- Details
- Category: เกษตร
- Published: Saturday, 17 January 2015 21:14
- Hits: 3158
วันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2558 ปีที่ 24 ฉบับที่ 8816 ข่าวสดรายวัน
ไทยผวาอีก สั่งกัก'แอปเปิ้ล'มะกัน คาด่านตรวจแหลมฉบัง หลังอย.สหรัฐแจ้งเตือน ชี้อาจปนเปื้อนแบคทีเรีย มีพิษร้ายแรง-กินถึงตาย
สั่งกักแอปเปิ้ลนำเข้าจากมะกัน ที่ท่าเรือแหลมฉบัง 2 ตู้คอนเทนเนอร์ หลังอย.สหรัฐมีหนังสือแจ้งเก็บแอปเปิ้ลพันธุ์กาล่า และแกรนนี่สมิธ หลังพบปนเปื้อนแบคทีเรียที่มาของโรคลิสเทอริโอซิส ชี้เป็นอันตรายต่อเด็กแรกเกิด หญิงมีครรภ์ คนชรา และผู้มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง หากรับเชื้ออาจติดเชื้อในกระแสเลือดและขึ้นสมอง หนักสุดถึงขั้นตายได้ พร้อมประสาน อย.ไทยเข้าตรวจสอบทันที แต่ยืนยันที่ผ่านมายังไม่มีแอปเปิ้ลปนเปื้อนเข้ามาในไทย วอนอย่าเพิ่งตื่นตระหนก
เมื่อวันที่ 16 ม.ค. นายวิมล จันทรโรทัย รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า องค์การอาหารและยาสหรัฐอเมริกามีหนังสือแจ้งมายังไทย เพื่อเรียกเก็บคืนสินค้าแอปเปิ้ล พันธุ์กาล่า และแกรนนี่สมิธ ภายใต้เครื่องหมายการค้า Granny"s Best หรือ Big B จากบริษัท Bidart Bros. เนื่องจากพบว่าหากมีการสัมผัสกับสินค้าอาจกระทบต่อสุขภาพ หรืออันตรายถึงขั้นเสียชีวิต โดยให้เหตุผลว่า แอปเปิ้ลทั้ง 2 รายการมีความเกี่ยวข้องกับการแพร่ระบาดของโรคลิสเทอ ริโอซิส (Listeriosis) ซึ่งเป็นเชื้อแบคทีเรีย ที่เป็นอันตรายต่อเด็กแรกเกิด หญิงมีครรภ์ และคนชรา หรือผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง
ดังนั้น เมื่อกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้รับหนังสืออย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 14 ม.ค. ที่ผ่านมาจึงสั่งการให้กรมวิชาการเกษตรตรวจเข้มทั้ง 35 ด่านทั่วประเทศ ที่จะมีการนำสินค้าเข้ามาจำหน่ายในเมืองไทย ล่าสุดพบว่าแอปเปิ้ลในล็อตที่สหรัฐอเมริกาเรียกเก็บคืนนั้นได้เข้ามายังด่านแหลมฉบังจึงกักสินค้าไว้ และประสานองค์การอาหารและยา (อย.) ของไทย เพื่อตรวจสอบสินค้าอีกครั้ง เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคว่าแอปเปิ้ลที่มีการปนเปื้อนแบคทีเรียยังไม่มีล็อตไหนเล็ดลอดเข้ามาจำหน่ายในเมืองไทยเลย
"หลังจากได้รับแจ้งจากกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ของสหรัฐ ว่าให้เรียกเก็บแอปเปิ้ลคืน 2 พันธุ์ เนื่องจากพบการปนเปื้อนแบคทีเรีย กระทรวงเกษตรฯ จึงประสานเจ้าหน้าที่ด่านกักกันสินค้า ตรวจเข้มว่ามีสินค้าของ 6 บริษัทที่ได้รับแจ้งเข้ามายังไทยหรือไม่ เพราะล็อตที่เป็นปัญหาส่งออกจากอเมริกาตั้งแต่ปลายปี 2557 เพิ่งจะถึงเมืองไทยในวันนี้ และตรวจย้อนกลับไปถึงปี 2556 ไม่พบการนำสินค้าจากบริษัทเหล่านั้นเข้ามาไทยแต่อย่างใด และผลการกักกันตามด่านตรวจสินค้าล่าสุด มีบริษัท 1 ใน 6 บริษัทที่มีการนำเข้าแอบเปิ้ลล็อตดังกล่าวแล้ว กรมวิชาการเกษตรจึงกักกันไว้ที่ด่านแหลมฉบัง เพื่อประสาน อย.เก็บตัวอย่างและตรวจสอบการปนเปื้อนของแบคทีเรีย ต่อไป" นายวิมลกล่าว
สำหรับ 6 บริษัทรับสินค้าดังกล่าวเข้ามาในประเทศไทยประกอบด้วย 1.เฟียสต้า ฟรุ้ต (Fiesta Fruit, Inc) 2.เอ็มบี เฟรช อินเตอร์เนชั่นแนล (MB Fresh International) 3.พาราเมาท์ เอ็กซ์พอร์ท (Paramount Export Co.,) 4.ยูไนเต็ด ฟรุตส์ คอร์ป (United Fruits Corp.) 5.วอยต้า ซิทรัส (Voita Citrus) 6.โดเว็กซ์ เอ็กซ์พอร์ท คอมพานี (Dovex Export Company)
ต่อมาเวลา 13.30 น. นายวิมลแถลงกรณีสินค้าแอปเปิ้ลสหรัฐ ว่า จากการตรวจสอบด่านนำเข้าสินค้าทั้ง 35 ด่านของกรมวิชาการเกษตร ว่ามีสินค้าจากบริษัทผู้ส่งออก 6 บริษัทของสหรัฐ ที่ส่งออกแอปเปิ้ลพันธุ์กาล่า และพันธุ์แกรนนี่สมิธ มายังไทยหรือไม่ โดยเฉพาะ 3 ด่านหลักที่นำเข้าแอปเปิ้ลจำนวนมาก ได้แก่ ท่าเรือแหลมฉบัง ลาดกระบัง และท่าเรือกรุงเทพ พบว่าในปีที่ผ่านมาทั้ง 6 บริษัทไม่มีการส่งออกมายังไทย
ทั้งนี้ ตรวจพบเมื่อเช้าวันที่ 16 ม.ค.ที่ผ่านมา พบว่าที่ท่าเรือแหลมฉบังมี 1 ใน 6 บริษัทที่ถูกสหรัฐแจ้งเตือน ส่งแอปเปิ้ลสายพันธุ์ แกรนนี่สมิธ จำนวน 2 ตู้คอนเทนเนอร์ แต่ไม่ใช่ยี่ห้อที่สหรัฐระบุ คือ บิ๊กบี และแกรนนี่ เบสต์ แต่กรมวิชาการเกษตรกักกันไว้ก่อน และประสานองค์การอาหารและยา (อย.) เข้ามาตรวจสอบอย่างเข้มข้น ทั้งนี้ ถ้ามีการขอนำเข้าจาก 6 บริษัทที่มีรายชื่อจะขอตรวจสอบอย่างเข้มข้น
นายพิทวัฒน์ อ่อนทองแดง หัวหน้าด่านตรวจพืชท่าเรือแหลมฉบัง กรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า มีคำสั่งให้ตรวจเข้มแอปเปิ้ลทุกล็อตที่มีการนำเข้า เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค หลังตรวจพบมีการนำเข้าแอบเปิ้ลก็จะกักกันไว้ก่อน และจะประสาน อย.ให้เข้ามาตรวจสารปนเปื้อนตามที่สหรัฐประกาศเตือน เพื่อไม่ให้แอปเปิ้ลที่มีสารปนเปื้อนของ 6 บริษัทของสหรัฐหลุดเข้ามาขายในเมืองไทย
ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.โอภาส การย์ก วินพงศ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า เชื้อลิสเทอริโอซิส (Listeriosis) เป็นเชื้อที่พบได้ในสิ่งแวดล้อม อุจจาระคนและสัตว์ และแหล่งน้ำ ซึ่งจะมีโอกาสปนเปื้อนได้ง่ายในอาหารประเภทผักสด ผลไม้ และนม ซึ่งในประเทศไทยมีการรายงานการพบเชื้อต่ำ อย่างไรก็ตามเชื้อดังกล่าวจะมีปัญหากับกลุ่มผู้ที่มีความต้านทานต่ำจะมีอัตราเสียชีวิตสูง เช่น ผู้ป่วยเอชไอวี เด็ก ผู้สูงอายุ คนท้อง หรือผู้เป็นโรคภูมิคุ้ม กันบกพร่อง มักพบว่าเชื้อดังกล่าวเป็นเหตุให้เกิดการติดเชื้อในกระแสเลือด และเชื้อขึ้นสมอง ทั้งนี้ ช่องทางการพบเชื้อครั้งนี้เกิดจากต่างประเทศ ซึ่งประเทศไทยมีกระบวน การตรวจสอบและป้องกันสินค้านำเข้าทั้งหมดอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม การล้างผัก ผลไม้ ก่อนรับประทานสามารถช่วยล้างเชื้อที่ปนเปื้อนออกได้ ส่วนผลิตภัณฑ์นม ก็ควรรับประทานที่ผ่านการพาสเจอไรซ์แล้ว ส่วนอาหารอื่นๆ การทำให้สุกก็สามารถฆ่าเชื้อ ดังกล่าวได้
นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อในเด็ก กล่าวว่า เชื้อลิสเทอริโอซิส เป็นเชื้อแบคทีเรียที่เป็นอันตราย ที่สามารถก่อโรคได้ในคนทุกคน แต่จะอันตรายมากกว่าในทารก หญิงตั้งครรภ์ เพราะมีภูมิคุ้มกันร่างกายค่อนข้างต่ำ ทำให้เชื้อเข้าสู่กระแสเลือด หรือเข้าสู่สมอง ทำให้มีอาการไข้ หรือสามารถทำให้เสียชีวิตได้ อย่างไรก็ตามเชื้อตัวนี้ส่วนใหญ่จะพบในผลิตภัณฑ์นม ยีสต์ เนย จึงมักพบก่อโรคในคนแถบยุโรป อเมริกา แต่ตอนนี้ก็เริ่มพบในคนไทยเช่นกันเพราะพฤติกรรมการรับประทานอาหารเปลี่ยนไป
นพ.อภิชัย มงคล อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า แอปเปิ้ลที่ อย.สุ่มตรวจนั้นจะส่งมาที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ ชลบุรี ซึ่งการตรวจเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 2-3 วัน เนื่องจากต้องรอเวลาในการเพาะเชื้อ ซึ่งเชื้อดังกล่าวเรามีการตรวจเป็นประจำอยู่แล้ว ไม่ใช่เชื้อที่มีความยุ่งยากในการตรวจ อย่างไรก็ตามปัญหาสำคัญไม่ได้อยู่ที่เชื้อเพียงอย่างเดียว แต่อยู่ที่พฤติกรรมในการบริโภคด้วย สาเหตุที่สหรัฐพบรายงานการป่วยด้วยโรคนี้มาก กว่าในไทยเพราะเขานิยมบริโภคทั้งเปลือก และไม่มีการล้างน้ำ เนื่องจากบ้านเมืองเขาอากาศเย็น เชื้อตามธรรมชาติมีน้อย จึง นิยมกินลักษณะนั้นทำให้เกิดปัญหา แต่ประเทศไทยเป็นเมืองร้อน เชื้อในธรรมชาติมีมาก ทำให้วัฒนธรรมในการรับประทานของเราจึงต้องมีการล้างน้ำก่อน ซึ่ง สธ.ก็พยายามรณรงค์ในเรื่องนี้มาโดยตลอดว่าให้ล้างผัก ผลไม้ก่อนรับประทาน และเพื่อความมั่นใจก็ให้ปอกเปลือกก่อน
"เชื้อตัวนี้ถือว่าใจเสาะมาก เพราะเพียงแค่ล้างน้ำก็สามารถทำให้เชื้อหลุดออกจากผิวผัก ผลไม้ได้แล้ว เมื่อล้างออกไปเชื้อก็ตาย เพราะฉะนั้นแค่ล้างน้ำก่อนรับประทานก็มีความปลอดภัย ส่วนที่หญิงตั้งครรภ์ยิ่งต้องระมัดระวัง เพราะเชื้อนี้จะทำให้แท้งลูกได้ เพราะเชื้อจะเจริญเติบโตได้ดีในน้ำคร่ำ จึงต้องระมัดระวังในการรับประทาน ควร ล้างผักผลไม้ก่อนรับประทานทุกครั้ง" นพ.อภิชัยกล่าว
ขณะที่น.ส.ภัทรพร เพ็ญประพัฒน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่สายการตลาด และประชาสัมพันธ์ บริษัทเซ็นทรัล ระบุว่า บริษัท เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจซูเปอร์มาร์เก็ตภายใต้ชื่อเซ็นทรัล ฟู้ด ฮอลล์ ท็อปส์ มาร์เก็ต ท็อปส์ ซูเปอร์สโตร์ ท็อปส์ ซูเปอร์ ท็อปส์ ซูเปอร์คุ้ม ท็อปส์ ซูเปอร์คุ้ม ขายส่งและท็อปส์ เดลี่ ขอเรียนชี้แจงยืนยันว่า บริษัทมิได้มีการนำเข้าแอปเปิ้ลจากบริษัท Bidart Bros. หรือผ่านทางบริษัทผู้นำเข้าแต่อย่างใด ซึ่งจะไม่มีแอปเปิ้ลพันธุ์ดังกล่าว
ทั้งนี้ แอปเปิ้ลที่จำหน่ายในเซ็นทรัล ฟู้ด ฮอลล์, ท็อปส์ ทุกสาขา ที่นำเข้าจากต่างประเทศ จะมีการคัดสรรจากแหล่งผลิตที่ได้มาตรฐาน และมีใบรับรองแหล่งผลิตและสุขอนามัยพืชที่สามารถทวนสอบย้อนกลับได้ ตามมาตรฐานการส่งออกระหว่างประเทศ รวมทั้งบริษัทมีมาตรการตรวจสอบและควบคุมคุณภาพตลอดในระบบ Supply Chain และระบบการประกันคุณภาพ ผ่านศูนย์กระจายสินค้าอาหารสด ที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน GMP และ HACCP