- Details
- Category: เกษตร
- Published: Wednesday, 17 July 2024 14:59
- Hits: 7836
กรมประมง แถลงปลาหมอคางดำ เคาะ 5 มาตรการแก้ปัญหา คาดคุมระบาดได้ใน 3 ปี ยันมีรายเดียวที่ขออนุญาตนำเข้า และไม่ได้เก็บ 50 ซากจากเอกชน
ที่ห้องประชุมอานนท์ กรมประมง นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง แถลงข่าว ‘กรมประมงกับการแก้ไขปัญหาปลาหมอคางดำ’ เพื่อชี้แจงและเผยแพร่ข้อเท็จจริงสู่สาธารณชน พร้อมด้วย นางคงภพ อำพลศักดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านพันธุกรรมสัตว์น้ำ และนางสาวทิวารัตน์ เถลิงเกียรติลีลา โดยมี นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ สส.กทม. พรรคก้าวไกล ในฐานะรองประธานคณะอนุกรรมาธิการ (กมธ.)
นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง เปิดแถลงข่าวอย่างเป็นทางการครั้งแรก หลังกรณีการระบาดของปลาหมอคางดำ ปลาเอเลียนสปีชีส์ เพื่อชี้แจงมาตรการแก้ไขปัญหาปลาหมอคางดำ ก่อนหน้านี้มีการประชุมคณะทำงานแก้ไขปัญหาปลาหมอคางดำ ซึ่งมีตัวแทนจากเกษตรกร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าให้ข้อมูล เบื้องต้นมีมติในการรับซื้อปลาหมอคางดำกิโลกรัมละ 15 บาทเพื่อนำไปทำปลาป่น โดยจะตั้งจุดรับซื้อใน 16 จังหวัดที่พบการระบาดตั้งแต่สัปดาห์หน้า
อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า พ.ศ.2549 มีบริษัทหนึ่ง ได้มีการขออนุญาตนำปลาหมอคางดำ จากกรมประมงอย่างถูกต้อง และมีการขออนุญาตอีกครั้งในปี 2553 โดยนำเข้ามาช่วงเดือน ธ.ค.2553 วัตถุประสงค์การนำเข้าเพื่อปรับปรุงพันธุ์ เพื่อป้องกันโรค เพื่อเลี้ยงทนเค็ม และเพิ่มผลผลิต โดยพบข้อมูล จำนวนที่ได้อนุญาตโดยการผ่านด่านตรวจสัตว์น้ำสุวรรณภูมิ มีข้อมูลระบุไว้ว่ามี จำนวน 2,000 ตัว และได้สู่ฟาร์มเพาะเลี้ยง สมุทรสงคราม
อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่าเมื่อ 14 ปีที่แล้วได้มีกลไกควบคุมการนำเข้า ได้ตั้งคณะกรรมการระดับสถาบันด้านความปลอดภัยและความหลากหลายทางชีวภาพ กรมประมง ซึ่งการนำเข้าปลาชนิดดังกล่าวต้องผ่านคณะกรรมการฯ โดยมี 2 เงื่อนไข
1.ต้องเก็บตัวอย่าง ครีบดอง ส่งให้กลุ่มวิจัยความหลากหลายทางชีวภาพสัตว์น้ำจืดสำนักและวิจัยกรมประมงน้ำจืด
2.เมื่อสิ้นสุดการทดลองให้รายงานผลการทดลอง หากการทดลองไม่เป็นผลให้ทำลายทั้งหมดโดยแจ้งกรมประมงเข้าตรวจสอบ
ขณะที่ตามกล่าวอ้างว่าบริษัทฯได้นำส่งกลุ่มตัวอย่าง 50 ตัวให้คณะวิจัยคณะกรรมการฯ โดยระบบจัดเก็บด้วยการอ้างอิง ได้มีการจัดเก็บ 2 ลักษณะ
1 ห้องตัวอย่างอ้างอิง เก็บทั้งตัวในขวดแก้วด้วยฟอร์มาลีน
2.ห้องปฏิบัติการเป็นการเก็บเนื้อเยื่อ ครีบปลา เลือด
ทั้งนี้ กรมประมงได้ตรวจสอบเอกสารหรือหลักฐานการรับมอบตัวอย่างในสมุดลงทะเบียนรับตัวอย่างและฐานข้อมูลในระบบ ตั้งแต่ที่มีการนำเข้าจนถึงปี 2554 ปรากฏว่า ไม่พบหลักฐานการรับตัวอย่างและขวดตัวอย่าง จากบริษัทนำเข้าแต่อย่างใด
สำหรับ มาตรการแก้ไขให้ดำเนินการเป็นวาระสำคัญในการแก้ปัญหา ประกอบกับได้ตั้งคณะทำงาน รวม 47 คน ประชุม 2 ครั้งมีการตั้งคณะทำงานในพื้นที่ระบาด และพื้นที่กันชนป้องกันการระบาด
สำหรับ มาตรการที่ดำเนินการมี 6 เรื่อง
1.การควบคุมปลาหมอคางดำทุกพื้นที่ ขณะนี้จับไปแล้วกว่า 1,000 ตัว เช่น.จ.สมุทรสาคร ให้ใช้อวนรุน ในพื้นที่ กทม.ได้นำเสนอที่จะใช้เครื่องมือนี้ ส่วนในแต่ละพื้นที่ให้พิจารณาไปตามบริบท
2.การกำจัดปลาหมอคางดำด้วยการปล่อยปลา เช่น ปลากะพงขาว ปลาอีกง ให้ตรงกับบริษทแต่ละพื้นที่ หรือถ้าเป็นน้ำจืด จำเป็นต้องใช้ปลาช่อน และ ปลากราย โดยเป็นการใช้ปลานักล่าเพื่อควบคุมตามธรรมชาติ
มาตรการที่ 3 การนำไปใช้ประโยชน์เป็นเรื่องสำคัญ ได้ใช้เป็นปลาป่นกว่า 500 กว่าตัน มีโปรตีนปลาสดกว่า 50% เพื้อเป็นอาหารสัตว์เลี้ยงสัตว์น้ำ สัตว์บก และได้แปรรูปเป็นอาหาร ปลาแดดเดียว ปั้นขลิบ น้ำยาขนมจีน โดยมีคุณค่าอาหารไม่ด้อยกว่าปลานิล และปลาหมอเทศ
มาตรการที่ 5 ให้มีระบบการแจ้งข้อมูล เก็บข้อมูลเพื่อเฝ้าระวังไม่ให้แพร่ระบาด
มาตรการที่ 5 สร้างการรับรู้ การตระหนักให้มีส่วนร่วม และเป็นมาตรการที่เร่งโดยเร่งด่วน
6. โครงการวิจัยการเหนี่ยวนำชุดโครโมโซม 4 N โดยจะเปลี่ยนโครโมโซม ให้ปลาหมอคางดำเป็นหมัน เชื่อว่าจะช่วยลดการแพร่พันธุ์ได้
ร่วมถึงการเสนอกฎหมายในการดำเนินการ ทั้งโทษทางอาญา และโทษปกครองให้รับผิดชอบต่อสังคม
ขณะนี้ปลาหมอคางดำระบาดไปแล้ว 16 จังหวัด เป็นไปได้ทั้งเดินทางไปตามแหล่งน้ำธรรมชาติ และ ถูกขนย้ายโดยประชาชน
สำหรับ การรับซื้อปลาหมอคางดำ จะอยู่ 7-10 บาทต่อ ประสานแหล่งทุนแล้ว และจุดรับซื้อจะเป็นแพในชุมชน เช่น จ.สมุทรสาคร ซึ่งใน 5 จังหวัดที่เป็นแหล่งชุกชุม จะมีจุดรับซื้อหลายจุด เพื่อเชื่อมโยงเข้าสู่ผู้รับซื้อ ส่วนผู้รับซื้อมีทั้งโรงงานและหน่วยงานราชการ จะเร่งขับเคลื่อนให้เป็นไปตามนโยบายแล้วให้เกิดผลในเวลารวดเร็ว โดยจะเริ่มได้ภายในอาทิตย์หน้า
‘รมว.ธรรมนัส’ ประกาศมาตรการเร่งด่วนล่าปลาหมอคางดำ เคาะราคารับซื้อ 15 บาท/กก. สั่งกรมประมงประสานจังหวัดตั้งจุดรับซื้อภายในสัปดาห์หน้า ‘รมช.อรรถกร’ ย้ำชัด ต้องกำจัด ไม่สนับสนุนให้นำไปเพาะเลี้ยง เผยมติที่ประชุมอนุมัติกรอบ 5 มาตรการ
ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ ครั้งที่ 2/2567 ที่มีนายอรรถกร ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน ณ ณ ห้องประชุมกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ห้อง 123) และผ่านระบบ Zoom Cloud Meeting ว่า จากปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำที่มีการขยายวงกว้างมากขึ้น
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ให้ความสำคัญและเร่งให้กรมประมงดำเนินการแก้ไข เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ โดยที่ประชุมได้มีมติร่วมกันในการดำเนินแผนมาตรการระยะเร่งด่วน คือการกำจัดปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำทุกแห่งที่พบการแพร่ระบาด และรับซื้อในราคา 15 บาท/กิโลกรัม ซึ่งเป็นที่พอใจของตัวแทนเครือข่ายชาวประมง โดยตนได้หารือกับนายกรัฐมนตรีเรียบร้อยแล้ว เบื้องต้นจะใช้เงินจากกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง ในระหว่างที่รอของบกลางในการรับซื้อเพื่อให้การแก้ปัญหาเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมโดยด่วน และมอบหมายให้กรมประมงประสานกับจังหวัดเพื่อตั้งจุดรับซื้อภายในสัปดาห์หน้า สำหรับมาตรการอื่นๆ ให้ดำเนินการคู่ขนานกันไป
ขณะที่นายอรรถกร รมช.เกษตรฯ กล่าวย้ำว่า ไม่มีการส่งเสริมให้เกษตรกรนำไปเลี้ยงอย่างเด็ดขาด ต้องกำจัดเท่านั้น ซึ่งกรมประมงจะประสานความร่วมมือกับหน่วยงานอื่นๆ ที่มีความต้องการรับซื้อปลาหมอคางดำเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป สำหรับกรณีการตรวจสอบที่มาต้นทางการนำเข้าปลาหมอคางดำนั้น หากมีหลักฐานที่ชัดเจน ก็ยินดีจะดำเนินการต่อไปตามกระบวนการที่ถูกต้อง
รมช.อรรถกร กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ที่ประชุมมีมติเห็นชอบ (ร่าง) แผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ พ.ศ. 2567 – 2568 ภายใต้กรอบ 5 มาตรการ 12 กิจกรรม ระยะเวลาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2567 ถึง เดือนกันยายน 2568 ซึ่งได้รวบรวมร่างแผนปฏิบัติการตามมติที่ประชุมคณะทำงานแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ ระดับจังหวัด 16 จังหวัด (จันทบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ กรุงเทพมหานคร สมุทรสาคร สมุทรสงคราม ราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครราชสีมา สงขลา ตราด และชลบุรี) ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้กรมประมงประชุมร่วมกับจังหวัดอีกครั้งเพื่อทบทวนในรายละเอียด งบประมาณ เพื่อให้เหมาะสมในแต่ละกิจกรรมและครอบคลุมการแก้ไขปัญหา
สำหรับ 5 มาตรการ 12 กิจกรรม ประกอบด้วย มาตรการที่ 1 การควบคุมและกำจัดปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำทุกแห่งที่พบการแพร่ระบาด 4 กิจกรรม โดยมุ่งเน้นการกำจัดปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำธรรมชาติ ด้วยเครื่องมือและวิธีการต่าง ๆ มาตรการที่ 2 การกำจัดปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำธรรมชาติ
โดยการปล่อยปลาผู้ล่าอย่างต่อเนื่อง 2 กิจกรรม มุ่งเน้นการประเมินสถานภาพปลาหมอคางดำก่อนปล่อยลูกพันธุ์ปลาผู้ล่า เช่น ปลากะพงขาว ปลาอีก มาตรการที่ 3 การนำปลาหมอคางดำที่กำจัดได้ไปใช้ประโยชน์ เน้นการจัดหาแหล่งกระจายและรับซื้อ จัดหาแนวทางการใช้ประโยชน์ มาตรการที่ 4 การสำรวจและเฝ้าระวังการแพร่กระจายปลาหมอคางดำในพื้นที่เขตกันชน
เน้นการสร้างความพร้อมในการรับมือเมื่อพบการแพร่ระบาดให้กับองค์กรประมงชุมชนท้องถิ่นในพื้นที่ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง สำรวจและเฝ้าระวังในแหล่งน้ำที่ยังไม่พบการแพร่ระบาด และมาตรการที่ 5 การสร้างความรู้ ความตระหนัก และการมีส่วนร่วมในการกำจัดปลาหมอคางดำ เพื่อประชาสัมพันธ์ให้กับทุกภาคส่วน พร้อมจัดทำคู่มือแนวทางการับมือเมื่อพบ
สำหรับ อีกมาตรการที่สำคัญ คือโครงการวิจัยการเหนี่ยวนำชุดโครโมโซม 4n ในปลาหมอคางดำเป็นการควบคุมการแพร่กระจายของปลาหมอคางดำโดยการทำให้ประชากรปลาหมอคางดำเป็นหมัน โดยการศึกษาสร้างประชากรปลาหมอคางดำพิเศษที่มีชุดโครโมโซม 4 ชุด (4n) จากนั้นจะปล่อยปลาหมอคางดำพิเศษเหล่านี้ลงสู่แหล่งน้ำเพื่อให้ไปผสมพันธุ์กับปลาหมอคางดำปกติที่มีชุดโครโมโซม 2 ชุด (2n) การผสมพันธุ์นี้จะทำให้เกิดลูกปลาหมอคางดำที่มีชุดโครโมโซม 3 ชุด (3n)
ซึ่งลูกปลาที่มีโครโมโซม3 ชุดนี้จะกลายเป็นปลาหมอคางดำที่เป็นหมัน ไม่สามารถสืบพันธุ์ต่อได้ โดยมีแผนปล่อยพันธุ์ปลาหมอคางดำ 4n ลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาด ทยอยปล่อยอย่างน้อย 250,000 ตัว ภายในระยะเวลา 15 เดือน (กรกฎาคม 2567 - กันยายน 2568) คาดว่าสามารถเริ่มปล่อยพันธุ์ปลาได้อย่างช้าสุดในเดือนธันวาคม 2567 อย่างน้อยจำนวน 50,000 ตัว
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้รายงานการควบคุมและกำจัดปลาหมอคางดำจากแหล่งน้ำธรรมชาติทุกแห่งที่พบการแพร่ระบาด (ข้อมูลณ วันที่ 30 มิถุนายน 2567) กำจัดปลาหมอคางดำได้ทั้งสิ้น 623,370 กิโลกรัม จำแนกเป็นปริมาณปลาหมอคางดำที่จับจากแหล่งน้ำธรรมชาติ 325,668 กิโลกรัม และปริมาณปลาหมอคางดำที่จับจากบ่อเพาะเลี้ยง 297,702 กิโลกรัม