WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

ปลูก 'สตรอเบอร์รี่อินทรีย์' ที่สะเมิง

    ทำมาหากิน : ปลูก 'สตรอเบอร์รี่อินทรีย์' ที่สะเมิง ชู '80 และ 329' สองพันธุ์ดีทำเงิน : โดย...กุณฑล เทพจิตรา

     สตรอเบอร์รี่ ได้ชื่อว่าผลไม้แห่งรักที่เก็บเกี่ยวผลผลิตได้ปีละครั้งและออกสู่ตลาดช่วงพฤศจิกายนไปจนถึงเมษายนของทุกปี โดยเฉพาะในเขตอำเภอสะเมิง จ.เชียงใหม่ ได้ชื่อว่าเป็นแหล่งปลูกไม้ผลชนิดนี้มากที่สุด โดยมุ่งเน้นใน 2 สายพันธุ์ "พระราชทาน 80 และพันธุ์ 329 สามารถสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรได้เป็นอย่างดี

      วิทยา นาระต๊ะ ประธานกลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตสตรอเบอร์รี่ปลอดภัยอำเภอสะเมิง กล่าวถึงสตรอเบอร์รี่ว่ามีพื้นที่ปลูกหลักอยู่ทางภาคเหนือ โดยเฉพาะบนพื้นที่สูงในเขต อ.สะเมิง ถือเป็นแหล่งปลูกสตรอเบอร์รี่มากที่สุด เนื่องจากมีสภาพภูมิอากาศที่เหมาะสม โดยมีพื้นที่ปลูก 3,174 ไร่ มีเกษตรกรที่ปลูกจำนวน 539 ราย โดยที่นิยมปลูกมี 2 สายพันธุ์ ได้แก่ พันธุ์พระราชทาน 80 เป็นสายพันธุ์ที่เหมาะสมสำหรับบริโภคผลสด รูปลักษณะทรงกรวยและหัวใจ รสชาติหวาน กลิ่นหอม สีแดงสวยงาม เนื้อแน่น แต่ผิวบางไม่เหมาะสำหรับการขนส่งในระยะทางไกล ให้ผลผลิตประมาณ 3,000 กิโลกรัมต่อไร่ ส่วนอีกสายพันธุ์ได้แก่ พันธุ์ 329 เป็นสายพันธุ์เพื่อการบริโภคสดและแปรรูปและเป็นพันธุ์ที่กรมส่งเสริมการเกษตรแนะนำ โดยให้ผลผลิตประมาณ 3,500 กิโลกรัมต่อไร่ มีลักษณะผลใหญ่ เนื้อแน่น กรอบ รสชาติเปรี้ยวอมหวาน ทนทานต่อการขนส่งไม่เสียหายง่าย เก็บรักษาได้นาน 3-7 วัน

    "การปลูกสตรอเบอร์รี่เพื่อให้ได้ผลผลิตคุณภาพดีนั้น เกษตรกรจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับดิน โดยปรับปรุงบำรุงดินให้อุดมสมบูรณ์ทั้งอินทรีย์วัตถุและธาตุอาหารก่อนปลูกต้องไถดินตากแดดประมาณ 7 วันเพื่อกำจัดโรคแมลงในดิน จากนั้นยกร่องหรือขึ้นแปลง แต่งแปลงด้วยปุ๋ยคอกปุ๋ยอินทรีย์ ใช้วัสดุคลุมแปลงเพื่อป้องกันวัชพืช ควบคุมความชื้นและป้องกันไม่ให้ผลผลิตกระทบผิวดิน เพราะจะทำให้โรคและเชื้อราเข้าทำลายผลสตรอเบอร์รี่"

    เกษตรกรคนเดิมระบุอีกว่า นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่ต้องให้ความสำคัญควบคู่กันไป ได้แก่ การจัดระบบการให้น้ำ การคัดเลือกสายพันธุ์ดีที่ปลอดโรค การดูแลรักษา การใช้สารชีวภัณฑ์ควบคุมโรคและแมลง การใช้ผึ้งและชันโรงช่วยผสมเกสร การเก็บเกี่ยวและการบริหารจัดการด้านการตลาด รวมทั้งการแปรรูปผลผลิตเพื่อเพิ่มมูลค่า ซึ่งองค์ความรู้และเทคนิคต่างๆ นั้น สามารถเรียนรู้และศึกษาดูงานได้ที่ศูนย์เรียนรู้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสตรอเบอร์รี่อย่างยั่งยืน   

   วิทยา ย้ำด้วยว่า ขณะเดียวกันยังมีการคิดค้นเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ ในการทำไร่สตรอเบอร์รี่ ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนจากใช้ดินมาใช้วัสดุผสม เพื่อทำให้รากเจริญได้ดี อุ้มน้ำ มีอินทรียวัตถุ ขยายพันธุ์และปรับปรุงสายพันธุ์ เพาะเนื้อเยื่อโดยใช้ไหลและเปลี่ยนวัสดุชำโดยใช้ถาดหลุม จากพื้นที่ 15 ไร่ในแต่ละปีจะมีรายได้เฉลี่ยจากสตรอเบอร์รี่ผลสด เป็นเงิน 1,500,000 บาท ส่วนการแปรรูปสตรอเบอร์รี่นั้นอยู่ที่ 800,000 บาท นอกจากนี้ยังมีผลไม้เมืองหนาวอื่นๆ 50,000 บาท 

   ผลจากความสำเร็จดังกล่าวทำให้ได้รับรางวัลมากมาย อาทิ หมอดินดีเด่น จากสำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 6 ปี 2551 และ 2554 รางวัลเกษตรกรดีเด่น สาขาระบบการจัดการคุณภาพการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืช (จีเอพี)ชนิดพืชสตรอเบอร์รี่ ประจำปี 2556 เป็นต้น สนใจสตรอเบอร์รี่คุณภาพและผลิตภัณฑ์แปรรูป ติดต่อ วิทยา นาระต๊ะ ประธานกลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตสตรอเบอร์รี่ปลอดภัย อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ ได้ตลอดเวลา

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!