- Details
- Category: เกษตร
- Published: Thursday, 22 January 2015 21:48
- Hits: 2442
ก.เกษตรฯ เกาะติดการผลิต-การตลาดหอมหัวใหญ่ปี 58 มั่นใจเตรียมแผนคุมการนำเข้าอย่างดีช่วยเกษตรกร
สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เผย เตรียมแผนการผลิตและการตลาดหอมหัวใหญ่ในปี 58 อย่างดีรอบด้าน เน้นควบคุมนำเข้าเมล็ดพันธุ์หอมหัวใหญ่ตามข้อผูกพัน WTO เดินหน้าเร่งประสานกรมศุลการกรกำกับดูแลการนำเข้า โดยกระทรวงเกษตรฯ จะเร่งเจ้าหน้าที่ด่านกักกันพืชตรวจสอบสุขอนามัยพืชอย่างเคร่งครัด พร้อมชวนประชาชนร่วมกันบริโภคหอมหัวใหญ่ที่ผลิตได้ของไทยเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร
นายคนิต ลิขิตวิทยาวุฒิ รองเลขาธิการและรองโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยในฐานะเลขานุการคณะอนุกรรมการจัดการการผลิตและการตลาดกระเทียม หอมแดง หอมหัวใหญ่และมันฝรั่ง ว่า คณะอนุกรรมการฯ ได้มีการวางแผนการผลิตและการตลาดหอมหัวใหญ่ในปี 2558 โดยได้มีการควบคุมการผลิตโดยให้นำเข้าเมล็ดพันธุ์หอมหัวใหญ่ตามข้อผูกพัน WTO จำนวน 3.15 ตัน หรือ 6,944 ปอนด์ และให้ชุมนุมสหกรณ์ผู้ปลูกหอมหัวใหญ่แห่งประเทศไทย จำกัด เป็นผู้นำเข้าและจัดสรรให้แก่สหกรณ์สมาชิก 8 แห่ง เพื่อจัดสรรให้เกษตรกรไปปลูก โดยคาดการณ์ว่าในปี 2558 จะมีปริมาณผลผลิตหอมหัวใหญ่ 44,900 ตัน แต่เนื่องจากปีนี้เกิดปัญหาภาวะภัยแล้งและฝนตกในช่วงการเพาะกล้าและเพาะปลูก ทำให้ผลผลิตหอมหัวใหญ่บางส่วนได้รับความเสียหาย โดยจากข้อมูลชุมนุมสหกรณ์ผู้ปลูกหอมหัวใหญ่สมาชิก 8 แห่ง พบว่า ปี 2558 ผลผลิตได้ 33,321 ตัน ทำให้ผลผลิตลดลงประมาณร้อยละ 25 ซึ่งจะออกตลาดตั้งแต่เดือนมกราคม-เมษายน 2558 และจะมีช่วงผลผลิตออกสู่ตลาดมากที่สุดในเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม 2558 ในแหล่งผลิตใหญ่ที่จังหวัดเชียงใหม่ในอำเภอแม่วาง อำเภอสันป่าตอง และอำเภอฝาง
ด้านราคาหอมหัวใหญ่สด ณ 22 มกราคม 2558 ราคาที่เกษตรกรขายได้กิโลกรัมละ 8-9 บาท ซึ่งมีแนวโน้มลดลงจากต้นเดือนมกราคม 2558 ที่กิโลกรัมละ 15 บาท เนื่องจากขณะนี้มีหอมหัวใหญ่จากต่างประเทศจำหน่ายอยู่ในตลาดจำนวนมาก ทั้งตลาดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดราชบุรี ตลาดไท และตลาดสี่มุมเมือง เป็นต้น โดยเป็นการนำเข้าและการลักลอบนำเข้าจากต่างประเทศ ทั้งประเทศจีนและประเทศฮอลแลนด์ ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีการชลอการสั่งซื้อหอมหัวใหญ่สดในประเทศ อย่างไรก็ตาม สศก. คาดว่าราคาที่เกษตรกรขายได้จะลดต่ำลงอีกในช่วงผลผลิตออกสู่ตลาดมากช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม 2558 (ประมาณ 20,000 ตัน) หากไม่มีการควบคุมและการปราบปรามการนำเข้าที่ผิดกฎหมาย
ทั้งนี้ การนำเข้าหอมหัวใหญ่นอกโควต้าจะต้องเสียภาษีร้อยละ 142 ของราคา CIF หากประเมินราคานำเข้าและเสียภาษีร้อยละ 142 จะทำให้ราคาหอมหัวใหญ่นำเข้าขายในท้องตลาดไม่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 20 บาท ซึ่งขณะนี้ราคาหอมหัวใหญ่นำเข้าต่ำกว่าที่ควรจะเป็น โดยการนำเข้าหอมหัวใหญ่ในโควต้า WTO จำนวน 365 ตัน ภาษีร้อยละ 27 ได้มอบให้ชุมนุมสหกรณ์ผู้ปลูกหอมหัวใหญ่แห่งประเทศไทย จำกัด เป็นผู้บริหารการนำเข้าและจัดสรรให้นิติบุคคลเป็นผู้นำเข้า ซึ่งจะเป็นการนำเข้าหอมผง/หั่นแห้ง ที่ใช้เป็นส่วนประกอบในอุตสาหกรรมอาหารที่ไม่กระทบต่อหอมหัวใหญ่สดที่เกษตรกรผลิตได้ในประเทศเพราะเป็นพันธุ์หอมต่างชนิดกันที่ประเทศไทยผลิตไม่ได้และใช้ในตลาดที่ต่างกัน โดยปัจจุบันอุตสาหกรรมอาหารได้มีการเจริญโตและมีความต้องการใช้หอมผง/หั่นแห้งมากขึ้น
ด้านตลาดหอมหัวใหญ่ พบว่า โดยปกติในช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม 2558 ในจังหวัดเชียงใหม่จะมีการส่งออกไปตลาดญี่ปุ่นที่มีความต้องการบริโภคหอมหัวใหญ่สดของประเทศไทยประมาณปีละ 6,000-8,000 ตัน ซึ่งขณะนี้ก็มีการส่งออกไปบางส่วน แต่เนื่องจากประเทศญี่ปุ่นในปีนี้ได้มีผลผลิตออกมาจำนวนมากในช่วงนี้ ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจของประเทศญี่ปุ่นและค่าเงินบาทของไทยเมื่อเทียบกับญี่ปุ่นแข็งค่าขึ้น ส่งผลให้ราคาส่งออกหอมหัวใหญ่ของไทยมีราคาแพงขึ้น จึงคาดว่าจะมีการนำเข้าหอมหัวใหญ่จากไทยน้อยกว่าปีที่ผ่านมา