- Details
- Category: เกษตร
- Published: Tuesday, 20 January 2015 22:19
- Hits: 2398
ก.เกษตรเกาะติด 17 นโยบายเศรษฐกิจรัฐบาล แนะภาคเกษตรไทยต้องเร่งเดินหน้า เพื่อปรับตัวให้ทันกระแสโลกในทุกมิติ
สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เปิดบทวิเคราะห์นโยบายรัฐบาล 17 ด้าน เจาะ 4 ประเด็นสำคัญทั้งแบบภาพรวมและการบริหารขับเคลื่อนทั้งภาคเศรษฐกิจ ภาคอุตสาหกรรมและบริการเปรียบเทียบต่อภาคการเกษตร แนะภาคเกษตรไทยต้องเร่งเดินหน้า เพื่อปรับตัวให้ทันกระแสโลกในทุกมิติ
นายเลอศักดิ์ ริ้วตระกูลไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมคณะรัฐมนตรี ได้แถลงนโยบายต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อวันที่ 12 มกราคมที่ผ่านมา ซึ่งได้กำหนดนโยบายด้านเศรษฐกิจสำคัญของรัฐบาลทั้งสิ้น 17 ด้าน รวม 3 ระยะ (ระยะเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการทันที ระยะต่อไปที่ต้องแก้ปัญหาพื้นฐานที่ค้างคา และระยะยาวที่ต้องวางรากฐานเพื่อความเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง) ในเรื่องดังกล่าว สศก. ได้ทำการวิเคราะห์ผลกระทบที่มีต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมและเศรษฐกิจการเกษตรเป็น 4 รูปแบบสำคัญ คือ
1. ภาพรวมของนโยบายเศรษฐกิจโดยทั่วไป รัฐบาลจะดำเนินนโยบายเศรษฐกิจเป็น 3 ระยะ คือ ระยะเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการทันที ระยะต่อไปที่ต้องแก้ปัญหาพื้นฐานที่ค้างคาอยู่ และระยะยาวที่ต้องวางรากฐานเพื่อความเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยจะเน้นดูแลเกษตรกรให้มีรายได้ที่เหมาะสม ด้วยวิธีการต่างๆ เช่น การลดต้นทุนการผลิต การช่วยเหลือในเรื่องปัจจัยการผลิตอย่างทั่วถึง การช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อย ตลอดจนถึงการใช้กลไกตลาดดูแลสินค้าเกษตรประเภทที่ราคาต่ำผิดปกติให้สูงขึ้นตามสมควร ส่วนด้านเกษตรกรรม จะดำเนินการ 2 เรื่องใหญ่ คือ การปรับโครงสร้างการผลิตสินค้าเกษตรให้สอดคล้องกับความต้องการและการสนับสนุนให้สหกรณ์ของกลุ่มเกษตรกรที่ผลิตสินค้าเกษตรเพิ่มบทบาทในฐานะ ผู้ซื้อ พืชผล จนถึงการแปรรูปและการส่งออกได้
2. นโยบายของคณะรัฐมนตรีสำหรับการบริหารขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่มีต่อภาคเกษตร ซึ่งมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2557 อนุมัติให้ใช้สภาพคล่องของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จำนวน 40,000 ล้านบาท เป็นมาตรการเสริมในการลดต้นทุนให้แก่ชาวนา เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ หลังจากมีการลดต้นทุนในแง่ของปัจจัยการผลิต ค่าปุ๋ย ค่าสารเคมีเกษตร ค่าที่ดิน และค่าบริการรถไถ่ ไปแล้วก่อนหน้าเฉลี่ยไร่ละ 432 บาท โครงการช่วยเหลือชาวนาครั้งนี้มุ่งช่วยเหลือชาวนา 3.4 ล้านครัวเรือน โดยการสนับสนุนเงินช่วยเหลือค่าต้นทุนการผลิตจำนวน 1,000 บาท/ไร่ กำหนดกรอบวงเงินสูงสุด 15,000 บาท/ครัวเรือน ซึ่งหมายถึงชาวนาจะได้รับเงินช่วยเหลือไม่เกิน 15,000 บาท โดยมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวในฤดูการผลิตปี 2557/58
ประกอบด้วย 3 โครงการ คือ
1) โครงการลดดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อการผลิตแก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2557/58 โดยการลดดอกเบี้ยลงร้อยละ 3 ต่อปี รายละไม่เกิน 50,000 บาท ระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือน ธ.ก.ส. อนุมัติวงเงินสำหรับโครงการนี้จำนวน 89,000 ล้านบาท
2) โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวนาปี (ประกันยุ้งฉาง) ซึ่งเป็นสินเชื่อที่เข้าไปช่วยเกษตรกรในช่วงที่ผลผลิตออกมาเป็นปริมาณมากและมีราคาตกต่ำ มีเป้าหมายดําเนินการในเขตพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จํานวนข้าวเปลือก 1.5 ล้านตัน วงเงินสินเชื่อ 17,280 ล้านบาท
และ 3) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ได้แก่ สหกรณ์ภาคการเกษตรและกลุ่มเกษตรกร โดยการไปรวบรวมข้าวเปลือกเพื่อการจําหน่าย วงเงินสินเชื่อ 18,000 ล้านบาท และเพื่อนําไปแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่มอีก 2,000 ล้านบาท รวมวงเงิน 20,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ หากมองภาพการขับเคลื่อนนโยบายทางการเกษตรสำหรับรัฐบาลนี้ พบว่า รายจ่ายของรัฐบาลตามโครงการต่างๆ เช่น โครงการจำนำข้าว การช่วยเหลือผู้ประสบภัยด้านการเกษตรปี 2555-2557 มาตรการช่วยชาวสวนยาง การสมทบค่าเบี้ยประกันภัยข้าวนาปี 57/58 กระจายผลไม้ออกนอกแหล่งผลิต และอื่นๆ นั้น จะมีเม็ดเงินที่เข้าสู่ภาคเกษตรจำนวนรวม 0.283 ล้านล้านบาท เมื่อเทียบกับแผนลงทุนนอกภาคเกษตร หรือเมกะโปรเจ็กต์ประมาณกว่า 3 ล้านล้านบาทนั้น ภาคเกษตรจะได้รับเพียงร้อยละ 8.6 หรือเมื่อคำนวณรายได้ต่อหัวของภาคเกษตรจะได้รับเพียงคนละประมาณ 11,300 บาท เท่านั้น สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของค่าใช้จ่ายที่มีต่อภาคเกษตร ทั้งนี้ ยังไม่ได้รวมโครงการอื่นๆ อีกหลายโครงการที่มีเม็ดเงินเข้าไปสู่ภาคเกษตร
3.นโยบายของคณะรัฐมนตรีที่มีต่อภาคอุตสาหกรรมและบริการ นโยบายของคณะรัฐมนตรีที่มีต่อภาคอุตสาหกรรมและบริการนั้น สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 แนวทางคือ 1) โครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจประเทศ (mega project) แผนลงทุนเมกะโปรเจ็กต์ประมาณกว่า 3 ล้านล้านบาท 2) โครงการความช่วยเหลือแก่คนในเมืองและบางส่วนแก่คนในชนบท ตามมาตรการลดภาระค่าครองชีพให้กับประชาชนระยะเร่งด่วน
จะเห็นว่า รัฐบาลยังได้ให้ความสำคัญมาตรการทางเศรษฐกิจ โดยยึดหลักการในการประหยัดพลังงานและลดผลกระทบต่อรายได้ โดยเฉพาะในกลุ่มของประชาชนที่มีรายได้น้อย เพื่อบรรเทาผลกระทบในภาคการบริโภค และการรักษาวินัยทางการคลัง โดยมีระยะเวลาประมาณ 6 เดือน และจะสิ้นสุดภายในเดือน มกราคม 2558 นี้ พบว่า ตัวเลขประมาณการเบื้องต้นที่ใช้จ่าย 21,600 ล้านบาท (ลดค่าจ่ายน้ำประปาครัวเรือน ลดค่าใช้จ่ายไฟฟ้าครัวเรือน ลดค่าใช้จ่ายเดินทางรถโดยสาร และลดค่าเดินทางรถไฟชั้น 3) ทั้งนี้ หากจะประมาณในรอบปีหรือ 12 เดือนก็จะได้ประมาณ 40,000 ล้านบาท
4. การเปรียบเทียบนโยบายของคณะรัฐมนตรีที่มีต่อภาคเกษตรและนอกภาคเกษตร (ภาคอุตสาหกรรมและบริการ) หากมองภาพการขับเคลื่อนนโยบายทางการเกษตรสำหรับรัฐบาลนี้ พบว่า เม็ดเงินที่เข้าสู่ภาคเกษตรจำนวน 0.283 ล้านล้านบาท เมื่อเทียบกับแผนลงทุนนอกภาคเกษตร หรือเมกะโปรเจ็กต์ประมาณกว่า 3 ล้านล้านบาทนั้น ภาคเกษตรจะได้รับเพียงร้อยละ 8.6 และนอกภาคเกษตรร้อยละ 91.4 หรือเมื่อคำนวณรายได้ต่อหัวของนอกภาคเกษตรจะได้รับคนละประมาณ 70,000 บาท หรือประมาณ 7 เท่าของรายได้ภาคเกษตร รายจ่ายของรัฐบาลเพื่อขับเคลื่อนบริหารประเทศด้านเศรษฐกิจรวม
รายจ่ายของรัฐบาลเพื่อขับเคลื่อนบริหารประเทศด้านเศรษฐกิจรวม
หน่วย: ล้านล้านบาท
สาขา งบประมาณ
ภาคเกษตร 0.283
นอกภาคเกษตร 3.00
รวม 3.283
ดังนั้น ความสำคัญของภาคเกษตรจำเป็นต้องมีการปรับกระบวนทัศน์ใหม่ เพื่อให้ภาคเกษตรสามารถดำเนินการไปได้อย่างยั่งยืน ควบคู่กับวัฒนธรรมไทยและสังคมไทยตลอดไป โดยการดำเนินเศรษฐกิจในยุคปัจจุบันต้องมีการดำเนินการอย่างรวดเร็ว และคำนึงถึงปัจจัยรอบด้าน ทั้งปัจจัยภายใน เพราะปัญหาเศรษฐกิจปัจจุบันนี้ เป็นการสั่งสมมาจากปัจจัยทางการเมืองมาหลายปี ประกอบกับภาคการส่งออกได้มีการปรับลดเป้าอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงเป้าหมายของจีดีพี และความหวังว่า จีดีพีไทยปี 2558 จะเติบโตขึ้นในระดับ 4-5% ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศในอาเซียนถือว่าเติบโตต่ำที่สุด และอาจจะทำให้ไทยสูญเสียความสามารถในการแข่งขันทางการค้าได้ ส่วนภาคการท่องเที่ยว ก็มีแนวโน้มที่จะลดลง โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวรัสเซีย รวมถึงภาคการเกษตรที่ประสบปัญหาสินค้าราคาตกต่ำ แม้แนวโน้มของระดับราคาสินค้าเกษตรจะเพิ่มขึ้นแล้วบางส่วนก็ตาม แต่จำเป็นต้องใช้ระยะเวลาสักระยะหนึ่ง ส่วนปัจจัยภายนอก คือราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกปรับตัวลดลงหรือยังทรงตัวอยู่ ประเทศไทยในฐานะประเทศส่งออกสินค้าเกษตรในเชิงเศรษฐกิจ ย่อมได้รับผลกระทบบ้างเมื่อพืชชนิดนั้นราคาตกต่ำหรือทรงตัว อย่างไรก็ตาม คาดว่าแนวโน้มของการส่งออกจะมีแนวโน้มที่สดใสเพิ่มมากขึ้น
ทั้งนี้ เลขาธิการ สศก. ได้กล่าวทิ้งท้ายว่า ภาคเกษตรไทยถือเป็นภาคการผลิตที่เป็นรากฐานของประเทศ โดยมีประชากรที่ประกอบอาชีพด้านเกษตรกรรมประมาณ 24 ล้านคนของจำนวนประชากรประเทศไทย (ร้อยละ 40) ดังนั้น การลงทุนภาคเกษตรจึงเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาหนี้สิน และความยากจนของเกษตรกร ซึ่งงบประมาณในการลงทุนภาคเกษตรนั้นก็จะแตกต่างกันไปในแต่ละปัจจัยทางด้านการผลิต โดยการลงทุนภาคเกษตรของภาครัฐนั้น จะเป็นส่วนสำคัญในการเร่งขับเคลื่อนภาคเกษตรได้อย่างแน่นอน ทั้งนี้ สศก. ในฐานะหน่วยงานวางแผนนโยบายภาคการเกษตร จะได้เร่งดำเนินการด้านแผนและนโยบายภาคเกษตรแบบเชิงรุกให้เป็นรูปธรรมต่อไป อย่างไรก็ตาม เกษตรกรไทยเองก็ควรร่วมขับเคลื่อนและพัฒนาไปพร้อมๆ กันอย่างรอบด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ ได้รับการรับรองมาตรฐาน เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และเป็นไปตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ก็จะสามารถทำให้ภาคเกษตรไทยอยู่รอดและพัฒนาแข่งขันกับนานาประเทศได้อย่างแน่นอน
ที่มา ตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทย