- Details
- Category: เกษตร
- Published: Monday, 29 July 2024 11:57
- Hits: 7834
‘ปลาหมอคางดำ’เร่งแก้ปัญหาด้วยความร่วมมือ หยุดดราม่าหาคนผิด…อย่าจ้องหาต้นตอ…
กำลังแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ ทำให้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนที่ตื่นตัวและกำลังเร่งควบคุมจำกัด ในขณะที่ต้นตอการแพร่ระบาดยังคงเป็นคำถามที่ยังรอคำตอบ เนื่องจากมีความสับสนในหลายประเด็น
เรื่องชื่อ ที่เรียกขานว่า 'ปลาหมอคางดำ' ทั้งที่จริงแล้ว เป็นปลาสายพันธุ์เดียวกับปลานิล ซึ่ง อ.เจษฎ์ - ดร. เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ข้อมูลว่า เดิมประเทศไทยมีแต่’ปลาหมอไทย’ ชื่อสามัญ climbing perch ชื่อวิทยาศาสตร์ Anabas testudineus อยู่ในวงศ์ปลาหมอ (family Anabantidae)
โดยพบได้ในแหล่งน้ำทั่วไป กระจายพันธุ์ในทุกภาคของประเทศ และอีกหลายประเทศของเอเชีย เป็นปลาที่รู้จักกันดี และนำมาเป็นอาหารมานานแล้ว และที่เรียกว่า’ปลาหมอ’ มาจากความเชื่อที่ว่า ถ้าได้ปล่อยปลาชนิดนี้ จะทำให้หายจากโรคภัยไข้เจ็บ
ต่อมา ได้นำเอา ‘ปลาหมอเทศ’ (ชื่อสามัญ Mozambique tilapia / ชื่อวิทยาศาสตร์ Oreochromis mossambicus) ซึ่งเป็นปลาน้ำจืดอีกชนิดหนึ่ง ที่อยู่ในวงศ์ปลาหมอสี (family Cichlidae) และห่างจากวงศ์ปลาหมอ (Anabantidae) มีถิ่นกำเนิดในทวีปแอฟริกา แต่มีรูปร่างคล้ายกับปลาหมอไทย เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรเลี้ยง จึงเรียกชื่อปลานี้ว่า ‘ปลาหมอเทศ’ ทั้งที่อยู่คนละวงศ์ family กันเลย
หลังจากนั้น สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโต แห่งประเทศญี่ปุ่นได้น้อมเกล้าฯ ถวายลูกปลา Nile tilapia ซึ่งเป็นสายพันธุ์ใกล้เคียงกับปลาหมอเทศ ปัจจุบันใช้ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Oreochromis niloticus และเป็นปลาชนิดหนึ่งในวงศ์ปลาหมอสี (Cichlidae) และเป็นญาติใกล้ชิดกับปลาหมอเทศ (Oreochromis mossambicus) ก็ไม่ถูกเรียกว่าเป็นปลาหมอแม่น้ำไนล์ ทั้งที่ชื่อสามัญ คือ Nile tilapia เนื่องจากคำว่า ‘ปลานิล’ เป็นชื่อเฉพาะที่รับพระราชทาน
ขณะที่ 'ปลาหมอคางดำ' มีชื่อสามัญว่า blackchin tilapia มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Sarotherodon melanotheron จัดอยู่ในวงศ์ปลาหมอสี (family Cichlidae) เช่นเดียวกับปลานิล และปลาหมอเทศ (แต่คนละสกุล genus กัน) ในการบัญญัติชื่อภาษาไทยจึงขึ้นต้นว่า‘ปลาหมอ’ (หรือช่วงหนึ่งเคยใช้คำว่า ‘ปลาหมอสีามชื่อวงศ์ด้วยซ้ำ) แทนที่จะชื่อว่า ปลานิล
หรือแม้แต่ ในช่วงที่บริษัทเอกชนรายหนึ่ง จะนำเข้าพันธุ์ปลา blackchin tilapia จากประเทศกานา มาทำการทดลองผสมปรับปรุงพันธุ์ปลานิล และมีการเขียนในเอกสารโครงการวิจัยว่า ‘ลูกปลานิลจากประเทศกานา’ก็ยังถูกกรมประมงกำหนดให้เปลี่ยนเป็น "ปลาหมอ" แทน และจากการที่ช่วงเวลานั้น ยังไม่มีการบัญญัติชื่อ ‘ปลาหมอ(สี)คางดำ’ ทำให้ในเอกสารโครงการที่ถูกแก้ จึงใช้คำว่า ‘ปลาหมอเทศข้างลาย’ (ชื่อสามัญ Blue tilapia ชื่อวิทยาศาสตร์ Oreochromis aureus)" ทั้งที่เป็นคนละสปีชีส์กันกับปลาหมอคางดำ
ตอนนี้ควรมาทำความเข้าใจใหม่ว่าหมอคางดำ “เป็นหนึ่งในสายพันธุ์ปลานิล” หากเข้าใจเช่นนี้แล้ว คำถามต่อมาคือปลาชนิดนี้ทำลายระบบนิเวศน์ ต่างจากปลานิล ปลาช่อน ปลาหมอ หรือปลาชนิดอื่น จริงๆหรือ
สื่อต่างๆ ที่นำเสนอข่าวการแพร่กระจาย ให้สังคมเห็นถึงการรุกรานของปลาหมอคางดำ ทั้งที่จริงแล้ว ปลาหมอคางดำ กินพืชและสัตว์ แต่สัตว์ที่เลือกกินส่วนใหญ่เป็นสัตว์ชนิดเล็ก เช่นลูกกุ้งลูกปลาและสัตว์เซลเล็กๆ ในธรรมชาติ ซึ่งไม่แตกต่างจากปลานิล เพียงแต่ปลาหมอคางดำขยายพันธุ์รวดเร็ว พ่อและแม่ต่างช่วยกันอมไข่ลูกจึงมีอัตรารอดสูง เพิ่มจำนวนเร็ว คล้ายคลึงกับปัญหาปลาช่อนเอเชียที่รุกรานในสหรัฐอเมริกา ที่ถูกลักลอบนำเข้ามาเลี้ยงเป็นปลาสวยงามและอาหาร จนทำลายสัตว์น้ำพื้นถิ่นเช่นกัน และทุกวันนี้ยังควบคุมกำจัดไม่ได้
จากจุดเด่นที่ขยายพันธุ์เร็ว และทนต่อสภาพแวดล้อมของปลาหมอคางดำ รวมถึงลักษณะเด่นของรูปร่างลักษณะ จึงอาจมีผู้นำเข้ามาปรับปรุงพัฒนาสายพันธุ์ปลานิล ซึ่งผู้เพาะพันธุ์และธุรกิจปลานิลนั้นก็ไม่ได้มีผู้ประกอบการรายเดียวในประเทศ หรือเพาะเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม ก็เป็นได้ โดยอาจลักลอบนำเข้ามาด้วยการแจ้งเป็นชื่อปลาชนิดอื่น เพราะต้องยอมรับว่า ในขณะนั้น การเรียกชื่อ ยังคงมีความสับสนอยู่มาก รวมถึงความไม่เข้มงวดในการตรวจสอบติดตามของภาครัฐ สิ่งเหล่านี้อาจเป็นสาเหตุหนึ่งของการแพร่ระบาดในครั้งนี้
ขณะที่การพุ่งเป้าตรวจสอบ บริษัทเอกชนที่ทำกระบวนการนำเข้าอย่างถูกต้อง จนสังคมเกิดเชื่อตามๆกันว่า เป็นต้นเหตุของการแพร่ระบาดนั้น อาจทำให้มองข้ามถึงความเป็นไปได้อื่นๆ โดยเฉพาะการตรวจสอบการลักลอบนำเข้า ทั้งๆ ที่มีเบาะแสจากรายงานการส่งออกปลาหมอคางดำ เป็นปลาสวยงาม ของ 11 บริษัท ในช่วงปี 2556-2559 กว่า 3 แสนตัว แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เหตุผลเพียงว่า กรอกชื่อวิทยาศาสต์และชื่อสามัญผิด ความจริงเป็นปลาหมอสีมาลาวีและปลาหมอโทรเฟียส ทั้งที่พิกัดของศุลกากรระบุเป็นปลามีชีวิต สำหรับสวยงาม ตามใบอนุญาตของกรมประมง ซึ่งพิกัดของการจัดเก็บภาษีอากรดังกล่าว อยู่ที่ประเภท 0301.99 โดยไม่ได้ระบุ ชนิดที่ชัดเจน
และหนึ่งในบริษัทผู้ส่งออกมาให้ข้อมูลผ่านสื่อว่า ที่ส่งออกไปเป็นลูกปลานิล แต่คำถามคือ ปลานิล ถือเป็น ปลาสวยงาม อย่างนั้นหรือ? ยิ่งตอบก็ยิ่งสร้างความสับสน และตอกย้ำความไม่น่าเชื่อถือของข้อมูล ที่ว่าปลาที่ส่งออกไม่ใช่ปลาหมอคางดำ
สิ่งนี้ สะท้อนถึง ระบบการทำงาน ติดตามควบคุม ตรวจสอบในทุกมิติของภาครัฐ ที่น่าจะเป็นอีกสาเหตุของปัญหา แต่กำลังถูกสังคมมองข้าม เพราะพุ่งเป้าไปที่บริษัทเอกชนที่นำเข้าถูกต้องเท่านั้น กลายเป็นว่า คนทำถูกต้องตามกฎหมาย ถูกตราหน้า แต่คนลักลอบทำ กลับลอยตัว หรือนี่จะเป็น การเมือง เพื่อแหกตาชาวบ้าน
เรื่องที่สำคัญกว่าการหาต้นตอ คือ การควบคุมกำจัด ที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ซึ่งนักวิชาการต่างก็ยืนยันแล้วว่า การจับออกจากแหล่งน้ำ เป็นวิธีที่ลดปริมาณปลาชนิดนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด จึงควรให้ข้อมูลกับประชาชนว่า ปลานี้ทานได้ เอามาปรุงเป็นเมนูต่างๆได้มากมาย โดยขอความร่วมมือกับร้านอาหารพัฒนาเมนูจากปลาหมอคางดำ และหากมีปริมาณมากๆ ก็นำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น น้ำปลา ปลาร้า หรือขนมขบเคี้ยว ที่จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชน ต่อคนอดอยากในประเทศ หรือแม้แต่ผู้อดอยากในโลกที่ยังมีอีกมาก
หรือการนำไปแปรรูปเป็นปลาป่นใช้เป็นอาหารสัตว์ โดยอาจพิจารณาให้ราคารับซื้อในระดับที่เหมาะสม เพื่อจูงใจให้มีการจับ ซึ่งดีกว่าการจับแล้วนำไปทำลายเพียงอย่างเดียว และเชื่อว่าหากทำอย่างต่อเนื่องก็น่าจะลดปริมาณปลาหมอคางดำได้อย่างแน่นอน ถึงเวลานั้นปลาหมอคางดำอาจกลายเป็นเหมือน หอยเชอรี่ หรือ ตั๊กแตนปาทังก้า สัตว์ต่างถิ่นรุกราน ที่วันนี้กลายเป็นที่ต้องการสูงของตลาดจนต้องเพาะเลี้ยงหรือนำเข้ามาบริโภคในประเทศ..ก็เป็นได้./
บทความโดย นายสมเจตน์ สุขมงคล ผู้เชี่ยวชาญและที่ปรึกษาด้านสัตว์น้ำ