญ่รองรับแน่นอน จะส่งผลให้เกิดสองเรื่องคือ การปรับโครงสร้างปริมาณการใช้ยางพาราในประเทศให้สูงขึ้น และส่งเสริมการพัฒนาวิทยาสาสตร์ นวัตกรรมและเทคโนโลยีการสร้างผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่มีส่วนประกอบของยางพาราทดแทนวัสดุอื่น ภาคอุตสาหกรรมก็จะยกระดับการพัฒนาให้สูงขึ้นไปอีกระดับหนึ่งอย่างต่อเนื่องและนโยบายอย่างนี้ไม่ถือว่าเป็นการกีดกันทางการค้าเพราะเป็นการสร้างสาธารณูปโภคของประเทศ มองในระยะยาวแล้วคุ้มค่ามาก เพียงแต่รัฐบาลในยุค คสช. มีความกล้าหาญเพียงพอที่จะออกมาตรการเพื่อให้ อบจ. และ อบต. นำไปปฏิบัติด้วยการให้สร้าง/ซ่อมสิ่งปลูกสร้าง ถนนและสาธารณูปโภคพื้นฐาน ในพื้นที่ที่ตนเองดูแลให้ใช้ยางพาราเป็นวัสดุประกอบ ผลที่เห็นชัดเจนคือยางพารามีช่องทางระบายออกสู่ตลาดที่ใหญ่มากๆ ลองเปรียบเทียบดูความคุ้มค่าผลที่คาดว่าจะได้รับกับเม็ดเงินที่ใส่ลงไปคงเห็นแนวทางที่ควรแล้วครับ

       เรียบเรียง : สิทธิชนคน กสอ.กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!